หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระมหากัปปินเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๒๔. พระมหากัปปินเถระ เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทภิกษุ

พระมหากัปปินะ เป็นพระโอรสของพระมหากษัตริย์ผู้ครองนครภุกฎวดี ในปัจจันตชนบท มีพระนามเดิมว่า “กัปปินะ

เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ได้ครอบครองราชย์สมบัติสืบต่อมา ได้พระนามใหม่ว่า “พระเจ้ามหากัปปินะ” มีพระอัครมเหสีพระนามว่า “อโนชาเทวี” ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระราชาผู้ครองนครสาคละ แห่งแคว้นมัททรัฐ

พระเจ้ามหากัปปินะ มีพระราชหฤทัยใฝ่ต่อการศึกษาแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะทรงฝักใฝ่ในการออกบวช เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นคุณธรรมเบื้องสูง ทุก ๆ วันพระองค์จะส่งอำมาตย์ ออกไปสืบข่าวจากทิศทั้ง ๔ ว่ามีข่าวอะไรบ้าง โดยเฉพาะข่าว เกี่ยวกับพระรัตนตรัย อำมาตย์เหล่านั้น ออกจากพระนครไปไกล ๒-๓ โยชน์ทุกวัน ค่ำแล้วก็ กลับมารายงานข่าวให้ทรงทราบ

พระเจ้ามหากัปปินะ มีม้าอันเป็นพระราชพาหนะ ๕ ม้า คือ ม้าชื่อพละ ม้าชื่อพลวาหนะ ม้าชื่อปุปผะ ม้าชื่อปุปผวาหนะ และ ม้าชื่อสุปัตตะ โดยปกติพระองค์จะทรงม้าชื่อสุปัตตะ เป็น ประจำ ส่วนม้าที่เหลือ จะพระราชทานให้อำมาตย์ หรือทหารใช้เป็นพาหนะไปสืบข่าวต่าง ๆ

ทรงทราบข่าวพระรีตนตรัยเกิดขึ้นในโลก
วันหนึ่ง พระองค์เสด็จประพาสราชอุทยาน พร้อมด้วยอำมาตย์ และข้าราชบริพาร ๑,๐๐๐ คน ได้พบพ่อค้า ที่เดินทางมาจากเมืองสาวัตถี รับสั่งให้เข้าเฝ้า ถามข่าวสารจากเมืองสาวัตถีนั้น

ครั้นเมื่อพ่อค้าได้กราบทูลว่า:-
“ขอเดชะ ข่าวอื่นไม่มี แต่ในเมืองสาวัตถีนั้น บัดนี้ มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม และมี พระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก พระเจ้าข้า”

พระเจ้ามหากัปปินะ พอได้สดับคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้น ทั่วทั้งพระวรกาย ถูกปีติโสมนัสเข้าครอบงำอย่างท่วมท้น จนหลงลืมพระสติไปชั่วขณะ พอสติสัมปปชัญญะ กลับคืนมาแล้ว พระองค์ได้ตรัสถามซ้ำอีกถึง ๓ ครั้ง บรรดาพ่อค้ากราบทูลยืนยันเช่นเดิม

จึงรับสั่งให้อำมาตย์เขียนพระราชสาสน์ ถึงพระชายา รับสั่งให้พระราชทานรางวัลแก่พ่อค้า จำนวน ๓ แสนกหาปณะ และขอสละราชสมบัติ ให้พระชายารับครอบครองสืบต่อไป ส่วนพระ องค์เอง พร้อมด้วยอำมาตย์ผู้ใกล้ชิดเหล่านี้ จะขอออกบวช อุทิศเฉพาะแต่พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล้ว มอบพระราชสาสน์นั้น ให้พ่อค้านำไปถวายแด่พระชายา แม้อำมาตย์เหล่านั้น ก็เขียนจดหมายถึงภรรยาของตน ๆ ดุจเดียวกัน จากนั้นได้ติดตามพระมหากัปปินะ ออกจากพระราชอุทยานมุ่งสู่พระนครสาวัตถี

เสด็จออกผนวชพร้อมด้วยอำมาตย์
เส้นทางเสด็จของพระเจ้ามหากัปปินะนั้น เต็มไปด้วยความยากลำบาก ทุรกันดารผ่านทั้ง ป่าและภูเขา โดยเฉพาะมีแม่น้ำใหญ่ ๓ สาย คือ แม่น้ำอารวปัจฉา แม่น้ำนีลวาหนา และแม่น้ำจั นทภคา ขวางหน้าอยู่ ซึ่งแต่ละสายนั้น ทั้งกว้างและลึกมาก จะข้ามได้ก็ต้องอาศัยเรือหรือแพ ขนาดใหญ่ ซึ่งก็หาได้ยาก

พระเจ้ามหากัปปินะ ทรงมีพระดำริว่า “ถ้าจะรอเวลาหาเรือหรือแพ ก็จะทำให้ล่าช้า เพราะความเกิด นำไปสู่ความแก่ ความแก่นำไปสู่ความเจ็บ และความเจ็บนำไปสู่ความตาย ทุกลม หายใจเข้าออก ย่อมนำไปสู่ความแก่ และความตายทั้งนั้น เราไม่รู้ว่าความตาย จะมาถึงเราเมื่อไร ดัง นั้น เราออกบวชเพื่ออุทิศต่อพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งรัตนตรัยนั้น ขอให้น้ำนี้ จงอย่าได้เป็น เหมือนน้ำเลย” ครั้นทรงมีพระดำริดังนี้แล้ว ทรงระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย มีพุทธานุสติเป็นต้น แล้ว เสด็จลงสู่แม่น้ำพร้อมทั้ง บริวาร ๑,๐๐๐ คน ม้าทั้งหลาย วิ่งไปบนผิวน้ำเหมือนกับวิ่งบน แผ่นดิน แม้แต่ปลายกีบม้า ก็ไม่เปียกเลยสักนิดเดียว

พระพุทธองค์ทรงรับเสด็จ
เวลาใกล้รุ่งของราตรีนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลก ได้ทอดพระเนตรเห็น พระเจ้ามหากัปปินะ พร้อมทั้งบริวาร ผู้ทรงสละราชสมบัติ ออกผนวชอุทิศเฉพาะพระรัตนตรัย ท้าวเธอพร้อมทั้งบริวาร จักบรรลุพระอรหัตผล พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย สมควรที่ที่เราตถาคต จักกระทำการต้อนรับเสด็จ

ครั้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงบาตรและจีวร เสด็จออกต้อนรับสิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์ ประหนึ่งว่าพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงต้อนรับกำนัน นายบ้าน ฉะนั้น ได้ประทับ เปล่งพระรัศมีภายใต้ร่มต้นนิโครธ ณ ริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคา

พระเจ้ามหากัปปินะ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระรัศมีนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า “แสงสว่างนี้ ไม่ใช่แสงจันทร์ แสงอาทิตย์ หรือแสงสว่างจากเทวดา ตนใดตนหนึ่ง จักต้องเป็นแสงสว่างแห่ง พระบรมศาสดาอย่างแน่นอน” เมื่อทรงพระดำริดังนี้แล้ว เสด็จลงจากหลังม้า พร้อมทั้งบริวาร เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามสายแห่งพระรัศมีนั้น ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่สม ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้สดับจบลงแล้ว พระราชาพร้อมทั้งบริวารได้ บรรลุโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ได้ประทานด้วยวิธี เอหิภิกขุ อุปสัมปทา

พระราชเทวีและภรรยาอำมาตย์ออกบวช
พระนางอโนชาเทวี ได้รับข่าวสารจากพ่อค้าเหล่านั้น ตรัสซักถาม ได้ทราบความแน่ชัด ทุกประการแล้ว เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าเช่นกัน ให้รางวัลแก่พ่อค้าเหล่านั้นแล้ว ชักชวนภรรยา อำมาตย์ทุกคนเสด็จออกบวช โดยทำนองเดียวกันกับพระราชสามี พระพุทธองค์ทรงรับเสด็จดุจ เดียวกันกับพระเจ้ามหากัปปินะ และทรงบันดาลฤทธิ์ มิให้สามีภรรยาเหล่านั้นเห็นกัน เพื่อมิให้ เป็นอันตรายต่อการฟังธรรม

เมื่อพระนางเสด็จมาถึงแล้ว ได้กราบทูลถามถึงพระราชสามีและหมู่อำมาตย์ พระบรมศาสดา รับสั่งให้ประทับนั่งลงก่อน แล้วจะได้พบกัน ณ ที่นี้ เมื่อพระราชเทวีและหญิง เหล่านั้น ประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้สดับ เมื่อจบธรรมกถา พระราชเทวีและหญิงเหล่านั้น ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ส่วนพระเจ้ามหากัปปินะ และภิกษุ บริวารเหล่านั้น ซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยได้บรรลุพระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมด พระพุทธองค์จึงทรงคลาย ฤทธิ์ ให้พระราชเทวีเห็นพระราชสามี และหญิงเหล่านั้นเห็นสามีของตน ๆ แล้วกราบทูลขอ บรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์รับสั่งให้ไปอุปสมบทในสำนักของนางภิกษุณี ที่เมืองสาวัตถี และพระพุทธองค์ ก็ทรงพาภิกษุเหล่านั้นเสด็จสู่กรุงสาวัตถี

พระเจ้ามหากัปปินะเปล่งอุทาน
พระเจ้ามหากัปปินะนั้น ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่พัก หรือที่ใดก็ตาม ท่านมักจะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ สุขหนอ” อยู่เสมอ ภิกษุทั้งหลายคิดว่า ท่านยังรำลึกถึงความสุข ในราชสมบัติอยู่ จึงพา กันไปกราบทูลพระบรมศาสดา พระพุทธองค์แม้ทรงทราบแล้ว แต่ก็รับสั่งให้ พระเจ้ามหากัปปินะเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามเหตุแห่งการเปล่งอุทาน ให้ได้ยินกันทั่ว ณ ที่นั้น เพื่อ คลายความสงสัยแล้วตรัสว่า:-

“ภิกษุทั้งหลาย พระมหากัปปินะบุตรของเรานี้ เปล่งอุทานอย่างนั้นเพราะปรารภอมต มหานิพพาน เป็นการเปล่งเพราะความเอิบอิ่มในธรรม”

ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะ
ท่านได้รับมอบหมายจากพระบรมศาสดา ให้เป็นผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งท่านก็ ได้สนองพระบัญชาด้วยดี พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ใน ทางผู้ให้โอวาทภิกษุ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระมหากัปปินเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก