หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระอัญญาโกณฑัญญะ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระอัญญาโกณฑัญญะ
" โลกนี้ มีสิ่งที่สวยงามอยู่มาก
บุคคลผู้มีความคิดเจือด้วยราคะ
เห็นเป็นของสวยงาม จะถูกย่ำยีเป็นแน่
เมื่อใดพิจารณาเห็นได้ ด้วยปัญญา
เมื่อนั้น ความคิดทั้งหลายจึงจะสงบได้
คล้ายสายฝน สยบฝุ่นที่ถูกลมพัดฟุ้ง ฉะนั้น "

พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ และพระอสีติมหาสาวก ผู้เป็นเอตทัคคะในด้านรัตตัญญู คือ เป็นผู้รู้ธรรมก่อนใครในพระพุทธศานาและได้บวชก่อนผู้อื่น

พระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ไม่ได้มีบทบาทสำคัญ ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเท่าใดนัก เนื่องจากท่านทรงอายุพรรษากาลมากแล้ว ในช่วง 12 ปีสุดท้าย ในบั้นปลายของท่าน ท่านได้ไปพักจำพรรษา และได้นิพพานที่สระฉันทันต์ ป่าหิมพานต์ ในช่วงต้นพุทธกาล

ชาติกำเนิด
พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในหมู่บ้านโทณวัตถุ กรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “โกณฑัญญะ” เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยาจบไตรเพท และเรียนมนต์ (วิชาการทำนายลักษณะ อย่างเชี่ยวชาญ)

บุพกรรมในอดีตชาติ
พระอัญญาโกณฑัญญะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาล ชาวหงสวดี วันหนึ่ง เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมือง เพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้า ทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ด้านรัตตัญญู (แปลว่า ผู้รู้ราตรีนาน หมายถึงได้บวชก่อนใครได้รู้ได้ฟังมาก) แล้วเกิดศรัทธาปรารถนา จะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏ ด้วยการถวายมหาทาน แด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก ติดต่อกัน 7 วัน วันสุดท้าย ได้สั่งให้เปิดเรือนคลัง เก็บผ้า นำผ้าเนื้อดีเลิศ มาวางถวายไว้แทบยุคลบาท ของพระพุทธเจ้า และถวายพระสาวก แล้วกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์ ได้เป็นเหมือนภิกษุ รูปที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เมื่อ 7 วันก่อนจากนี้ ด้วยเถิด นั่นคือ ขอให้ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ในอนาคตแล้ว ได้รู้แจ้งธรรมก่อนใครหมด” พระพุทธเจ้าทรงตรวจดู ความเป็นไปในอนาคตของท่าน ด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่า ความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน ่จึงทรงพยากรณ์ว่า

ในอีก 100,000 กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดม จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้รู้แจ้งธรรมก่อนใคร และจักได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ด้านรัตตัญญู

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้า ตรัสพยากรณ์แล้ว เกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่น ๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เป็นกำลังสำคัญ ในการสร้างกำแพง แก้ว ล้อมพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระองค์ ครั้นถึงวันประดิษฐานพระเจดีย์ ก็ได้สร้างเรือนแก้ว ไว้ภายในพระเจดีย์อีก จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิด ในภพภูมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาล ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรของกฎุมพี ชาวเมืองพันธุมดี มีชื่อว่า “ มหากาล” มหากาลมีน้องชายชื่อ “ จูฬกาล” (ในชาติสุดท้ายคือสุภัททะปริพาชก) ทั้ง 2 มีอุปนิสัยแตกต่างกัน กล่าวคือ มหากาล เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าวิปัสสี แต่จูฬกาล กลับไม่เลื่อมใส ดังนั้น ทั้ง 2 จึงมีความเห็นขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา เกี่ยวกับการทำบุญ

มหากาลได้แบ่งนาออกเป็น 2 ส่วน โดยให้ส่วนหนึ่ง เป็นสมบัติของตน และอีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นสมบัติของจูฬกาล แล้วได้นำเอาผลิตผล ที่เกิดจากนาส่วนของตนนั้น มาทำบุญ จนจวบสิ้นอายุขัย จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภูมิต่าง ๆ

การได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะฝ่ายรัตตัญญู-ผู้รู้ราตรีนาน
เมื่อมาถึงพุทธุปบาทกาล ของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็น บุตรพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นออกบวช ก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุ ที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่ได้รู้แจ้งธรรม และบวชในพระพุทธศาสนาก่อนใคร พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ดังกล่าวมาแล้ว ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือ คือ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและพระอัสสชิ ซึ่งมีอดีตชาติ ร่วมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ตรงที่ตั้งจิตปรารถนาให้ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรม ก่อนใคร และปรารถนาจะบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ก็ได้สิ่งที่ปรารถนาไว้คือ ได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก่อนใคร และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันในที่สุด

ทำนายพระลักษณะพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดา ได้เชิญพราหมณ์ 108 คน มาเลี้ยงโภชนาหารในพระราชนิเวศน์ เพื่อทำพิธีทำนายพระลักษณะ ตามราชประเพณี ให้คัดเลือกพราหมณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจาก 108 คน เหลือ 8 คน และมีโกณฑัญญะอยู่ในจำนวน 8 คน นี้ด้วย

ในบรรดาพราหมณ์ทั้ง 8 คนนั้น โกณฑัญญะมีอายุน้อยที่สุด จึงทำนายเป็นคนสุดท้ายฝ่ายพราหมณ์ 7 คนแรก ได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะของสิทธัตถะ อย่างละเอียด เห็นถูกต้องตามตำรา มหาบุรุษลักษณะ พยากรณ์ศาสตร์ ครบทุกประการแล้ว จึงยกนิ้วมือขึ้น 2 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ในการทำนายเป็น 2 นัย เหมือนกันทั้งหมดว่า“พระราชกุมารนี้ ถ้าดำรงอยู่ในเพศฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปราบปรามได้รับชัยชนะทั่วปฐพีมณฑล ถ้าออกบวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก แนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์ โดยไม่มีศาสดาอื่นยิ่งไปกว่า

ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์ ได้สั่งสมบารมีมาครบถ้วน ตั้งแต่อดีตชาติ และมีความปัญญารู้มากกว่า ได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะของพระกุมาร โดยละเอียดแล้ว ได้ยกนิ้วขึ้นเพียงนิ้วเดียว เป็นการยืนยันการพยากรณ์อย่างเด็ดเดี่ยว เป็นนัยเดียวเท่านั้นว่า “พระราชกุมาร ผู้บริบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะอย่างนี้ จะไม่อยู่ครองเพศฆราวาสอย่างแน่นอน จักต้องเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างมิต้องสงสัย”

ออกบวชติดตามเจ้าชายสิทธัตถะ พระบรมโพธิสัตว์
ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึง 29 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา โกณฑัญญะพราหมณ์ทราบข่าวก็ดีใจ เพราะตรงกับคำทำนายของตน จึงรีบไปชวนบุตรของพราหมณ์ทั้ง 7 คนที่ร่วมทำนายด้วยกันนั้น โดยกล่าวว่า “บัดนี้ เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ เสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จักได้ตรัสรู้ เป็นพระสัพพัญญเจ้าแน่นอน ถ้าบิดาของพวกท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะออกบวชด้วยกันกับเรา ถ้าท่านทั้งหลาย ปรารถนาจะบวชก็จงบวช ตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด”

บุตรพราหมณ์เหล่านั้น ยอมออกบวชเพียง 4 คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ โกณฑัญญะ จึงพามาณพทั้ง ๔ คนนั้น พร้อมทั้งตนด้วยรวมเป็น 5 ได้นามบัญญัติว่า “ปัญจวัคคีย์” ออกบวช สืบเสาะติดตามถามหา พระมหาบุรุษไปตามสถานที่ต่าง ๆ จนมาพบพระพุทธองค์ กำลังบำเพ็ญความเพียรอยู่ ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ด้วยความมั่นใจว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างแน่นอน จึงพากันเข้าไปอยู่ เฝ้าทำกิจวัตรอุปัฏฐาก ด้วยการจัดน้ำใช้ น้ำฉัน และ ปัดกวาดเสนาสนะ เป็นต้น ด้วยหวังว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดพวกตน ให้รู้ตามบ้าง

เมื่อพระมหาบุรุษ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างอุกฤษฏ์ เป็นเวลาถึง 6 ปี ก็ยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ จึงทรงพระดำริว่า “วิธีนี้คงจะไม่ใช่ทางตรัสรู้” จึงทรงเลิกละความเพียร ด้วยวิธีทรมานกาย หันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต เลิกอดพระกระยาหาร กลับมาเสวยตามเดิม เพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง ฝ่ายปัญจวัคคีย์ ผู้มีความเลื่อมใสในการปฏิบัติ แบบทรมานร่างกาย ครั้นเห็นพระ โพธิสัตว์ละความเพียรนั้นแล้ว ก็รู้สึกหมดหวัง จึงพากันเหลีกหนีทิ้งพระโพธิสัตว์ ให้ประทับอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว พากันเที่ยวสัญจรไปพักอาศัยอยู่ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี

ครั้นพระโพธิสัตว์ ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงดำริพิจารณาหาบุคคล ผู้สมควรจะรับฟังพระปฐมเทศนา และตรัสรู้ตามได้โดยเร็วในชั้นแรก พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสอง ที่พระองค์เคยเข้าไปศึกษา คือ อาฬารดาบสกาลามโคตร แต่ได้ทราบว่า ท่านได้ถึงแก่กรรมไปได้ 7 วัน แล้วและอีกท่านหนึ่ง คือ อุทกดาบสรามบุตร แต่ก็ได้ทราบด้วยพระญาณ ว่า ท่านเพิ่งจะสิ้นชีพไปเมื่อวันวานนี้เอง ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงระลึกถึง ปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยมีอุปการคุณ แก่พระองค์ เมื่อสมัยทำทุกรกิริยา และทรงทราบว่า ขณะนี้ท่านทั้ง 5 พักอาศัย อยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จพุทธดำเนินไป สู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ฝ่ายปัญจวัคคีย์ นั่งสนทนากันอยู่ เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกลเข้าใจว่า พระองค์เสด็จมา เพื่อแสวงหาผู้อุปัฏฐาก จึงทำกติกากันว่า “พระสมณโคดม นี้ คลายความเพียรแล้ว เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก พวกเราไม่ควรไหว้ ไม่ควรลุกขึ้นต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวรของพระองค์เลย เพียงแต่จัดอาสนะไว้ เมื่อพระองค์ปรารถนาจะประทับนั่ง ก็จงนั่งตามพระอัธยาศัยเถิด” ครั้นพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ต่างพากันลืมกติกา ที่นัดหมายกันไว้ กลับทำการต้อนรับเป็นอย่างดี ดังที่เคยทำมา แต่ยังใช้คำทักทายว่า “อาวุโส” และเรียกพระนามว่า “โคดม” อันเป็นถ้อยคำ ที่แสดงความไม่เคารพ ดังนั้น พระพุทธองค์ ทรงห้ามแล้วตรัสว่า “อย่าเลย พวกเธออย่างกล่าวอย่างนั้น บัดนี้ ตถาคตได้บรรลุอมตธรรมเอง โดยชอบแล้ว เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงให้ฟัง เมื่อเธอปฏิบัติตามที่เราสอนแล้ว ไม่นานก็จะบรรลุอมตธรรมนั้น” “อาวุโสโคดม แม้พระองค์บำเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์ เห็นปานนั้น ก็ยังไม่บรรลุธรรมพิเศษอันใด บัดนี้ พระองค์คลายความเพียรนั้น แล้วหันมาปฏิบัติเพื่อความเป็นคนมักมาก แล้วจะบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร?”

พระพุทธองค์ ตรัสเตือนปัญจวัคคีย์ ให้ระลึกถึงความหลังว่า “ท่านทั้งหลายจำได้หรือไม่ว่า วาจาเช่นนี้ เราเคยพูดกับท่านบ้างหรือไม่” ปัญจวัคคีย์ ระลึกขึ้นได้ว่า พระองค์ไม่เคยตรัสมา ก่อนเลย จึงยินยอมพร้อมใจกัน ฟังพระธรรมเทศนาโดยเคารพ

ได้รับฟังปฐมเทศนา
พระพุทธองค์ ทรงประกาศพระสัพพัญญุตญาณ แก่เหล่าปัญจวัคคีย์ โดยตรัส พระธรรมจักรกัปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา ซึ่งเนื้อความในพระธรรมเทศนานี้ พระพุทธองค์ทรงตำหนิหนทางปฏิบัติอันไร้ประโยชน์ 2 ทาง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

1. กามสุขัลลิกานุโยค การปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป แสวงหาแต่กามสุข อันพัวพันหมกมุ่นแต่รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเป็นสิ่งเลวทราม เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นกิจของคนกิเลสหนา มิใช่ของพระอริยะ มิใช่ทางตรัสรู้หาประโยชน์มิได้

2. อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติตนให้ได้รับความลำบาก เคร่งครัดเกินไป กระทำตนให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่า ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น

จากนั้น พระพุทธองค์ ตรัสชี้แนะวิธีปฏิบัติ แบบ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ การปฏิบัติแบบกลาง ๆ ไม่ย่อหย่อนเกินไป แบบประเภทที่หนึ่ง และไม่ตึงเกินไป แบบประเภทที่สอง ดำเนินตามทางสายกลาง ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค คือ ทางอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ ได้แก่
1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (ปัญญาเห็นในอริยสัจ 4)
2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ (ดำริออกจากกาม เบียดเบียนพยายาม)
3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ (เว้นจากวจีทุจริต 4)
4. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ (เว้นจากกายทุจริต 3)
5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ (เว้นจากเลี้ยงชีพในทางที่ผิด)
6. สัมมาวายามะ เพียรชอบ (เพียรละความชั่วทำความดี)
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ (ระลึกในสติปัฏฐาน 4)
8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้ชอบ (เจริญฌานทั้ง 4)

เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน เกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” พระพุทธองค์ ทรงทราบว่า โกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล ในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงทรงเปล่งอุทาน ด้วยความพอพระทัยด้วยพระดำรัสว่า

อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ
ซึ่งแปลว่า “โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ”
ด้วยพระพุทธดำรัสนี้ คำว่า “อัญญา” จงเป็นคำนำหน้าชื่อของท่าน โกณฑัญญะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นที่รู้ทั่วกันว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ

เป็นพระสงฆ์รูปแรกในพุทธศาสนา
เมื่อท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านได้กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้ด้วยพระดำรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” ด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ โกณฑัญญะ ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นพระสงฆ์รูปแรกในโลก และการอุปสมบทด้วยวิธีนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา

วันต่อ ๆ มา ท่านที่เหลืออีก 4 คน ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และอุปสมบทด้วยกันทั้งหมด พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระปัจวัคคีย์ มีญาณแก่กล้า พอที่จะบรรลุธรรมเบื้องสูง ได้แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนา “อนัตตลักขณสูตร” คือสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตาความไม่มีตัวตน โปรดพระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลด้วยกันทั้งหมด ขณะนั้น มีพระอรหันต์ เกิดขึ้นในโลก 6 องค์ รวมทั้งพระพุทธองค์ด้วย

ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะด้านรัตตัญญู
พระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระพุทธองค์ทรงส่งออกไป ประกาศพระศาสนาพร้อมกับพระสาวกรุ่นแรก จำนวน 60 รูป ท่านได้เดินทางไปยังบ้านเดิมของท่าน ได้นำหลานชายชื่อ ปุณณมันตานี ซึ่งเป็นบุตรของ นางมันตานี ผู้เป็นน้องสาวของท่านมาบวช และได้มีชื่อว่า พระปุณณมันตานีบุตรเถระ เพราะความที่ท่านเป็นพระเถระ ผู้มีอายุพรรษากาลมาก มีประสบการณ์มาก จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายในทาง ผู้รัตตัญญู หมายถึง ผู้รู้ราตรีนาน

บั้นปลายชีวิต
พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระเถระผู้เฒ่า ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบหลีกเร้นอยู่ในสถานที่อันสงบวิเวกตามลำพัง ในคัมภีร์มโนรถปูรณี และคัมภีร์ธุรัตวิลาสินี กล่าวไว้ตรง กันว่า เป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษา ณ ป่าหิมพานต์ ตามลำพัง นอกจากต้องการความสงบดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุผลส่วนตัวของท่าน อีก 3 ประการคือ

1. ท่านไม่ประสงค์จะเห็นพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระของพระพุทธองค์ กิจการพระศาสนาด้านต่าง ๆ ที่ต้องมาแสดงความเคารพนอบน้อม ต่อพระผู้เฒ่าชราอย่างท่าน ซึ่งสังขารนับวันจะร่วงโรย และใกล้แตกดับเข้าไปทุกขณะ

2. ท่านได้รับความเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก ที่ต้องคอยต้อนรับผู้ไปมาหาสู่ ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ การอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านจึงไม่เหมาะสมสำหรับพระแก่ชราอย่างท่าน

3. ท่านเบื่อหน่ายในความดื้อรั้น ของพระสัทธิวิหาริกรุ่นหลัง ๆ ที่มักประพฤตินอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล

ท่านได้อยู่จำพรรษา ในป่าหิมพานต์ บริเวณใกล้สระฉัททันต์ เป็นเวลานาน 12 ปี วันที่ท่านจะนิพพาน ท่านพิจารณาอายุสังขารแล้ว ได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลลานิพพาน ครั้นพระพุทธองค์ประทานอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางกลับยังป่าหิมพานต์ และนิพพานในบรรณศาลา ที่พักริมสระฉัททันต์นั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก ได้เสด็จไปทำฌาปนกิจศพให้ท่าน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ - เอตทัคคะในทางรัตตัญญู


ย้อนกลับ เนื้อหา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก