หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระอุบาลีเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระอุบาลีเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ในสมัยหนึ่ง ท่านพระอุบาลีเถระ เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อว่า สุชาต ในหงสาวดีนคร สะสมทรัพย์ไว้ ๘๐ โกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือก นับไม่ถ้วน เป็นผู้มีความรู้อย่างยิ่ง มหาชนต่างนับถือ แต่ตัวท่านเอง ในครั้งนั้น ไม่นับถือผู้ใด ด้วยในสมัยนั้น ยังไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ในครั้งนั้นท่านมีมานะ กระด้าง ไม่เห็นผู้ที่ควรบูชา

ครั้นต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในครั้งนั้น พระองค์ได้เสด็จเข้ามายังนครหงสาวดี เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบิดา มหาชนหลั่งไหลเข้ามาฟังธรรม เป็นอาณาบริเวณประมาณ ๑ โยชน์โดยรอบ ดาบสท่านหนึ่ง ชื่อสุนันทะ ได้สร้างปะรำดอกไม้ขึ้นบังแสงแดด เพื่อประโยชน์แห่งมหาชน ตลอดทั่วทั้งพุทธบริษัท

ถวายพระอารามปรารถนาจะได้ตำแหน่งผู้เป็นเลิศในพระวินัย
ในครั้งนั้น เมื่อพระพุทธเจ้า ทรงประกาศอริสัจ ๔ บริษัทแสนโกฏิ ก็ได้บรรลุธรรม พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรม เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ครั้นถึงวันที่ ๘ พระองค์ทรงพยากรณ์ สุนันทดาบส ดังนี้ว่า ในแสนกัปนับจากนี้ไป จักมีพระศาสดาในโลก ผู้ทรงสมภพ จากราชตระกูลพระเจ้าโอกกากราช พระนามโดยพระโคตรว่า โคดม ดาบสนี้ จักเกิดเป็นพุทธสาวกโดยนามว่า ปุณณมันตานีบุตร และจะได้เป็นเอตทัคคะ ยิ่งกว่าสาวกอื่น

ท่านได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธองค์แล้ว ก็ปรารถนาจะได้ตำแหน่ง ผู้เป็นเลิศในพระวินัย ท่านจึงได้ซื้อสวน ชื่อว่า โสภณะ ด้านหน้าพระนคร ด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า ท่านได้สร้าง เรือนยอด ปราสาท มณฑป ถ้ำ คูหา และที่จงกรม สร้างเรือนอบกาย โรงไฟ โรงเก็บน้ำและห้องอาบน้ำ ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์. ท่านได้ถวายปัจจัยคือ ตั่ง เตียง ภาชนะ เครื่องใช้สอย และยาประจำวัดนี้ทุกอย่าง ท่านให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง สร้างที่อยู่อาศัย ให้ท่านผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่ไว้ในสังฆาราม ทั้งหมดนี้ ด้วยทรัพย์อีกจำนวนแสนหนึ่ง รวมเป็นสองแสน

ครั้นเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้นิมนต์พระปทุมุตตระพุทธเจ้า ให้เสด็จมาเพื่อถวายพระอาราม ครั้นเมื่อถึงเวลา พระปทุมุตตรพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระขีณาสพพันหนึ่ง ได้เสด็จเข้าไปสู่อาราม ท่านได้ถวายภัตตาหารแล้ว จึงได้ทูลถวายอารามนี้

พระพุทธเจ้าครั้นทรงรับสังฆาราม ที่สร้างเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงอนุโมทนา และทรงพยากรณ์พราหมณ์สุชาตว่า ในอีกแสนกัปข้างหน้า จักมีพระศาสดาในโลก ผู้ทรงสมภพในราชตระกูลโอกกากราช พระนามโดยพระโคตรว่า โคตมะ พระองค์จักทรงมีพุทธชิโนรส ผู้เป็นธรรมทายาท เป็นพุทธสาวก ชื่อว่า อุบาลี เธอจักบำเพ็ญบารมี ในพระวินัย ดำรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระชินะ และเป็นผู้หาอาสวะมิได้ พระสมณโคดม จักทรงแต่งตั้งเธอไว้ในเอตทัคคะ

ทำการล่วงเกินพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ในกัปที่สอง ภายหลังภัทรกัปนี้ไป ท่านเกิดเป็นโอรสของพระเจ้าอัญชสะ ผู้มีพระเดชานุภาพยิ่งใหญ่ มีทรัพย์หลายแสนโกฏิ ชื่อว่า เจ้าชายจันทนะ เจ้าชายนั้น เป็นคนกระด้าง คือ แข็งกร้าว ถือตัว ด้วยความเมาในชาติตระกูล ยศ และโภคะ

ในวันหนึ่ง ท่านได้เสด็จออกประพาสอุทยานนอกพระนคร โดยทรงช้างชื่อว่า สิริกะ แวดล้อมด้วย กองทัพไพร่พลและบริวารเป็นอันมาก ในทางที่จะไปนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านามว่าเทวละ ทรงพระดำเนินผ่านหน้าช้างไป ท่านจึงไสช้างพระที่นั่ง ไปล่วงเกินพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า

ด้วยพระบารมีในพระปัจเจกพุทธเจ้า ช้างพระที่นั่งนั้น กลับแสดงอาการโกรธท่าน ซึ่งเป็นผู้บังคับช้าง และไม่ยอมย่างเท้า ยืนหยุดนิ่งอยู่

ตัวท่านเมื่อได้แสดงกิริยาต่ำช้าเช่นนั้น ต่อพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดสำนึกขึ้นได้ว่า ข้าพเจ้าเห็นช้างไม่พอใจ จึงได้โกรธพระปัจเจกพุทธเจ้า เบียดเบียนพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ไปยังพระอุทยาน ข้าพเจ้าไม่พบความสำราญ ณ ที่นั้น เหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ถูกความกระวนกระวายแผดเผา เหมือนปลาติดเบ็ด พื้นแผ่นดินเป็นเสมือนไฟลุกไปทั่ว สำหรับข้าพเจ้า เมื่อภัยเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระราชบิดา เล่าความทั้งหมดให้ฟัง

พระเจ้าอัญชสะ ได้ฟังก็ตกพระทัย ตรัสว่า เพราะกระทำความไม่เอื้อเฟื้อ ในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พวกเราทั้งหมดจักพินาศ พวกเราจักให้ พระปัจเจกสัมพุทธมุนีนั้นอดโทษ จึงจักไม่ฉิบหาย หากเราทั้งหลาย ไม่ไปขอให้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทรงยกโทษ ภายใน ๗ วัน แว่นแคว้นอันสมบูรณ์ของเรา จักทำลายหมด.

ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ขอขมาต่อพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ทรงยกโทษให้ ด้วยกรรมเช่นนี้ท่านจึงต้องเกิดมาในตระกูลที่ต่ำในชาตินี้

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระอุบาลีเถระ เป็นบุตรแห่งนายช่างกัลบก ในพระนครกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อว่าอุบาลี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้เป็นที่เลื่อมใส เจริญพระหฤทัย แห่งเจ้าในศากยวงศ์ทั้งห้าพระองค์ ได้รับตำแหน่งเป็นนายภูษามาลาแห่งเจ้าศากยวงศ์นั้น

ครั้นพระบรมศาสดา เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติ ที่กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอัมพวนาราม ของมัลลกษัตริย์

บวชก่อนศากยกุมารห้าพระองค์
ครั้งนั้น ศากยกุมารห้าพระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ และ กิมพิละ รวมเทวทัตต์ ซึ่งเป็นเจ้าในโกลิยวงศ์เข้าด้วยเป็น ๖ เสด็จออกจากพระนคร ด้วยจาตุรงคเสนา เพื่อจะออกบวชในพระพุทธศาสนา อุบาลี เป็นนายภูษามาลา ได้ติดตามออกไปด้วย พากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบท ก่อนแต่จะอุปสมบท พวกเจ้าศากยะเหล่านั้น ทูลขอให้พระองค์บวชอุบาลี ผู้เป็นนายภูษามาลาก่อน พระองค์ก็ได้โปรดให้บวชอุบาลีก่อน

เมื่อพระอุบาลีอุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระกรรมฐาน ที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตต์

เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย
ท่านได้ศึกษาทรงจำพระวินัยปิฎก แม่นยำชำนิชำนาญมาก เป็นผู้สามารถจะทำเรื่องราวอะไรซึ่งเกี่ยวด้วยวินัยได้เป็นอย่างดี ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างที่ท่านได้รับพระอนุญาต ให้เป็นผู้วินิจฉัยอธิกรณ์สามเรื่อง คือ ภารตัจฉกวัตถุ, อัชชุกวัตถุ, และกุมารกัสสปวัตถุ

ด้วยเหตุนี้ท่านพระอุบาลีจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย (วินยธรานํ ยทิทํ อุปาลิ)

เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระวินัยปิฎก ในปฐมสังคายนา
ภายหลัง เมื่อพระบรมศาสดานิพพานแล้ว ท่านพระมหากัสสปะเถระ ทำสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระวินัยปิฎก เพราะท่านเป็นผู้มีความสามารถในเรื่องนี้

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระอุบาลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก