หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ ในสมัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านเกิดในครอบครัวใหญ่ ในหังสวดีนคร เมื่อเติบใหญ่แล้ว วันหนึ่ง ได้ไปยังเงื้อมเขาแห่งหนึ่ง เพื่อฟังธรรมจากพระบรมศาสดา ซึ่งประทับพร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์ อยู่ที่นั้น ท่านได้เห็นดอกกรรณิการ์กำลังบาน จึงได้เด็ดดอกไม้นั้น เอามาประดับที่ฉัตร แล้วกั้นถวายแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ในครั้งนั้น ท่านได้เห็นพระศาสดา ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งอันเลิศกว่าเหล่าภิกษุ ผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ ท่านก็เกิดจิตเลื่อมใส ปรารถนาจะได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้กระทำมหาทาน ถวายบิณฑบาต มีข้าวชั้นพิเศษ ที่จัดว่าเป็นโภชนะอย่างดี แด่องค์พระศาสดา และพระภิกษุอีก ๘ รูป แล้วปรารภ ความปรารถนาในตำแหน่งนั้น

พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่า ด้วยการถวายฉัตรนี้ และด้วยจิตอันเลื่อมใสในการ ถวายข้าวชั้นพิเศษนั้น ท่านจักได้เสวยสมบัติ จักเป็นจอมเทวดาเสวย เทวรัชสมบัติ ๓๐ ครั้ง และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๑ ครั้ง จักได้ เป็นพระเจ้าประเทศราช อันไพบูลย์ โดยคณานับไม่ถ้วน

ในแสนกัป ต่อไปนับแต่กัปนี้ พระศาสดาทรงพระนามว่า โคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราชจักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้ จักมาเกิดเป็นมนุษย์ จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่าอุปเสนะ จักตั้งอยู่ในเอตทัคคะ ที่เป็นผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ

จากนั้น ท่านได้บำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระอุปเสนเถระ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่านาลันทะ แคว้นมคธ เดิมชื่อว่าอุปเสนมาณพ อีกอย่างหนึ่ง เรียกชื่อตามที่เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ว่า อุปเสนวังคันตบุตร เป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร

พระสารีบุตร มีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกันถึงหกคน น้องชายสามคน คือ พระจุนทะ, พระอุปเสนะ และ พระเรวัตตะ, น้องหญิงสามคน คือ นางจาลา, นางอุปจารา, และนางสีสุปจารา รวมเป็นเจ็ดคน กับทั้งท่านพระสารีบุตร

อุปเสนมาณพนั้น เจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาไตรเพทตามลัทธิของพราหมณ์ ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนา ในสำนักของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้บรรพชาอุปสมบท ถือเพศเป็นบรรพชิต ทำกิจพระพุทธศาสนาตามหน้าที่

ตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร
ครั้นท่านอุปเสนะบวชแล้ว มีพรรษาได้เพียงพรรษาเดียวเท่านั้น มาคิดว่าจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญมากขึ้นด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ จึงได้เป็นอุปัชฌาย์ อุปสมบทบวชกุลบุตร ภายหลังท่านพาศิษย์ของท่านไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถูกพระบรมศาสดารุกรานว่าเป็นโฆษบุรุษ เป็นผู้มีความมักมาก เมื่อท่านกลับจากที่เฝ้าแล้ว จึงคิดว่าเราจะยังพระบรมศาสดาให้ตรัสสาธุการ เพราะอาศัยซึ่งบริษัทของเราให้จงได้ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว ไม่ประมาท ตั้งใจเจริญซึ่งวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้สำเร็จอรหัตผล

ประพฤติธุดงค์ ๑๓ ประการ
ท่านประพฤติอยู่ในธุดงค์ ๑๓ ประการ ตามตำนานปรากฏว่า ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร จนมีสัทธิวิหาริกประมาณถึงห้าร้อยองค์

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านได้พาสัทธิวิหาริกของท่าน ไปเฝ้าพระบรมศาสดาอีก ในครั้งนี้ พระบรมศาสดาทรงสาธุการแก่ท่านว่า สาธุ สาธุ อุปเสนะ ดูกรอุปเสนะ ดีละ ๆ ฉะนี้ สมตามความที่ท่านคิดไว้

เอตทัคคะในทางผู้นำซึ่งความเลื่อมใส
พระองค์ได้ทรงแสดง ซึ่งคุณแห่งท่านพระอุปเสนะนั้น มีประการต่าง ๆ ในกลาต่อมา พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ทรงสถาปนาพระอุปวังคันตเถระ ไว้ในตำแหน่งยอดเยี่ยมของเหล่าภิกษุ ผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ(ในหมู่ชนทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ) ในพระศาสนา นี้ (สมนฺตปาสาทิกานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ เอตทัคคะในทางผู้นำซึ่งความเลื่อมใส


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก