หน้าหลัก พระสงฆ์ อสีติมหาสาวก
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
อสีติมหาสาวก คือ พระภิกษุสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป หรือ พระสาวกผู้ยิ่งใหญ่ ๘๐ รูป หรือ พระสาวกสำคัญ ๘๐ รูป ของพระพุทธเจ้า

ความหมายของคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ ตามรูปศัพท์ คำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ เป็นคำสมาสประกอบด้วยคำ ‘อสีติ’ และ ‘มหาสาวก’ คำว่า ‘อสีติ’ เป็นปกติสังขยา คือ จำนวนนับตามปกติ แปลว่า ‘๘๐’ ส่วน ‘มหาสาวก’ ประกอบด้วยคำว่า ‘มหา’ ซึ่งเป็นคุณศัพท์แปลว่า ใหญ่,มาก, สำคัญ และคำว่า ‘สาวก’ ซึ่งเป็น คำนามกิตก์ ประกอบรูปมาจากธาตุ ‘สุ’ (ในความหมายว่าฟัง) +ปัจจัย ณฺวุ มีรูปศัพท์ ว่า ‘สาวก’ แปลว่า ผู้ฟัง ในที่นี้หมายถึง ภิกษุผู้บรรลุธรรมชั้นสูงสุดคืออรหัตผล

ดังนั้นคำว่า ‘อสีติ’ และ ‘มหาสาวก’ เมื่อรวมเข้าด้วยกันเป็นคำสมาส เป็น ‘อสีติมหาสาวก’ จึงแปลว่า พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป หรือ พระสาวกผู้ยิ่งใหญ่ ๘๐ รูป หรือ พระสาวกสำคัญ ๘๐ รูป

อสีติมหาสาวก มีมาในพระคัมภีร์ที่เป็นหลักฐานในที่ใดนั้น ยังไม่ปรากฎแน่ชัด บางฉบับอ้างว่ามาในเถรคาถาบ้าง อปทานบ้าง หนังสือที่เป็นหลักฐานแต่เรื่องเอตุทัคคะที่มีในคัมภีร์ เอกนิบาต อังคตรนิกายนั้นมีจำนวน พระสาวกนับได้ ๔๑ องค์เท่านั้น หาครบ ๘๐ ไม่ ส่วนพระสาวก ๘๐ องค์นั้น เห็นมีในหนังสือสวดมนต์ ผูกเป็นคาถาบ้าง เป็นนามเรียกกันไปบ้าง นอกจากนี้ ยังเห็นมีที่จารึกแผ่นศิลาติดอยู่ที่รูปพระอสีติมหาสาวก ที่พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม และวัดเขมาภิรตาราม แต่ไม่ใคร่ตรงกัน มีต่าง ๆ นามกันไปสุดแต่ครบ ๘๐ องค์ เท่านั้น เว้นแต่องค์ที่สำคัญเป็นที่รู้จักกันดี จะมีอยู่เหมือนพ้องต้องกันหมดทุกแห่ง จำนวนพระสาวกที่มีในสวดมนต์แปล และในฉบับอื่นอีกนั้น ก็ผิดเพี้ยนกันไปอีกไม่น้อย

รายนามพระอสีติมหาสาวก
พระอัญญาโกณฑัญญะ พระมหาโมคคัลลานะ
พระวัปปะ พระองคุลิมาลเถระ
พระภัททิยะ พระวักกลิเถระ
พระมหานามะ พระกาฬุทายีเถระ
พระอัสสชิ พระมหาอุทายีเถระ
พระนาลกะ พระปิลินทวัจฉเถระ
พระยสะ พระโสภิตเถระ
พระวิมละ พระกุมารกัสสปเถระ
พระสุพาหุ พระรัฏฐปาลเถระ
พระปุณณชิ พระวังคีสเถระ
พระควัมปติ พระสภิยเถระ
พระอุรุเวลกัสสปะ พระเสลเถระ
พระนทีกัสสปะ พระอุปวาณเถระ
พระคยากัสสปะ พระเมฆิยเถระ
พระสารีบุตรเถระ พระสาคตเถระ
พระมหากัสสปะเถระ พระนาคิตเถระ
พระมหากัจจายนะ พระลกุณฏกภัททิยเถระ
พระมหาโกฏฐิตเถระ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
พระมหากัปปินเถระ พระมหาปันถกเถระ
พระมหาจุนทเถระ พระจูฬปันถกเถระ
พระอนุรุทธเถระ พระพากุลเถระ
พระกังขาเรวตเถระ พระโกณฑธานเถระ
พระอานนทเถระ พระพาหิยทารุจิริยเถระ
พระนันทกเถระ พระยโสชเถระ
พระภคุเถระ พระอชิตเถระ
พระนันทเถระ พระติสสเมตเตยยเถระ
พระกิมพิลเถระ พระปุณณกเถระ
พระภัททิยเถระ (กาฬิโคธาบุตร) พระเมตตคูเถระ
พระราหุลเถระ พระโธตกเถระ
พระสีวลีเถระ พระอุปสีวเถระ
พระอุบาลีเถระ พระนันทกเถระ
พระทัพพมัลลบุตรเถระ พระเหมกเถระ
พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ พระโตเทยยเถระ
พระขทิรวนิยเรวตเถระ พระกัปปเถระ
พระปุณณมันตานีบุตรเถระ พระชตุกัณณีเถระ
พระปุณณสุนาปรันตเถระ พระภัทราวุธเถระ
พระโสณกุฏิกัณณเถระ พระอุทยเถระ
พระโสณโกฬิวิสเถระ พระโปสาลเถระ
พระราธเถระ พระโมฆราชเถระ
พระสุภูติเถระ พระปิงคิยเถระ

รายนามของพระอสีติมหาสาวกที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ รายนามเบื้องซ้าย เป็นพระมหาเถระนั่งด้านพระปรัศว์ขวา(เบื้องขวา) ของพระพุทธเจ้า ส่วนรายนามเบื้องขวา เป็นพระมหาเถระนั่งด้านพระปรัศว์ซ้าย (เบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้า

การที่พระสาวกนั่งด้านปรัศว์ทั้ง 2 ข้าง ของพระพุทธเจ้า ถือเป็นธรรมเนียมครั้งพุทธกาล โดยมีหลักอยู่ว่าการปูลาดอาสนะ ในที่นิมนต์ ให้ปูลาดอาสนะของพระพุทธ เจ้าไว้ตรงกลาง ปูลาดอาสนะ ของพระสารีบุตรไว้ด้านพระปรัศว์ขวา ปูลาดอาสนะของพระมหาโมคคัลลานะไว้ด้านพระปรัศว์ซ้าย แล้วจึงปูลาดอาสนะพระสาวก รูปอื่นๆ ต่อจากอาสนะของพระมหาสาวก ทั้ง 2 นั้น

ที่มา : หอมรดกไทย และ สารานุกรมวิกิพีเดีย

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก