หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระพากุลเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๒๒. พระพากุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ไม่มีโรคาพยาธิ

พระพากุละ เกิดในวรรณะแพศย์ ตระกูลคหบดี ในเมืองโกสัมพี ที่ได้ชื่อว่า “พากุละ” เพราะชีวิตของท่านเจริญเติบโตในตระกูลเศรษฐี ๒ ตระกูล (พา = สอง, กุละ = ตระกูล) ประวัติ ของท่านมีดังต่อไปนี้:-

คลอดจากท้องคนเข้าไปอยู่ในท้องปลา
เมื่อท่านคลอดออกจากครรภ์ของมารดาได้ ๕ วัน บิดามารดา รวมทั้งวงศาคณาญาติได้ จัดพิธีมงคลโกนผมไฟและตั้งชื่อให้ท่าน และมีความเชื่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า ถ้านำเด็กที่ เกิดใหม่ไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา แล้วจะทำให้เป็นคนไม่มีโรคเบียดเบียน และมีอายุยืนยาว พี่ เลี้ยงนางนมทั้งหลายจึงได้นำท่านไปอาบน้ำ ในแม่น้ำคงคา ซึ่งนับถือกันว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อนั้น

ขณะที่พี่เลี้ยงกำลังอาบน้ำให้ท่านอยู่นั้น มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งแหวกว่ายมาตามกระแสน้ำ เมื่อมันเห็นท่านแล้วคิดว่าเป็นก้อนเนื้อ จึงฮุบท่านไปเป็นอาหารแล้วกลืนลงท้อง อาจเป็นเพราะ ท่ามีบุญญานุภาพมาก แม้จะถูกอยู่ในท้องของปลา ก็มิได้รับความทุกข์ร้อนแต่ประการใด เป็น เสมือนว่านอนอยู่ในสถานที่อันสุขสบาย ส่วนปลานั้นก็ไม่สามารถจะย่อยอาหารชิ้นนั้นได้ จึงมี อาการเร่าร้อนทุรนทุราย กระเสือกกระสนแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ จนถูกชาวประมงจับได้ และขาดใจตายในเวลาต่อมา เนื่องจากเป็นปลาตัวใหญ่ ชาวประมงจึงพร้อมใจกันนำออกเร่ขาย เพื่อนำเงินมาแบ่งกัน ชาวประมงเหล่านั้น ช่วยกันนำปลาออกเร่ขาย ทั้งในหมู่บ้านและในตลาด ก็ไม่มีใครสามารถจะจ่ายเงิน เป็นค่าซื้อปลาได้

ขณะนั้น ภริยาเศรษฐีในเมืองพาราณสีผ่านมาพบ จึงได้ซื้อปลานั้นไว้ ด้วยหวังจะนำไป แจกจ่ายให้แก่บริวาร และเมื่อให้จัดการชำแหละท้องปลาแล้ว สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของทุกคนก็ คือ เด็กทารกที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนเมื่อหายตกตะลึงแล้ว ก็อุ้มเด็กออกจากท้องปลา ชำระร่างกาย ให้สะอาดแล้ว เด็กทารกนั้นเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส น่ารัก ภริยาเศรษฐีดีใจสุดประมาณ เพราะตน เองก็ยังไม่มีบุตร จึงพูดขึ้นด้วยเสียงอันดัง ในท่ามกลางฝูงชนว่า “เราได้บุตรแล้ว ๆ” และได้รับ เลี้ยงทารกนั้นเป็นอย่างดี ประดุจบุตรแท้ ๆ ในอุทรของตนเอง

ลูกใครกันแน่
ข่าวการที่เศรษฐีในเมืองพาราณสี ได้เด็กจากท้องปลา แพร่สะพัดไปทั่วอย่างรวดเร็ว ฝ่ายมารดาบิดาที่แท้จริง ของเด็กนั้น อยู่ที่เมืองโกสัมพี ได้ทราบข่าวนั้นแล้ว จึงรีบเดินทางมาพบ เศรษฐีเมืองพาราณสีทันที ได้สอบถามเรื่องราวโดยตลอดแล้ว จึงกล่าวว่า “นั่นคือบุตรของเรา” พร้อมกับชี้แจง แสดงหลักฐาน เล่าเรื่องราวความเป็นมาโดยละเอียด แล้วเจรจาขอเด็กนั้นคืน ฝ่าย เศรษฐีเมืองพาราณสี แม้จะทราบความจริงนั้นแล้ว ก็ไม่ยอมให้คืน เพราะถือว่าตนก็ได้มาด้วย ความชอบธรรม อีกทั้งมีความรัก ความผูกพันในตัวเด็ก ซึ่งเปรียบเสมือนลูกที่แท้จริงของตน ทั้ง สองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ จึงพากันไปกราบทูลพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้ทรงช่วยตัดสินคดี ความให้

พระเจ้าพาราณสี ได้ทรงสอบสวนทวนความ ทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว ทรงพิจารณา วินิจฉัยให้ความเป็นธรรม แก่ทั้งสองฝ่าย ด้วยการตัดสินให้ทั้งสองตระกูล มีสิทธิ์ในตัวเด็กทารก นั้นเท่าเทียมกัน ให้ทั้งสองฝ่ายผลัดกันเลี้ยงดู สุดแต่จะตกลง กำหนดระยะเวลาตามความพอใจ ของทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้นามว่า “พากุละ” แปลว่า คน ๒ ตระกูล เพราะท่าน เจริญเติบโตในตระกูลเศรษฐี ทั้งสองตระกูลละครึ่งปี ท่านมีชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ตาม วิถีชีวิตฆราวาส ด้วยความอุปถัมภ์บำรุง ของตระกูลทั้งสองนั้น จวบจนอายุถึง ๘๐ ปี

เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ญาณ เที่ยวประกาศหลักธรรมคำสั่งสอน ให้ประชาชนได้บรรลุมรรคผล ตามอำนาจวาสนา บารมีของตน ๆ เสด็จมาถึงยังเมือสาวัตถี

พากุละพร้อมด้วยบริวาร ได้มีโอกาสเข้าเฝ้า และรับฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธา เลื่อมใส ตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา จึงกราบทูลของบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ ประทานให้ตามประสงค์ และประทานพระโอวาท อันเป็นแนวทาง แห่งการปฏิบัติวิปัสสนา กรรมฐาน จากนั้นท่านได้ปลีกตัว ไปสู่สถานที่อันสงบสงัด เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ท่าน อุตสาห์ทำความเพียรอยู่ ๗ วัน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ไม่มีโรคาพาธ
เมื่อท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้ช่วยแบ่งเบาภาระทางพระพุทธศาสนา ใน การอบรมสั่งสอนพุทธบริษัท และท่านเป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัดในธุดงค์ ข้อ “เนสัชชิกธุดงค์” คือ การสมาทานธุดงค์ ด้วยการอยู่ในอิริยาบท ๓ คือ ยืน เดิน และนั่งเท่านั้น ไม่นอน และข้อ “อรัญญิกธุดงค์” คือ การสมาทานธุดงค์ ด้วยการอยู่ป่าเป็นวัตร ดังจะเป็นได้ว่า ตั้งแต่ท่านบวช มานั้น ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ไม่เคยให้ หมอรักษาพยาบาล ไม่เคยฉัน แม้แต่ผลสมออันเป็นยาสมุนไพร แม้แต่เพียงผลเดียว เพราะว่าท่าน ไม่มีโรคใด ๆ เลยนั่นเอง ทั้งนี้ เป็นเพราะด้วยอานิสงส์ แห่งการสร้างเว็จกุฎี (ส้วม) และการถวาย ยาเป็นทาน แก่พระสงฆ์ เหตุการณ์ที่แสดงว่า ท่านเป็นผู้อายุยืนยาวนั้น ได้มีเรื่องกล่าวไว้ใน กุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร แห่งคัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า.....

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพากุลเถระ พักอาศัยยู่ที่เวฬุวันมหาวิหารเมืองราชคฤห์ ขณะนั้น มี อเจลกะท่านหนึ่ง ชื่อว่า กัสสปะ (อเจลกะ คือ นักบวชประเภทหนึ่งที่ไม่สวมเสื้อผ้า ซึ่งเรียกว่า ชีเปลือย) ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของท่าน เมื่อสมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์ ได้มาเยี่ยมเยือนและได้สนทนาไต่ ถามพระเถระว่า

“ท่านพากุละ ท่านบวชมาได้กี่ปีแล้ว”
“กัสสปะ อาตมาบวชมาได้ ๘๐ ปีแล้ว”
“ท่านพากุละ ตลอดระยะเวลา ๘๐ ปี ที่ท่านบวชมานั้น ท่านมีความเกี่ยวข้องกับ โลกิยธรรมกี่ครั้ง”
“ท่านกัสสปะ อันที่จริงท่านควรถามอาตมาว่า ตลอดระยะเวลา ๘๐ ปีนั้น กามสัญญา คือ ความใฝ่ใจในทางกามารมณ์ เกิดขึ้นแก่ท่านกี่หนแล้ว กัสสปะ ตั้งแต่อาตมาบวชมาได้ ๘๐ ปีแล้วนี้ อาตมามีความรู้สึกว่า กามสัญญาที่ว่านั้น ไม่เกิดขึ้นแก่อาตมาเลย”

อเจลกกัสสปะ ได้ฟังคำของพระเถระแล้วกล่าวว่า “เรื่องนี้ น่าอัศจรรย์ จริง ๆ” และได้ สนทนาไต่ถาม ในข้อธรรมต่าง ๆ จากพระเถระ จนหมดสิ้นข้อสงสัยแล้ว ในที่สุดก็เกิดศรัทธา ขอบวชในพระพุทธศาสนา และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์อีกรูปหนึ่ง

ด้วยความที่ท่าน เป็นผู้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน เป็นเหตุให้ท่านมีอายุยืนยาว ดังกล่าวมานี้ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้ไม่มีโรคาพาธ

ท่านพระพากุลเถระ ดำรงอายุสังขารสมควรแก่กาลแล้ว ในวันที่ท่านจะนิพพานนั้น ท่านนั่งอยู่ในท่ามกลางประชุมสงฆ์ ได้อธิษฐานว่า “ขออย่าให้สรีระของข้าพเจ้า เป็นภาระแก่หมู่ ภิกษุสงฆ์เลย” ดังนี้แล้ว ท่านก็เข้าเตโชกสิณ ปรินิพพานในท่ามกลางหมู่สงฆ์นั้น พลันเปลวเพลิง ก็เกิดขึ้นเผาสรีระของท่าน จนเหลือแต่อัฐิธาตุ ซึ่งมีสีและสัณฐานดังดอกมะลิตูม

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระพากุลเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก