หน้าหลัก ธรรมะปฏิบัติ การรักษาศีล จำแนกตามประเภทบุคคล : ศีล ๘
Search:
หน้าแรก : หมวดธรรมะปฏิบัติ

“อานนท์ ! พุทธบริษัททั้งสี่ คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม”

พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
อาจารย์วศิน อินทสระ

"ดูก่อนอานนท์ ธรรมหนึ่งคือ..
อานาปานสติสมาธิ
ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์,
สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์,
โพชฌงค์ ๗
อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและ วิมุติให้บริบูรณ์"

“..ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน
คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
   สมถะ ที่ภิกษุเจริญแล้ว... ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมดีแล้ว... ย่อมละราคะได้
   วิปัสสนา ที่อบรมดีแล้ว.. ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมดีแล้ว.. ย่อมละอวิชชาได้"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ ชื่อว่าปัญญาวิมุติ"

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

การรักษาศีล
จำแนกตามประเภทบุคคล
๑. ศีล ๕ สำหรับทุกคน ๔. ศีล ๒๒๗ ศีลสำหรับพระภิกษุ
๒. ศีล ๘ อุโบสถศีล ๕. ศีล ๓๑๑ ศีลสำหรับพระภิกษุณี
๓. ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร  
 
ศีล ๘ : อุโบสถศีล

ศีล ๘ : หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อุโบสถศีล" สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และเติมข้อ ๖-๗-๘
ศีล ๘ ประกอบด้วย สิกขาบท ๘ ข้อ คือ :
๑. เว้นจากทำลายชีวิต
๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี
๔. เว้นจากพูดเท็จ
๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป
๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเคลื่องลูบไล้ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
๘. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย
คำอาราธนา ศีล ๘
(ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ")

มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ (ว่า ๓ ครั้ง)
ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล ๘ พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อ ๆ
คำสมาทานศีล ๘
ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
:: ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า
อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
:: ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก, ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ
อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
:: ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากอสัทธรรม กรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์
มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
:: ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น
สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
:: ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ
วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
:: ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
:: ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากพูด ฟัง ฟ้อนรำ ขับรอ้งและประโคมเครื่องดนตรีต่าง ๆ และดูการเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับและดอกไม้ของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม ผัดผิวให้งามต่าง ๆ
อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
:: ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากนั่ง นอน เหนือเตียง ตั่ง มีเท้าสูงเกินประมาณ และที่นั่ง ที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นและสำลี อาสนะอันวิจิตรไปด้วยลดลายงามด้วยเงินทองต่าง ๆ

อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ (ว่า ๓ ครั้ง)

      ...

  โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
หลักการรักษาศีลอุโบสถ คลิกฟัง
รักษาศีลอุโบสถเพื่ออะไร คลิกฟัง
ประโยชน์จากการมีศีล คลิกฟัง
   โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
รักษาศีล ๘ อย่าพูดแค่ว่าได้บุญ ต้องรู้ว่าศีล ๘ มาหนุนให้ก้าวไปสู่การพัฒนาจิตใจและปัญญาอย่างไร คลิกฟัง
ถ้ารู้คุณค่าของศีล ๘ ถูกต้องแล้ว จะรักษาอุโบสถแบบไหนๆ ก็เลือกได้อย่างสมเป็นพุทธชน คลิกฟัง
   โดย พระอาจารย์รูปอื่น ๆ
วันอุโบสถศีล โดย พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) คลิกฟัง
หลักของศีล ๘ โดย พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) คลิกฟัง
อุโบสถศีล โดย พระโพธิธรรมาจารย์เถระ (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ) คลิกฟัง
การรักษาศีลแปด โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) คลิกฟัง

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก