หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระอุบลวรรณาเถรี
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๓. พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีฤทธิ์ | อัครสาวิกาฝ่ายซ้าย

พระอุบลวรรณาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้นางว่า “อุบลวรรณา” ตามนิมิตลักษณะ ที่นางมีผิวพรรณเหมือนกลับดอกอุบลเขียว

เพราะสวยบาดใจจึงต้องให้บวช
เมื่อนางเจริญวัยเข้าสู่วัยสาว นอกจากจะมีผิวงามแล้ว รูปร่างลักษณะยังงดงาม สุดเท่าที่จะ หาหญิงอื่นทัดเทียมได้ จึงเป็นที่หมายปองต้องการ ของพระราชาและมหาเศรษฐี ทั่วทั้งชมพูทวีป ซึ่งต่างก็ส่งเครื่องบรรณาการ อันมีค่าไปมอบให้ พร้อมกับสู่ขอ เพื่ออภิเษกสมรสด้วย

ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาของนาง รู้สึกลำบากใจด้วยคิดว่า “เราไม่สามารถที่จะรักษาน้ำใจของคน ทั้งหมดเหล่านี้ได้ เราควรจะหาอุบายทางออกสักอย่างหนึ่ง” แล้วจึงเรียกลูกสาวมา ถามว่า:- “แม่อุบลวรรณา เจ้าจะสามารถบวชได้ไหม ?”

นางได้ฟังคำของบิดาแล้ว รูสึกร้อนทั่วสรรพางค์กาย เหมือนกับมีคนนำเอาน้ำมันที่เคี่ยว ให้เดือด ๑๐๐ ครั้ง ราดลงบนศีรษะของนาง ด้วยว่านาง ได้สั่งสมบุญมาแต่อดีตชาติ และการเกิด ในชาตินี้ ก็เป็นชาติสุดท้ายของนาง ดังนั้น นางจึงรับคำของบิดาด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง

เศรษฐีผู้บิดา จึงพานางไปยังสำนักของภิกษุสงฆ์ แล้วให้บวชเป็นที่เรียบร้อย เมื่อนางอุบลวรรณาบวชได้ไม่นาน ก็ถึงวาระที่จะต้องไปทำความสะอาดโรงอุโบสถ เธอได้จุดประทีป เพื่อขจัดความมืด แล้วกวาดโรงอุโบสถ เห็นเปลวไฟที่ดวงประทีปแล้ว ยึดถือเอา เป็นนิมิต ขณะที่กำลังยืนอยู่นั้น ได้เข้าฌานมีเตโช กสิณเป็นอารมณ์ แล้วกระทำฌานนั้น ให้เป็น ฐานเจริญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา และอภิญญาทั้งหลาย ณ ที่นั้น นั่นเอง

เมื่อพระเถรีสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เที่ยวจาริกไปยังชนบทต่าง ๆ แล้วกลับมาพัก ที่ป่าอันธวัน สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ยังมิได้ทรงบัญญัติห้ามภิกษุณีอยู่ในป่าเพียงลำพัง ประชา ชนได้ช่วยกันปลูกกระท่อมไว้ในป่า พร้อมทั้งเตียง ตั่ง กั้นม่าน แล้วถวายเป็นที่พักแก่พระเถรีนั้น

บวชแล้วยังถูกข่มขืน
ฝ่ายนันทมาณพ ผู้เป็นลูกชายของลุง ของพระเถรีนั้น มีจิตหลงรักนาง ตั้งแต่ยังไม่บวช เมื่อ ทราบข่าวว่าพระเถรีมาพักที่ป่าอันธวัน ใกล้เมืองสาวัตถี จึงได้ถือโอกาส ขณะที่พระเถรีเข้าไป บิณฑบาตในเมืองสาวัตถีนั้น ได้เข้าไปในกระท่อม หลบซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง เมื่อพระเถรีกลับมา แล้ว เข้าไปในกระท่อม ปิดประตูแล้วนั่งลงบนเตียง ขณะที่สายตายังไม่ปรับเข้ากับความมืด ใน กระท่อม นันทมาณพ ก็ออกมาจากใต้เตียง ตรงเข้าปลุกปล้ำ ข่มขืนพระเถรี ถึงแม้พระเถรีจะร้อง ห้ามว่า:-
“เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย”

นันทมาณพ ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ได้ทำการข่มขืนพระเถรี สมปรารถนาแล้ว ก็หลีกหนีไป พอ เขาหลบหนีไปได้ไม่ไกล แผ่นดินใหญ่ก็มีอาการ ประหนึ่งว่าไม่สามารถจะรองรับ น้ำหนักของเขา เอาไว้ได้ จึงอ่อนตัวยุบลง แล้วนันทมาณพก็จมดิ่งลงในแผ่นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรก

ฝ่ายพระอุบลวรรณาเถรี ก็มิได้ปิดบังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ได้บอกแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นกับตน นั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ต่อจากนั้น เรื่องราวของพระเถรีก็ทราบถึงพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ ได้ตรัสพระคาถาภาษิตว่า:-
คนพาล ย่อมร่าเริงยินดี ในบาปกรรมลามกที่ตนกระทำ
ประดุจว่าดื่มน้ำผึ้ง ที่มีรสหวาน
จนกว่าบาปกรรมนั้น จะให้ผล
จึงจะได้ประสบกับความทุกข์ เพราะกรรมนั้น


พระขีณาสพเหมือนไม้แห้งไม้ผุ
เมื่อกาลเวลาล่วงไป ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรม เกี่ยวกับเหตุการณ์ของพระอุบลวรรณาเถรี นั้นว่า:- “ท่านทั้งหลาย เห็นทีพระขีณาสพทั้งหลาย คงจะยังมีความยินดีในกามสุข คงจะยังจะ พอใจในการเสพกาม ก็ทำไมจะไม่เสพเล่า เพราะท่านเหล่านั้นมิใช่ไม้ผุ มิใช่จอมปลวก อีกทั้ง เนื้อหนังร่างกายทั่วทั้งสรีระก็ยังสดอยู่ ดังนั้น แม้จะเป็นพระขีณาสพก็ชื่อว่ายังยินดีในการเสพ กาม”

พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามทรงทราบเนื้อความ ที่พวกภิกษุเหล่านั้นสนทนากัน แล้วจึงตรัสว่า:-
“ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลายนั้น ไม่ยินดีในกามสุข ไม่เสพกามเปรียบเสมือน หยาดน้ำตกลงในใบบัวแล้วไม่ติดอยู่ ย่อมกลิ้งตกลงไป และเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ย่อมไม่ ติดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉันใด ขึ้นชื่อว่ากามก็ย่อมไม่ซึมซาบ ไม่ติดอยู่ในจิตของพระ ขีณาสพ ฉันนั้น”

ห้ามภิกษุณีอยู่ป่า
ต่อมาพระบรมศาสดา ทรงพิจารณาเห็นภัยอันจะเกิดแก่กุลธิดา ผู้เข้ามาบวชแล้วพักอาศัย อยู่ในป่า อาจจะถูกคนพาล ลามก เบียดเบียนประทุษร้าย ทำอันตรายต่อพรหมจรรย์ได้ จึงรับสั่งให้ เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเฝ้า ตรัสให้ทราบพระดำริแล้ว ขอให้สร้างที่อยู่อาศัย เพื่อนางภิกษุณี สงฆ์ในที่บริเวณใกล้ ๆ พระนคร และตั้งแต่นั้นมา ภิกษุณีก็มีอาวาสอยู่ในบ้าน ในเมืองเท่านั้น

พระอุบลวรรณาเถรี ปรากฏว่าเป็นผู้ชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในวัน ที่ พระบรมศาสดาทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์นั้น พระเถรีก็กราบทูลอาสาขอแสดงฤทธิ์ เพื่อต่อสู้ กับพวกเดียรถีย์ แทนพระพุทธองค์ด้วย และทรงอาศัยเหตุนี้ จึงได้ทรงสถาปนาพระอุบลวรรณา เถรี นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้มีฤทธิ์ และเป็นอัครสา วิการฝ่ายซ้าย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- พระอุบลวรรณาเถรี - อัครสาวิกาฝ่ายซ้าย 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก