หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระลกุณฏกภัททิยเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระลกุณฏกภัททิยเถระ
" คนที่หมิ่นเราเรื่องรูปร่าง กับคนที่หลงใหลในเสียงของเรา
มีสภาพไม่ต่างกัน คือตกอยู่ในอำนาจฉันทราคะ
พวกเขาไม่รู้จักเราจริง "
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระลกุณฏกภัททิยเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูล ที่มีโภคทรัพย์มาก ในกรุงหังสวดี ไปวิหารฟังธรรมของพระศาสดา เห็นพระภิกษุผู้มีเสียงไพเราะรูปหนึ่ง ที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เกิดความคิดว่า อัศจรรย์หนอ ต่อไปในอนาคต เราพึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีเสียงไพเราะในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนภิกษุนี้

จึงนิมนต์พระศาสดา ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน แล้วหมอบลงแทบพระบาทของพระศาสดา ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งทานนี้ ข้าพระองค์มิได้หวังสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ข้าพระองค์ พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีเสียงไพเราะ ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด

พระศาสดา ทรงตรวจดูอนาคต ก็ทรงเห็นความสำเร็จ จึงพยากรณ์ว่า กรรมของท่านนี้ จักสำเร็จในที่สุด แห่งแสนกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีเสียงไพเราะ ในศาสนาของพระองค์ ดังนี้ เสด็จกลับวิหาร

ท่านเมื่อได้รับการพยากรณ์นั้นแล้ว การทำกรรมดีงามตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตจากอัตภาพนั้นแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี บังเกิดเป็นนกดุเหว่า มีขนปีกอันสวยงาม อยู่ในเขมมิคทายวัน

วันหนึ่ง ไปยังป่าหิมวันตประเทศ เอาปากคาบผลมะม่วงหวานมา เห็นพระศาสดา มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ถวายบังคมแล้วคิดว่า ในวันอื่นๆ เรามีตัวเปล่าพบพระศาสดา แต่วันนี้ เรานำมะม่วงสุกผลนี้มา เพื่อฝากบุตรของเรา แต่สำหรับบุตรนั้น เราไปเอาผลไม้อื่นมาให้ก็ได้ แต่ผลนี้ เราควรถวายพระทศพล จึงคงบินอยู่ในอากาศ

พระศาสดาทรงทราบใจของนก จึงแลดูพระอุปัฏฐากนามว่า อโสกเถระ พระเถระ จึงนำบาตรถวายพระศาสดา นกดุเหว่าจึงเอาผลมะม่วงสุก วางไว้ในบาตรของพระทศพล พระศาสดาประทับนั่ง เสวยในที่นั้นนั่นแหละ นกดุเหว่า มีจิตในเลื่อมใส นึกถึงพระคุณของพระทศพลเนืองๆ ถวายบังคมพระทศพล แล้วไปรังของตน ดื่มด่ำในสุขปีติอยู่ ๗ วัน ในภพชาตินั้น ท่านได้ทำกัลยาณกรรมไว้เช่นนี้ ด้วยกรรมนี้ท่านจึงมีเสียงไพเราะ

แต่ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เมื่อชนทั้งหลาย ปรารภที่จะสร้างเจดีย์ ต่างพูดกันว่า เราจะสร้างขนาดเท่าไร เราสร้างขนาด ๗ โยชน์ ก็จะใหญ่เกินไป ถ้าอย่างนั้นก็สร้าง ๖ โยชน์ แม้ ๖ โยชน์ก็ใหญ่เกินไป เราจะสร้าง ๕ โยชน์ เราจะสร้าง ๔ โยชน์ ... ๒ โยชน์ ...ท่านภัททิยะ ครั้งนั้น เป็นนายช่างใหญ่พูดว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การสร้าง ควรนึกถึงการบำรุงได้ง่ายในอนาคตบ้าง แล้วกล่าวว่า มุขแต่ละมุข ขนาดอาวุธหนึ่ง เจดีย์ส่วนกลมโยชน์หนึ่ง ส่วนสูงโยชน์หนึ่ง ชนเหล่านั้นก็เชื่อ ท่านได้กระทำแต่พอประมาณ แด่พระพุทธเจ้า ผู้หาประมาณมิได้ ด้วยกรรมนั้นดังกล่าว จึงเป็นผู้เตี้ยต่ำ กว่าชนเหล่าอื่นในที่ที่ตนเกิดแล้วๆ

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระลกุณฏกภัททิยเถระ เกิดในตระกูลมั่งคั่ง ในพระนครสาวัตถี ชื่อของท่านภัททิยะ มีความหมายว่า ผู้เป็นคนเตี้ย

ครั้งหนึ่ง ท่านพร้อมด้วยอุบาสกชาวนครเป็นอันมาก ไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่เชตวันมหาวิหาร ได้ฟังธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว เกิดศรัทธาเลื่อมใสอยากจะบวชในพระธรรมวินัย

ครั้นได้บวชสมความประสงค์แล้ว อุตส่าห์เล่าเรียนพระกรรมฐาน ในสำนักของพระบรมศาสดา บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่

สนทนาธรรมกับพระสารีบุตร และได้บรรลุพระอรหัตตผล
ครั้นกาลต่อมา ท่านได้เข้าหาพระสารีบุตร ได้นั่งสนทนาธรรมิกถากับท่าน โดยอเนกปริยาย เมื่อนั่งสนทนาอยู่ จิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระศาสนา

โดนพวกภิกษุปุถุชน ล้อเลียนว่าเป็นสามเณร
ท่านพระลกุณฏกภัททิยะนั้น ปรากฏว่าเป็นคนมีรูปร่างเล็กและต่ำเตี้ย (เพราะวิบากกรรม เคยคัดค้านการสร้างเจดีย์ มิให้มีความสูงเกินไป เพราะจะทำให้ยากแก่การบูรณะปฏิสังขรณ์ในอนาคต) ถ้าใครไม่เคยรู้จัก และไม่เคยเห็นท่านมาก่อน หารู้ไม่ว่าเป็นพระ สำคัญเป็นสามเณรไป

ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ท่านมาเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วหลีกไป ในเวลานั้น ภิกษุผู้อยู่ในป่าประมาณ ๓๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้เห็นท่านหลีกไปเหมือนกัน พระบรมศาสดาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเธอเห็นพระเถระรูปหนึ่งเดินไปจากที่นี่บ้างไหม พวกภิกษุทราบกราบทูลว่า ไม่เห็นพระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : เห็นมิใช่หรือ
ภิกษุ : เห็นแต่สามเณรรูปหนึ่งพระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : นั่นแหละพระเถระ ไม่ใช่สามเณร
ภิกษุ : เล็กเหลือเกิน พระพุทธเจ้าข้า

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงถูกภิกษุหนุ่มและสามเณรเป็นต้น ที่เป็นปุถุชน ล้อเลียน ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ภิกษุหนุ่มและสามเณรเป็นต้น ที่เป็นปุถุชน เห็นท่านแล้ว จับศีรษะท่านบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง แล้วพูดว่า “อายังไม่อยากสึกบ้างหรือ” แต่ท่านหาได้โกรธเคือง ในภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นไม่ เพราะท่านเป็นพระขีณาสพ

เอตทัคคะในทางผู้พูดเสียงไพเราะ
ท่านพระลกุณฏกภัททิยะนี้ ปรากฏว่า เป็นผู้พูดไพเราะเสนาะโสตแก่ผู้ฟัง (เพราะในอดีตชาติ ครั้งพระวิปัสสีพุทธเจ้า บังเกิดเป็นนกดุเหว่า คาบเอาผลมะม่วงหวานมาถวายพระทศพล) เหตุดังนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างมีเสียงไพเราะ (มญฺชุสฺสรานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระลกุณฏกภัททิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้พูดเสียงไพเราะ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก