หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระภัททากุณฑลเกสาเถรี
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๙. พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ตรัสรู้เร็วพลัน

พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เป็นธิดาของเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า “ภัททา

ลูกปุโรหิตเกิดฤกษ์โจร
ในวันที่นางเกิดนั้น ได้มีบุตรของปุโรหิตในกรุงราชคฤห์ เกิดในวันเดียวกันนี้ด้วย ขณะที่ เขาคลอดจากครรภ์มารดา ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ บรรดาอาวุธทั้งหลาย ในบ้านของปุโรหิตเอง และในบ้านคนอื่น ๆ ตลอดจนถึง ในพระราชนิเวศน์ต่าง ๆ ก็เกิดแสงประกาย รุ่งโรจน์ไปทั่วพระ นคร ตลอดคืนยันรุ่ง

ปุโรหิตทราบในบุพนิมิตดีว่า บุตรของตนเกิดฤกษ์โจร เมื่อเขาโตขึ้น จะต้องเบียดเบียน ทำความเดือดร้อนฉิบหาย แก่ชาวเมือง จึงเข้าเฝ้าพระราชาแต่เช้าตรู่ กราบทูลความให้ทรงทราบ โดยตลอด แล้วทูลเสนอแนะว่า ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้ประหารชีวิตเขาเสีย เพื่อมิให้เป็นภัยแก่ ชายเมืองในอนาคต แต่พระราชาตรัสว่า เมื่อเขาไม่ได้เบียดเบียนเรา ก็ไม่เป็นไร อย่าไปฆ่าเขาเลย

ปุโรหิตจึงเลี้ยงดูบุตรต่อไป โดยได้ตั้งชื่อให้ว่า “สัตตุกะ” สัตตุกะเมื่อโตขึ้น อยู่ในวัยเด็ก นายสัตตุกะก็ได้ ตัดช่องย่องเบา ลักขโมยทรัพย์และสิ่ง ของมีค่าน้อยบ้าง มากบ้าง ตามแต่จะได้ มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ จนได้ชื่อว่าไม่มีบ้านหลังใด ที่ไม่ถูก ย่องเบาลักขโมยเลย ความเดือดร้อนของชาวเมืองทราบไปถึงพระราชา จึงรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ ติดตาม จับกุมโจรชั่วนั้นให้ได้ พวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย จึงออกติดตามสืบพบหา จนจับตัวได้แล้วนำมา ถวายพระราชา เพื่อทรงวินิจฉัยตัดสินโทษ

พระราชา รับสั่งให้โบยโจร พร้อมทั้งนำตัวตระเวนออกไปตามถนน ให้ทั่วทั้งพระนคร ก่อนแล้ว จึงนำออกไปประหารที่เหวสำหรับทิ้งโจร

ดอกฟ้าในมือโจร
ขณะนั้น นางภัททา ธิดาเศรษฐีมีอายุย่างเข้าวัย ๑๖ ปี มีรูปร่างสวยงาม บิดามารดาจึง ระวังรักษา ให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ ให้หญิงรับใช้หนึ่งคน คอยดูแลรับใช้ของนาง ก็เป็น ธรรมดาของหญิงสาวในวัยนี้ ย่อมมีความฝักใฝ่ในชายหนุ่ม ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่นำโจรหนุ่ม ตระเวนมาทางบ้านของนาง พอนางเปิดหน้าต่างมองลงไปเห็นโจรเท่านั้น ก็เกิดจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ ในตัวโจรทันทีคิดว่า “ชาตินี้ถ้าไม่ได้โจรหนุ่ม มาเป็นคู่ครองก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่” และรู้ว่าพวก เจ้าหน้าที่กำลังนำโจรไปประหาร ความรู้สึกของนาง เหมือนกับกำลังสูญเสียสามีสุดที่รัก ความ ทุกข์เศร้าโศกเสียใจ สุดจะห้าม ก็ตามมา ฝ่ายสาวใช้ เห็นเช่นนั้น จึงรีบแจ้งให้เศรษฐีผู้เป็นบิดามาดา ทราบโดยด่วน บิดามารดาของนางพอมาถึง ก็ได้ไต่ถามทราบจากปากของธิดาว่า “ถ้าไม่ได้โจร หนุ่มคนนั้นมาเป็นคู่ ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป” แล้วก็นอนกลิ้งเกลือกอยู่บนเตียนนอนนั้น

มารดาจึงพูดอ้อนวอนว่า:- “ภัททา ลูกแม่ อย่าทำอย่างนี้เลย อีกไม่นาน เจ้าก็จะได้สามีที่มีทรัพย์สมบัติ และชาติสกุล เสมอกัน”
“คุณแม่ค่ะ ดิฉันไม่ต้องการชายอื่น ถ้าไม่ได้ชายคนนี้จะขอตายดีกว่า”

บิดามารดาทั้งสอง ช่วยกันพูดอ้อนวอนอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เป็นผล ด้วยคามรักและ ห่วงใยในลูกสาว จึงติดสินบนเจ้าหน้าที่ ด้วยทรัพย์จำนวนหนึ่งพันกหาปณะ ขอไถ่ชีวิตโจรหนุ่ม คนนั้นโดยให้นำมาส่งที่บ้าน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชบุรุษทั้งหลาย รับทรัพย์ไปแล้วทำเป็นถ่วงเวลารอ จนมืดค่ำ จากนั้นได้นำโจรหนุ่มคนนั้น มามอบให้แก่เศรษฐีแล้ว นำนักโทษอีกคนหนึ่งไป ประหารชีวิตแทน แล้วกราบทูลพระราชว่าฆ่าโจรสัตตุกะเรียบร้อยแล้ว

เศรษฐีรับตัวโจรหนุ่มสัตตุกะไว้แล้ว ให้อาบน้ำชำระร่างกาย และมอบเสื้อผ้าชั้นดีสวมใส่ พร้อมทั้งอาภรณ์เครื่องประดับชั้นดีต่าง ๆ นำไปยังปราสาทของลูกสาว ทำพิธีส่งตัวให้เป็นคู่ผัว เมียกันแล้ว บิดามารดาทั้งสองก็กลับไปยังที่พักของตน

สันดานโจรไม่เจือจาง
โจรสัตตุกะ มีความสุขอยู่ในบ้านของเศรษฐี ซึ่งมีให้พรั่งพร้อมทุกอย่าง ได้ทั้งภรรยาที่ แสนสวย ทรัพย์สินเงินทอง ก็มีให้ใช้อย่างสุขสบาย ไม่ขัดสน การงานก็มีคนรับให้ทำให้ ไม่ต้อง ดิ้นรนขวนขวยใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่เขาก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะนิสัยสันดานโจร อดที่จะทำชั่วไม่ได้ เขาคิดวางแผนฆ่าภรรยา เพื่อจะนำเอาเครื่องประดับอันมีค่านั้น ไปขายแล้วนำเงินมาหาความสุขด้วยการดื่มสุรา แล้วเขาก็เริ่มดำเนินการตามแผน ด้วยการแสดงกิริยาให้ภรรยาพอใจ แล้วกล่าวว่า:-

“น้องหญิง การที่พี่รอดชีวิตจากการถูกประหารอย่างหนึ่ง และการที่ได้มาแต่งงานอยู่ กับน้องหญิงอีกอย่างหนึ่ง ก็ด้วยอานุภาพของเทวดาที่สิงสถิต ณ ภูเขาทิ้งโจร เพราะพี่ได้บนบาน บวงสรวงกับท่านเข้าไว้ ขณะนี้ก็สำเร็จสมประสงค์ทั้ง ๒ ประการแล้ว พี่เห็นว่าควรจะทำการแก้ บนถวายเครื่องพลีกรรม แก่เทวดานั้น ขอให้น้องหญิงจงจัดเครื่องพลีกรรม สังเวยให้พร้อมแล้ว ประดับอาภรณ์ให้สวยงาม ไปร่วมทำพิธีพลีกรรม ที่ภูเขาทิ้งโจรนี้กับพี่เถิด”

นางภัททา ด้วยความรักสามีสุดหัวใจ จึงเห็นชอบ เชื่อตามคำสามีทุกประการ โดยให้ ทาสชายหญิง จัดเครื่องพลีกรรมเรียบร้อยแล้ว ขึ้นนั่งรถคันเดียวกันกับสามี ไปยังเหวที่ทิ้งโจร เมื่อ มาถึงเชิงเขา โจรสัตตุกะบอกกับภรรยาว่า “ให้เหล่าบริวารที่ติดตามมานั้น กลับไปก่อน เราสอง คนเท่านั้น ที่จะขึ้นไปทำพลีกรรม” เมื่อบริวารแยกทางกลับไปแล้ว ก็ช่วยกันถือเครื่องสักการะ สังเวยขึ้นไปบนยอดเขา นางภัททารู้สึกมีความสุข ความอิ่มใจที่ได้ช่วยกิจของสามี และได้ โอกาส มาทัศนาโลกภายนอก แต่พอถึงยอดเขา โจรสัตตุกะก็พูดกับนางด้วยเสียงอันแข็งกร้าวเด็ด ขาดว่า:-
“ภัททา เจ้าจงเปลื้องผ้าห่มออก แล้วถอดเครื่องประดับทั้งหมด มัดห่อรวมกันไว้เดี๋ยวนี้”

นางภัททา ได้ฟังคำ และเห็นกิริยาของสามีเปลี่ยนไปเช่นนั้น ก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ละล่ำละลักถามสามีว่า:-
“นายจ๋า ดิฉันทำอะไรผิดหรือ ?”
“นางหญิงโง่ ความจริง เราจะควักตับกับหัวใจของเจ้า ถวายแก่เทวดาที่นี่แล้วยึดเอา เครื่องอาภรณ์ของเจ้าทั้งหมด ไปใช้จ่ายหาความสุข”
“นายจ๋า ก็ทั้งตัวดิฉันกับเครื่องประดับทั้งหมดนี้ ก็เป็นของท่านอยู่แล้ว ทำไมท่านจะต้อง ฆ่าฉัน เพื่อยึดเครื่องประดับด้วยอีกเล่า”

ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน
แม้นางจะอ้อนวอนชี้แจงอย่างไร เข้าโจรโง่ใจร้าย ก็ไม่ยอมรับฟัง ตั้งหน้าแต่จะฆ่านางเอา เครื่องประดับอย่างเดียว นางตกอยู่ในสถานการณ์จนตรอก มองเห็นความตายอยู่แค่เอื้อม จึงรวบ รวมสติไว้แล้วคิดว่า “ขึ้นชื่อว่าปัญญา ที่ติดกับตัวมาตั้งแต่เกิดนั้น มิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน แต่มีไว้ เพื่อพิจารณา หาหนทางดำเนินชีวิต และแก้ปัญหาชีวิต เราควรจะทำอะไรสัก อย่างเพื่อเอาชีวิต รอด” เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงกล่าวกับสามีโจรชั่วว่า:-

“เอาละนายจ๋า วันท่านท่านถูกราชบุรุษ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุม พาตระเวนประจานไป ทั่วเมือง ก่อนนำมาประหารที่ภูเขาทิ้งโจรนี้ ดิฉันได้อ้อนวอนบิดามารดา ให้สละทรัพย์เป็นอันมาก ไถ่ชีวิตท่าน แล้วนำมาแต่งงานกับดิฉัน และดิฉันก็มีความรักต่อท่านอย่างสุดหัวใจ วันนี้ท่านมี ความประสงค์จะฆ่าดิฉันให้ได้ เพื่อต้องการเครื่องประดับ แต่ก็ไม่เป็นไร ก่อนที่ดิฉันจะตาย ขอ ให้ดิฉันได้แสดงความรักต่อท่าน เป็นครั้งสุดท้ายสักหน่อยเถิด เพราะเป็นโอกาสสุดท้าย ที่จะได้ ใกล้ชิดท่าน ขอให้ท่านจงยืนตรงนั้น แล้วดิฉันจะขอสวมกอดท่านทั้ง ๔ ทิศ หลังจากนั้นท่านก็จง ประหารดิฉันเถิด”

โจรชั่วสิ้นชีพ
โจรชั่วสัตตุกะ เห็นกิริยาอาการ และฟังคำพูดของนาง ดูเป็นปกติสมจริง จึงอนุญาตให้นาง กระทำตามที่ขอ แล้วไปยืนตรงที่นางบอกบนยอดเขา ขณะนั้น นางภัททาผู้เป็นภรรยา ได้ทำการ ประทักษิณเดินเวียนขวารอบสามี ๓ รอบ แล้วไหว้ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมกับกล่าวว่า
“นายจ๋า นี่เป็นการเห็นท่าน เป็นครั้งสุดท้าย นับต่อแต่นี้ การที่ดิฉันจะได้เห็นท่าน และ ท่านจะได้เห็นดิฉัน ก็คงไม่มีอีกแล้ว” เมื่อกล่าวจบนางก็สวมกอดข้างหน้า แล้วก็เปลี่ยนมากอด ข้างหลัง ขณะที่โจรชั่วเผลอตัวอยู่นั้น นางได้ผลักโจรตกลงไปในเหว ร่างของโจรชั่วแหลกเหลว เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จบชีวิตอันชั่วร้ายของเขาที่เหวทิ้งโจรนั้น

นางภัททา หลังจากผลักโจรชั่วผู้สามี ตกลงไปในเหวแล้ว คิดว่า “ถ้าเรากลับบ้านไป บิดามารดาก็จะถามว่า สามีเจ้าหายไปไหน ถ้าเราบอกความจริงว่า เราฆ่าเขาตายแล้ว ก็จะพากัน ประณามติเตียนว่า นางเด็กดื้อ เจ้าอ้อนวอนพ่อแม่ให้เสียทรัพย์ เพื่อไถ่ชีวิตโจรเอามาทำผัว แต่พอ ได้เขามาแล้ว กลับฆ่าเขาตาย เจ้าทำอย่างนี้ได้อย่างไร แม้เราจะบอกว่า เขาต้องการฆ่าดิฉันเพื่อ ต้องการเครื่องประดับ ท่านทั้งสองก็จักไม่เชื่อเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรกลับบ้าน ควรจะไป บวชในสำนักใด สำนักหนึ่งดีกว่า”

ถอนผมบวชเป็นเดียรถีย์
ครั้นนางภัททาคิดดังนี้แล้ว ก็ทิ้งห่อเครื่องประดับ ไว้บนยอดเขานั้น แล้วเดินลงจากภูเขา ไป เดินลัดเลอะไปตามป่า ได้พบสำนักของพวกนิครนถ์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ขอ บรรพชาในสำนักนั้น พวกนิครนถ์ถามนางว่า “จะบวชโดยวิธีไหน ?” นางจึงตอบวา “วิธีใดที่ จัดว่าเป็นสิ่งสูงสุด ในสำนักของท่าน ก็ขอให้ดิฉันบรรพชาด้วยวิธีนั้นนั่นแหละ”

พวกนิครนถ์ จึงเอาก้านตาลถอนผมนางจนหมดศีรษะ ถือว่าเป็นวิธีบวชที่สูงสุดของ สำนัก เมื่อนางบวชแล้ว ผมที่งอกขึ้นมาใหม่ ก็ม้วนกลมเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่เหยียดยาวเหมือนเดิม ดังนั้น นางจึงได้ชื่อว่า “กุณฑลเกสา

เมื่อนางบวชแล้ว ได้ศึกษาศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ในสำนักนั้น จนจบสิ้น นางเห็นว่าสำนัก นี้ไม่มีศิลปะวิทยาที่สูงไปกว่านี้อีกแล้ว จึงออกเที่ยวแสวงหาบัณฑิต ผู้รู้ทั้งหลาย แล้วขอศึกษาสิ่งที่ บัณฑิตเหล่านั้นรู้ทั้งหมด นางเที่ยวแสวงหาบัณฑิต ด้วยการโต้วาทะ โดยวิธีใช้กิ่งหว้าปักบนกอง ทรายแล้วประกาศว่า “ถ้าผู้ใดสามารถ ที่จะโต้วาทะกับเราได้ ก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้” โดยมีข้อตกลง กันว่า “ถ้าผู้ที่โต้วาทะชนะนาง เป็นคฤหัสถ์ นางก็จะขอยอมเป็นทาสรับใช้ แต่ถ้าผู้โต้วาทะชนะ เป็นนักบวช นางก็จะขอบวชเป็นศิษย์ในสำนักนั้น”

นางถือกิ่งหว้า เที่ยวประกาศท้าได้วาทะไปตามหมู่บ้านตำบลต่าง ๆ ชาวบ้านพอได้ทราบ ข่าวว่านางภัททา มาทางบ้านของตน ก็จะพากันหลีกหนีไป นางเข้าไปถึงตำบลใด ก็จะปักกิ่งหว้า บนกองทรายแล้ว นั่งรอผู้ที่รับคำท้ามาเหยียบกิ่งหว้าของนาง บางตำบลนางรอถึง ๗ วัน ก็ไม่มีผู้ ใดกล้ามาเหยียบกิ่งหว้าของนางเลย นางจึงต้องถอนกิ่งหว้า แล้วหลีกต่อไปที่อื่น นางได้ถือกิ่งหว้า ท่องเที่ยวไปโดยทำนองนี้ จนได้ชื่อใหม่ว่า “นางชัมพุปริพาชิกา” (นางปริพาชิกาไม้หว้า, ชัมพุ = ไม้หว้า)

โต้วาทีกับพระสารีบุตร
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตะวันวิหาร กรุงสาวัตถี ฝ่ายนาง กุณฑลเกสา ก็ดินทางมาถึงกรุงสาวัตถี แล้วปักกิ่งหว้าบนกองทราย ประกาศท้าโต้วาทะเหมือน เดิม แล้วออกไปหาอาหารบริโภค

ขณะนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เดินผ่านมาเห็นเด็ก ๆ กำลังยืนรุมล้อมดูกิ่งหว้าบน กองทราย พร้อมกับวิจารณ์กันเซ็งแซ่ เกิดความสงสัย จึงเข้าไปถามเด็ก ๆ ได้ทราบความโดยตลอด แล้วจึงบอกกับเด็ก ๆ ว่า:-
“เจ้าหนูทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงเหยียบกิ่งหว้านั้นเถิด”
“พวกกระผมกลัวขอรับ พระคุณเจ้า”
“ไม่ต้องกลัวหรอก พวกเจ้าเป็นคนเหยียบ เราจะเป็นผู้แก้ปัญหาเอง”

เด็กบางพวกไม่กล้า บางพวกก็กลัว ๆ กล้า ๆ แต่ผลที่สุด ก็ช่วยกันเหยียบกิ่งหว้าและกอง ทรายนั้น จนกระจัดกระจาย นางชัมพุปริพาชิกา มาเห็นแล้ว ก็ดุต่อว่าเด็กเหล่านั้น แต่พอเด็ก ๆ บอกว่า “พระคุณเจ้ารูปนั้น ใช้ให้เหยียบ” นางจึงเข้าไปถามพระเถระว่า:- “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านจักโต้วาทะถามปัญหากับดิฉันหรือ ?”
“ใช่แล้ว น้องหญิง” พระเถระตอบ

นางฟังคำของพระเถระแล้ว คิดว่า “เราควรจะให้ชาวพระนครสาวัตถี ได้รู้กำลังปัญญา ของเรา ว่ายิ่งใหญ่หาผู้เทียมทานไม่ได้” จึงแจ้งให้ชาวเมือง มาชมมาฟังกันให้มาก ๆ ชาวพระ นครพอทราบข่าว ต่างก็พากันไปห้อมล้อมจนแน่นขนัด

ลำดับนั้น พระเถระได้ให้โอกาสแก่นางชัมพุปริพาชิกา เป็นผู้ถามปัญหาขึ้นก่อน นางก็ ถามศิลปวิทยา ที่ตนเรียนรู้มาตามลัทธิตน ถามจนหมดความรู้ที่นางมีอยู่ พรเถระก็ตอบแก้ได้ทั้ง หมด นางก็ตกใจ เพราะไม่เคยถามใครมากอย่างนี้มาก่อนเลย จึงนิ่งเฉยอยู่ พระเถระจึงกล่าวว่า “ท่านถามเราหมดแล้ว ต่อไปนี้เราจะขอถามท่านบ้าง”
“ถามเถิด พระคุณเจ้า”
“ที่ชื่อว่าหนึ่ง นั้นคืออะไร ?”
“พระคุณเจ้า ดิฉันไม่ทราบ เจ้าข้า”

ขอบวชในพระพุทธศาสนา
นางชัมพุปริพาชิกา ยอมพ่ายแพ้ต่อพระเถระ ด้วยปัญหาเพียงข้อเดียวเท่านั้น นางหมอบ ลงกราบแทบเท้าพระเถระ ขอศึกษาวิชาพุทธมนต์ ในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งขอบรรพชา และ ถึงพระเถระเป็นสรณะ แต่พระเถระบอกว่า ขอให้นางถึงพระพุทธองค์เป็นสรณะเถิด แล้วพานาง ไปยังพระวิหารเชตวัน นำเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงราบจริยาอัธยาศัย ของนางดี แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนาคาถาภาศิตว่า:-
ผู้ใดกล่าวคาถา ที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา
ผู้กล่าวคาถา ที่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้เพียงคาถาเดียว
ยังผู้ฟังให้สงบระงับได้ ชื่อว่า ประเสริฐกว่าแล


พอจบพระธรรมเทศนาคาถาภาษิต ทั้งที่นางกำลังยืนอยู่นั้น ยังไม่ทันจะนั่งลง ก็ได้บรรลุ พระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในขณะนั้น แล้วกราบทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์ ทรงอนุญาตแล้ว ส่งนางให้ไม่บวชในสำนักภิกษุณีสงฆ์

เมื่อนางบวชแล้ว ได้ชื่อว่า “กุณฑลเกสาเถรี” ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “พระภัททากุณฑลเกสาเถรีนี้ ยิ่งใหญ่จริงหนอ บรรลุพระอรหัตผลในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บาท เหล่านั้น”

พระศาสดา ทรงปรารภเหตุนี้ จึงทรงสถาปนาพระภัททากุณฑลเกสาเถรี ในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก