หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดเป็นสีหะ ณ เชิงบรรพต พระศาสดาตรวจดูโลก ทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของท่าน จึงเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ภายหลังเสวยภัตตาหารแล้ว ในเวลาใกล้รุ่ง เมื่อสีหะออกไปหาเหยื่อ จึงทรงเข้าไปในถ้ำ ที่อยู่ของสีหะนั้น ประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศ เข้านิโรธสมาบัติ

พระยาสีหะ ได้เหยื่อแล้ว กลับมาหยุดอยู่ที่ที่ประตูถ้ำ ดำริว่า ไม่มีสัตว์อื่น ที่ชื่อว่าสามารถจะมานั่งที่อยู่ของเรา บุรุษนี้ ใหญ่แน่แท้หนอ มานั่งขัดสมาธิภายในถ้ำได้ แม้รัศมีสรีระของท่าน ก็แผ่ไปโดยรอบ เราไม่เคยเห็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ บุรุษนี้ จักเป็นยอดของปูชนียบุคคลในโลกนี้ แม้เราควรกระทำสักการะ ตามสติกำลังถวายพระองค์

จึงนำดอกไม้ต่างๆ ทั้งที่เกิดในน้ำ ทั้งที่เกิดบนบก มาลาดเป็นอาสนะดอกไม้ ตั้งแต่พื้นจนถึงที่นั่งขัดสมาธิ ยืนนมัสการพระตถาคต ในที่ตรงพระพักตร์ ตลอดคืนยังรุ่ง รุ่งขึ้นวันใหม่ นำดอกไม้เก่าออก เอาดอกไม้ใหม่ลาดอาสนะ แบบเดียวกัน เที่ยวตกแต่งปุปผาสนะถึง ๗ วัน บังเกิดปีติโสมนัสอย่างแรง ยืนเฝ้าอยู่ที่ประตูถ้ำ

ในวันที่ ๗ พระศาสดา ออกจากนิโรธสมาบัติ ประทับยืนที่ประตูถ้ำ พระยาสีหะราชาแห่งมฤค กระทำประทักษิณพระตถาคต ๓ ครั้ง ไหว้ในที่ทั้ง ๔ แล้วถอยออกไปยืนอยู่ พระศาสดาทรงดำริว่า เท่านี้จักพอเป็นอุปนิสัยแก่เธอ เหาะกลับไปพระวิหารตามเดิม

ฝ่ายพระยาสีหะนั้น เป็นทุกข์เพราะพลัดพรากพระพุทธองค์ กระทำกาละแล้ว ถือปฏิสนธิในตระกูลมหาศาลในกรุงหงสวดี เจริญวัยแล้ว วันหนึ่ง ไปพระวิหารกับชาวกรุง ฟังพระธรรมเทศนา บำเพ็ญมหาทาน ๗ วัน กระทำกาละ ในภพชาตินั้นแล้ว เวียนว่ายในเทวโลกและมนุษยโลกทั้งหลาย

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล ภารทวาชโคตร ในกรุงราชคฤห์ มีชื่อตามสกุลว่า ภารทวาชมาณพ เป็นคณาจารย์บอกศิลปวิทยา เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพท ตามลัทธิของพราหมณ์ มีความชำนิชำนาญ ได้เป็นคณาจารย์บอกศิลปวิทยาแก่มาณพประมาณ ๕๐๐ คน

ภารทวาชมาณพนั้น มีความโลภในอาหาร เที่ยวไปแสวงหาอาหารกับพวกมาณพผู้เป็นศิษย์ในที่ต่าง ๆ คือ ในที่ตนควรได้บ้างไม่ควรได้บ้างเหตุ ดังนั้น จึงมีนามปรากฏว่า “ปิณโฑลภารทวาชมาณพ

ครั้นเมื่อพระบรมศาสดา ประกาศพระศาสนามาโดยลำดับ จนบรรลุถึงพระนครราชคฤห์ ปิณโฑลภารทวาชมาณพ ได้ทราบข่าว จึงเข้าไปเฝ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุ ในพระพุทธศาสนา

เป็นผู้สมบูรณ์ด้วย อินทรีย์ ๓ ประการ
ครั้นพระปิณโฑลภารทวาชะ ได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตสาหะเจริญสมณธรรมในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นาน ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย อินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์

เอตทัคคะในทางผู้บันลือสีหนาท
ในวันที่ท่านได้บรรลุอรหัตผลนั้น ท่านถือเอาอาสนะเครื่องลาด ไปสู่บริเวณวิหาร ปูลาดแล้ว เที่ยวบันลือออกซึ่งสีหนาท ด้วยวาจาอันองอาจว่า ผู้ใดมีความสงสัยมรรคหรือผล ผู้นั้นจงถามเราเถิด ไม่ว่าจะไปในที่ไหน แม้ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจที่ควรกระทำในพระศาสนานี้ถึงที่สุดแล้ว

อาศัยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บันลือสีหนาท (สีหนาทิกานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ เอตทัคคะในทางผู้บันลือสีหนาท


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก