หน้าหลัก ธรรมะปฏิบัติ หลักเกณฑ์การฝึกตามลำดับของพระพุทธองค์
Search:
หน้าแรก : หมวดธรรมะปฏิบัติ

“อานนท์ ! พุทธบริษัททั้งสี่ คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม”

พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
อาจารย์วศิน อินทสระ

"ดูก่อนอานนท์ ธรรมหนึ่งคือ..
อานาปานสติสมาธิ
ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์,
สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์,
โพชฌงค์ ๗
อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและ วิมุติให้บริบูรณ์"

“..ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน
คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
   สมถะ ที่ภิกษุเจริญแล้ว... ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมดีแล้ว... ย่อมละราคะได้
   วิปัสสนา ที่อบรมดีแล้ว.. ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมดีแล้ว.. ย่อมละอวิชชาได้"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ ชื่อว่าปัญญาวิมุติ"

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หลักเกณฑ์การฝึกตามลำดับของพระพุทธองค์
คัดลอกจากหนังสือ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
   หมดสิ้นกิเลสทั้งปวง --> บรรลุอรหัตผล
   ละคลายจากความยึดมั่นถือมั่น -->คลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ละความโลภ โกรธ และหลง
   ไตรลักษณ์ -->จิตตกกระแสธรรมตัดกิเลส -->ละคลายจากอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น)
   ขันธ์ ๕ --> พิจารณาเห็นเป็นไตรลักษณ์ : อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา
   วิปัสสนาภาวนา --> อารมณ์ของวิปัสสนาคือพิจารณาขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ)

         การอุปสมบทเป็นพระ ๑๐๐ ปี ได้บุญน้อยกว่า การทำสมาธิ(สมถภาวนา) แม้นานเพียงแค่ไก่กระพือปีก
         สมถภาวนา(การทำสมาธิ) ๑๐๐ ปี ได้บุญน้อยกว่า วิปัสสนาภาวนา(การเจริญปัญญา) แม้เพียงชั่วขณะจิต
วิธีสร้างบุญบารมี : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

หลักเกณฑ์การฝึกตามลำดับของพระพุทธองค์ (อย่างย่อ)
คัดลอกจากหนังสือ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) : หน้า ๒๐๒ ถึง ๒๑๑

ทรงมีหลักเกณฑ์การฝึกตามลำดับ (อย่างย่อ) [1]

ดูก่อนพราหมณ์ ! ในธรรมวินัยนี้ เราสามารถบัญญัติกฎเกณฑ์แห่งการศึกษาตามลำดับ การกระทำตามลำดับ และการปฏิบัติตามลำดับ ได้เหมือนกัน (กับที่ท่านวิธีฝึกสอนศิษย์ของท่านให้นับตามลำดับ)

ดูก่อนพราหมณ์ ! เปรียบเหมือนผู้ชำนาญการฝึกม้า ได้ม้าชนิดที่อาจฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมฝึกให้รู้จักการรับสวมบังเหียนก่อน แล้วจึงฝึกอย่างอื่น ๆ ให้ยิ่งขึ้นไป ฉันใด; พราหมณ์เอย! ตถาคตครั้นได้บุรุษที่พอฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมแนะนำอย่างนี้ก่อนว่า “มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยดีในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นเป็นภัยแม้ในโทษที่เล็กน้อย จงสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด” ดังนี้.

พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้มีศีล (เช่นที่กล่าวแล้ว) ดีแล้วตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า “มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย : ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว จักไม่ถือเอาโดยนิมิต (คือรวบถือทั้งหมดว่างามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี), จักไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ (คือแยกถือเอาแต่บางส่วนว่าส่วนใดงามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี), บาปอกุศลกล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตามอารมณ์เพราะการไม่สำรวมจักขุอินทรีย์ใดเป็นเหตุเราจักสำรวมอินทรีย์นั้นไว้เป็นผู้รักษาสำรวมจักขุอินทรีย์. (ในโสตินทรีย์คือหู ฆานินทรีย์คือจมูก ชิวหาอินทรีย์คือลิ้น กายินทรีย์คือกาย และมนินทรีย์คือใจ ก็มีข้อความนัยเดียวกัน).

พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอยู่เสมอ จงพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉัน ไม่ฉันเพื่อเล่นเพื่อมัวเมา เพื่อประดับตกแต่ง, แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้เพื่อให้ชีวิตเป็นไปเพื่อป้องกันความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์, เราจักกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสียแล้วไม่ทำเวทนาใหม่ (อิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น. ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหารและความอยู่ผาสุกสำราญ จักมีแก่เรา” ดังนี้.

พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ! ท่านจงประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (ไม่หลับ ไม่ง่วง ไม่มึนชา). จงชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากอาวรณิยธรรมทั้งหลาย ด้วยการเดิน การนั่งตลอดวันยังค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี. ครั้นยามกลางแห่งราตรี สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น. ครั้นถึงยามท้ายแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้หมดจดจากอาวรณิยธรรมด้วยการเดินการนั่ง อีกต่อไป” ดังนี้.

พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู,การคู้การเหยียด, การทรงสังฆาฏิบาตรจีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง” ดังนี้.

พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าละเมาะ โคนไม้ ภูเขา ลำธาร ท้องถ้ำ ป่าช้าป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง). ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า, ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌาคอยชำระจิต จากอภิชฌา ; ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณามีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาท; ละถีนะมิทธะมุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนะมิทธะ มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัว คอยชำระจิตจากถีนะมิทธะ; ละอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่านมีจิตสงบอยู่ในภายในคอยชำระจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะ ;ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า ‘นี่อะไร นี่อย่างไร’ ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย) คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา” ดังนี้.

ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ห้าประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้ ได้แล้ว, เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่ ๑ มีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่. เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่ ๒ เป็นเครื่องผ่องใสในภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่. เพราะความจางแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่ ๓ อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่าผู้ได้ฌานนี้ เป็นอยู่อุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข. และเพราะละสุข และทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุฌานที่ ๔ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่.

พราหมณ์เอย! ภิกษุเหล่าใดที่ยังเป็นเสขะ (คือยังต้องทำต่อไป) ยังไม่บรรลุอรหัตตมรรค ยังปรารถนานิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะ ไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่, คำสอน ที่กล่าวมานี้แหละ เป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น. ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันได้บรรลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบแล้ว, ธรรมทั้งหลาย (ในคำสอน) เหล่านี้ เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม และเพื่อสติสัมปชัญญะ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ด้วย.

ทรงฝึกสาวกเป็นลำดับ ๆ [2]

อัคคิเวนสะ ! เมื่อใด [3] ช้างที่ถูกฝึกรู้จักทำตามคำของคนฝึกในการลุกขึ้น และการทรุดลงแล้วต่อจากนั้นผู้ฝึกก็ฝึกให้รู้จักอาการที่เรียนว่า อาเนญชะ (คือไม่หวั่นไหว), เขาผูกโล่ไว้ที่งวง มีผู้ถือหอกซัด นั่งบนคอคนหนึ่ง และหลายคนล้อมรอบ ๆ คนฝึกถือหอกซัดขนาดยาวยืนหน้าช้างนั้นแหละสอนให้ ทำอาการที่เรียกว่า อาเนญชะ, ช้างนั้นมิได้ทำเท้าหน้าให้ไหวมิได้ทำเท้าหลัง, กายตอนหน้า, กายตอนหลัง, ศรีษะ, ใบหู, งา, หาง, งวง ให้ไหวเลยเป็นช้างควรทรงสำหรับพระราชา, ย่อมทนการประการด้วยหอก, ดาบ, ลูกศร, การประหารของข้าศึก, ทนต่อเสียงบันลือลั่นของกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และเปิงมางทั้งหลาย, มีความบิดเบือน ดุร้าย เมามัน อันสิ้นแล้ว ควรแก่พระราชา เป็นของใช้สอยของพระราชา เรียกได้ว่าเป็นองค์อวัยวะของพระราชา ดังนี้, นี่ฉันใด.

อัคคิเวสนะ ! อันนี้ก็ฉันนั้น : ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกคนควรฝึกไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้วจำแนกธรรมออกสอนสัตว์. ตถาคตนั้นทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ กับทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาพร้อมทั้งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตาม.ตถาคตนั้นแสดงธรรมไพเราะ ในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด, ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง. คหบดีหรือบุตรคหบดี หรือผู้เกิดในตระกูลใด ตระกูลหนึ่งในภายหลังก็ดี ได้ฟังธรรมนั้นแล้ว เกิดศรัทธา ในตถาคต. เขาผู้ประกอบด้วยศรัทธา ย่อมพิจารณาเห็น ว่า “ฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี,(คือกิเลส) บรรพชาเป็นโอกาส (คือที่โปร่งโล่ง) อันยิ่ง ; การที่คนอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ โดยส่วนเดียวเหมือนสังข์ ที่เขาขัดแล้วนั้น ไม่ทำได้โดยง่าย. ถ้ากระไร เราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด”, ดังนี้.

โดยสมัยอื่นต่อมา เขาละกองสมบัติน้อยใหญ่ และวงศ์ญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด ออกจากเรือนบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว.อัคคิเวสนะ! เพียงเท่านี้ ย่อมชื่อว่า เขาได้ไปถึงที่โล่งโปร่ง แล้ว, (ดุจช้างที่นำออกมาจากป่าแล้ว).

อัคคิเวสนะ ! ก็เทวดาและมนุษย์ ท. มีเครื่องยั่วยวนคือ กามคุณห้า. ตถาคตจึงแนะนำกุลบุตรผู้บวชแล้วนั้นให้ยิ่งขึ้น ว่า “แน่ะภิกษุ ! ท่านจงมา, ท่านจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยดีในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร เห็นเป็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย จงสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย”.

อัคคิเวนสะ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้มีศีล ฯลฯ [4] แล้ว ตถาคตจึงแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า“แน่ะภิกษุ! ท่านจงมา, ท่านจงเป็นผู้สำรวมทวาร ในอินทรีย์ ท. ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว จักไม่ถือเอาโดยนิมิต โดยอนุพยัญชนะ บาปอกุศลคืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตาม เพราะการไม่สำรวมจักขุอินทรีย์ใดเป็นเหตุ เราจักปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้ เป็นผู้รักษาสำรวมจักขุอินทรีย์”. (ใน หู จมูก ลิ้น กายใจ ก็มีนัยเดียวกัน).

อัคคิเวนสะ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้สำรวมทวารในอินทรีย์ ท. ฯลฯ แล้ว, ตถาคตจึงแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า “แน่ะภิกษุ! ท่านจงมา, ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ อยู่เสมอ, จักพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉัน ไม่ฉันเพื่อเล่นเพื่อมัวเมา เพื่อประดับตกแต่ง แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อป้องกันความลำ บาก เพื่อนุเคราะห์พรหมจรรย์, เราจักกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสีย แล้วไม่ทำเวทนาใหม่ (คืออิ่มจนหมดสุข) ให้เกิดขึ้น. ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหาร ความอยู่ผาสุกสำราญจักมีแก่เรา” ดังนี้.

อัคคิเวสนะ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ฯลฯ แล้ว, ตถาคต ก็แนะนำ ให้ยิ่งขึ้นไปว่า “แน่ะภิกษุ! ท่านจงมา, ท่านจงตามประกอบในธรรมเ ป็นเ ครื่องตื่น, จักชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจาก อาวรณิยธรรม ด้วยการเดินการนั่ง ตลอดวันยังค่ำ จนสิ้นยามแรกแห่งราตรี, ครั้นยามกลางแห่งราตรีนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงขวา เท้าเหลื่อมเท้า, มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น,ครั้นยามสุดท้ายแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิต ให้หมดจดจากอาวรณิยธรรมด้วยการจงกรม และการนั่งอีก” ดังนี้.

อัคคิเวสนะ ! ในกาลใด ภิกษุนั้น เป็นผู้ตามประกอบในธรรมเป็นเครื่องตื่น ฯลฯ แล้ว,ตถาคต ก็แนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า “แน่ะภิกษุ! ท่านจงมา, ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ, จักรู้ตัวรอบคอบในการ ก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้แขน การเหยียดแขน,การทรงสังฆาฎิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยวการลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ,การไป การหยุด, การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น,การพูด การนิ่ง” ดังนี้.

อัคคิเวสนะ ! ในกาลใดแล ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วย สติสัมปชัญญะ ฯลฯ แล้ว, ตถาคตก็แนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า “แน่ะภิกษุ ! ท่านจงมา, ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าละเมาะ โคนไม้ ภูเขาลำธาร ท้องถ้ำป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง. ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้วนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า, ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌา; ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาทเป็นผู้กรุณามีจิตหวังเกื้อกูลในสัตว์ ท. คอยชำระจิตจากพยาบาท; ละถีนะมิทธะมุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัว คอยชำระจิต จากถีนมิทธะ; ละอุทธัจจะ กุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน คอยชำระจิตจาก อุทธัจจะ กุกกุจจะ; ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า ‘นี่อะไร, นี่อย่างไร ในกุศลธรรมทั้งหลาย คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา” ดังนี้.

อัคคิเวนสะ ! ในกาลใด ภิกษุนั้น ละนิวรณ์ห้า อย่าง อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิตทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้ได้แล้ว เป็นผู้มีปรกติ เห็นกายในกาย , ... เ ห็นเวทนาในเวทนา , … เ ห็นจิตใจจิต , ...เห็นธรรมในธรรม ท. มีความเพียรเผาบาป รู้ตัวรอบคอบ มีสตินำ อภิชฌาและโทมนัสในโลกออกได้ ในกาลนั้นเปรียบเหมือนคนผู้ฝึกช้าง ฝังเสาใหญ่ลงในแผ่นดินแล้ว ผูกช้างป่าเข้าที่คอเพื่อย่ำยีกำจัดเสีย ซึ่งปรกตินิสัยที่เป็นป่าเถื่อน เพื่อย่ำยีกำจัดเสียซึ่งความคิดครุ่นอย่างนิสัยป่าเถื่อน, และความกระวนกระวายดิ้นรนเร่าร้อน อย่างนิสัยป่าเถื่อนนั้นเสีย; เพื่อให้ยินดี ต่อบ้าน ชวนให้คุ้นเคยในปรกตินิสัย อันเป็นที่พอใจของมนุษย์ ; นี้ฉันใด.

อัคคิเวนสะ ! สติปัฏฐานทั้งสี่นี้ ก็เป็นที่เข้าไปผูกแห่งใจของอริยสาวก เพื่อย่ำ ยีกำ จัดเสียซึ่งปรกตินิสัยอย่างบ้าน ๆ เรือน ๆ เพื่อย่ำ ยีกำ จัดเสียซึ่งความคิดครุ่นอย่างบ้าน ๆ เรือน ๆ และความกระวนกระวายดิ้นรนเร่าร้อนอย่างบ้าน ๆ เรือน ๆ นั้นเสีย ; เพื่อให้ถึงทับญายธรรม เพื่อทำ นิพพานให้แจ้ง ฉันนั้นเหมือนกัน.

(ต่อจากนี้ทรงกล่าวถึงการที่สาวกนั้น บรรลุฌานทั้งสี่ และวิชชาสามอย่าง ยืดยาวโดยนัย ดังที่กล่าวไว้แล้วใ นเรื่องการตรัสรู้ของพระองค์เอง จงดูในที่นั้น จักได้กล่าวเนื้อความอื่นที่สืบต่อจากนั้นไป).

...ฯลฯ... ภิกษุนั้น รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้วกิจควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำ เพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มีอีก.
อัคคิเวนสะ ! ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้อดทนต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย และสัมผัสอันเกิดจากเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดกลั้นได้ต่อถ้อยคำ ที่กล่าวร้าย กล่าวมาไม่ดี, อดทนได้ต่อทุกขเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้ว อย่างกล้าแข็งแสบเผ็ด หมดความสำราญเบิกบานใจ ปลิดเสียได้ซึ่งชีวิต. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ อันกำจัดเสียสิ้นแล้วมีกิเลสอันย้อมใจ ดุจน้ำ ฝาด อันตนสำ รอกออกเสียได้แล้ว, เป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นปาหุเนยยบุคคล เป็นทักขิเณยยบุคคล เ ป็นผู้ควรแ ก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นใดยิ่งไปกว่า.

อัคคิเวสนะ ! ถ้าภิกษุผู้เถระ หรือภิกษุปูนกลาง หรือภิกษุใหม่ที่ยังไม่เป็นขีณาสพ ทำกาละลงไป, ก็ย่อมถึงซึ่งการนับว่าตายแล้ว ทำกาละแล้วทั้งที่ยังฝึกไม่เสร็จ ดุจดั่งช้างแก่ หรือปูนกลาง หรือหนุ่ม ของพระราชาที่ยังฝึกไม่ได้ตายลง ก็ถึงซึ่งการนับว่า ตายแล้ว ทั้งที่ยังฝึกไม่เสร็จ ฉันใดก็ฉันนั้น.

อัคคิเวนสะ ! ถ้าภิกษุผู้เถระ หรือภิกษุปูนกลาง หรือภิกษุใหม่ก็ตามเป็นขีณาสพแล้ว ทำกาละลงไป, ก็ย่อมถึงซึ่งการนับว่าตายแล้ว ทำกาละแล้วอย่างเสร็จสิ้นการฝึกแล้ว ดุจดั่งช้างแก่ หรือปูนกลางหรือหนุ่มก็ตาม ของพระราชา ที่เขาฝึกดีแล้ว ตายลง ก็ถึงซึ่งการนับว่า ตายไปอย่างได้รับการฝึกสำเร็จแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

-----------------------------------------
[1]. บาลี คณกโมคคัลลานสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๘๒/๙๔. ตรัสแก่พราหมณ์ ชื่อคณกโมคคัลลานะที่บุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี.)
[2]. บาลี ทันตภูมิสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๖๖/๓๙๕. ตรัสแก่สามเณร อจีรวตะ ผู้อัคคิเวสนโคตร, ที่สวนไผ่ ใกล้กรุงราชคฤห์.
[3]. ตรัสเรื่องการฝึกช้างเป็นลำดับ ๆ มาแล้ว ตั้งแต่นำออกจากป่ามาเป็นลำดับเพื่อเปรียบเทียบกับการฝึกภิกษุ.
[4]. ที่ละเปยยาล หมายความว่าซ้ำกับข้างบนทุกแห่ง อ่านเลยไปก็ได้.


      พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ โดย พระพุทธโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)


   ธรรมะบรรยายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
หมวด : สมถภาวนา
หมวด : วิปัสสนาภาวนา

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก