หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
๑๖ กันยายน ๒๔๓๓ - ๑๓ มกราคม ๒๕๒๐
วัดดอนยายหอม ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
--------------------
ทราบแล้วว่า หลวงพ่อเงิน ท่านไม่แตะต้องเงินและทอง การเงินของวัดที่มีผู้บริจาค ซึ่งปีหนึ่งเป็นจำนวนนับหมื่นนับแสนนั้น หลวงพ่อเงิน ได้มอบให้อยู่ในความรับผิดชอบ ของกรรมการวัดทั้งสิ้น การใช้จ่ายจะเป็นอย่างไร สุดแต่กรรมการของวัด ซึ่งปกติกรรมการจะใช้สอยอย่างใดก็ย่อมจะทำได้ แต่โดยที่กรรมการเหล่านั้น ก็ล้วนแต่ผู้ใคร่ในการกุศล และได้รับการอบรมดีจากหลวงพ่อเงิน การเงินของวัดจึงเรียบร้อย ด้วยเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ทุกคนถือปฏิบัติกันเป็นประจำว่า “ของวัดไม่เอาออก” หมายความว่า การจัดงานใด ๆ เพื่อหาประโยชน์ให้แก่วัดนั้นกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้จ่ายเงิน เช่น การจ่ายเงินค่ารถเป็นต้น กรรมการเหล่านี้ จะไม่ใช้เงินของวัดเลย ทุกคนจะออกเงินส่วนตัว ส่วนรายได้เท่าใดเข้าวัดหมด และคนดอนยายหอมส่วนมาก ถือปฏิบัติทำนองนี้เป็นประจำ ชาวดอนยายหอมเหล่านี้ถือว่า เงินหรือทรัพย์สินที่เขาบริจาค เพื่อการบุญการกุศลควรให้ถึงวัด เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะนำไปใช้จ่ายไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ เพราะ “กลัวบาป” การทำงานของวัดที่มีการละเล่น การแสดง เช่น หนัง ลิเก ก็ตาม ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ชาวดอนยายหอม จะต้องหาแยกมาต่างหาก ไม่ยอมเอาเงินทองที่ผู้อื่นทำบุญ มาจ่ายในเรื่องนี้เป็นอันขาด คงจะเพราะความเชื่อมั่นเช่นนี้กระมัง คนจึงชอบบริจาคการบุญการกุศล ให้แก่วัดดอนยายหอม จนท่านธรรมานันทะ อดชมเชยไม่ได้

หลวงพ่อเงิน ท่านเคยปรารภว่า “ทุกคนเขารู้จักใช้เงินเหมือนกันทั้งนั้น แต่เขาก็พอใจจะใช้จ่าย ในที่ซึ่งเขาเห็นว่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ฉะนั้น ถ้าทางวัด ทำให้เขาเข้าใจได้เช่นนี้ ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีผู้ทำบุญ” คงจะด้วยเหตุนี้ ท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัด ชมเชยกับวัดที่อยู่ในความดูแลของท่านเรื่อย ๆ ว่า “ให้ดูคุณเงิน สมภารวัดดอนยายหอมเขาเป็นตัวอย่างซิ สมภารเด็ก ๆ ก็จริง แต่เขาทำอะไรเป็นหลักฐานดี”

ขอนำคำกล่าวของท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเดินทางมาตรวจวัดดอนยายหอม แล้วได้ทำการประชุมสงฆ์พร้อมด้วยชาวบ้าน เพื่อเลือกรองเจ้าอาวาส เมื่อ 30 พฤษภาคม 2459 เสร็จแล้วท่านกล่าวกับหลวงพ่อตอนจะกลับว่า “คุณ (หมายถึงหลวงพ่อเงิน) จะเป็นผู้ปกป้องชาวบ้านนี้ ให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม คุณจะเป็นผู้นำทางให้เขา ไปสู่แสงสว่าง อันหมายถึงความสงบสุข ลักษณะของคุณก็บอกชัดอยู่ว่า เป็นผู้ชอบแผ่เมตตา ขอให้คุณเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพระบวรศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด”

ปฏิปทาของหลวงพ่อเงิน
หลวงพ่อเงิน ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ในพระบวรพุทธศาสนาโดยแท้จริง และได้รับสมญานามจากท่านปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ว่า “จนฺทสุวณฺโณ ” นับแต่เริ่มอุปสมบท ปรากฏว่าหลวงพ่อมีขันติ วิริยะยอดเยี่ยม สามารถท่องปฏิโมกข์จบ และแสดงในเวลาทำสังฆกรรมได้ ตั้งแต่พรรษาแรก แล้วยังได้บำเพ็ญเพียร ในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามที่คุณโยมบิดาของท่านแนะนำ เป็นเวลาถึง 5 ปีเต็ม ในปลายพรรษาที่ห้านั้นเอง หลวงพ่อเงินพร้อมด้วยพระที่วัดอีก 2 องค์ ก็ได้ออกจาริกธุดงค์ไปตามชนบท มุ่งหน้าขึ้นภาคเหนือผ่านป่าลพบุรี สระบุรี เรื่อยขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ค่ำที่ไหน ก็กางกลดพักแรมที่นั่น อาหารที่ฉันก็เพียงมื้อเดียว

ท่านคงจะทราบว่าการเดินทางด้วยเท้าเปล่า ไม่สวมรองเท้าไปยังจังหวัดลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ ในสมัย 60 ปีมาแล้ว มีความยากลำบากยากแค้นประการใดบ้าง เพราะสมัยนั้น บ้านคนก็ยังไม่ค่อยมี ป่าก็เป็นป่าดงดิบ ที่เต็มไปด้วยสิงห์สาลาสัตว์ร้ายนา ๆ ชนิด ซึ่งยากที่บุคคลผู้ไม่มีอาวุธ หรือเครื่องมือป้องกันตนเพียง 3 คน จะผ่านได้ตลอดรอดฝั่ง ด้วยความปลอดภัย นอกจากนั้น การเดินทางด้วยเท้ากรำแดดฝ่าลมทั้งวัน โดยมีอาหารเพียงวันละมื้อเดียว คงจะมีผู้ที่มีน้ำใจเด็ดเดี่ยวจริง ๆ และมีความเสียสละอย่างแรงกล้าเท่านั้น จึงจะปฏิบัติได้

เพราะเหตุที่ต้องประสบกับความยากลำบาก ในการฝ่าแดนทุรกันดารเช่นนี้เอง จึงมีเรื่องเล่าต่อมาว่า หลังจากธุดงค์รอนแรม อันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน เป็นเวลาประมาณ 4 เดือนแล้ว หลวงพ่อก็กลับมาปักกลดอยู่ที่ข้างบ้านดอนยายหอม แต่โดยที่ผิวกายของท่าน ดำกร้าน รูปร่างซูบผอม ราวกับคนชรา ชาวบ้านที่ผ่านไปมา จึงจำท่านไม่ได้ แม้แต่นายแจ้งผู้เป็นพี่ ก็สำคัญว่าเป็นพระธุดงค์มาจากที่อื่น ต่อเมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ทราบความจริงเข้า ก็ถึงกับตกตะลึง แทบจะปล่อยโฮออกมา ครั้นได้สติแล้วนั่นแหละ จึงยกมือไหว้ แล้วถามท่านว่า “คุณเงินหรือนี่” ซึ่งหลวงพ่อก็ตอบพร้อมกับหัวเราะว่า “ฉันเอง พี่ทิดแจ้ง” “ฉันแปลกมากไปเชียวหรือ จึงจำฉันไม่ได้ ฉันมาพักอยู่นานแล้ว เห็นพวกบ้านเรา เขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายคน แต่ไม่มีผู้ใดทักฉันสักคน”

ฝ่ายข้างโยมบิดาของหลวงพ่อ คือ “พ่อพรม” นั้น ทราบว่าพระลูกชายกลับมาสู่อาราม ด้วยสมรรถภาพอันแข็งแกร่ง และด้วยจิตใจอันมั่นคง ในการปฏิบัติธรรมวินัย ก็เต็มไปด้วยความปลาบปลื้ม ขอย้อนกลับไปกล่าว ตอนที่หลวงพ่อเริ่มบวชใหม่อีกสักเล็กน้อยก่อน หลวงพ่อเป็นบุตรคนที่ 4 ของโยม “พนม ด้วงพูล” เกิดในจำนวนบุตร 8 คน โดยที่โยมบิดาของหลวงพ่อเงิน นับได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง ในตำบลดอนยายหอมขณะนั้น เมื่อหลวงพ่อได้เข้าสู่บรรพชิตแล้ว ท่านได้บอกโยมบิดาของท่านว่า “อาตมาสละหมดทุกอย่างแล้ว โดยขอให้สัจจะปฏิญาณ แก่พี่น้องชาวตำบลนี้ว่า อาตมาจะไม่ขอลาสิกขาบท อาตมาจะเป็นแสงสว่าง ให้ทางเพื่อนมนุษย์ ขอให้โยมร่วมอนุโมทนา ด้วยความยินดีและมั่นใจ”

สาเหตุที่ท่านไม่อยากครองชีวิตแบบคฤหัสถ์ กล่าวกันว่า เพราะท่านมองเห็นว่า ความสุขทางโลก ไม่จีรังเหมือนสุขทางธรรม เรื่องของโลกมีแต่ความยุ่งยาก มีความวุ่นวาย เดือดร้อน ข่มเหง เบียดเบียน และอิจฉาริษยากันไม่สิ้นสุด ผู้เสพย์รสของความหรรษาทางโลก ย่อมมียาพิษเจืออยู่เสมอ ส่วนผู้เสพย์รสพระธรรม ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นโทษ แต่อย่างใด ท่านมักปรารภให้ผู้ใกล้ชิดได้ยินบ่อย ๆ ว่า “ร่างกายมนุษย์เรานี้ ไม่มีแก่น เกิดมาเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ที่เต็มไปด้วยกองทุกข์ มนุษย์จะหนีทุกข์ได้ มิใช่มากด้วยสมบัติพัสถาน หรือข้าทาสบริวาร ตรงข้ามสิ่งเหล่านี้ เป็นพันธะยึดเหนี่ยวจิต เสมือนหนึ่งจิตถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน ต้องพะวักพะวนเศร้าหมอง”

ตอนหนึ่ง หลวงพ่อเงินได้รับรองไว้กับโยมพ่อของท่านว่า “ฉันจะตั้งอยู่ในธรรมวินัย สร้างความศรัทธาให้แก่เขา (ซึ่งหมายถึงชาวบ้าน ตำบลดอนยายหอม) เพื่อเขาจะได้เชื่อมั่น และปฏิบัติตามคำสั่งสอน...” แนวคติที่หลวงพ่อยึดถือมีดังนี้คือ

1. การปฏิบัติตามพระวินัย ทุกคนจะยอมรับว่า หลวงพ่อเงิน เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ชนิดหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด มีมาแล้วหลายครั้งหลายหน เช่น ในคราวที่ท่านอาพาธ ถึงขนาดต้องไปพัก เพื่อรับการรักษาพยาบาลจากนายแพทย์ แพทย์เห็นว่า ท่านเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือขาดสารอาหาร จึงประสงค์จะขอถวายอาหารอ่อนๆ จำนวนนมสดในเวลาวิกาลบ้าง เฉพาะในระหว่างที่ท่านอาพาธหนัก เพื่อจะได้ช่วยผ่อนคลายโรค ให้หายรวดเร็วขึ้น แต่ทุกครั้ง ก็ได้รับการปฏิเสธจากท่าน ท่านกล่าวว่า “อาตมาได้เสียสละมานานแล้ว จะขอเสียสละ เพื่อพระพุทธศาสนาต่อไป แม้ว่าจะสิ้นชีวิตก็ตาม” นอกจากนั้น ผู้ใกล้ชิด ย่อมจะสังเกตได้ว่า หลวงพ่อเงินไม่เคยสนใจ กับของขบฉันมิใยใครจะถวายอย่างไร ก็ฉันไปอย่างนั้น อาหารที่มีผู้ถวายเก็บไว้ในกุฏิ ถ้าลูกศิษย์ไม่นำมาถวาย ก็ไม่เคยเรียกร้อง หรือให้ความสนใจแม้แต่น้อย ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนน้อย และที่สามารถเห็นได้เสมอ อีกเรื่องหนึ่งที่ทราบกันมานาน ก็คือเรื่องเกี่ยวกับเงินทอง หลวงพ่อไม่ยอมแตะต้องเด็ดขาด อย่าว่าแต่เงินที่เป็นรูปธนบัตรเลย แม้แต่เพียงเศษเงิน หรือทองคำที่มีผู้ขอให้ปลุกเสก หลวงพ่อเงินก็รังเกียจที่จะจับต้องเช่นกัน

2. วิริยะภาพ หลวงพ่อเงิน เป็นผู้มีความเพียรเป็นเลิศ เพียงพรรษาแรก ท่านก็สามารถสวดปาฏิโมกข์ ได้หลายปีมาแล้ว ผู้ไปติดต่อนิมนต์หลวงพ่อเงิน เพื่อกิจพระศาสนาใด ๆ ก็ตาม จะต้องฉวยโอกาส คือ รีบไปนิมนต์แต่เนิ่น ๆ หรือหลายเดือนก่อนวันงาน เพราะบัญชีนิมนต์ของหลวงพ่อเงิน เต็มไปหมด หลวงพ่อเงิน ไม่เคยขัดการรับนิมนต์ในสมัยนั้น หมายถึงการต้องเดินทางด้วยเท้า เพราะถนนและรถยนต์ยังไม่แพร่หลาย เช่นทุกวันนี้ ไม่ว่าแดดจะร้อน ไม่ว่าฝนจะตก หลวงพ่อเงินไปทันงานเสมอ ท้องนารอบ ๆ วัดในรัศมี 15-20 กิโลเมตร หลวงพ่อเงินเดินทะลุปรุโปร่งทุกแห่ง และรู้จักชาวบ้านทั่วไป มีบ่อย ๆ ที่ผู้นิมนต์ไป เมื่อเสร็จงานของตนแล้ว ก็ลืมนึกถึงหลวงพ่อ ปล่อยท่านกลับวัดตามลำพัง แต่ท่านไม่เคยปริปากบ่น การรับนิมนต์เพิ่งจะเบาบางลงใน 4-5 ปีหลังนี้ เพราะสุขภาพของหลวงพ่อไม่อำนวย แต่หลวงพ่อเงินก็ไม่เคยขัด ถ้าสามารถไปได้ หลวงพ่อเงิน รับนิมนต์เสมอบางครั้งทั้ง ๆ ที่ไม่สบายหรือเพิ่งหายป่วย ก็ยังรับนิมนต์ เพื่อไม่ให้เขาเสียความตั้งใจ จนร้อนถึงคณะกรรมการวัดต้องปิดประกาศไว้หน้ากุฏิ ขอร้องให้ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ระงับการนิมนต์ในงานที่ต้องเดินทางไกล ๆ เสียบ้าง

3. การมีสมาธิ หลวงพ่อเงินเป็นผู้ตั้งมั่น เด็ดเดี่ยว มุ่งหน้าไปทางธรรม จนขนาดถวายชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเดียว ท่านเคยปรารภ ให้ผู้ใกล้ชิดฟังเสมอว่า ท่านตั้งใจแต่ก่อนอุปสมบทแล้วว่า ท่านจะบวชและบำเพ็ญกรณียกิจอยู่ ในสมณะจนตลอดชีพ จนกระทั่งบัดนี้ท่านก็ยังยึดมั่นอยู่เช่นนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง

4. สัจจะ หลวงพ่อเงินยึดมั่นอยู่ในสัจจะ ท่านกระทำทุกสิ่งด้วยความจริงใจ กิจการใด ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่านจะสำเร็จเรียบร้อยด้วยดีเสมอ

5. ละโลภ หลวงพ่อเงิน มีความรู้สึกที่เป็นศัตรูต่อความโลภ มาตั้งแต่ก่อนอุปสมบท จะเห็นได้ว่าท่านสละมรดกของท่าน ท่านไม่เคยเกี่ยวข้อ งยินดีในลาภสักการะ ไม่เคยแตะต้องกับเงินทอง ไม่ยินดีในลาภยศสรรเสริญ มีเรื่องเล่ากันว่า ในคราวที่ท่านเจ้าคุณรัตนเวที เลขานุการของสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน ซึ่งขณะนี้เป็น “พระราชโมฬี” ได้ขอให้คณะกรรมการวัด จัดทำประวัติของหลวงพ่อ ในการปกครองวัดดอนยายหอม เพื่อจะขอรับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงพ่อเงิน ได้กล่าวกับลูกศิษย์อย่างเปิดอกว่า “เชื่อฉันเถอะเอ็งเอ๋ย เกียรติยศ บรรดาศักดิ์ไม่ได้เป็นของ วิเศษ ทำให้ฉันมีอายุยืนนาน ยืนยาวออกไปได้อีกหรอก ยังไง ๆ ฉันก็เป็นหลวงพ่อเงินอยู่นั่นเอง ใครจะมาเรียกฉันว่าเจ้าคุณนั่น เจ้าคุณนี่ คิดดูแล้วฉันก็มีผ้าห่มคือ สบง จีวร ปีละ 2 ชุดเก่า ๆ ฉันก็มีอาหารสองมื้อ สมณศักดิ์ ป้องกันความเจ็บไข้ก็ไม่ได้ ฉันเบื่อความเป็นใหญ่ พระบ้านนอกอย่างฉัน เท่าที่ทางคณะสงฆ์ ให้เกียรติได้เป็นถึงเจ้าคุณนั้น ก็ดีถมไปแล้ว...”

ผู้ไปนมัสการหลวงพ่อเงินที่วัดดอนยายหอม จะเห็นคติธรรมที่หลวงพ่อเงินขอให้เขียนไว้เตือนใจ 2 แผ่น แผ่นหนึ่งมีข้อความว่า “จิตหาญ ใจพ้นทุกข์ สุขด้วยธรรม” และอีกแผ่นหนึ่งว่า “รู้จักพอ ก่อสุขทุกสถาน” และอาจเป็นเพราะภาษิตหลังนี้กระมัง เหรียญที่ระลึกของหลวงพ่อเงินแทนที่จะจารึกว่า “พระราชธรรมาภรณ์” หรือ “หลวงพ่อเงิน” จึงกลายเป็น “หลวงพอเงิน” ซึ่งหลวงพ่อพอใจในชื่อหลังนี้มาก

มีผู้ได้ยินพระปัญญานันทมุนี แห่งวัดชลประทานปากเกร็ด ปราศรัยกับประชาชนที่มาชุมนุม ณ ศาลาการเปรียญที่วัดนั้น คราวมีงานผูกพัทธสีมาว่า “หลวงพ่อเงินองค์นี้ ท่านศักดิ์สิทธิ์ ท่านเป็นพระไม่มีความอยากได้ ไม่โลภ แต่คนก็ชอบถวาย และชอบไปทำบุญกับท่านนัก” ในคราวมีงานฝังลูกนิมิตของวัดดอนยายหอม หลวงพ่อเงิน ไม่ยอมออกไปนอกหัตถบาทดัง ที่สมภารอื่น ๆ ถือปฏิบัติกัน เป็นประเพณีมิหนำซ้ำ ท่านยังร่วมทำสังฆกรรม และลงมือผลักลูกนิมิตเอง เป็นการปฏิวัติประเพณีเก่า ที่เชื่อกันมาว่า สมภารของวัด ผู้ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถเสร็จลุล่วงไป จนถึงขั้นจัดงานฝังลูกนิมิตหรือผูกพัทธเสมา จะต้องหนีออกไปเสียให้พ้น มิฉะนั้นจะต้องตายไปสู่พรหมโลก เพราะเทวดาเห็นว่า ได้กระทำการบุญอันยิ่งใหญ่สูงสุดแล้ว

โดยที่หลวงพ่อเงิน มิได้ปฏิบัติตามประเพณีนี้ ท่านเจ้าคุณกวีวงศ์ ป.9 ในสมัยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งได้รับนิมนต์ไปในงาพิธีด้วย จึงเกิดความสงสัย จนอดไว้ไม่ได้และถามว่า “การอยู่ในหัตถบาท หรือนอกหัตถบาทนั้น ท่านพระครู (ขณะนั้นหลวงพ่อเงินมีฐานะเป็นพระครู) มีหลักปฏิบัติอย่างไร” หลวงพ่อเงินตอบว่า ท่านไม่มีหลักอย่างไร ได้แต่เพียงสันนิษฐานเท่านั้น และท่านเห็นว่า เป็นแต่เพียงนโยบาย หรือกลวิธีอันหลักแหลม ของท่านผู้ออกบัญญัติ เพื่อจะขับสมภารบางองค์ ที่ไม่บริสุทธิ์เพียงพอ และเป็นที่รังเกียจแก่ภิกษุในอารามมาก ให้ออกไปเสียจากอารามเท่านั้น เพราะถ้าผู้ใด ได้ทำความดีถึงขนาดแล้ว จะทำให้ต้องถึงแก่ชีวิต ก็เชื่อว่าไม่มีนักบุญคนใด เขาหวาดกลัวเลย นอกจากนั้น พระท่านก็สอนให้ภิกษุใช้ปัญญาปลงสังขาร ว่าไม่เที่ยงอยู่แล้ว ใยจะมากลัวอะไรกับความตาย”

เมื่อเดือน ธันวาคม 2504 หลวงพ่อเงินได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนาม “พระราชธรรมาภรณ์” ข่าวนี้ ก่อความปลื้มปิติแก่ลูกศิษย์ และชาวดอนยายหอมเป็นล้นพ้น เมื่อได้ปรึกษากันแล้ว ก็ลงความเห็นว่า ควรจะมีการฉลองตราตั้ง ซึ่งพระราชทานโดยพระมหากษัตริย์ แต่หลวงพ่อไม่เห็นด้วยกับความดำรินี้ และเมื่อผู้ใกล้ชิด ไปขอทราบเหตุผลกับท่าน ๆ กล่าวว่า “ฉันเชื่อในศรัทธาของชาวบ้าน ที่มีโดยตรงต่อฉัน ฉันภูมิใจอยู่เสมอ ในความกตัญญูเหล่านั้น แต่ลองคิดดู ฉันอยู่อย่างเป็นสุข มีอาหารก็อย่างดี ที่อยู่ก็อย่างดี เท่านี้ ก็นับว่าชาวบ้านเขาเลี้ยงชีวิตฉันแล้ว จะรวบกวนให้เขาต้องเสียเงินทอง และเหน็ดเหนื่อย มีโขน มีละคร มาเฉลิมฉลองอีก ฉันว่าเอาเปรียบชาวบ้านเขาเกินไป”

ตกลงคราวนี้ คณะกรรมการวัด ต้องจัดงานวางศิลาฤกษ์หอสมุดประชาชน ประจำตำบลดอนยายหอม ซึ่งที่จริงแล้วก็ถือโอกาสฉลองสมณศักดิ์แทน

กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อเงินยังมีชีวิตอยู่นั้น สร้างคุณประโยชน์ต่อพระศาสนา ต่อบ้านเมืองมาโดยตลอด ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แม้ล่วงเลยมาถึงบั้นปลายชีวิตของท่าน ก็ยังคงปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอ และแล้ววันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2520 หลวงพ่อเงินท่านก็ถึงแก่มรณภาพ รวมสิริอายุ 86 ปี 66 พรรษา

ที่มา : http://www.fangdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก