หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระมหากัสสปเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระมหากัสสปเถระ
 
บุพกรรมในอดีต

ท่านพระมหากัสสปะ ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญสมภาร อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ ในภพนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ได้เป็นกุฎุมพี มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ มีนามว่า เวเทหะ อยู่ในนครหังสวดี เป็นอุบาสกนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นของเรา

ในวันอุโบสถวันหนึ่ง บริโภคอาหารแต่เช้าตรู่ อธิษฐานองค์อุโบสถแล้ว ถือของหอมและดอกไม้ ไปวิหาร บูชาพระศาสดา นมัสการนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง เห็นพระศาสดา ทรงตั้งพระสาวกที่สามนามว่า มหานิสภเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิสภะนี้ เป็นเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายของเรา ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์

ได้ฟังแล้วก็เกิดความเลื่อมใส ในเวลาจบธรรมกถา เมื่อมหาชนลุกไปแล้ว จึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วทูลนิมนต์พระศาสดากับภิกษุสงฆ์ ประมาณหกล้านแปดแสนรูป รับภัตตาหาร เป็นเวลา ๗ วัน

ในวันที่ ๗ ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วหมอบลงแทบพระบาท ของพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถวายทานอยู่ตลอด ๗ วัน เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรมอันใด ด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรมนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอย่างอื่น จะเป็นเทวสมบัติ หรือสักกสมบัติ มารสมบัติ และพรหมสมบัติก็ตาม ก็กรรมของข้าพระองค์นี้ จงเป็นอธิการความดี แก่ความเป็นเลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เหมือนอย่างที่ พระมหานิสภเถระถึงแล้ว ในสำนักของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล

พระศาสดาทรงตรวจดูว่า อุบาสกนี้ปรารถนาตำแหน่งใหญ่หลวง จักสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงเห็นว่าสำเร็จ จึงตรัสพยากรณ์ว่า ท่านปรารถนาตำแหน่งอันเป็นที่ชื่นใจ ในอนาคตกาล ในที่สุดแสนกัป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมจักอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นสาวกที่สาม ของพระพุทธเจ้านั้น จักเป็นผู้ชื่อว่า มหากัสสปเถระ

อุบาสกได้ฟังดังนั้น คิดว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสเป็นสอง ได้สำคัญสมบัตินั้น ประหนึ่งจะพึงได้ในวันรุ่งขึ้น จึงได้ให้ทาน สมาทานศีล ตลอดชั่วอายุ กระทำบุญกรรมมีประการต่างๆ สิ้นชีวิตแล้วไปบังเกิดในสวรรค์

ในกาลของพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ท่านเกิดเป็นพราหมณ์นามว่า เอกสาฎกพราหมณ์ เป็นผู้ยากจนเข็ญใจมาก โดยพราหมณ์มีผ้าสาฎกสำหรับนุ่งผืนเดียว นางพราหมณีผู้ภรรยาก็มีผ้าสาฎกสำหรับนุ่งผืนเดียว แต่คนทั้งสองมีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น จะไปไหนมาไหนนอกบ้านต้องผลัดกันไป แต่ในที่สุดพราหมณ์ได้ไปฟังธรรม ของพระศาสดา และได้ถวายผ้านุ่งผืนเดียวนั้น แด่พระศาสดา ส่งผลให้ได้รับอานิสงส์ ได้รับพะราชทานผ้าถึง ๓๒ คู่จากพระราชา และเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ท่านและภรรยาก็ได้ไปเกิดในเทวโลก ท่านเวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก อยู่นานหลายพุทธันดร

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระมหากัสสปเถระ มาบังเกิดเป็นบุตรกปิลพราหมณ์ กัสสปโคตร ในบ้านมหาติฏฐะ แคว้นมคธรัฐ มีชื่อว่า ปิปผลิ อีกอย่างหนึ่ง เรียกตามสกุลว่า กัสสปะ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวหมงคล(ฝ่ายหญิงมาอยู่กับฝ่ายชาย) กับนางภัททกาปิลานี ผู้มีอายุได้ ๑๖ ปี เป็นบุตรีพราหมณ์โกสิยโคตร เมื่องสาคละ แคว้นมคธรัฐ

เรื่องเดิมมีอยู่ว่า เมื่อปิปผลิมาณพ อายุได้ ๒๐ ปีแล้ว กปิลพราหมณ์ผู้เป็นบิดา พร้อมกับนางพราหมณีผู้มารดา ก็ปรึกษากันหาภรรยาให้แก่บุตรของตน จึงมอบสิ่งของมีเงินและทองเป็นต้น ให้แก่พราหมณ์แปดคน แล้วส่งไปเพื่อให้แสวงหาหญิงที่มีลักษณะดีงาม มีฐานะเสมอกันกับสกุลของตน

พราหมณ์แปดคน รับสิ่งของทองหมั้นแล้ว ก็เที่ยวหาไป จนได้ไปถึงสาครนคร ในพระนครนั้น มีธิดาของพราหมณ์โกสิยโคตรคนหนึ่ง ชื่อว่า ภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี รูปร่างงดงามสมกับเป็นผู้มีบุญ พราหมณ์เหล่านั้น ครั้นได้เห็นแล้ว จึงเข้าไปสู่ขอกับบิดามารดาของนาง เมื่อตกลงกันแล้ว จึงมอบสิ่งของทองหมั้น กำหนดวันอาวหมงคล และส่งข่าวให้กปิลพราหมณ์ได้ทราบ

ส่วนปิปผลิมาณพ เมื่อได้ทราบดังนั้น ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแต่งงานเลย จึงเข้าไปในห้อง เขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้แก่นางทราบว่า “นางผู้เจริญ จงได้สามี ที่มีชาติและโคตร โภคสมบัติเสมอกับนาง อยู่ครองครองเรือนเป็นสุขเถิด ฉันจักออกบวช ต่อไปภายหลังนางจะได้ไม่ต้องเดือดร้อน”

ครั้นเขียนเสร็จแล้ว มอบให้คนใช้นำไปส่งให้ แม้นางภัททกาปิลานี ก็มีความประสงค์เช่นเดียวกัน จึงได้เขียนจดหมายความเดียวกันนั้น ให้คนใช้นำมา คนถือจดหมายทั้งสอง มาพบกันระหว่างทาง ต่างไถ่ถาม ความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงฉีกจดหมายออกอ่าน แล้วทิ้งจดหมายฉบับนั้นเสียในป่า เขียนจดหมายมีเนื้อความ แสดงความรักใคร่ซึ่งกันและกันขึ้นใหม่ แล้วนำไปให้แก่คนทั้งสอง

ครั้นกาลต่อมา การอาวหมงคลเป็นการสำเร็จเรียบร้อย โดยคนทั้งสองไม่ได้มีความประสงค์ สักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้ถูกต้องกันเลย แม้แต่ขึ้นสู่เตียงนอน ก็ไม่ได้ขึ้นทางเดียวกัน ปิปผลิมาณพขึ้นข้างขวา นางภัททกาปิลานี้ขึ้นข้างซ้าย เมื่อเวลานอน ตั้งพวงดอกไม้สองพวงไว้กลางที่นอน เพราะกลัวร่างกายจะถูกต้องกัน ถึงกลางวันก็ไม่ได้มีการหัวเราะ ยิ้มหัวต่อกันเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีบุตรหรือธิดา

ชักชวนกันออกบวช
สกุลของสามีภรรยาคู่นี้ มั่งมีมาก มีการงานเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์ก็มาก มีคนงานและพาหนะ สำหรับใช้งานก็มาก ครั้นต่อมา บิดามารดาเสียชีวิตแล้ว ปิปผลิมาณพได้ครองสมบัติ ดูแลการงานนั้น สืบทอดจากบิดามารดา และสามีภรรยา ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาปเพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี จึงมีใจเบื่อหน่าย พร้อมใจกันจะออกบวช ได้แสวงหาผ้ากาสาวพัสตร์ ถือเพศเป็นบรรพชิต ออกบวชมุ่งหมายเป็นพระอรหันต์ในโลก สะพายบาตรลงจากปราสาทหลีกไป ปิปผลิเดินหน้า นางภัททกาปิลานีเดินไปตามหลัง พอไปถึงทางแยกแห่งหนึ่ง จึงแยกจากกัน ปิปผลิเดินไปทางขวา

นางภัททกาปิลานี เดินไปทางซ้าย จนบรรลุถึงสำนักของนางภิกษุณี ภายหลังได้บวชเป็นนางภิกษุณี และได้บรรลุพระอรหัตผล

ส่วนปิปผลิ เดินทางไปพบสมเด็จพระบรมศาสดา ประทับอยู่ใต้ร่มไทร ซึ่งเรียกว่า พหุปุตตกนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทาต่อกัน มีความเลื่อมใสเปล่งวาจาประกาศว่า พระศาสดาเป็นพระศาสดาของตน ตนเป็นสาวกของพระศาสดา

พุทธองค์ประทานโอวาท ๓ ข้อ
พระศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ด้วยประทานโอวาท ๓ ข้อว่า
๑. กัสสปะ ท่านพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงใจ ไว้ในภิกษุที่เป็นผู้เฒ่าและปานกลาง อย่างดีที่สุด
๒. เราจักฟังธรรมซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักตั้งใจฟังธรรมนั้น แล้วพิจารณาเนื้อความ
๓. เราจักไม่ละสติที่เป็นไปในกาย คือ พิจารณาเอาร่างกายเป็นอารมณ์

ครั้นประทานโอวาทแก่พระมหากัสสปะอย่างนี้แล้ว เสด็จหลีกไป ท่านได้ฟังพุทธโอวาทที่นั้นแล้ว ก็เริ่มบำเพ็ญเพียรในวันที่ ๘ นับจากวันอุปสมบทมา ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล

เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์
ตามปกติท่านพระมหากัสสปะนั้น ถือธุดงค์ ๓ อย่าง คือ
๑.ถือทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร
๒.ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๓. ถืออยู่ป่าเป็นวัตร

ด้วยเหตุนั้นพระบรมศาสดา จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้วยพระดำรัสว่า มหากัสสปะเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์และสอนเรื่องธุดงค์ ในศาสนาของเรา (ธุตวาทานํ ยทิทํ มหากสฺสโป)

คุณความดีของพระมหากัสหปเถระ
นอกจากนี้ท่านยังมีคุณความดีที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องหลายสถาน เช่น
๑. ทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไปทรง ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน ตรัสว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่าง

๒. กัสสปะเข้าไปในตระกูล ชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเหมือนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคย ไม่คะนองกายวาจาใจในตระกูลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในตระกูลเหล่านั้น เพิกเฉยแล้วตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น

๓. กัสสปะมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณา ในเวลาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
๔. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติชอบ โดยยกเอาท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง

ท่านพระมหากัสสปะนั้นดีแต่ในการปฏิบัติ หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ธรรมเทศนาอันเป็นอนุสาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจาก การสนทนาในเรื่องธรรมะ กับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวอธิบายพระพุทธดำรัสบ้าง

เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง
เมื่อตอนพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ ดูท่านไม่เป็นพระแนวหน้านัก เป็นเพียงมหาสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่งเท่านั้น มาปรากฏเป็นพระสาวกองค์สำคัญ เมื่อพระบรมศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว

คือ ในเวลานั้น ท่านเป็นพระเถระทั้งหลาย พอถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้ ๗ วัน ได้ประชุมสงฆ์เล่าถึงการที่ภิกษุชื่อว่า สุภัททะผู้บวชเมื่อตอนแก่ กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย ในคราวเมื่อเดินทางจากปาวานคร ปรึกษาหารือ ในทางที่จะทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นแบบฉบับ พระสงฆ์ก็ยินยอมเห็นพร้อมด้วย ท่านจึงเลือกภิกษุผู้ทำสังคายนาได้ ๕๐๐ องค์ การทำสังคายนาในครั้งนั้น ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์

พระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้พระอุบาลีเป็นกำลังในการวิสัชนาพระวินัย และพระอานนท์ในการวิสัชนาพระธรรม ได้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ เรียกว่า ปฐมสังคายนา

ดับขันธปรินิพพาน
พระมหากัสสปเถระ เมื่อท่านทำสังคายนาเรียบร้อยแล้ว ได้อยู่ที่พระเวฬุวนาราม ในกรุงราชคฤห์ ไม่ประมาท ปฏิบัติธรรมเป็นนิตย์ ดำรงชนมายุสังขารประมาณได้ ๑๒๐ ปี ท่านก็ดับขันธปรินิพพาน ณ ระหว่างกลางกุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระมหากัสสปะเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก