หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระมหากัจจายนเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๑๕. พระมหากัจจายนเถระ เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร

พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลกัจจายนะ ผู้เป็นปุโรหิต (ที่ปรึกษา) ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เดิมท่านชื่อว่า “กัญจนะ” เพราะมีรูปร่างลักษณะงาม สง่า มีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้เรียนจบไตรเพท คือ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา พราหมณ์ เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้วได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวจาริกประกาศหลักธรรมคำสอนตามคามนิคม ชนบทอยู่นั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชต มีพระราชประสงค์จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จสู่ กรุงอุชเชนีของพระองค์บ้าง จึงรับสั่งให้ปุโรหิจกัจจายนะไปกราบทูลอาราธนา

กัจจายนะ ถือโอกาสกราบทูลลาเพื่ออุปสมบทด้วย เมื่อทรงอนุญาตแล้วจึงพร้อมด้วยบริวารติดตามอีก ๗ คน เดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อเดินทางไปถึงก็รับเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสพระธรรมเทศนา ให้ ฟังและเท่านทั้ง ๘ คนนั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธ องค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปนา

เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จสู่กรุงอุชเชนี ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางมา แต่พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านไปเองพระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาวเมืองก็จะเกิดศรัทธาเหมือนกัน

พระมหากัจจายนะ จึงกราบทูลลาพระบรมศาสดาพาภิกษุบริวารอีก ๗ องค์นั้น เดินทาง กลับสู่กรุงอุชเชนี ประกาศหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาว เมืองได้สดับรับฟัง เกิดศรัทธาเลื่อมใส ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่กระจายทั่วกรุงอุชเชนีแล้ว ท่านก็ได้เดินทางกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคอีก

กราบทูลขอพระบรมพุทธนุญาตแก้ไขพุทธบัตติ
เสมือนหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท ขณะนั้น มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อว่า โสณกุฎิกัณณะ มีศรัทธาจะ อุปสมบท แต่เนื่องจากในอวันตีชนบทนั้นมีพระภิกษุจำนวนน้อย ไม่ครบเป็นคณปูรกะจำนวน ๑๐ รูป (ทสวรรค) ตามพระบรมพุทธานุญาต ท่านจึงให้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่นานถึง ๓ ปี กว่าจะได้อุปสมบท และเมื่อท่านโสณกุฏิกัณณะได้อุปสมบทแล้ว ปรารถนาจะเข้าเฝ้า พระบรมศาสดา ได้กราบลาพระมหากัจจายนะ ก็อนุญาตพร้อมทั้งสั่งให้ไปราบทูลขอ พระบรมพุทธานุญาต ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้ อยู่ในอวันตีชนบท คือ:-

๑) ในอวันตีชนบท มีพระภิกษุจำนวนน้อย ขอให้พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการอุปสมบท ด้วยคณะพระภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูปได้
ข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบท ด้วยคณะพระภิกษุ ๕ รูปได้”

๒) ในอวันตีชนบท มีพื้นดินขรุขระไม่เรียบไม่สม่ำเสมอ ขอให้พระผู้มีอาภาคทรงอนุญาตให้ พระภิกษุในอวันตีชนบทสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้นได้
ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้น ใน ปัจ จันตชนบทได้”

๓) ในอวันตีชนบท อากาศร้อน บุคคลต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ ภิกษุอาบน้ำเป็นนิตย์ได้
ข้อนี้ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์แก่ภิกษุผู้อยู่ใน ปัจ จันตชนบท”

๔) ในอวันตีชนบท มีเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังมีหนังแพะ และหนังแกะ เป็นต้น สมบูรณ์ดี เหมือนในมัชฌิมชนบท ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ และหนังแกะ เป็นต้นเหล่านั้นเถิด
ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์เหล่านั้น”

๕) ทายกทั้งหลาย มักจะถวายจีวรแก่ภิกษุผู้ที่ออกจากวัดไปแล้ว ด้วยสั่งไว้ว่า “ข้าพเจ้าทั้ง หลาย ขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” เมื่อเธอกลับมาแล้ว ทายกได้นำจีวรเข้าไปถวาย แต่เธอไม่ ยอมรับด้วยเข้าใจว่า ผ้าผืนนี้เป็นนิสสัคคีย์
ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรที่ทายกถวายลับหลังได้ ด้วย ว่า ผ้ายังไม่ถึงมือเธอตราบใด จะถือว่าเธอมีสิทธิ์ในผ้าผืนนั้นเต็มที่ไม่ได้ตราบนั้น”

ความสามารถพิเศษของพระมหากัจจายนเถระ
พระมหากัจจายนเถระ เป็นพระพุทธสาวก ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถอธิบาย ธรรมที่ย่อให้พิสดาร ให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาเลื่อมใสได้โดยไม่ยาก ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งท่านเป็นผู้มี ความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทา ๔ คือ:-

๑) อัตถปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในอรรถ สามารถอธิบายความย่อให้พิสดารได้
๒) ธัมาปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในธรรม สามารถถือเอาความโดยย่อจากธรรมที่พิสดารได้
๓) นิรุตติปฏสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในนิรุตติ มีความเชี่ยวชาญในภาษา สามารถพูดให้คนอื่นเลื่อมใสได้
๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบและปฏิภาณ สามารถแก้ไขสถานการณ์ เฉพาะหน้าได้

นอกจากนี้ยังมีพระธรรมเทศนาของท่านอีกหลายกัณฑ์ ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ ได้ ยกขึ้นสู่สังคีติ คือการทำสังคายนา ได้แก่:-

ภัทเทกรัตตสูตร เป็นสูตรที่แสดงถึงเรื่องบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือ คนที่เวลา วันคืนหนึ่ง ๆ มีแต่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ผู้ที่ไม่มัวครุ่นคิดถึงอดีต ไม่เพ้อฝัน หวังอนาคต ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ทำความดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ไป มีความเพียรพยายามทำกิจที่ควรทำตั้งแต่ในวันนี้

มธุรสูตร เป็นสูตรที่ท่านแสดงแก่พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ในขณะที่ท่านพักอยู่ที่ คุณธาวัน มธุรราชธานี สูตรนี้มีใจความแสดงถึงความไม่แตกต่างกันของวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร วรรณะทั้ง ๔ นี้ แม้จะถือตัวอย่าง เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดี ก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันทั้งหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องรับโทษไปอบายเหมือนกันทั้งหมดทุกวรรณะเสมอกัน ในพระธรรมวินัย ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่าวรรณะอะไร แต่เป็นสมณะ เหมือนกันทั้งหมด

ที่พระเถระกล่าวสูตรนี้ ก็เพราะพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ถามปัญหากับท่านเกี่ยวกับ เรื่องพราหมณ์ถือตัวว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเกิดจากพรหม ท่านจึงแก้ว่าไม่เป็นความจริงแล้วยกตัว อย่างเป็นข้อ ๆ ดังนี้:-
๑) ในวรรณะ ๔ เหล่านี้ วรรณะใดเป็นผู้ร่ำรวย มั่งมีเงินทอง วรรณะเดียวกัน และวรรณะอื่นย่อมเข้าไปหา ยอมเป็นบริวารของวรรณะนั้น
๒) วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่อบายเสมอ เหมือนกันทั้งหมด
๓) วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เหมือนกันทั้งหมด
๔) วรรณะใดทำโจรกรรม ทำปรทาริกกรรม วรรณะนั้นต้องรับราชอาญาเหมือนกันทั้ง หมด ไม่มียกเว้น
๕) วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ การ บำรุง และการคุ้มครองรักษา เสมอเหมือนกันทั้งหมด

เมื่อพระเถระแสดงเทศนามธุรสูตรจบลงแล้ว พระเจ้ามธุรราช ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส ประกาศประองค์เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา

พระเถระแปลงร่าง
ดังที่กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่าพระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้มีรูปร่างสง่างามผิวเหลือง ดุจทองคำสะอาดผ่องใจ เป็นที่ต้องตาถูกใจแก่ผู้พบเห็นทั่วไป จนกระทั่งมีเหตุการณ์วิปริตเกิดขึ้น แก่บุตรเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองโสเรยยะ ชื่อว่า โสเรยยะ เหมือนชื่อเมือง ขณะที่เขานั่งบนยาน พาหนะกับสหายเพื่อไปอาบน้ำพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ได้เห็นพระเถระกำลังยืนห่มจีวร เพื่อ เข้าไปบิณฑบาตในเมืองแล้วเกิดความพอใจ ในดวงจิตคิดอกุศลขึ้นว่า “งามจริงหนอ พระเถระ รูปนี้ น่าจะเป็นภริยาของเรา หรือไม่ก็ขอให้ภริยาของเรามีสีผิวกายเหมือนพระเถระนี้”

ด้วยอกุศลจิตคิดเพียงเท่านี้ ทำให้เพศชายของเขาหายไป กลายเป็นเพศหญิงไปทั้งร่าง ทำให้เขาอับอายเป็นอย่างมาก และโดยที่ไม่มีใครรู้เขารีบลงจากยานนั้นแล้วเดินตามกองเกวียน พ่อค้าไปยังเมืองตักสิลา และได้เป็นภริยาของลูกชายเศรษฐีในเมืองนั้น อยู่ร่วมกันจนมีบุตร ๒ คน แต่เดิมทีที่เขาอยู่ในเมือง โสเรยยะนั้น เขาก็มีภริยาอยู่แล้วและมีบุตรด้วยกัน ๒ คน เช่นเดียว กัน จึงปรากฏว่าเขาเป็นทั้งพ่อและแม่ หรือเป็นทั้งผัวและเมียในชาติเดียวกันนี้

ต่อมา พระมหากัจจายนเถระ จาริกมายังเมืองตักสิลา โสเรยยะทราบแล้วจึงเล่าเรื่องราว ของตนที่ผ่านมาให้สามีฟัง แล้วพากันไปกราบขอขมาโทษต่อพระเถระ เมื่อท่านทราบเรื่องโดย ตลอดแล้วก็ยกโทษให้ และเพศหญิงก็หายไปเพศชายปรากฏขึ้นมาเหมือนเดิม เขาเกิดศรัทธา เลื่อมใสในพระเถระเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเห็นว่าตนเองเป็นคนแปลกคือเป็นทั้งชายและหญิงในอัต ภาพเดียวเท่านั้น และยังคิดว่าไม่ควรที่จะอยู่ครองเพศฆราวาสต่อไป จึงมอบบุตรทั้ง ๔ คนให้ บิดามารดาเลี้ยงดูต่อไป ส่วนตนเองได้ขอบวชในสำนักพระเถระ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในกาลต่อมา

พระมหากัจจายนะ นอกจากจะมีเรื่องของโสเรยยะแล้ว ยังมีเรื่องพระภิกษุเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลแล้วก็พากันกล่าวว่า “พระบรมศาสดาของพวกเรา เสด็จมาแล้ว” แล้วพากันทำความเคารพกราบไหว้ ทั้งนี้ก็เพราะท่านมีรูปลักษณ์ละม้ายกับ พระผู้มีพระภาคนั้นเอง

พระเถระพิจารณาเห็นโทษเช่นนี้แล้ว จึงอธิษฐานจิตเนรมิตรร่างกายของท่านให้เปลี่ยน แปลงผิดแปลกไปจากเดิม ร่างกายที่เคยสง่างามก็ย่นย่อ ต่ำเตี้ย ท้องป่อง หมดความสวยงามดังที่ พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างรูปท่านไว้เป็นที่สักการบูชาในทุกวันนี้

ได้รับยกย่องในทางอธิบายความย่อให้พิศดาร
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรแต่โดยย่อ แล้วเสด็จเข้าสู่พระวิหาร ที่ประทับ พระภิกษุทั้งหลายไม่ได้โอกาสเพื่อจะกราบทูลถามเนื้อความที่ตรัสไว้โดยย่อให้เข้าใจ ได้ จึงพากันเข้าไปหาพระมหากัจจายนะ กราบอาราธนาให้ท่านได้เมตตาอธิบายขยายความให้ ฟัง

พระเถระได้อธิบายขยายความย่อให้ฟังอย่างพิสดาร แล้วกล่าวแนะนำว่า “ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายแห่งพระสูตรนี้ตามที่อธิบายมานี้ แต่ถ้าท่านทั้งหลายมีความต้องการจะ ทราบให้แน่ชัดก็จงไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ทรงแก้อย่างไร ก็จงจำไว้อย่าง นั้นเถิด”

พระภิกษุเหล่านั้นพากันลาพระเถระแล้ว เข้าไปกราบทูลเนื้อความที่พระมหากัจจายนะ อธิบายไว้ให้พระพุทธองค์ทรงสดับ พระผู้มีพระภาค ตรัสสรรเสริญพระเถระว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระมหากัจจายนะ เป็นผู้มี ปัญญา เนื้อความนั้นถ้าพวกเธอถามตถาคต แม้ตถาคตก็จะอธิบายอย่างนั้น เช่นกัน ขอพวกเธอ จงจำเนื้อความนั้นไว้เถิด”

เมื่อครั้งพระพุทธองค์ ประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร ทรงตั้งพระมหากัจจายนะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในฝ่าย ผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร ท่านพระมหากัจจายนเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับ ขันธปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระมหากัจจายนเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก