อัครสาวก แปลว่า สาวกผู้เลิศ, สาวกผู้ยอดเยี่ยม หมายถึง พระสารีบุตร (เป็นอัครสาวกเบื้องขวา) และพระมหาโมคคัลลานะ (เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย)
อีกนัยหนึ่ง
คำว่า "อัคร" มีความหมายถึง "ตุลา" แปลว่า ตราชู, ประมาณ, เกณฑ์วัด, มาตรฐาน, ตัวแบบ, แบบอย่าง
สาวกหรือสาวิกา ที่พระพุทธเจ้าตรัสยกย่องว่าเป็นตราชู หรือเป็นแบบอย่างในพุทธบริษัทนั้นๆ อันสาวกและสาวิกาทั้งหลาย
ควรใฝ่ปรารถนาจะดำเนินตาม หรือจะเป็นให้ได้ให้เหมือน คือ
๑. ตุลา สำหรับภิกษุสาวกทั้งหลาย ได้แก่ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ
๒. ตุลา สำหรับภิกษุณีสาวิกาทั้งหลาย ได้แก่ พระเขมา และพระอุบลวรรณา
๓. ตุลา สำหรับอุบาสกสาวกทั้งหลาย ได้แก่ จิตตคฤหบดี และหัตถกะอาฬวกะ
๔. ตุลา สำหรับอุบาสิกาสาวิกาทั้งหลาย ได้แก่ ขุชชุตตราอุปาสิกา และเวฬุกัณฏกี นันทมารดา
พระสาวกและพระสาวิกา ที่พระพุทธเจ้าตรัสยกย่องว่าเป็น “ตุลา” นี้ ในที่ทั่วไปมักเรียกกันว่า
พระอัครสาวกและพระอัครสาวิกา เป็นต้น แต่พระพุทธเจ้าเองไม่ทรงใช้คำเรียกว่า “อัครสาวก” เป็นต้นนั้น
โดยตรง แม้ว่าคำว่า “อัครสาวก” นั้นจะสืบเนื่องมาจากพระดำรัสครั้งแรกที่ตรัสถึงพระเถระทั้งสองท่านนั้น
คือ เมื่อพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ออกจากสำนักของสัญชัยปริพาชกแล้ว นำปริพาชก ๒๕๐ คน
มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเวฬุวัน ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นทั้งสองท่านนั้นกำลังเข้ามาแต่ไกล
ก็ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า (วินย.๔/๗๑/๗๗) “ภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนที่มานั่น คือ โกลิตะ และอุปติสสะ
จักเป็นคู่สาวกของเรา เป็นคู่ที่ดีเลิศ ยอดเยี่ยม (สาวกยุคํ ภวิสฺสติ อคฺคํ ภทฺทยุคํ)”, คำเรียกท่านผู้เป็น ตุลา ว่าเป็น “อัคร”
ในพระไตรปิฎก ครบทั้ง ๔ คู่ มีแต่ในพุทธวงส์ โดยเฉพาะโคตมพุทธวงส์ (ขุ.พุทธ.๓๓/๒๐๖/๕๔๕) กล่าวคือ
๑. อัครสาวก ได้แก่ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ
๒. อัครสาวิกา ได้แก่ พระเขมา และพระอุบลวรรณา
๓. อัครอุปัฏฺฐากอุบาสก ได้แก่ จิตตะ (คือ จิตตคฤหบดี) และหัตถาฬวกะ (คือ หัตถกะอาฬวกะ)
๔. อัครอุปัฏฺฐิกาอุบาสิกา ได้แก่ (เวฬุกัณฏกี) นันทมารดา และอุตตรา (คือขุชชุตตรา)
อัครอุปัฏฺฐากอุบาสกนั้น ในอปทานแห่งหนึ่ง (ขุ.อป.๓๓/๗๙/๑๑๗) และในอรรถกถาธรรมบทแห่งหนึ่ง
เรียกสั้นๆว่า อัครอุบาสก และอัครอุปัฏฺฐิกาอุบาสิกา เรียสั้นๆ ว่า อัครอุบาสิกา(แต่ในที่นั้น อรรถกถาธรรมบท
ฉบับอักษรไทยบางฉบับ, ธ.อ.๓/๗ เรียกเป็นอัครสาวก และอัครสาวิกา เหมือนอย่างในภิกษุและภิกษุณีบริษัท
ทั้งนี้ น่าจะเป็นความผิดพลาดในการตรวจชำระ)
พระสาวกสาวิกาที่เป็น “อัคร” นั้นแทบทุกท่านเป็นเอตทัคคะในด้านใดด้านหนึ่งด้วย คือ พระสารีบุตร เป็นเอตทัคคะทางมีปัญญามาก,
พระมหาโมคคัลลานะ เป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์, พระเขมา เป็นเอตทัคคะทางมีปัญญามาก, พระอุบลวรรณา เป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์,
จิตตคฤหบดีซึ่งเป็นอนาคามี เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นธรรมกถึก, หัตถกะอาฬวกะ ซึ่งเป็นอนาคามี เป็นเอตทัคคะทางสงเคราะห์บริษัท
คือชุมชนด้วยสังคหวัตถุสี่, ขุชชุตตรา ซึ่งเป็นโสดาบัน ผู้ได้บรรลุปฏิสัมภิทา (ได้เสขปฏิสัมภิทา คือปฏิสัมภิทาของพระเสขะ)
เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูต
เว้นแต่เวฬุกัณฏกีนันทมารดา (เป็นอนาคามินี) ที่น่าแปลกว่าไม่ปรากฏในรายนามเอตทัคคะซึ่งมีชื่อนันทมารดาด้วย
แต่เป็นอุตตรานันทมารดา ที่เป็นเอตทัคคะในทางชำนาญฌาน (และทำให้ยังสงสัยกันว่า“นันทมารดา” สองท่านนี้
แท้จริงแล้ว จะเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่)
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่ง “อัคร” ที่ยอมรับและเรียกขานกันทั่วไปอีก ๒ อย่าง คือ อัครอุปัฏฐาก ผู้เฝ้ารับใช้พระพุทธเจ้าอย่างเยี่ยมยอด
ได้แก่พระอานนท์ (“อัครอุปัฏฐาก” เป็นคำที่ใช้แก่พระอานนท์ ตั้งแต่ในพระไตรปิฎก,ที. ม.๑๐/๕๕/๖๐; พระอานนท์เป็นเอตทัคคะถึง ๕ ด้าน
คือ ด้านพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐาก) และอัครอุปัฏฐายิกา คือ อุบาสิกาผู้ดูแลอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธเจ้าอย่างเยี่ยมยอด ได้แก่ วิสาขามหาอุบาสิกา
(นางวิสาขาซึ่งเป็นโสดาบัน เป็นเอตทัคคะผู้ยอดแห่งทายิกา คู่กับอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งก็เป็นโสดาบัน
และเป็นเอตทัคคะผู้ยอดแห่งทายก, แต่พบในอรรถกถาแห่งหนึ่ง, อุ.อ.๑๘/๑๒๗, จัดเจ้าหญิงสุปปวาสา โกลิยราชธิดา
ซึ่งเป็นเอตทัคคะผู้ยอดแห่งประณีตทายิกา ว่าเป็นอัครอุปัฏฺฐายิกา)
|