หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย พระราชสังวราภิมณฑ์ : หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณณเถร
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
พระราชสังวราภิมณฑ์ : หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณณเถร
หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณณเถร
พระราชสังวราภิมณฑ์ : หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณณเถร
๒๗ มีนาคม ๒๔๒๙ - ๕ มีนาคม ๒๕๒๔
วัดประดู่ฉิมพลี แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
--------------------
อัธยาศัยและกิจวัตร
      พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านมีอัธยาศัยงดงาม สุภาพอ่อนโยน มากด้วยเมตตากรุณา ยินดีสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ผู้อื่นสัตว์อื่น โดยเสมอแหน้า ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นผู้ซื่อตรง ถ่อมตน ยึดมั่นในระเบียบประเพณี และความกตัญญูกตเวที ทั้งมีความภักดีในองค์พระมาหากษัตริย์ และพระราชวงศ์อย่างแน่นแฟ้น ผู้ที่มีโอกาสเข้าใกล้ชิดคุ้นเคยกับท่าน จะยืนยันในความที่กล่าวนี้ได้ทุกคน อีกประการหนึ่ง ท่านเป็นคนหมั่นขยันและแน่วแน่ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วเป็นต้องทำจนสำเร็จ กิจที่ท่านปฏิบัติเป็นนิจในแต่ละวัน จนตลอดชีพของท่าน คือ

      ๔.๐๐ น. ตื่นขึ้นเจริญสมณธรรม
      ๘.๐๐ น. นำภิกษุสามเณรทำวัตรสวดมนต์
      ๑๖.๐๐ น. ออกรับแขกที่มาถวายสักการะบ้าง ที่มาขอบารมีธรรมบ้าง ที่มาสนทนาธรรมบ้าง
      ๑๘.๐๐ น. นั่งบำเพ็ญสมณธรรมไปจนถึง ๒๐.๐๐ น. แล้วนำภิกษุสามเณรทำวัตรค่ำ

      ในระยะหลัง ท่านนั่งบำเพ็ญสมณธรรมนานเข้าจนถึงเวลา ๒๑.๐๐ หรือ ๒๒.๐๐ น. โดยไม่ย่อท้อต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เนื่องแต่ความเสื่อมของสังขาร ในวันธรรมสวนะ ท่านจะแสดงธรรมแก่ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาเป็นประจำ และทุกวันพฤหัสบดีจะมีภิกษุ สามเณร จากวัดต่าง รวมทั้งผู้สนใจในการปฏิบัติธรรม มาขอฝึกปฏิบัติกรรมฐานเป็นจำนวนมาก นับว่าท่านได้เป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวอย่างยิ่งของคนทั่วไป และบุคคลใดที่ได้บารมีธรรมของท่านแล้ว มักประกอบธุรกิจการงาน ได้รับผลสำเร็จสมควรปรารถนา

การปฏิบัติธรรม
      พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านสนใจศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ มาตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เท่าที่ทราบท่านศึกษากับพระอาจารย์พรมหม วัดประดู่ฉิมพลีก่อน พระอาจารย์พรมหมมรณภาพแล้ว จึงได้ไปศึกษากับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จังหวัดสมุทรสาคร แล้วออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือหลายครั้ง ต่อมาจึงได้มารู้จักคุ้นเคยกับหลวงพ่อสด คือ พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ ซึ่งมีอายุแก่กว่าท่าน ๔ ปี หลวงพ่อสดได้ชักชวนท่าน ให้ไปเรียนกับพระอาจารย์โหน่ง ที่วัดจังหวัดสุพรรณบุรีอีกระยะหนึ่ง หลังจากนั้น ท่านก็กลับมาปฏิบัติภาวนาโดยตัวของท่านเองที่วัดต่อมา แม้ว่าท่านจะมีภาระกิจในด้านบริหารหมู่คณะ และการสงเคาระห์อนุเคราะห์ผู้อื่นส่วนมากก็ตาม ท่านก็หาได้ละเลยพิกเฉยส่วนวิปัสสนาธุระไม่ คงขะมักขะเม้นฝึกฝนอบรม ตามโอกาสอันสมควรตลอดมา จึงปรากฏว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจพระศาสนาส่วนนี้อยู่รูปหนึ่ง และโดยอัธยาศัยที่เคยอบรมด้านวิปัสสนาธุระมามาก จึงได้รับอาธารนาให้เข้าร่วมพิธีประสิทธิ์มงคลต่าง ๆ แทบทุกงาน ทั้งในกรุงและหัวเมือง ตลอดจนถึงต่างประเทศ

ถ้ำสิงโตทอง
      พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านมีสถานที่บำเพ็ญธรรมของท่านอีก ๒ แห่ง คือที่สำนักสงฆ์ถ้ำสิงโตทองแห่งหนึ่ง และที่วัดพระธาตุสบฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านไปสร้างกุฏิไว้อีกแห่งหนึ่ง ที่วัดพระธาตุสบฝางท่านไม่ค่อยได้ไปจึงจะไม่กล่าวถึง จะกล่าวถึงถ้ำสิงโตทองแต่เพียงแห่งเดียว

      เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านได้เดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี ได้ไปพบกับพระมานิตย์เข้าพระมานิตย์พูดกับท่านถึงถ้ำสิงโตทอง ที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และชวนท่านให้ไปชม หลังจากนั้นท่านก็มีโอกาสได้ไป และไปเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นที่สงบสมควรแก่นักปฏิบัติธรรม ทั้งอยู่ไม่ห่างไกลกรุงเทพ ฯ มากนัก ท่านจึงไปอยู่ปฏิบัติธรรม ที่ถ้ำสิงโตทองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ แล้วเริ่มปรับปรุงให้มีความสะดวก เหมาะสมที่จะตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม คือได้สร้างกุฏิสำหรับท่านพักหลังหนึ่ง กุฏิเล็กอีกหลายหลัง ตามไหล่เขาข้างถ้ำสิงโตทอง พร้อมทั้งโรงครัวและที่พัก

      สำหรับลูกศิษย์ ที่ประสงค์จะติดตามไปค้างแรมหาความสงบสุข อยู่กับท่าน ท่านได้สร้างพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปแบบและปางต่าง ๆ เช่น แบบพระพุทธชินราช พระปางลีลา ปางมารวิชัย กับรูปเจ้าแม่กวนอิม เชิญไปไว้ที่ถ้ำในบริเวณใกล้ ๆ กันนั้นขึ้นอีกหลายแห่ง ได้เชิญพระพุทธรูป ที่ผู้มีศรัทธาสร้างถวาย ไปประดิษฐานไว้ให้สักการะกัน ครั้งหลังที่สุด ท่านได้สร้างรูปพระมหากัจจายนะ นำไปประดิษฐานไว้ที่หน้าถ้ำกลาง ต่อมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พระมานิตย์ซึ่งรับหน้าที่ดูแลถ้ำสิงโตทอง มรณภาพลง ท่านได้ส่งพระรูปอื่นไปดูแลแทน ได้มีผู้ศรัทธาถวายที่ดินเพิ่มให้อีก ท่านจึงวางโครงการก่อสร้างให้เพิ่มเติมอีก จะสร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ โรงเรียนเด็กสำหรับลูกชาวไร่ สระน้ำ พร้อมกับซื้อที่บริเวณหน้าถ้ำเติมอีก ๙๐ ไร่เศษ รวมกับเนื้อที่เดิมเป็น ๑๔๐ ไร่ ทำถนนเชื่อมกับถนนส่วนใหญ่ ให้เป็นทางเข้าออกที่สะดวก องค์ท่านควบคุม ดูแลการดำเนินงานนี้อย่างใกล้ชิด

หลวงปู่โต๊ะพบเจ้าแม่กวนอิม
      ครั้งหนึ่งขณะที่หลวงปู่นั่งเจริญกรรมฐานอยู่ในโบสถ์ พลันก็เห็นเซียน 8 องค์เข้ามาพูดกับท่านว่า "พระแม่กวนอิมมารับท่านเป็นสาวก และให้ท่านปฏิบัติแบบมหายาน คือไม่ฉันเนื้อวัว เนื้อควาย และให้ฉันเจทุกเทศกาลกินเจ" หลวงปู่ก็ไม่ยอม เถียงไปว่า......... "พระแม่เป็นคนจีน หลวงปู่เป็นคนไทย และนับถือพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว ไม่ตกลงด้วย" นับแต่นั้นมาเซียน 8 องค์ ก็มาเฝ้าอ้อนวอนให้หลวงปู่เปลี่ยนใจ จนกระทั่งวันหนึ่งเซียนทั้ง 8 องค์ก็มาหาอีกและบอกว่า "วันนี้พระแม่กวนอิมเสด็จมาด้วยพระองค์เอง พักรออยู่ข้างนอก"

      หลวงปู่โต๊ะ ไม่สนใจได้แต่หลับตาเสีย เซียนองค์หนึ่ง จึงไปเชิญเสด็จพระแม่กวนอิมเข้ามาในโบสถ์ และบอกให้ หลวงปู่โต๊ะ ลืมตาขึ้น หลวงปู่โต๊ะลืมตา เห็นพระรัศมีสว่างไสว และพระลักษณ์สวยงามมาก พระแม่เจ้าให้หลวงปู่โต๊ะ เข้าเป็นสาวกทางพุทธศาสนามหายาน และประทานเสื้อกางเกงชุดพระจีนให้ใส่แทน หลวงปู่เผลอรับเสื้อกางเกงมาสวมใส่ พอกางเกงสวมมาถึงเข่า ก็รู้สึกตัวได้สติ รีบดึงกางเกงออกทิ้งไป พระแม่กลับบอกว่า "ท่านเป็นสาวกของพระแม่แล้ว ต่อไปนี้ท่านจะต้องฉันเจทุกปี ตามเทศกาลเจของชาวจีน" แล้วพระแม่กวนอิมและเซียนทั้ง 8 องค์ ก็หายวับไปกับตา

      พอถึงเทศกาลเจครั้งแรก หลวงปู่ไม่ยอมฉันเจ หลวงปู่ก็อาพาธหนัก พอหมดเทศกาลเจก็หาย ในปีต่อ ๆ มา ก็เป็นเช่นนี้อีก หลวงปู่ทดสอบอยู่หลายปี จนต้องหันมาฉันเจ ในเทศกาลเจ อาการอาพาธต่าง ๆ ก็หายสิ้น ท่านจึงฉันเจตามเทศกาล แต่นั้นมา

      ทุกปีของเทศกาลเจ หลวงปู่จะแต่งชุดพระจีนในเวลากลางคืน และเมื่อหลวงปู่นั่งสมาธิ พระแม่เจ้าก็ได้พาหลวงปู่ไปเที่ยวดินแดนสุขาวดี พุทธเกษตร พร้อมทั้งสอนวิชชาให้ จึงเป็นสาเหตุว่า ชาวจีนทำไมจึงขึ้นกับหลวงปู่โต๊ะมากเป็นพิเศษ และหนึ่งในชาวจีนที่นับถือหลวงปู่โต๊ะมากคือ คุณพ่อของข้าพเจ้าเอง คุณพ่อและคณะศรัทธาธรรม ได้ร่วมกันสร้างรูปหล่อพระแม่เจ้า ร่วมกับหลวงปู่โต๊ะที่ หน้าถ้ำสิงโตทอง จังหวัดราชบุรี เป็นพระรูปกะไหล่ทองให้ศิษย์ที่นับถือพระแม่กวนอิมสักการะบูชา

      ครั้นหลังเมื่อหลวงปู่กลับจากการเยือนพุทธคยา ที่ประเทศอินเดีย หลวงปู่ก็เริ่มฉันภัตตาหารมังสวิรัติ คือ การเว้นเนื้อสัตว์และมันสัตว์ทั้งปวง โดยเด็ดขาดอย่างจริงจัง ตราบถึงกาลมรณภาพ

เบื้องปลายชีวิต
      พระราชสังวราภิมณฑ์ อยู่ในสมณเพศมาตั้งแต่อายุได้ ๑๗ ปี ท่านได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย มีความรู้จนแตกฉานลึกซึ้ง และถือวิปัสสนาธุระเป็นหลักปฏิบัติในชีวิต อันยาวนานถึง ๙๔ ปีของท่าน เป็นรัตตัญญูผู้รู้กาลนาน เป็นครูของสาธุชนทุกหมู่เหล่า เป็นที่เคารพบูชา ศรัทธาเลื่อมใสของบุคคลทุกเพศทุกวัย ทุกชาติชั้น นับแต่สามัญบุคคล จนถึงองค์พระประมุขของชาติ แม้อายุพรรษาจะมากเพียงใด ท่านก็มิได้ขัดศรัทธาของผู้ที่อาราธนาไปการบุญกุศลต่าง ๆ มีการนั่งเจริญสมาธิภาวนาอำนวยสิริมงคล เป็นต้น จึงในระยะหลัง ๆ นี้ทำให้สังขารร่างกายท่าน ต้องลำบากตราตรำมากเกินไป และเกิดอาพาธขึ้นบ่อย ๆ

      แม้จะได้รับการเยี่ยวยารักษา และดูแลพยาบาลอย่างดีเพียงใด กายสังขารของท่านก็ทนอยู่ไม่ไหว ท่านอาพาธครั้งสุดท้าย ในเดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ หลังจากกลับจากถ้ำสิงโตทอง มีอาการอ่อนเพลียบ้างเป็นลำดับ ก่อนมรณภาพ ๗ วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลย แต่ยังพอฉันได้บ้าง นายแพทย์ต้องให้น้ำเกลือทุกวัน อาหารนั้นถวายข้าวต้มกับรังนกอีก ราว ๗.๐๐ นาฬิกา ถึงวันที่ ๕ มีนาคม เวลาเช้าศิษย์ผู้พยาบาล ก็ถวายข้าวต้มกับรังนกอีก คราวนี้สังเกตเห็นว่าแขนข้างขวาท่านบวม จึงกราบเรียนกับท่านว่า “แขนหลวงปู่บวมมาก” ท่านก็พยักหน้ารับคำแล้วฉัน และหลับตาพักต่อไป โดยให้ออกซิเจนช่วยการหายใจตลอด เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา ท่านอ่อนแรงลงอีก และพอถึงเวลา ๙.๕๕ นาฬิกา ท่านก็สิ้นลม ด้วยอาการสงบดุจนอนหลับไป ณ กุฏิสายหยุด นับอายุได้ ๙๓ ปี ๑๐ เดือน กับ ๒๒ วัน

      ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ ภูพิงคราชนิเวศน์ ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรด ให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลาร้อยปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษเสมอ พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมทั้งฉัตรเบญจา เครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ แก่การศพโดยตลอด เสด็จ ฯ ไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และในการบำเพ็ญพระราชกุศล ออกเมรุและพระราชทานเพลิงเผาศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินนทราวาส ก็จักได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานอีกคำรบหนึ่ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ แก่พระราชสังวราภิมณฑ์ตลอดจนศิษย์ทุกคน หาที่สุดมิได้

ที่มา : http://www.itti-patihan.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก