หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระมหากัจจายนเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระมหากัจจายนเถระ

บุพกรรมในอดีตชาติ
ท่านพระมหากัจจายนเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในสกุลคฤหบดี เจริญวัยแล้ว วันหนึ่งไปวิหาร ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นภิกษุรูปหนึ่ง ที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ ในตำแหน่งเป็นยอด ของเหล่าภิกษุ ผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัส ที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้พิสดาร จึงคิดว่า ภิกษุซึ่งพระศาสดาทรงชมเชยอย่างนี้ เป็นใหญ่หนอ แม้ในอนาคตกาล เราก็ควรเป็นอย่างภิกษุนี้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งบ้าง

จึงนิมนต์พระศาสดา ถวายมหาทาน ๗ วัน ครั้นแล้วหมอบลงแทบบาทมูลของพระศาสดา กระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ด้วยผลแห่งสักการะนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงได้ตำแหน่งนั้น ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนภิกษุที่พระองค์ ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง ในวันสุดท้าย ๗ วันนับแต่วันนี้

พระศาสดา ทรงตรวจดูอนาคตกาล ทรงเห็นว่า ความปรารถนาของกุลบุตรนี้ จักสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า กุลบุตรผู้เจริญ ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้จำแนกอรรถแห่งคำ ที่ตรัสโดยสังเขปให้พิสดาร ในศาสนาของพระองค์ ทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จกลับไป

ท่านบำเพ็ญกุศลตลอดชีพ แล้วเวียนว่ายในเทวโลก และมนุษยโลกทั้งหลายแสนกัป ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็มาถือปฏิสนธิในครอบครัวหนึ่ง ในกรุงพาราณสี เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ก็ไปยังสถานที่สร้างเจดีย์ทอง จึงเอาอิฐทอง มีค่าแสนหนึ่งบูชา ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สรีระของข้าพระองค์ จงมีวรรณะเพียงดังทอง ในที่ที่เกิดแล้วๆ เถิด ต่อแต่นั้น ก็กระทำกุศลกรรมตราบเท่าชีวิต เวียนว่ายในเทวโลก และมนุษยโลกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระมหากัจจายนเถระ มาบังเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ชื่อว่า กัญจนโคตร หรือ กัจจายนโคตร ปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เรียนจบไตรเพท เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้วได้รับตำแหน่งเป็นปุโรหิตแทนบิดา

ครั้นกาลต่อมาพระเจ้าจัณฑปัชโชต ได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จโปรดสั่งสอนประชาชนอยู่ ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น เป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม

มีพระราชประสงค์ จะใคร่เชิญสมเด็จพระบรมศาสดา ไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงตรัสสั่งกัจจายนะปุโรหิต ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ เรียนจบไตรเพท ไปทูลเชิญเสด็จ กัจจายนะปุโรหิตทูลลาจะบวชด้วย ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยบริวารเจ็ดคน

ครั้นมาถึงที่ประทับพระบรมศาสดาแล้ว พากันเข้าไปเฝ้า พระองค์ตรัสเทศนาสั่งสอน ในเวลาจบเทศนาได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๘ คน แล้วจึงทูลขออุปสมบท

พระบรมศาสดา ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ครั้นได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลเชิญอาราธนาพระองค์เสด็จไปกรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระบรมศาสดารับสั่งว่า ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส ท่านจึงพร้อมด้วยบริวารเจ็ดองค์ กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมศาสดากลับไปสู่กรุงอุชเชนี ประกาศพระพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโช ตและชาวพระนครเลื่อมใสแล้ว กลับมาสู่สำนักของพระบรมศาสดาอีก

ท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำย่อให้พิสดาร เช่นในครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตร (ที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะกล่าวถึงบุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาทว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ) โดยย่อแล้ว เสด็จลุกเข้าไปสู่วิหารที่ประทับ

ภิกษุทั้งหลาย ไม่ได้โอกาสที่จะทูลถามเนื้อความ ที่พระองค์ตรัสโดยย่อ ให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะ จึงได้อาราธนาขอให้ท่านอธิบายให้ฟัง ท่านก็อธิบายให้ฟังโดยพิสดาร แล้วจึงกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ตามความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์ทรงแก้อย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้น

ภิกษุเหล่านั้น ลาท่านพระมหากัจจายนะกลับมา แล้วเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสสรรเสริญ พระมหากัจจายนะว่า ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกะเรา แม้เราก็คงแก้ เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วอย่างนั้น เนื้อความแห่งธรรม ที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้น เป็นอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิด ด้วยเหตุนี้

เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร
ต่อมาภายหลัง พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงกระทำพระสูตร ๓ สูตร คือ มธุปิณฑิกสูตร กัจจายนเปยยาลสูตร ปรายนสูตร ให้เป็นอุปัตติเหตุ แล้วทรงสถาปนาพระเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัส ที่ทรงตรัสโดยย่อให้พิสดาร (วิตฺถาเรน อตฺถํ วิภชนฺตานํ)

ทูลขอแก้ไขพระพุทธบัญญัติ
ท่านมหากัจจายนะ ท่านได้ทูลขอให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติบางข้อ ซึ่งขัดข้องต่อภูมิประเทศ เช่น เมื่อครั้งท่านพำนักอยู่ ณ ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท

อุบาสก ผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านคนหนึ่ง ชื่อว่า โสณกุฏิกัณณะ มีความประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัย แต่ก็ได้เพียงบรรพชาเท่านั้น ต้องใช้เวลารอคอยสามปีแล้วจึงได้อุปสมบท เพราะในอวันตีทักขิณาปถชนบท หาภิกษุสงฆ์เป็นคณะปูรกะ (ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ ๑๐ รูปขึ้นไป) ไม่ได้ เมื่อโสณกุฏิกัณณะได้อุปสมบทแล้ว มีความปรารถนาจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาท่านพระมหากัจจายนะ ผู้เป็นอุปัชฌายะ ท่านก็อนุญาต และสั่งให้ไปถวายบังคมทูล ให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติ ซึ่งขัดต่ออวันตีทักขิณาปถชนบท ๕ ข้อ คือ

๑. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีภิกษุน้อย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พึงทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูป ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบทด้วยสงฆ์มีพระวินัยธรเป็นที่ห้า” (ด้วยสงฆ์ ๕ รูป)

๒. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พึงทรงอนุญาตรองเท้าเป็นชั้น ๆ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าเป็นชั้น ๆ ในปัจจันตชนบท”

๓. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอาบน้ำเป็นนิตย์ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ ในปัจจันตชนบท” (ในมัชฌิมประเทศ คือในเมือง ๑๕ วันภิกษุอาบน้ำได้ครั้งหนึ่ง)

๔. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีเครื่องลาด (ที่ปูนั่ง) ที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น บริบูรณ์ดีเหมือนมัชฌิมชนบท ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พึงทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะหนังแกะ เป็นต้น”

๕. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีภิกษุน้อย พวกมนุษย์ทั้งหลายย่อมถวายจีวร แก่ภิกษุผู้จาริกไปภายนอกสีมา ด้วยคำว่า “พวกข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้ แก่ภิกษุชื่อนี้” เมื่อพวกเธอเหล่านั้นกลับมาแล้ว พวกภิกษุในวัด แจ้งความให้พวกเธอทราบ พวกเธอรังเกียจ ไม่ยินดีรับ ด้วยเข้าใจเสียว่าผ้านั้นเป็นสิสสัคคียะ (ผิดวินัยจำต้องสละเพราะล่วง ๑๐ ราตรีแล้ว) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงตรัสบอก การปฏิบัติในจีวรเช่นนั้น ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ภิกษุยินดี รับจีวรที่ทายกถวายลับหลังนั้นได้ ผ้ายังไม่ถึงมือภิกษุตราบใด จะนับว่าเธอเป็นผู้มีสิทธิ์ในผ้านั้นเต็มที่ยังไม่ได้ตราบนั้น”

มีรูปงาม มีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
ท่านมหากัจจายนเถระนั้น เป็นผู้มีรูปงาม มีผิวเหลืองดุจทอง มีเรื่องเล่าว่า บุตรเศรษฐีมีชื่อว่า โสเรยยะ ในโสเรยยนคร เห็นท่านเข้าแล้วนึกในใจว่า ถ้าเราได้ภรรยามีรูปร่างงดงามอย่างท่านนี้ หรือมีภรรยา ผิวพรรณงามอย่างท่านนี้ จักเป็นที่พอใจยิ่งนัก ด้วยอำนาจอกุศลจิตเพียงเท่านั้น เพศชายแห่งโสเรยยเศรษฐีบุตรนั้น กลับเป็นเพศสตรี ได้ความอับอายเป็นอย่างยิ่ง จึงหนีไปอยู่นครตักกสิลาจนกระทั่งได้สามีมีบุตรด้วยกันสองคน ภายหลังได้ไปขอขมาให้ท่านงดโทษแล้ว เพศจึงกลับเป็นบุรุษตามเดิม

เนื้อความในมธุรสูตร
มธุรสูตร มีความเกี่ยวข้องกับพระมหากัจจายนเถระ ที่ได้ชื่อเช่นนั้น เพราะกล่าวถึง พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร มีใจความว่า ครั้งหนึ่ง พระมหากัจจายนะ อยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร เสด็จไปหา ตรัสว่า พวกพราหมณ์ถือว่า พวกเขาเป็นผู้ประเสริฐบริสุทธิ์เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร? พระมหากัจจายนะทูลตอบว่า นั่นเป็นแต่คำกล่าวของเขา ท่านชักอุทาหรณ์มาแสดงเป็นข้อ ๆ ที่วรรณะ ๔ เหล่านั้น ไม่ต่างอะไรกัน ดังนี้

๑. ในวรรณะ ๔ เหล่านี้ วรรณะเหล่าใดเป็นผู้มั่งคั่ง วรรณะเดียวกัน และวรรณะอื่น ย่อมเข้าเป็นสาวกของวรรณะนั้น
๒. วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เบื้องหน้าแต่มรณะ วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่อบายเสมอกันหมด ไม่มีพิเศษ
๓. วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบถ เบื้องหน้าแต่มรณะ วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกันหมด
๔. วรรณะใดทำโจรกรรม ปรทาริกกรม วรรณะนั้นต้องรับอาชญาเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น
๕. วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ และได้รับบำรุงและได้รับคุ้มครองรักษาเสมอกันหมด.

ปรินิพพาน
ในมธุรสูตรระบุว่า ท่านอยู่มาถึงภายหลังพุทธปรินิพพาน โดยได้แสดงหลักฐานว่า เมื่อพระมหากัจจายนะอยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเสด็จไปหา แล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระกัจจานะผู้เจริญ พวกพราหมณ์ถือว่า พวกเขาเป็นผู้ประเสริฐบริสุทธิ์เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร?

ท่านพระมหากัจจายนะทูลตอบแล้ว แสดงวรรณะสี่เหล่าว่าไม่ต่างกัน ครั้นพระเจ้ามธุรราชได้สดับแล้วก็เกิดความเลื่อมใส แสดงพระองค์เป็นอุบาสก ถึงพระเถรเจ้ากับพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ พระเถระเจ้าทูลห้ามว่า อย่าถึงท่านเป็นสรณะเลย จงถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสรณะของอาตมภาพ เป็นสรณะเถิด พระเจ้ามธุรราชตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน?

ท่านทูลว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว พระเจ้ามธุรราชตรัสว่า ถ้าพระองค์ได้ทรงสดับว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่ใด แม้ใกล้ไกลเท่าใด พระองค์คงจักเสด็จไปเฝ้าให้จงได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพระองค์ขอถึงผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานแล้ว กับพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่ง

จากหลักฐานนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่าท่านพระมหากัจจายนะ อยู่มาถึงภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระมหากัจจายนเถระ เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก