หน้าหลัก พระพุทธเจ้า สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล กุสินารา : สถานที่ปรินิพพาน
Search:

“ ....ตถาคตมีวิชชาและ วิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่
โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้วย่อมยัง วิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์
สติปัฎฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้วยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้วยังมีสติปัฎฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์”

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

ปัจฉิมโอวาท:
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลาย ให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั่งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
อาจารย์วศิน อินทสระ

หน้าแรก : หมวดพระพุทธเจ้า
ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ | พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ | สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา | กุสินารา สถานที่ปรินิพพาน
กุสินารา : สถานที่ปรินิพพาน

กุสินารา เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานแห่งที่ 4 ในสมัยพุทธกาลเป็นเมืองเอกหนึ่ง ในสองของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมืองปาวา เป็นที่ตั้งของ สาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

กุสินารา จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 4 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (โรมัน:Kushinagar-Kasia-Kasaya) ในเขตจังหวัดเดวเย หรือ เทวริยา (โรมัน:Devria-Devriya-Kasia-Kasaya) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทาย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฏ (โรมัน:Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ ปรากฏตามคัมภีร์ว่า เมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ เป็นที่เกิดบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง เคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ์

ปัจจุบันกุสินารา มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญ คือสถูปใหญ่ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วิหารปรินิพพานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ภายใน และมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย

กุสินารา : สมัยพุทธกาล
มหาปรินิพพานวิหาร ภายในสาลวโนทยานในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ" ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพาน ในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่ง ที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต - พระอานนท์

สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือ แห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละ ก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน

การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาต ุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม

กุสินารา : หลังพุทธปรินิพพาน
หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลาง แห่งการสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์ และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆ สถูปใหญ่คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น

ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาขอแคว้นมคธ (ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวง) สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่ แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณาไว้ว่า
"พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. 310 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ 100,000 กหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา พระเจ้าอโศกเมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย โศกเศร้าถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี"

หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 - 947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้พรรณาไว้ว่า

"เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป โบสถ์ วิหาร และปูชนัยวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 2 หลัก ปักปรากฏอยู่ 2 แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์"

บันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราวปี พ.ศ. 1300 ได้พรรณาไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า
จุนทสถูป บนที่ตั้งของบ้านนายจุนทะ อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้า เสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ก่อนปรินิพพาน"...เมืองกุสินาราเต็มไปด้วยป้อมปราการ หอสูง และสังฆาราม อยู่ห่างจากเมืองเวสาลี 19 โยชน์ กุสินาราเป็นเมืองหลวงของมัลละกษัตริย์ อยู่ในสภาพปรักหักพัง มองเห็นตัวเมืองและหมู่บ้านเป็นสถานที่รกร้าง หาคนอยู่อาศัยมิได้ กำแพงเมืองเก่าที่ก่อไว้โดยอิฐ มองดูโดยรอบยาวประมาณ 1 ลี้ มีคนอาศัยอยู่ในกำแพงเมืองเก่าเพียงเล็กน้อย ตามถนนสายเล็ก ๆ ของเมืองเป็นที่ร้าง... ประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง มีสถูปแห่งหนึ่งเหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าผู้สร้างคือพระเจ้าอโศกมหาราช สถานที่แห่งนี้เป็นซากบ้านของนายจุนทะบุตรของนายช่างทอง (จุนทะกัมมารบุตร) คนที่ได้ถวายภัตตาหารครั้งสุดท้าย แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลางหมู่บ้าน มีบ่อแห่งหนึ่ง เป็นบ่อที่ขุดฝังอาหารที่เหลือจากเศษเสวยของพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์รับสั่งให้ฝังเสีย ไม่ทรงยอมให้ภิกษุอื่นบริโภค น้ำในบ่อนั้นล่วงเลยมานานเพียงใดก็ดี ก็ยังมีน้ำสะอาดใสอยู่เสมอ... ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง ห่างไป 3-4 ลี้ เราข้ามแม่น้ำอชิตวดีไปทางตะวันตกของแม่น้ำนั้น ไม่ไกลนักเป็นสาลวโนทยาน มีไม้สาละขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ ลักษณะของไม้เป็นเปลือกสีขาว ส่วนใบสะอาดเป็นเงาไม่มีขรุขระ ในป่าไม้สาละนั้น มีสาละใหญ่อยู่ 4 ต้น ที่มีลักษณะใหญ่กว่าไม้อื่น ๆ ... ในสาลวโนทยาน มีสถูปแห่งหนึ่งเหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าสร้างโดยพระเจ้าอโศก ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีแม่น้ำหิรัญญวดี (ในบันทึกบอกว่าอชิตวดี) มีน้ำเปี่มอยู่ มีไม้สาละขึ้นอยู่เต็มทั้งป่า วิหารใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีพระพุทธรูปไสยาสน์ปางปรินิพพานหันเศียรไปทางทิศเหนือ มีลักษณะเหมือนบรรทมหลับ ข้าง ๆ มีสถูปใหญ่ มีจารึกว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้าง แม้จะทรุดโทรม แต่ก็ยังเหลือความสูงถึง 200 ฟุต ข้างสถูปมีศิลาจารึกว่า ที่นี่ เป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระตถาคต... ทางทิศเหนือของเมืองกุสินารา (ในมหาปรินิพพานสูตรว่าทางทิศตะวันออก) เราเดินข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง เดินไปประมาณ 300 ก้าว ได้พบพระสถูปองค์หนึ่ง สถานที่นี้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พื้นดินตรงที่ถวายพระเพลิง บางแห่งเป็นสีเหลืองปนดำ บางแห่งร่วนเหมือนกับถ่านไฟ ใครก็ตามเมื่อจาริกแสวงบุญ มาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแห่งนี้ ถ้าตั้งจิตให้เป็นสมาธิ สาธยายมนต์ บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านั้นก็จะเสด็จมาสู่ตน..."

จนในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ราชวงศ์สกลจุรี ได้เข้ามาสร้างวัดขึ้น ในบริเวณสาลวโนทยานจำนวนมาก จนพระพุทธศาสนา ได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. 1743 ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนา ในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้าง และกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. 2433 ภิกษุมหาวีระ สวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินารา และเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้ ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า "มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา"

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้าเป็นเวลา 7 วัน ก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในปี พ.ศ. 2397 นายวิลสัน นักโบราณคดีอังกฤษ ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซียคือกุสินารา จนในปี พ.ศ. 2404-2420 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนในปี พ.ศ. 2418-2420 นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรก ที่เอาใจใส่ในงานบูรณะ และรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ

จากนั้น นับแต่ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ เข้ามาสร้างวัดและสิ่งอำนวยความสะดวก แก่ผู้จาริกแสวงบุญที่เริ่มเข้ามาสักการะมหาสังเวชนียสถานแห่งนี้จนในปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลอินเดีย ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาปูชนัยสถานแห่งนี้ เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง 25 พุทธชยันตี โดยได้รื้อโครงสร้างวิหารปรินิพพานเก่า (ที่ได้รับการบูรณะสร้างใหม่) ออกเพื่อสร้างมหาปรินิพพานวิหารใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างและสามารถรองรับพุทธศานิกชนได้ ในปี พ.ศ. 2499 จนในปี พ.ศ. 2507 วิหารได้พังลงมา ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2518 และทางการอินเดีย และพุทธศาสนิกชนก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินารา จนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

กุสินารา : ในปัจจุบัน
ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ "สถูปปรินิพพาน" เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำ ที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอมมน มีฉัตรสามชั้น "มหาปรินิพพานวิหาร" ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญ ที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษ คือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน จากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง "มกุฏพันธนเจดีย์" อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี

ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลก ได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่ ในส่วนพุทธสถานโบราณลุมพินีนั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอินเดีย โดยรอบมีสภาพเป็นสวนป่าสาละร่มรื่นเหมือนครั้งพุทธกาล ชวนให้เจริญศรัทธาแก่ผู้มาสักการะตลอดมาจนปัจจุบัน

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก