หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย หลวงปู่บุดดา ถาวโร
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
๕ มกราคม ๒๔๓๗ - ๑๒ มกราคม ๒๕๓๗
วัดกลางชูศรีเจริญสุข ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
--------------------
พรรษาที่ ๔ ตัดกิเลสบรรลุธรรม
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พอใกล้เข้าพรรษา ท่านทั้งสองได้ไปจำพรรษา ณ วัดป่าหนองคู จ.นครสวรรค์ และพอออกพรรษาก็กลับมาร่วมปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำภูคา จ.นครสวรรค์ โดยต่างเร่งความเพียร เจริญสมณธรรมอย่างเต็มที่ เกือบจะไม่ได้พักผ่อน และในคืนวันหนึ่ง เวลาประมาณระหว่าง ๒๐.๐๐ น. ถึง ๒๓.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาสนทนาธรรม ของทั้งสองท่าน หลวงพ่อสงฆ์ได้ถามหลวงปู่บุดดาว่า “...ยังถือวินัยอยู่หรือ”
หลวงปู่ตอบว่า “...ไม่ถือวินัยได้ไง ถ้าเราจะเดินผ่านต้นไม้-ของเขียว ก็ต้องระวัง... มันจึงเป็นอุปาทานทำความเนิ่นนาน ต้องช้ามาถึง ๔ พรรษา”
หลวงพ่อสงฆ์ว่า “วินัยมันมีสัตว์ - มีคนรึ”
หลวงปู่บุดดาว่า “มีตัวซี ถ้าไม่มีตัว จะถือวินัยได้ยังไง... วินัยก็ผู้ถือนั่นเอง ...เสขิยวัตร ๗๕ เป็นตัวไม่ได้หรอก ...เนื้อหนัง กระดูก ตับไต ไส้พุง มันไม่ใช่ตัวถือวินัย... ตัวถือวินัยเป็นธรรมนี่”

....เถียงกันไป เถียงกันมา ชั่วระยะหนึ่ง... พอปัญญา-บารมีเกิดขึ้น ตกลงกันได้ว่า “เอ๊ะ ! ไม่มีจริง ๆ เน้อ ...ผู้ถือไม่มี มีแต่ระเบียบของธรรมเท่านั้น ไปถือมั่น-ยึดมั่นไม่ได้นี่”

พอหยุดความลง ทันใดนั้นเอง หลวงพ่อสงฆ์เพ่งมองดูเห็นหลวงปู่บุดดา จู่ ๆ ก็นิ่งเงียบ นัยน์ตาลืมค้างอยู่ ไม่กระพริบตา – เบิกตาโพลงอยู่อย่างนั้น – เนิ่นนานอยู่ ประมาณสองชั่วโมงกว่าถึง กลับมาพูดได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลวงปู่บุดดา ได้ใช้ปัญญาตัดกิเลสได้แล้ว ในขณะที่นั่งลืมตา ซึ่งหลวงปู่บอกว่า ถ้าเกิดปัญญาขึ้น ในอิริยาบถทั้ง ๔ ซึ่งขณะนั้น ถ้าลืมตาตัดก็ต้องลืมตาตัด ถ้านั่งตัดก็ต้องนั่งตัด ถ้ายืนตัด – เดินตัดหรือนอนตัด ก็ต้องยืนตัด-เดินตัด หรือนอนตัด ขึ้นอยู่ว่าใครจะตัดกิเลสได้ขณะไหน... อย่างพระอานนท์ ตัดได้ตอนเอนกาย ขณะกำลังจะนอนนั่นเอง...

สำหรับหลวงปู่บุดดา ขณะมีอายุได้ ๓๒ ปี-พรรษาที่ ๔ ซึ่งถ้ายังใช้กรรมไม่หมด ก็ไม่ถึงโลกกุตระ แต่พอใช้หนี้กรรมหมดแล้ว ก็เป็นอโหสิกรรม ขณะนั่งลืมตาอยู่ก็บรรลุธรรมได้

หลวงปู่บุดดาบอกว่า “ขณะนั้นอวิชาดับหมด รู้สึกสว่างแจ้งขึ้นมาเอง ความไม่มีตัวตน เห็นได้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัว เป็นปรมัตถธรรม ธรรมทุกอย่าง เป็นธรรมชาติส่วนกลาง คงอยู่ในจิตของตนเอง กิเลสหลุดไปเอง แต่ชีวิตยังคงอยู่มีความเป็นปรกติทุกอย่าง ทั้งกายสังขาร-จิตสังขารก็หยุด รูปก็หยุดหมด ไม่มีสัตว์เกิดสัตว์ตาย กิเลสไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ขันธ์ของกิเลสก็ไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ...สุดชาติของอาสวะของสังโยชน์ ๑๐ อนุสัย ๗ ออกวันเดียวกัน และเวลาเดียวกันนั่นแหละ...”

หลวงพ่อสงฆ์ ท่านนั่งเฝ้าหลวงปู่บุดดาอยู่นาน กว่าสามชั่วโมงแล้วจึงออก “นิมนต์เถอะครับ...แน่นอนแล้ว”

พอรุ่งเช้าถึงเวลาออกบิณฑบาต หลวงพ่อสงฆ์บอกว่า “โลกกุตระธรรมแล้ว ขอนิมนต์ให้หลวงปู่บุดดาเดินหน้า” แต่หลวงปู่บุดดาว่า “หน้าก็หน้าคุณธรรม แต่พรรษาอ่อนกว่าต้องเดินหลังซี !” ตกลงหลวงปู่บุดดา คงเดินตามหลังหลวงพ่อสงฆ์เหมือนเดิม

ต่อมาอีกไม่กี่วัน หลวงพ่อสงฆ์ ซึ่งเร่งปรารภความเพียรมาอย่างหนัก ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ณ ถ้ำภูคาเช่นเดียวกัน ท่านไม่ถือทั้งนามและรูป เพราะการหลงนาม หลงรูป มันก็หลงเกิด หลงตาย ไม่มีสิ้นสุด (ในช่วงบั้นปลายของชีวิตท่าน ได้มาพักจำพรรษาที่วัดอาวุธวิกสิตาธรรม เขตบางพลัด กทม. ตลอดมา จนถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙)

พระพุทธเกษแก้วจุฬามณี
เมื่อหลวงปู่บุดดา และหลวงพ่อสงฆ์ ได้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจธรรมแล้ว ต่างองค์ต่างก็แยกกันไป ประกาศพระสัทธรรม ตามสำนักและหัวเมืองต่าง ๆ เป็นเวลามากกว่า ๔๐ ปี แต่เมื่อจวนเข้าพรรษาของทุกปี ท่านทั้งสอง ก็จะกลับมาจำพรรษาร่วมกัน ที่วัดบ้านป่าหนองคู

ครั้นออกพรรษา ก็ต่างแยกทางกันไป ซึ่งบางครั้งก็จะมาอยู่ร่วมกัน ณ ถ้ำของเขาภูคาเป็นครั้งคราว จนล่วงย่างเข้าสู่วัยชราภาพ ประมาณเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ทั้งสองท่านพบกัน ก็ได้ปรารภถึงสถานที่ที่มีบุญคุณมากที่สุด คือ ถ้ำภูคา จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่านทั้งสอง ได้อาศัยบำเพ็ญเพียรจนบรรลุถึงอริยสัจธรรม สมควรจะได้จัดสร้างพระพุทธปฏิมากร จำลองพระพุทธลักษณะมาจากพระเกศแก้วจุฬามณี ณ แดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ตกลงให้ขนาดบ่ากว้าง ๖ วา ๒ ศอก สูง ๙ วา สร้างแบบเครื่ององค์ประดิษฐาน ณ ยอดเขาภูคา เพื่อเป็นอนุสาวรย์ทัศนานุตริยะปูชนียสถาน ของพระพุทธศาสนิกชนทั่วไป และเป็นอนุสรณ์ที่ทั้งสององค์ ได้พำนักอาศัยบำเพ็ญบุญบารมี จนบรรลุถึงอริยสัจธรรม ขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาเองของโลก ดังนั้น ท่านทั้งสองพร้อมคณะศิษย์ผู้ศรัทธา จึงได้เริ่มจัดสร้าง “พระพุทธเกษแก้วจุฬามณี” ขึ้นประจำยอดภูเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จนเสร็จเรียบร้อย โดยใช้ช่วงเวลาสร้างไม่นาน (พระครูพลอย แม่ชีผวน พระเงิน เป็นผู้จัดดำเนินการ หาทุนสร้างเป็นอนุสรณ์ให้กับหลวงพ่อสงฆ์ พรหมเถระ – หลวงปู่บุดดา ถาวโร)

ต้องอธิกรณ์
เมื่อหลวงพ่อสงฆ์กับหลวงปู่บุดดาแยกทางกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แต่พอออกพรรษาแล้ว ท่านมักจะพบกันเสมอ บางครั้ง ก็ร่วมทางกันต่อไป แต่ตอนปลายปี ๒๔๗๔ ต่อต้นปี ๒๔๗๕ ท่านร่วมเดินทางมาด้วยกัน พอถึงจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ ญาณวโร เจ้าอาวาสวัดเทพศรินทราวาส ท่านทั้งสอง ก็ถูกอธิกรณ์ เขาพาท่านทั้งสอง มาหาสมเด็จวัดเทพศิรินทร์ฯ สมเด็จท่านจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน หลวงพ่อทั้งสองท่าน ไม่มีประโยคประธานใด ๆ แต่ท่านอ้างธรรมปฏิบัติ ตามปฏิปาที่ท่านรู้เห็นของท่าน ขึ้นโต้แย้ง ปริยัติเป็นเสมือนแบบแผนเท่านั้น แต่การปฏิบัตินั้น เป็นการทำจนปรากฏของจริงขึ้นประจักษ์แก่ใจ

สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ท่าน จึงตั้งกรรมการทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติขึ้น สมทบของท่านร่วมกันผลปรากฏไม่พบความผิด จึงเป็นที่เล่าลือกันในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า พระสุปฏิปันโนจากป่า เข้ากรุง

จากผลของการสอบสวนในครั้งนั้น ทำให้หลวงปู่ได้พบปะและสบอัธยาศัยกับพระผู้ใหญ่ ฝ่ายธรรมยุตหลายองค์ ต่อมาท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) มารดาพระสุจริตสุดา และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ในพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (รัชการที่ ๖) ได้นิมนต์ไปจำพรรษา ณ วัดสัมพันธวงศ์ หลวงปู่จึงไปพำนัก ที่วัดสัมพันธวงศ์ ในเดือนเมษายนปีนั้น แต่ในปีนั้น หลวงปู่คงไม่ได้จำพรรษาเนื่องจาก...

หลวงปู่ไปเมืองเพชร
ท่านอาจารย์เหล็งฯ เป็นภิกษุชาวเพชรที่อยู่ ณ วัดสัมพันธวงศ์ เลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่ และขออาราธนาหลวงปู่ให้ไปโปรดญาติโยมของท่าน ทางเมืองเพชรก่อน ต่อใกล้พรรษา จึงค่อยกลับมาวัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอัธยาศัยของหลวงปู่อยู่แล้ว การเดินทางคราวนั้น มีท่านอาจารย์สันติฯ ชาวนครสวรรค์ ร่วมติดตามไปด้วย หลวงปู่จึงไปจำพรรษา ณ วัดเนรัญชรา วัดธรรมยุติของจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ก่อน ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (การเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ในพรรษาต่อมาก็ จำพรรษา ณ วัดสนามพราหมณ์ และวัดเหนือวน จังหวัดราชบุรี ในพรรษาต่อไป และต่อจากนั้น จึงได้เข้ามาจำพรรษา ณ วัดราชาธิวาส ในกรุงเทพฯ เป็นพรรษาแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หรือ ๗๙ แต่แน่นอนก็คือ เป็นปีที่ท่านครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ ถูกส่งมาสอบสวน และพักที่วัดเบญจมบพิตร

วัดบุญทวี ถ้ำแกลบ
วัดนี้สร้างด้วยความร่วมมือสมานฉันท์ ของชาวเพชรบุรี ทั้งสองนิกายคือ ธรรมยุติและมหานิกาย (เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อสงฆ์ และหลวงปู่บุดดาเป็นสื่อจูงใจ) ดังปรากฏ กุฏิหลวงพ่อสงฆ์เดิม ภายหลังต่อมา กลับกลายเป็นห้องสมุดของสำนักปฏิบัติ อุโบสถก็เป็นอุโบสถที่มีการผูกพัทธสีมา ทั้งแบบธรรมยุติและมหานิกาย ฝ่ายปริยัตินั้น อยู่พื้นที่ส่วนราบฝ่ายปฏิบัติอยู่บนภูเขา

เนื่องจากวัดเพชรบุรีเป็นที่ ๆ หลวงปู่จำพรรษามากกว่าที่อื่น ๆ ยกเว้นจังหวัดสิงห์บุรี ประกอบกับท่าน เป็นพระของทั้งสองนิกาย ชาวเพชรบุรีจึงศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านมาก ขนาดสามล้อแย่งกันนิมนต์ขึ้นรถของตัวเอง เขามีความเชื่อว่า ถ้าหลวงปู่ได้นั่งรถของเขาแล้ว วันนั้นเขาจะได้ลาภมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นสามล้อ หรือรถโดยสารธรรมดา ในจังหวัดเพชรบุรีแล้ว เขาต้องนิมนต์ให้ท่านขึ้นรถของเขา ถ้าพบว่าท่านตามทาง

งานเดียวถูกนิมนต์ ๓ วาระ
ในงานฌาปนกิจศพของคหบดีคนหนึ่ง ของวัดเจ้าคณะตำบลใกล้วัดถ้ำแกลบนี้เอง ซึ่งบุตร ทั้ง 3 คน เป็นเจ้าภาพร่วมกัน พอวันงานปรากฏว่า พระขาดไปรูปหนึ่ง น้องคนเล็กจึงไปนิมนต์หลวงปู่บุดดา จากวัดถ้ำแกลบ พอมาถึง ท่านก็นั่งยังอาสนะที่เขาจัดไว้ เจ้าภาพได้เถียงกัน พี่ชายคนกลางว่า ไปนิมนต์พระมาเช่นกัน ท่านได้ฟัง ก็ลุกอาจสนะ ลงมาข้างล่าง และพระที่พี่ชายคนกลางนิมนต์มา ก็เข้านั่งประจำที่ แต่แล้วเจ้าภาพทั้งสองคน ก็ตกลงจัดที่เพิ่ม และนิมนต์หลวงปู่ขึ้นไปใหม่ ต่อพอพี่ชายคนโตมาถึง ก็เอ็ดใหญ่ ไม่ยอมฟังคำชี้แจงของน้องทั้งสองคน เขาเล่าว่า ไม่เห็นท่านแสดงอาการอย่างไร ท่านก็ลุกจากอาสนะอีกครั้งหนึ่ง แล้วเดินผ่านมาทางซ้ายสุด เพราะมีผู้คนมามากแล้ว คราวนี้ ท่านไม่หยุดดังคราวก่อน ได้เดินผ่านประตูทางออกไปเลย ตอนหลังเจ้าภาพตกลงกันได้ จึงวิ่งไปนิมนต์ท่านกลับมาใหม่ หลวงปู่ก็เลยกลับมานั่งยังอาสนะเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

วัววิ่งชนหลวงปู่
หลวงปู่ได้รับนิมนต์จากชาวบ้าน จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยอาจารย์เหล็ง พอถึงหน้าบ้าน ท่านก็ร้องให้เจ้าภาพของวัวผูกวัว เจ้าของบ้านออกมายืนนอกชาน ร้องนิมนต์ให้เข้ามาเถิด ไม่เป็นไรหรอก ท่านก็เดินเข้าบ้าน เจ้าวัวไม่ยอมรับรู้ วิ่งก้มหัวเข้าใส่ทันที พอมันเข้ามาใกล้ท่าน อาจารย์เหล็งเห็นดังนั้น คิดอุทิศชีวิตถวายหลวงปู่ ถลันขึ้นไปเสมอกับท่าน ไม่ทันล้ำไปข้างหน้า ทันใดขาทั้ง ๔ ของเจ้าวัวตัวนั้น เหมือนถูกตรึงอยู่ห่างจากหลวงปู่ประมาณ ๒ วา เจ้าของวัวจึงได้นำวัวมันไปผูก เหตุการณ์นี้ เป็นเรื่องที่ชาวเมืองเพชรบุรี เล่าลือกันทั่วไป

แชะ แชะ
อีกคราวหนึ่ง มีนายทหารถือปืนเข้าวัดมา เพื่อจะยิงนก เข้ามาในวัดจนถึงหน้ากุฏิท่าน ท่านเลยชี้บอกนายทหารคนนั้นว่า โน่นไงนก นกกำลังเกาะกินลูกไม้บนต้นไม้ใหญ่ ใกล้กุฏิท่าน ท่านบอกให้ยิงเพียง ๒ ครั้งเท่านั้น นายทหารคนนั้น เอาปืนยิงทันที ครั้งแรก ดังแชะ ไม่ออก ครั้งที่ ๒ ดังแชะอีก ไม่ออก ท่านอาจารย์เหล็ง จึงบอกว่า ไม่ได้ อย่ายิงอีกนะ ปืนจะแตก นายทหารคนนั้นก็เชื่อ และไม่เข้ามาในวัดอีกเลย ส่วนอาจารย์เหล็งนั้น เมื่อติดตามหลวงปู่บุดดามาเพชรบุรีแล้ว ก็ไม่ได้กลับกรุงเทพฯ ครั้งสุดท้าย ท่านอยู่วัดบุญทวี ถ้ำแกลบ และมรณะภายที่วัดนี้เอง

พบครูบาศรีวิชัย
หลวงปู่จำพรรษา ณ วัดราชานิวาส สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้น คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิตร ครูบาศรีวิชัย ต้องอธิกรณ์ หลวงปู่ได้ไปเยี่ยมท่านครูบาศรีวิชัย ที่วัดเบญจมบพิตร ท่านเล่าว่า ครูบาศรีวิชัยเห็นหลวงปู่ไม่พาดสังฆาฏิ จึงทักท้วงว่า “เราเป็นนายฮ้อย ก็ต้องให้เขารู้ว่าเป็นนายฮ้อย ไม่ใช่นายสิบ” นี่คือสาเหตุที่หลวงปู่ท่าน ไปไหนก็ตาม ท่านจะพาดสังฆาฏิเสมอ ครูบาศรีวิชัยได้ถวายคนโทน้ำ ที่ท่านใช้ให้หลวงปู่ลูกหนึ่ง คนโทลูกนั้น คงยังอยู่ที่วัดราชาธิวาสนั่นเอง พอออกพรรษา ท่านจากไปก็เพียงบาตร ห่อผ้าอาบน้ำและร่มเท่านั้น ถ้าออกป่าก็มีกาน้ำอีกลูกหนึ่ง

ท่านพุทธทาสนิมนต์ไปสวนโมกข์
ระหว่างที่ท่านจำพรรษาที่วัดราชาธิวาสนั้น ท่านพุทธทาส ได้พบและสนทนาวิสาสะเป็นที่ถูกใจ จึงได้ออกปากนิมนต์ไปจำพรรษาที่สวนโมกข์พลาราม ท่านบอกท่านพุทธทาสว่า อย่าให้ท่านเป็นผู้ทำลายแบบแผน ที่วางไว้เลย จากเหตุคราวนั้น ทำให้ท่านพุทธทาสแก้ไขระเบียบ ที่ว่าผู้ที่จะเข้าพำนักในสำนักของท่านได้ ต้องเป็นเปรียญหรือนักธรรมเอก มาเป็นข้อยกเว้นว่า หากไม่มีประโยคประธานใด ๆ ท่านต้องทดสอบก่อน

เกี่ยวกับท่านพุทธทาสนั้น เมื่อคราว หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปยังเพชรบุรี ได้พบกับท่านพุทธทาสอีก ซึ่งต่อมาหลวงปู่บุดดาได้ไปเยี่ยมท่านพุทธทาส ที่สวนโมกข์อีกหลายครั้ง บางครั้งก็พักค้างคืน ครั้งหลังสุดเป็นช่วงก่อนเข้าพรรษาปี ๒๕๓๓ ท่านก็ยังไปเยี่ยมท่านพุทธทาส จวบจนท่านปรารภว่า จะไม่ไปไหนอีกแล้ว

ไม่ข้ามหมา
หลวงปู่ท่านได้ไปจำพรรษาที่จังหวัดระยอง วันหนึ่งท่านมีธุระที่จะต้องเดินไปกุฏิอีกหลังหนึ่งทาง ที่จะไปนั้น ต้องข้ามสะพานไม้ที่ทอดไป แต่บนสะพานนั้น มีสุนัขตัวหนึ่งนอนขวางทางอยู่ ท่านก็ไม่ข้ามกลับเดินลงไปลุยโคลน แทนที่จะข้ามสุนัขตัวนั้น ท่านว่า ไม่อยากให้ผู้อื่นได้รับความ ขุ่นเคือง และเป็นการเบียดเบียน โดยเห็นแก่ความสะดวกของตนเอง แม้เป็นเพียงสัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ยังไม่ข้าม แสดงถึงคุณธรรมอันสูงส่งในจิตใจของท่าน

เจ้าคุณ ๘ ประโยค
หลวงปู่ถูกนิมนต์ให้ไปเทศน์คู่ กับท่านเจ้าคุณองค์หนึ่ง ท่านก็คงเห็นหลวงปู่เป็นพระบ้านนอก รุ่มร่ามทำนองนั้น และไม่มีประโยคประธานใด ๆ เพียงพระบุดดาธรรมดาๆ เท่านั้น ท่านเจ้าคุณได้ถามหลวงปู่ว่า “ท่านจะเทศน์เรื่องอะไร” หลวงปู่ก็ตอบว่า “เรื่องตัวโกรธ กิเลสตัณหา” ท่านเจ้าคุณก็ถามว่า “ตัวโกรธเป็นอย่างไร” หลวงปู่ก็พูดว่า “ส้นตีน ไงละ” เจ้าคุณโกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง และไม่ยอมเทศน์ร่วมกับหลวงปู่ หลวงปู่ท่านต้องเทศน์องค์เดียว เมื่อเทศน์จบแล้ว ท่านไปขอขมาเจ้าคุณ เข้าใจว่าตัวโกรธเป็นอย่างนี้

หลวงปู่กับสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรรมหลวงวชิรญาณวงศ์
หลวงปู่ท่านเรียกสรรพนาม สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ว่า “สมเด็จไส้ออก” เวลาท่านผ่านมาทางวัดบวรนิเวศ ถ้าพระองค์เห็นเข้า ก็จะจูงมือหลวงปู่ขึ้นบนกุฎิ ปิดประตูสนทนากัน และจัดให้หลวงปู่ จำวัดในพระตำหนักด้วย ท่านบอกว่า “ท่านบุดดามีพร้อมแล้ว ไม่ติดที่อยู่ พอออกพรรษา ก็ออกไปเหมือนนกกระจอก อ้ายเรามันติดที่ อยู่ที่นี่จนออกพรรษา แล้วก็ยังอยู่กับที่”

ที่มา : http://www.fungdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าที่ ๓ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก