หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข)
พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข)
พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข)
พ.ศ. ๒๓๙๐ - พ.ศ. ๒๔๖๖
วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
--------------------
นามเดิม : ศุข นามสกุล : เกษเวช (ต่อมาลูกหลานได้ใช้ เกษเวชสุริยา ก็มี) เกิดเมื่อ : วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๐ ที่บ้านมะขามเฒ่า ( เรียกกันในสมัยนั้น ปัจจุบันเรียก บ้านปากคลอง ) ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โยมบิดา : ชื่อ นายน่วม โยมมารดา : ชื่อ นางทองดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลมะขามเฒ่า

มีบุตรและธิดา ด้วยกัน ๙ คน
๑. หลวงปู่ศุข ๒. นางอ่ำ ๓. นายรุ่ง ๔. นางไข่ ๕. นายสิน ๖ .นายมี ๗. นางขำ ๘. นายพลอย ๙ .หลวงพ่อปลื้ม

ปัจจุบัน ยังมีลูกหลานของท่าน อยู่ที่บ้านใต้วัดมะขามเฒ่าอีกหลายคน หรือแม้แต่ร้านค้าขายภายในบริเวณวัดเองก็ยังมี หลวงปู่นั้น ท่านมีลุงคนหนึ่งชื่อ แฟง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางเขน จังหวัดพระนคร ( ในสมัยนั้น ) มีอาชีพ ทำสวน ไม่มีบุตรหรือธิดา จึงได้มาขอหลานจากโยมบิดามารดาหลวงปู่ศุขไปเลี้ยง โยมท่านก็อนุญาตให้เลือกเอา ลุงแฟงก็เลือกเอาคนโต หรือ เรียกว่าคนหัวปี คือ หลวงปูศุข เข้าใจว่าขณะนั้นอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เมื่อหลวงปู่ศุขไปอยู่กับลุงแฟง เจริญเติบโตที่ตำบลบางเขน

เมื่อหลวงปู่ฯ อยู่ในวัยฉกรรจ์ ท่านได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ทำมาหากินค้าขายเล็กๆ น้อยๆ โดยยึดลำคลองบางเขน ซึ่งมีปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนใต้จังหวัดนนทบุรีลงมา ปัจจุบันอยู่ข้างทางเข้าวัดทางหลวง เป็นที่ทำมาหากิน คลองบางเขนนี้ทอดขึ้นไปเชื่อมกับคลองรังสิต เมื่อก่อนนี้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญและกว้างขวางเป็นอย่างมาก เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญขึ้น การสัญจรทางน้ำก็หมดความสำคัญลง ปัจจุบันคงจะตื้นเขินไปแล้วก็ได้ เพราะขาดการทะนุบำรุงเท่าที่ควร หลวงปู่ฯ ท่านทำมาหากินอยู่ในคลองบางเขนอยู่ระยะหนึ่ง จนอายุได้ ๑๘ ปี ได้ภรรยาชื่อ นางสมบูรณ์ และเกิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ สอน เกศเวชสุริยา

หลวงปู่ฯ ท่านครองเพศฆราวาสอยู่ไม่นาน พออายุท่านครบ ๒๒ ปี ท่านได้ลาไปอุปสมบท ณ วัดโพธิ์บางเขนหรือปัจจุบันชื่อว่า วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง ส่วนวัดโพธิ์ทองบน อยู่ตอนเหนือของปากคลองบางเขน ตอนบนบริเวณจังหวัดปทุมธานี

อุปสมบท
การอุปสมบทของหลวงปู่ศุขนั้น ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ที่วัดโพธิ์บางเขน ( ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ทองล่าง ) โดยมี พระครูเชย จนฺทสิริ วัดโพธิ์บางเขน เป็น พระอุปัชฌาย์ พระถายมเป็นพระคู่สวด การอุปสมบทนี้มีลุงแฟงเป็นผู้อุปการะทั้งสิ้น ส่วนโยมบิดามารดาไม่ได้มาร่วมพิธีด้วย เพราะการเดินทางสมัยนั้นลำบากมาก จากชัยนาทถึงกรุงเทพฯ ก็กินเวลาอย่างน้อย ๒ ถึง ๓ วัน จึงจะถึง

พระอุปัชฌาย์ของท่านชื่อ หลวงพ่อเชย จันทสิริ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงพ่อเชย ท่านยังเป็นอาจารย์ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีความรู้และความชำนาญรู้แจ้งแทงตลอด อีกทั้งทางด้านวิทยาคมก็แก่กล้าเป็นยิ่งนัก หลวงปู่ฯ ท่านได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้ จากอุปัชฌาย์ของท่าน มาพร้อมกับอาจารย์เปิง วัดชินวนาราม และหลวงปู่เฒ่า วัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่างเหมือนกัน

เมื่อได้อุปสมบทแล้วอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์หาที่สงบฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากสำนักที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในสมัยนั้น จนชำนาญดีแล้ว จึงกราบลาอาจารย์กลับบ้านเกิดของท่าน โดยมาพักอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่งข้างหมู่บ้านของท่าน ชื่อวัดอู่ทอง ปัจจุบันนี้เรียกว่า วัดปากคลอง ชาวบ้านแถวนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้น เพื่อที่ว่าจะได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ ดังนั้นท่านจึงได้อยู่ ณ ที่นั้นมาจนท่านมรณภาพ ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ได้เริ่มพัฒนาในท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรือง ด้วยจากวัดร้าง ที่ไม่มีอะไรเลย จนถึง พุทธาวาส ธรรมาวาส และสังฆาวาส เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบจนถึงทุกวันนี้ ยังมีพระอุโบสถและมณฑป ปรากฏให้เห็นอยู่ ส่วนการอบรมสั่งสอนนั้นท่านได้แนะแนวการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ให้เห็นคุณและโทษ ของผลการปฏิบัติตนในทางที่ดี หรือไม่ดีอย่างไร จนประชาชนแถวนั้นมีความประพฤติดีมีศีลธรรมเป็นส่วนมาก

หลวงปู่ฯ ท่านเพลินอยู่ในธรรมเสียหลายปี จนกระทั่งมารดาท่านที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ได้ชราภาพลงตามอายุขัย และความเจ็บไข้มาเยือนอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในบิดามารดาของท่าน จึงได้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม และได้อยู่จำพรรษาปีแรกๆ ที่วัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่โบราณที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองมะขามเฒ่า หรือบริเวณต้นแม่น้ำท่าจีนในปัจจุบัน แต่ทว่าสภาพของวัดอู่ทองขณะนั้น ได้เกิดการชำรุดทรุดโทรมลงตามสภาพ เกินกว่าที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนมาสู่สภาพที่ดีได้ต่อไป ท่านจึงได้ขยับขยายออกมา ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้สร้างกุฏิขึ้นครั้งแรกหนึ่งหลัง พอเป็นที่อยู่อาศัยไปพลางก่อน

สืบต่อมามารดาของหลวงปู่ๆ ได้ถึงแก่กรรมและได้จัดการฌาปนกิจศพ และในงานนี้เอง หลวงปู่ฯ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลในรูปพระพิมพ์สี่เหลี่ยม ซุ้มรัศมีออกแจกเป็นของที่ระลึกเป็นครั้งแรก เมื่อผู้ที่ได้รับแจกพระเครื่องจากท่านไป ได้ปรากฏอภินิหารทางอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกันเขี้ยวงา คือสุนัขกันไม่เข้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะบ้านนอก อย่างในชนบทสมัยก่อนนั้น ไม่ค่อยจะมีรั้วรอบขอบชิดเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ได้อาศัยสุนัขที่เลี้ยงไว้เป็นยามเฝ้าบ้าน ฉะนั้นการที่จะแวะเวียนไปบ้านหนึ่งบ้านใดนั้น จะต้องระวังเรื่องสุนัขลอบกัดให้ดี มิฉะนั้นท่านจะถูกสุนัขกัดเอาง่ายๆ พระของหลวงปู่ฯ จึงมีชื่อเรื่องสุนัขกันไม่เข้า เป็นปฐมเหตุก่อน จึงบังเกิดความนิยมไปขอท่านมาแขวนคอบุตรหลานเพื่อกันเขี้ยวงาและภยันตรายต่างๆ สมัยก่อนพระวัดปากคลอง เนื้อตะกั่ว จะมีแขวนอยู่ในคอเด็กในท้องถิ่นเกือบจะทุกคน แล้วถ้าจะไปขอพรหลวงปู่ศุข ท่านมักจะถามว่า “เอ็งมีลูกกี่คน?” ท่านจะให้ครบทุกคน

กิตติศัพท์ในความขลัง ประสิทธิในพระพิมพ์สี่เหลี่ยมของท่าน จึงค่อยๆ เผยแพร่จากปากหนึ่งไปสู่อีกปากหนึ่ง ในเวลาไม่ช้าไม่นาน คุณวิเศษของท่านจึงค่อยๆ โด่งดังขจรขจายไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก การขนส่งสินค้า ตลอดจาการทำมาค้าขาย จะขึ้นล่องจะต้องอาศัยสายน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดี่ยวเท่านั้น เพราะในสมัยนั้น ถนนหนทางทางบกยังทุรกันดาร พอตกเพลาพลบค่ำพ่อค้าแม่ขายเรือเล็กเรือใหญ่ จะมาอาศัยนอนค้างแรมที่แพหน้าวัดของท่าน เพื่ออาศัยบารมีของท่าน ช่วยป้องกันขโมยขโจรที่จะมาประทุษร้าย ต่อเลือดเนื้อชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าจะเปรียบไปแล้วหน้าวัดของท่าน จึงเป็นเสมือนหนึ่งเป็นชุมทางที่สำคัญ นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยเสริมส่งให้เกียรติคุณของท่านแผ่ขยายไปทั่วทุกภาคของประเทศ ชื่อเสียงของท่านจึงเป็นที่รู้จักกันดี “หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า”

เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ฝากตัวเป็นศิษย์
อนึ่ง มีผู้กล่าวว่าท่านมีวิชาอาคมเวทย์มนต์เก่งมาก สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย เสกก้านกล้วยให้เป็นงูได้ และเรื่องอภินิหารของขลัง คงกระพันชาตรี มีอีกมากมาย อาจจะเป็นด้วย บุญกุศลของหลวงปู่ศุข กับ เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งราชนาวี ซึ่งเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นับลำดับราชสกุลวงศ์ เป็นพระองค์ที่ ๒๘ และเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้สร้างสมกันมาแต่ชาติปางก่อน ดลบันดาลให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งทรงศรัทธาเลื่อมใส ในทางมหาพุทธาคมอยู่แล้ว ได้เสด็จประพาสไปในภาคเหนือ จึงเป็นเหตุให้หลวงปู่ศุข และพระองค์ท่านได้พบกัน และเป็นที่ต้องอัธยาศัยซึ่งกันและกัน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ – อาจารย์ เพื่อจักได้ศึกษาทางมหาพุทธาคม และปรากฏว่า พระองค์เป็นศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถ ได้ศึกษาแตกฉาน จนกระทั่งหลวงพ่อเองก็หมดความรู้ จึงได้ให้เสด็จในกรมฯ ไปศึกษาเคล็ดวิชากับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตรต่อ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น และได้วาดภาพพุทธประวัติด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ที่อุโบสถด้านในหน้าอุโบสถ ซึ่งปรากฏจนทุกวันนี้ หลวงปู่ศุข ท่านมีเมตตามาก จึงมีศิษย์เป็นอันมากที่มาเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิมลคุณากร และเป็นเจ้าคณะแขวง ( ปัจจุบันเรียกว่าเจ้าคณะอำเภอ ) เป็นองค์แรกของอำเภอวัดสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อใด

เมื่อหลวงปู่ศุข ท่านมีลูกศิษย์อย่างเสด็จในกรมฯ จึงเป็นกำลังสำคัญให้ท่าน สามารถที่สร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่าให้เสร็จสมบูรณ์ ถาวรวัตถุทางพุทธศาสนา ที่คงเหลือเป็นประจักษ์พยานในปัจจุบันนี้ก็คือ ภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ยังรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ยังรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นภาพเขียนสีน้ำ ที่ทางกรมศิลป์ยกย่องว่าเสด็จในกรมฯ ทรงฝีมือในการเขียนภาพเป็นอย่างมาก และทรงสอดแทรกอารมณ์ขัน ในภาพพระพุทธเจ้าชนะมาร ในกระแสน้ำที่พระแม่ธรณีบีบมวยผม ทำให้เกิดอุทกธาราหลากไหล พัดพาเอาทัพพระยามารไปนั้น พระองค์ท่านเขียนเป็นภาพลิงใส่นาฬิกา และหนีบขวดวิสกี้กำลังเดินตุปัดตุเป๋ไปเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฤาษีปัญจวัคคี เมื่อเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเลิกทรมานกาย หันมากินอาหาร ก็นึกว่าพระองค์คงจะถ้อถอยละความเพียรแล้ว จึงพากันผละหนีพระองค์ไปนั้น เสด็จในกรมฯ ท่านเขียนใบหน้าของฤาษีปัญจวัคคี โดยสอดอารมณ์ที่ยิ้มเยาะเย้ยหยัน อย่างไม่อะไรไยดีต่อพระองค์ เน้นความรู้สึกได้เด่นชัดมาก

ฝีมือของเสด็จในกรมฯ อีกชิ้นหนึ่งก็คือภาพเขียนสีน้ำมัน เป็นรูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มตัวและถือไม้เท้า ภาพนี้เขียนขึ้นในขณะที่หลวงปู่มีอายุมากแล้ว จึงต้องเดินสามขา ศิลปวัตถุในพุทธศาสนา ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า นอกจากพระอุโบสถแล้วยังมีมณฑปจตุรมุข ประดิษฐ์บานรอยพระพุทธบาท ประตูทั้ง ๔ บานนั้นแกะด้วยไม้สัก แกะลวดลายลึกถึงสามชั้น เคยมีคนสมคบกัน เอาบานประตูมณฑปจตุรมุขออกขาย เอาลงมากรุงเทพฯ เตรียมใส่เรือกระแชงในคลองมหานาค เพื่อออกต่างประเทศ ด้วยดวงวิญญาณในหลวงปู่ศุข ท่านผูกพันอยู่กับศาสนาวัตถุที่ท่านสร้างเอาไว้ ในบวรพุทธศาสนา ท่านจึงเข้าประทับทรงจากหิ้งบูชา จังหวัดนครสวรรค์ รับเอาท่านแม่ทัพที่นครสวรรค์ (ขออภัยผู้เขียนจำชื่อท่านไม่ได้) และมารับเอาท่านนายอำเภอ ประจำจังหวัดชัยนาทในขณะนั้น คือ คุณสุธี โอบอ้อม แล้วนั่งรถเข้ากรุงเทพฯ ร่างทรงหลวงปู่ฯ ได้พาคณะลดเลี้ยวเข้าครอกเข้าซอย จนมาถึงเรือกระแชงที่บรรทุกบานประตูมณฑป เตรียมขนออกนอกได้อย่างทันท่วงที ยึดเอาบานประตูทั้ง ๔ บาน คืนกลับไป ขณะนั้นยังคงเก็บรักษาไว้ที่วัดป่าพานิชวนาราม อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และยังไม่ได้ส่งคืนวัดปากคลองมะขามเฒ่า เพราะเหตุอะไรนั้น ชาวจังหวัดชัยนาทเขาทราบกันดี

ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก