หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
๑๖ มกราคม ๒๔๓๐ - ๒ กรกฏาคม ๒๕๒๘
วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
--------------------
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
       หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เดิมชื่อ ญาณ หรือ ยาน รามศิริ เกิดวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2430 วันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน ณ บ้านนาโป่งบ้างก็ว่า บ้านหนองบอน ตำบลหนองใน (ปัจจุบันเป็น ตำบลนาโป่ง) อำเภอเมือง จังหวัดเลย ท่านเกิดในตระกูลช่างตีเหล็ก เป็นบุตรคนที่ 2 (คนสุดท้อง) ของ นายใส หรือ สาย กับ นางแก้ว รามศิริ มีพี่สาวร่วมท้องเดียวกัน 1 คน

       เมื่อหลวงปู่แหวน อายุประมาณ 5 ขวบ พอจำความได้บ้างว่า ก่อนที่มารดาจะเสียชีวิต ได้เรียกไปสั่งเสียว่า "ลูกเอ๋ย แม่ยินดีต่อลูก สมบัติใด ๆ ในโลกนี้ จะเป็นกี่ล้านกี่โกฏก็ตาม แม่ก็ไม่ยินดี และแม่จะยินดีมาก ถ้าลูกจะบวชให้แม่จนตายในผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมามีเมียนะลูกนะ" หลังจากนั้นมารดาได้ถึงแก่กรรมลง ท่านจึงอยู่ในความดูแลของตากับยายขุนแก้ว

       อนึ่ง ยายของหลวงปู่แหวน ได้ฝันว่า เห็นหลานชายไปนั่งไปนอน อยู่ในดงขมิ้นจนเนื้อตัวเหลืองอร่ามน่าชม จึงได้มาร้องขอให้บวชเช่นเดียวกัน ท่านจึงรับปาก แล้วบวช พร้อมกับหลานยายอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และมีศักดิ์เป็นน้า ยายได้นำหลานทั้ง 2 คน ไปถวายตัวต่อพระอุปัชฌาย์ที่ วัดโพธิ์ชัย (มหานิกาย) ในหมู่บ้านนาโป่ง เพื่อฝึกหัดขานนาค ทำการบรรพชาเป็นสามเณรต่อไป

       ด้วยคำพูดของแม่ในครั้งนั้น เป็นเหมือนพรสวรรค์ คอยเตือนสติอยู่ตลอดเวลา มันเป็นคำสั่งที่ก้องอยู่ในความทรงจำมิรู้เลือน จนในที่สุด ท่านก็ได้บวชตามความประสงค์ของมารดา และใช้ชีวิตอยู่ในผ้าเหลืองจนตลอดอายุขัย

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
       หลวงปู่แหวน ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. 2439 มีอายุได้ 9 ปี ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านนาโป่ง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย มีพระอาจารย์คำมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอาจารย์อ้วน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย เป็นพระพี่เลี้ยง

       เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แหวน อยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์ชัยนั่นเอง พอเข้าพรรษาได้ประมาณ 2 เดือน สามเณรผู้มีศักดิ์เป็นน้า ที่บวชพร้อมกันเกิดอาพาธหนัก ถึงแก่มรณภาพไป ทำให้ท่านสะเทือนใจมาก

       เนื่องจาก วัดโพธิ์ชัย ไม่มีการศึกษาเล่าเรียน เพราะขาดครูสอน ท่านจึงอยู่ตามสบาย คือ สวดมนต์ไหว้พระบ้าง เล่นบ้างตามประสาเด็ก ต่อมาได้ถูกส่งไปเรียนมูลกัจจายน์ ที่ วัดสร้างก่อ อำเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในสมัยนั้น จังหวัดอุบลราชธานีมีสำนักเรียนที่มีชื่อเสียง มีครูอาจารย์สอนกันเป็นหลักเป็นฐานหลายแห่งเช่น สำนักเรียนบ้านไผ่ใหญ่ บ้านเค็งใหญ่ บ้านหนองหลัก บ้านสร้างก่อทั่วอีสาน 15 จังหวัด (ในสมัยนั้น) ใครต้องการศึกษาหาความรู้ ต้องมุ่งหน้าไปเรียนมูลกัจจายน์ ตามสำนักดังกล่าว ผู้เรียนจบหลักสูตร ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ เพราะเป็นหลักสูตรที่เรียนยาก มีผู้เรียนจบกันน้อยมาก ภายหลัง สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงมาปรับปรุงเปลียนแปลงหลักสูตรใหม่ ดังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้การเรียนมูลกัจจายน์ถูกลืมเลือน

       ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนที่สำนักนี้หลายปี จนอายุครบบวชพระ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกายที่ วัดสร้างก่อนอก อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระอาจารย์แว่น เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2451

       ในระยะที่เรียนหนังสืออยู่นั้น ท่านเกิดความว้าวุ่นใจเพราะ ท่านอาจารย์อ้อน อาจารย์เอี่ยม ครูผู้สอนหนังสือ เกิดอาพาธด้วยโรคนอนไม่หลับ ท่านจึงแนะนำให้ลาสิกขาบท เผื่อโรคอาจจะหายได้ หายแล้วหากยังอาลัยในสมณเพศ เมื่อได้โอกาสก็ให้กลับมาบวชใหม่อีก ท่านอาจารย์ทำตาม ปรากฏว่าโรคหายดี แต่ต่อมาพระผู้เป็นอาจารย์สอนหนังสือ คือ อาจารย์ชม อาจาาย์ชาลี และท่านอื่น ๆ ลาสิกขา ไปมีครอบครัวกันหมด สำนักเรียนจึงต้องหยุดชงักลง

       ในที่สุด ท่านจึงเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า บรรดาครูอาจารย์เหล่านั้น สึกออกไปล้วนเพราะอำนาจของกามทั้งสิ้น จึงระลึกนึกถึงคำเตือนของแม่และยาย และเกิดความคิดขึ้นมาว่า การออกปฏิบัติเป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้บวชอยู่ได้ตลอดชีวิต เหมือนกับครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้ออกไปปฏิบัติอยู่กันตามป่าเขา ไม่อาลัยอาวรณ์อยู่กับหมู่คณะ จึงได้ตัดสินใจไปหาอาจารย์ที่เมืองสกลนคร

       ท่านได้ตั้งสัจจาธิษฐาน ขออุทิศชีวิตพรหมจรรย์แด่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลังจากตั้งจิตอธิษฐานแล้ว ท่านมีความรู้สึกปลอดโปร่ง เบากายเบาใจ อยู่มา 2-3 วัน โยมอุปัฏฐาก ได้มาบอกว่า พระอาจารย์จวง วัดธาตุเทิง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้ไปกราบ ญาคูมั่น พึ่งกลับมา ท่านจึงได้ไปนมัสการพระอาจารย์จวง เพื่อขอทราบที่อยู่ของ หลวงปู่มั่น ด้วยรู้สึกศรัทธา ในกิตติศัพท์ความเก่งกล้าสามารถของหลวงปู่มั่นยิ่งนัก

       จากนั้น ท่านก็ได้ออกธุดงค์มุ่งสู่สำนักของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยผ่านม่วงสามสิบ คำเขื่อนแก้ว ยโสธร เลิงนกทา มุกดาหาร คำชะอี นาแก สกลนคร พรรณานิคม สว่างแดนดิน หนองหาน อุดรธานี บ้านผือ ซึ่งนับเป็นการเดินทางไกล และยาวนานเป็นครั้งแรก จนได้เข้าพบหลวงปู่มั่น ที่ดงมะไฟ บ้านค้อ

       คำแรกที่หลวงปู่มั่นสั่งสอนก็คือ "ต่อไปนี้ให้ภาวนา ความรู้ที่เรียนมา ให้เอาใส่ตู้ไว้ก่อน" ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกยินดีมาก เพราะได้บรรลุสิ่งที่ตั้งใจ

       หลังจากอยู่กับหลวงปู่มั่นได้ 4 วัน พี่เขยและน้าเขย ก็มาตามให้กลับไปเยี่ยมโยมพ่อ ที่ไม่ได้พบกันมานาน 10 ปี จึงเข้าไปกราบลาหลวงปู่มั่น และได้รับคำเตือนว่า "ไปแล้วให้รีบกลับมา อย่าอยู่นาน ประเดี๋ยวจะเสียท่าเขา ถูกเขามัดไว้แล้วจะดิ้นไม่หลุด"

       ท่านได้กลับไปเยี่ยมบ้านในปี พ.ศ.2461 เป็นที่นับถือศรัทธา ของประชาชนในแถบบ้านเกิดมาก หลั่งไหลกันมากราบอย่างไม่ขาดสาย จนทำให้พักผ่อนไม่พอ และล้มป่วยลง ต้องพักรักษาตัวอยู่หนึ่งเดือนเต็ม ด้วยจิตที่ระลึกถึงคำสั่งของพระอาจารย์ว่า "อย่าอยู่นานให้รีบกลับมาภาวนา" กับคำสั่งเสียของแม่ว่า "แม่ยินดีมาก ถ้าลูกจะบวชให้แม่ แล้วก็ให้ตายกับผ้าเหลือง"

       ทำให้ท่านตัดสินใจ รีบเดินทางกลับไปอยู่รับการอบรมภาวนาต่อ แล้วจึงได้แยกไปหาที่วิเวกบำเพ็ญสมาธิภาวนา ตามความเหมาะสมกับจิตของตน เมื่อถึงวันอุโบสถ จึงได้ถือโอกาส เข้านมัสการถามปัญหาข้อข้องใจ ในการปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น จนเป็นที่เข้าใจแล้ว จึงกลับสู่ที่ปฏิบัติของตนดังเดิม โดยยึดมั่นในคำเตือนของหลวงปู่มั่นว่า "ให้ตั้งใจภาวนา อย่าได้ประมาท ให้มีสติอยู่ทุกเมื่อ จงอย่าเห็นแก่การพักผ่อนหลับนอนให้มาก"

       ในระยะแรกออกปฏิบัตินั้น ท่านไม่ได้ร่วมทำสังฆกรรม ฟังการสวดปาติโมกข์ เพราะยังไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุต พระมหานิกายที่ได้รับการอบรม จากท่านหลวงปู่มั่นครั้งนั้นมีหลายรูป เมื่ออยู่ไปนาน ๆ ได้เห็นความไม่สะดวก ในการประกอบสังฆกรรมดังกล่าว จึงไปกราบขออนุญาตให้ญัตติเป็นธรรมยุต ซึ่งบางรูปก็ได้รับอนุญาต บางรูปก็ไม่ได้รับอนุญาต โดยหลวงปู่มั่นให้เหตุผลว่า "ถ้าพากันมาญัตติ เห็นพระธรรมยุตเสียหมดแล้ว ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครมาแนะนำ ในการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละ คือ ทางดำเนินไปสู่มรรคผลนีพพาน"

       ประมาณ พ .ศ.2464 ท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพำนักและศึกษาธรรม กับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ซึ่งหลวงปู่มั่นยกย่องอยู่เสมอว่า เชี่ยวชาญทั้งทางการเทศน์ และการปฏิบัติธรรม

       หลังจากที่ท่านได้รับฟังธรรม และเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย พม่า และเชียงตุง จากท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ แล้ว ก็ได้จาริกไปพม่า อินเดีย โดยผ่านทาง แม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก ข้ามแม่น้ำเมย ขึ้นฝั่งพม่าต่อไปยังขลุกขลิกมะละแหม่ง ข้ามฟากไปถึงเมาะตะมะ ขึ้นไปพักที่ดอยศรีกุตระ กลับมามะละแหม่ง แล้วโดยสารเรือไปเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วต่อรถไฟไปเมืองพาราณสี เที่ยวนมัสการปูชนียสถานต่าง ๆ แล้วจึงกลับโดยเส้นทางเดิม ถึงฝั่งไทยที่อำเภอแม่สอด เดินเที่ยวอำเภอสามเงา

       ปีต่อมา เดือนตุลาคม ท่านได้จาริกธุดงค์ไปเชียงตุง และ เชียงรุ้ง ในเขตพม่า โดยออกเดินทางไปด่านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผ่านหมู่บ้านชาวเขา พักตามป่าเขา จาริกผ่านเชียงตุง แล้วต่อไปทางเหนือ อันเป็นถิ่นชาวเขา เช่น จีนฮ่อ ซึ่งอยู่ตามเมืองแสนทวี ฝีฝ่า หนองแส บางเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง พอฝนตกชุกจวนเข้าพรรษา ก็กลับเข้าเขตไทย นับได้ว่าท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่งในและนอกประเทศ ส่วนใหญ่จะพำนักอยู่ในเขตจังหวัดอุบลฯ อุดรฯ และตั้งใจจะไปให้ถึงสิบสองปันนา สิบสองจุไท แต่ทหารฝรังเศสห้ามเอาไว้ จึงไปถึง วัดใต้หลวงพระบาง แล้วก็กลับพร้อมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

       ทางภาคเหนือ ท่านได้มุ่งเดินทางไป ค่ำไหนนอนนั่น จากอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลยออกไป อำเภอด่านซ้าย ผ่านอำเภอน้ำปาด อำเภอนครไทย อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ตัดไปอำเภอนาน้อย แพร่ หมู่บ้านชาวเย้า อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย ลำปาง แล้วต่อไปยังเชียงใหม่ เที่ยวดูภูมิประเทศโดยรอบเขาดอยสุเทพ

       ท่านได้รับความเมตตาจาก ท่านเจ้าคุณพระอุปาลีคุณูปมาจารย์ ด้วยดีตลอดมา ประมาณปี พ.ศ.2470 ท่านเจ้าคุณเห็นว่า หลวงปู่แหวน เป็นผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มีวิริยะอุตสาหะ ปรารภความเพียรสม่ำเสมอ ไม่ท้อถอย มีข้อวัตรปฏิบัติดี มีอัธยาศัยไมตรีไม่ขึ้นลง คุ้นเคยกันมานาน เห็นสมควรจะได้ญัตติเสีย หลวงปู่แหวน จึงตัดสินในเป็นพระธรรมยุต ที่พัทธสีมา วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ มี พระนพีสิ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ต่อมา หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ซึ่งเคยเป็นสหธรรมิกร่วมธุดงค์กัน ก็ได้ญัตติเป็นธรรายุตเหมือนกัน

       ในระหว่างที่จาริกแสวงหาวิเวกอยู่ทางภาคเหนือนั้น ท่านได้พบกับหลวงปู่ขาว อนาลโย และได้แยกย้ายกันจำพรรษาตามป่าเขา ท่านเคยได้แยกเดินทางทุ่งบวกข้าว จนถึงป่าเมี่ยงขุนปั๋ง พอออกพรรษา หลวงปู่มั่น พระอาจารย์พร สุมโน ได้มาสมทบที่ป่าเมี่ยงขุนปั๋ง ขณะนั้น พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิร ิมาร่วมสมทบอีก เมื่อทุกท่าน ได้รับโอวาทจากหลวงปู่มั่นแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไป หลวงปู่แหวนพร้อมหลวงปู่ขาว พระอาจารย์พร ไปที่ดอนมะโน หรือ ดอยน้ำมัว ส่วนหลวงปู่มั่น อยู่ที่กุฏิชั่วคราว ที่ชาวบ้านสร้างถวาย ที่ป่าเมี่ยบขุนปั๋งนั่นเอง

       ภายหลังหลวงปู่มั่น เดินทางกลับอีสานแล้ว หลวงปู่แหวนยังคงจาริกแสวงวิเวก บำเพ็ญธรรมอยู่ป่าเมี่ยงแม่สาย หลวงปู่เล่าว่า อากาศทางภาคเหนือถูกแก่ธาตุขันธ์ดี ฉันอาหารได้มาก ไม่มีอาการอึดอัด ง่วงซึม เวลาภาวนาจิตก็รวมลงสู่ฐานสมาธิได้เร็ว นับว่าเป็นสัปปายะ

       ประมาณปี พ.ศ. 2474 ขณะที่หลวงปู่แหวนปฏิบัติธรรมอยู่ที่เชียงใหม่ ได้ทราบข่าวว่า ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ประสบอุบัติเหตุ ขณะขึ้นธรรมาสน์เพื่อแสดงธรรม ถึงขาหักจึงเดินทางจากเชียงใหม่ มากรุงเทพฯ และแวะกราบเรียนให้หลวงปู่มั่นทราบที่อุตรดิตถ์ แล้วเดินทางโดยรถไฟถึงโกรกพระ นครสวรรค์ ลงเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มาถึงวัดคุ้งสำเภา พักค้างคืนหนึ่ง แล้วลงเรือล่องมาถึงกรุงเทพฯ เฝ้าพยาบาลท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ นานหนึ่งเดือน จึงกราบลาไปจำพรรษาที่เชียงใหม่

       ปี พ.ศ.2498 ท่านจำพรรษาที่ วัดบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดอาพาธแผลที่ขาอักเสบทรมานมาก ท่านจำพรรษาอยู่รูปเดียว ชาวบ้านไม่เอาใจใส่ได้ ท่านพระอาจารย์หนู สุจิตฺโต วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พาหมอมาจี้ มาทำการผ่าตัดโดยไม่ต้องฉีดยาชา ใช้มีดผ่าตัดเพียงเล่มเดียว ท่านมีความอดทนให้กระทำจนสำเร็จและหายได้ในที่สุด

       อีกหลายปีต่อมา พระอาจารย์หนูเห็นว่า หลวงปู่แหวน แก่มากแล้ว ไม่มีผู้อุปัฏฐาก จึงได้ชักชวนญาติโยมไปนิมนต์ให้ ท่านมาจำพรรษาที่ วัดดอยแม่ปั๋ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ในฐานะพระผู้เฒ่า ทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ไม่ต้องเกี่ยงข้องกับภาระหน้าที่อื่นใด และท่านก็ได้ตั้งสัจจะว่า จะไม่รับนิมนต์ ไม่ขึ้นรถ ไม่ลงเรือ แม้ที่สุดจะเกิดอาพาธหนักเพียงใด ก็จะไม่ยอมเข้านอนโรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามที่ตั้งใจไว้ได้

       นับตั้งแต่ท่านขึ้นไปภาคเหนือแล้ว ท่านก็ไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นอีกเลย ท่านเคยอยู่บนดอยสูงกับชาวเขาเกือบทุกเผ่า อยู่ในป่าเขาภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ส่วนภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ท่านเคยจาริกไปครั้งคราว จึงนับได้ว่า วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นสถานที่ซึ่ง หลวงปู่อยู่จำพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 จวบจนมรณภาพ

       หลวงปู่แหวน มีโรคประจำตัวคือ เป็นแผลเรื้อรังที่ก้นกบ ยาวประมาณ 1 ซม. มีอาการคัน ถ้าอักเสบก็จะเจ็บปวดมาก และอีกโรคหนึ่งคือ เป็นต้อกระจก นัยน์ตาด้านซ้าย เป็นต้อหินนัยน์ตาด้านขวา หมอได้เข้าไปรักษาเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2518 ซึ่งรักษาแล้วสุขภาพก็ยังแข็งแรงตามวัย แต่ต่อมาปี 2519 ร่างกายเริ่มซูบผอม อ่อนเพลีย ฉันอาหารได้น้อย ขาทั้ง 2 เป็นตะคริวบ่อย ต่อมา 2520 สุขภาพทรุด ค่อนข้างซูบเหนื่อยอ่อน เวียนศีรษะถึงกับเซล้มลง และประสบอุบัติเหตุ ขณะครองผ้าจีวรในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2522 ซึ่งเป็นวันที่ทางวัดจัดงานผูกพัทธสีมา ส่งผลให้เจ็บบั้นเอว และกระดูดสันหลัง ลุกไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่ รักษาอยู่เดือนหนึ่ง ก็หายเป็นปกติ แต่เนื่องจากหลวงปู่อายุมากแล้ว จึงมีอาการอาพาธมาโดยตลอด คณะแพทย์ก็คอยให้การรักษาด้วยดีเช่นกัน จนกระทั่งใน วันอังคารที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ.2528 เวลา 21.53 น. การหายใจครั้งสุดท้ายก็มาถึง หลวงปู่แหวน ท่านได้ละร่างอันเป็นขันธวิบากไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 98 ปี

ธรรมโอวาท
       หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ได้แสดงธรรมโอวาทหลายเรื่อง เช่นเรื่อง ของเก่าปกปิดความจริง ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า การพิจารณาต้องน้อมเข้ามาสู่ภายใน พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว มันก็วางเอง

       หลวงปู่มั่น ท่านว่า "เหตุก็ของเก่านี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าของเก่า" ของเก่านี่แหละมันบังของจริงอยู่นี่ มันจึงไม่รู้ ถ้ารู้ว่าเป็นของเก่า มันก็ไม่ต้องไปคุย มีแต่ของเก่าทั้งนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ของเก่า เวลามาปฏิบัติภาวนา ก็พิจารณาอันนี้แหละ ให้มันรู้แจ้งเห็นจริง ให้มันรู้แจ้งออกมาจากภายใน มันจึงไปนิพพานได้ นิพพานมันหมักอยู่ในของสกปรกนี่ มันจึงไม่เห็น พลิกของสกปรกออกดูให้เห็นแจ้ง

       นักปราชญ์ท่านไม่ละความเพียร เอาอยู่อย่างนั้นแหละ เอาจนรู้จริงรู้แจ้ง ทีนี้มันไม่มาเล่นกับก้อนสกปรกนี้อีก พิจารณาไป พิจารณาเอาให้นิพพานใสอยู่ในภายในนี่ ให้มันอ้อ นี่เอง ถ้ามันไม่อ้อหนา เอาให้มันถึงอ้อ จึงใช้ได้

       ครั้นถึงอ้อแล้วสติก็ดี ถ้ามันยังไม่ถึงแล้ว เต็มที่สังขารตัวนี้ พิจารณาให้มันรู้แจ้งเห็นจริง ในของสกปรกเหล่านี้แหละ ครั้นรู้แจ้งเข้า รู้แจ้งเข้า มันก็เป็นผู้รู้พระนิพพานเท่านั้น

       จำหลักให้แม่น ๆ มันไม่ไปที่ไหนหละ พระนิพพาน ครั้นเห็นนิพพานได้แล้ว มันจึงเบื่อโลก เวลาทำก็เอาอยู่นี่แหละ ใครจะว่าไปที่ไหนก็ตามเขา ละอันนี่แหละ ทำความเบื่อหน่าย กับอันนี้แหละ ทั้งก้อนนี่แหละ นักปฏิบัติต้องพิจารณาอยู่นี่แหละ ชี้เข้าไปที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ให้พิจารณากาย พิจารณาใจ ให้เห็นให้เกิดความเบื่อหน่าย

       การต่อสู้กามกิเลส เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทุกทาง หากพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ก็ถอนได้ กามกิเลสนี้แหละ เป็นบ่อเกิดแห่งการฆ่ากันตาย ชิงดีชิงเด่น กิเลสตัวเดียว ทำให้มีการต่อสู้แย่งชิงกัน ทั้งความรักความชัง จะเกิดขึ้นในจิตใจก็เพราะกาม

       นักปฏิบัติต้องเอาให้หนักกว่าธรรมดา ทำใจของตนให้แน่วแน่ มันจะไปสงสัยที่ไหน ก็ของเก่าปรุงแต่งขึ้นเป็นความพอใจ ไม่พอใจ มันเกิดมันดับอยู่นี่ ไม่รู้เท่าทันมัน ถ้ารู้เท่า ทันมัน ก็ดับไป ถ้าจี้มันอยู่อย่างนี้ มันก็ค่อยลดกำลังไป ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ทำในปัจจุบัน แจ้งอยู่ในปัจจุบัน

ปัจฉิมบท
       หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นพระมหาเถระ ซึ่งได้ดำเนินชีวิตของท่าน อยู่ในเพศของบรรพชิตมาตั้งแต่อายุเยาว์วัย เป็นพระนักศึกษา และนักปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร ทั้งที่เมื่อยังเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และ เป็นฝ่ายธรรมยุตแล้ว ดังที่ หลวงปู่มั่น เคยแสดงเหตุผลว่า "มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย"

       หลวงปู่แหวน เป็นผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม เป็นปูชนียบุคคล ชาวพุทธให้ความเคารพสักการะอย่างมาก เมตตาบารมีธรรมของท่าน ยังผลให้กุลบุตรกุลธิดาใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรม สืบสร้างความมั่นคงให้แก่พระศาสนา ทำให้เกิดมีการก่อสร้าง สิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาล วัด อาคาร ท่านได้อำนวยคุณประโยชน์ต่าง ๆ แก่สังคมสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชีวิตร่างกายของท่าน ได้ดับสลายไป แต่คุณงามความดีของท่านยังตรึงแน่นอยู่ ในจิตสำนึกของพุทธศาสนิกชนอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย เพราะท่านเป็นพระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ในฐานะพุทธชิโนรส เป็นเนื้อนาบุญของผู้ต้องการบุญในโลกนี้

ที่มา : http://www.itti-patihan.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ |หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก