หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
๑ มกราคม ๒๔๓๑ - ๒๑ กันยายน ๒๔๙๙
วัดป่าบ้านคุ้ม ตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี
--------------------
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล เป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม สายหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ฝ่ายมหานิกาย ที่มีอาจาระงดงาม ไม่ติดที่ไม่ติดวัด สมณะสันโดษเป็นที่สุด หลวงปู่มั่นได้กล่าวกับ พระอาจารย์ทองรัตน์ ครั้งหนึ่งว่า "จิตท่านเท่ากับจิตเราแล้ว จงไปเทศนาอบรมสั่งสอนได้ ด้วยเห็นว่าหลวงปู่เป็นพระแล้ว ปฏิบัติดีแล้ว เป็นพระแท้จริง หลวงปู่มั่นจึงไม่ญัตติให้เป็นธรรมยุต ดังลูกศิษย์รูปอื่นๆ หลวงปู่ท่องรัตน์ จึงเป็นพระภิกษุ ผู้ประสานติดต่อภิกษุสงฆ์มหานิกายให้เป็นพระป่า ยึดธรรมปฏิบัติตามบูรพาจารย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น

ชาติภูมิเดิม
พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล ชาติภูมิเดิม นามทองรัตน์ บรรพบุรุษของตระกูล เป็นชาวบ้านชี้ทวนอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี แล้วอพยพย้ายถิ่นไปสู่บ้านสามผง อำเภอศรีวันชัย หรืออำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เกิดที่บ้านสามผง หรือบ้านชี้ทวน ยังไม่ทราบแน่ชัดเมื่อ พ.ศ. 2431 เป็นบ้านเดียวกับท่านอาจารย์กิ่ง และพระอาจารย์วัง แห่งภูลังกา ท่านมีพี่ชายคนหนึ่ง เป็นกำนันของตำบลนี้ คือกำนันศรีทัศน์ บิดาเป็นคหบดีคนมั่งคั่งในหมู่บ้าน และมีหน้าที่เก็บส่วย ในวัยเด็ก ท่านเป็นคนค่อนข้างจะหัวดื้อ นิสัยออกจะนักแสดง งานบุญประจำปีหรือเทศกาลของหมู่บ้าน ช่วงวัยเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม ชอบไปทางนักเลงสุรา สะพายบั้งทิงเหล้า หรือกระบอกสุราเหมือนนักเลงเหล้า พระอาจารย์หลวงปู่กิ ธมฺมุตฺตโม แห่งวัดป่าสนามชัย บ้านสนามชัย อำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ศิษย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของพระอาจารย์ทองรัตน์ เล่าถึงภูมิหลังของท่าน การศึกษามูลฐาน ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนบ้านเกิด

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
จากชีวิตคฤหัสถ์ที่สนุกสนานคึกคะนอง ค่อนไปทางนักเลงสุรากลางบ้าน พูดจาโผงผาง พูดขำขันตลกขบขัน และช่วยบิดามารดาทำมาหากินอย่างขยันขันแข็ง จนล่วงเลยวัยเบญจเพศ ชีวิตของท่านจึงเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

เหตุที่จูงใจที่ทำให้พระอาจารย์ทองรัตน์ ตัดสินใจออกบวชก็คือ มีสาวชาวบ้านคนหนึ่งมารักถึงขั้นจะหนีตาม ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ฟังว่า "บวชหนีผู้สาว" (บวชหนีหญิงสาว) แต่เมื่อพระอาจารย์ได้บวชแล้ว ซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงไม่ยอมลาสิกขาบท พระอาจารย์ทองรัตน์ได้บรรพชาเป็นเณร แล้วลาสิกขาเป็นเซียงทองรัตน์ มีชีวิตเสพสุขสนุกสนาน และช่วยงานการบิดามารดา จนประมาณว่าพระอาจารย์อุปสมบทอีกครั้งราวอายุ 26 ปี โดยบวชที่บ้านสามผง มีเจ้าอาวาสวัดบ้านสามผงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกิ่ง และพระอาจารย์อุ่น เป็นพระกรรมวาจารย์ ได้ฉายาว่า กนฺตสีโล พระอาจารย์สนใจและตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ปริยัติธรรม ด้วยความเอาใจใส่ โดยอยู่ในสายพระวัดบ้านนานถึง 5 พรรษา จึงเป็นพระปาฏิโมกข์ ที่แตกฉานในการสวดปาติโมกข์

จากปริยัติสู่ปฏิบัติ
ในพรรษาที่ 6 พระอาจารย์เริ่มเบื่อหน่ายต่อการศึกษาปริยัติ นึกเปรียบเทียบการปฏิบัติกับพระธรรมวินัย ของตนแล้วดูจะห่างไกลกันมาก ยิ่งมีความสงสัย ในการประพฤติปฏิบัติว่า จะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง อีกทั้งได้ยินข่าวครูบาอาจารย์ในทางวิปัสสนากรรมฐานที่สกลนคร คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส และวัดป่าในละแวกเขต อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ว่าเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ชำนาญด้านวิปัสสนาธุระ มีประชาชน เคารพเลื่อมใสศรัทธามาก ดังนั้นในพรรษาที่ 6 พระอาจารย์ทองรัตน์ได้เดินทางไปจังหวัดสกลนคร เข้านมัสการและขอโอกาสถามปัญหาในข้อวัตรปฏิบัติ ปกิณกะธรรมและวิสุทธิมรรค จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์ พระอาจารย์อวน ปคุโณ (อายุ 66 ปี 46 พรรษา) แห่งวัดจันทิยาวาส นครพนม ศิษย์ผู้ใกล้ชิดรูปหนึ่ง ได้เล่าถึงการไปศึกษาธรรม ของพระอาจารย์ทองรัตน์ กับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตมหาเถระ ไว้ว่า ขั้นแรกของการศึกษา หลวงปู่ทองรัตน์ไม่รู้สึกอะไร ภาวนาตามธรรมดา หลวงปู่มั่นได้แนะนำว่า รู้ไม่รู้ไม่สำคัญขอให้ทำจิตใจให้รู้จักจิตว่าสงบหรือไม่สงบ

พระอาจารย์ทองรัตน์ ได้ออกวิเวกเที่ยวธุดงค์ไปแล้วกลับมาถามพระอาจารย์มั่นอีก โดยถามว่าจิตสงบเป็นอย่างไร พระอาจารย์มั่น ถาม "เท่าที่ทองรัตน์ ปฏิบัติทุกวันนี้รู้สึกว่าเป็นแบบใด" พระอาจารย์ทองรัตน์ตอบว่า "มีเหตุหนักกายหนักใจ ใจฝืดเคืองนัก" พระอาจารย์มั่นแนะนำว่า "เรื่องที่หนักกายหนักใจนั่น ไม่ใช่เพราะการบำเพ็ญภาวนา แสดงว่ามีความเชื่อมั่นศรัทธาอยู่ในการปฏิบัติอยากทำ แต่ไม่รู้จักวิธี การปฏิบัติให้รักษาจิต รักษาระเบียบวินัย กิจวัตร ข้อวัตรวินัยต้องเข้มงวด ปฏิบัติถึงแล้วก็จะเกิดเมตตา มีเมตตาแล้วแสดงว่ามีศีลบริสุทธิ์ มีศีลบริสุทธิ์แล้วจิตก็สงบ จิตสงบแล้วจะเกิดสมาธิ"

พระอาจารย์ทองรัตน์ ได้อุบายธรรมปฏิบัติแล้ว ได้นมัสการลาออกหาวิเวกธุดงค์ จนกระทั่งรู้จักสมาธิแล้ว จึงมาหาท่านพระอาจารย์มั่น และได้เล่าให้ท่านฟังว่า ผมรู้จักแล้วสมาธิ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงถามว่าที่ว่ารู้จักนั้น รู้จักแบบไหน พระอาจารย์ทองรัตน์ตอบว่า รู้จักเมื่อเป็นสมาธิแล้วก็เบากาย เบาจิต หลวงปู่มั่น ได้แนะนำต่อว่า จิตสงบแล้วก็ให้พิจารณาขันธ์ 5 ให้รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระอาจารย์ทองรัตน์ จึงได้ออกวิเวกธุดงค์ไปตามหุบห้วยภูผาป่าช้าต่างๆ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้เป็นบูรพาจารย์ เช่น ห้ามเทศน์เด็ดขาด ให้ระวังสำรวม ให้อยู่ตามต้นไม้ อยู่ป่า สหธรรมิกที่มีอุปนิสัยต้องกัน ในระหว่างจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์มั่น คือ พระอาจารย์บุญมี บ้านสูงเนิน กุดจิก นครราชสีมา

หลวงปู่กิเล่าถึงพระอาจารย์ทองรัตน์ไว้ว่า นอกจากพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แล้วพระอาจารย์ทองรัตน์ ท่านเคารพนับถือ พระอาจารย์เสาร์ เป็นอาจารย์อีกรูปหนึ่ง ซึ่งท่านกล่าวถึงมากที่สุด เมื่ออกธุดงค์ใหม่ๆ ในพรรษาที่ 7 กับพระอาจารย์ มีได้มีญาติโยมมาสนทนาธรรม และขอฟังเทศน์จากท่าน หลวงปู่ก็มักจะบ่ายเบี่ยงว่าเราบวชน้อย อายุพรรษาไม่มาก ครูบาอาจารย์ยังไม่ให้เทศน์

พระอาจารย์ทองรัตน์ ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษ และปฏิบัติมาก ถือการอยู่ป่าตามโคนต้นไม้ บางทีท่านเอาศรีษะหนุนโคนต้นไม้ บางทีนอนหนุนกิ่งไม้มัดรวมกับใบไม้ หรือบางทีก็เอาฟางข้าวญาติโยมมัดเป็นหมอนหนุน บางครั้งนั่งสมาธิกลางป่าไม่มีมุ้ง บางทีได้กระบอกน้ำ ก็สะพายปลีกตัวขึ้นไปอยู่รูปเดียว หลังภูเขา พยายามพากเพียรภาวนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ความมักน้อย และเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ไม่ใช่สิ่งของที่เขาไม่ถวาย และไม่ออกปากขอ เพราะถือว่าเขาไม่ใช่ญาติโยม ไม่มีด้ายและผ้าเอามาปะชุนผ้าจีวร ท่านได้หาหนามและไม้ป่า มาเย็บสอดยึดส่วนที่ขาดเอาไว้ ครั้งหนึ่งผ้าจีวรขาดจนไม่สามารถหาอะไรมายึดไว้ได้ หลังจากกลับจากธุดงค์ท่านเข้าไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ขอลากลับบ้านสามผง จะไปขอผ้ามาทำจีวร พระอาจารย์มั่นทรมานจิตของท่านโดยกล่าวว่า "อยากจะได้ธรรมไม่ใช่เหรอ จึงมาบวช จะแสวงหาธรรมะมันไม่ใช่ของง่าย" และท่านยังพูดต่ออีกว่า "ไม่ใช่คิดถึงบ้านหรือ ถ้ามัวมาคิดถึงบ้านจะไปถึงไหน ทำความเพียรให้มาก จะได้เห็นธรรมเร็วขึ้น"

พระอาจารย์มั่นแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระบท ว่าจะสำเร็จเร็วขึ้น พระอาจารย์ทองรัตน์ เรียนว่า ถ้ำพระบทนั้นได้ยินว่า พระรูปใดไปแล้วมีแต่ตายกับตายไม่เคยกลับมา ที่กลับมามีแต่เป็นล่อย ล่อย (เป็นห้อย) ทั้งนั้น

พระอาจารย์ทองรัตน์ ได้เดินทางไปถ้ำพระบท ซึ่งขึ้นชื่อว่า เจ้าที่แรง และไปบำเพ็ญภาวนาจำพรรษาอยู่รูปเดียว ในเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ พระอาจารย์ได้นั่งสมาธิสงบนิ่งอยู่ในถ้ำ ในกลางดึกได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครม เหมือนเสียงฝูงสัตว์และคนจำนวนมาก วิ่งอยู่บนภูเขาทั้งลูกเหนือน้ำ ภูเขาทั้งลูกสั่นสะเทือนไปทั่ว มีเสียงหวีดร้องคล้ายสัตว์และคน พระอาจารย์เล่าให้ศิษย์ฟังว่า พระอาจารย์ขนลุก ผมบนศรีษะตั้งอยู่หลายวัน ตั้งใจอยากจะออกไปดู แต่ก็นั่งเป็นสมาธิสงบระงับอยู่อย่างนั้น และความคิดหนึ่งก็โต้แย้งว่า ไม่ใช่ธุระอะไรของเรา เรื่องของเขา จะเป็นอะไรก็อยู่ต่างหาก เรื่องของเราเราก็อยู่ต่างหาก เมื่อตั้งสติได้มั่นแล้ว ทำให้เกิดความสงบเยือกเย็น เบิกบาน ไม่มีความกลัวใดๆ และความกลัวตอนแรกๆ หายไปหมดสิ้น มีความรู้สึกใหม่เกิดขึ้นคือ อยากเทศน์อยากจะโปรดสัตว์ทั้งหลาย มันเหมือนว่า แม้จะมีด้ายมาเย็บปากไว้ ด้ายก็จะขาด มันอยากเทศน์ อยากจะเทศน์โปรดคนทั้งโลก อยากไปเทศน์ประเทศใกล้เคียง ทั้งพม่า มาลายู จึงนั่งเทศน์อยู่คนเดียว เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ไม่ได้อยู่ไม่ได้นอน ญาติโยมที่อยู่หมู่บ้านใกล้ภูเขา เห็นท่านไม่ไปบิณฑบาตหลายวัน คิดว่าคงมีอะไรเกิดขึ้นกับท่านและได้ขึ้นมาดู ท่านจึงรู้สึกตัว

วันต่อมา หลังจากรู้สึกตัวท่านได้ลงไปบิณฑบาต เนื่องจากไม่ได้นอน 7 วัน 7 คืน ตาจึงแดงก่ำไปหมดทั้ง 2 ตา โยมทักว่า อาจารย์ป่วยหรือตาจึงแดง ท่านตอบโยมไปว่าสบายดี โยมถามต่อไปว่า ท่านฉันอาหารได้ดีอยู่หรือ ท่านตอบว่าฉันได้ดีอยู่ แต่พอถึงเวลาฉัน เนื่องจากไม่ได้ฉันมาหลายวัน ร่างกายไม่รับอาหาร ฉันได้ 2-3 คำ จึงได้รู้สึกตัวว่า ได้โกหกญาติโยมไปแล้ว จึงได้ตั้งสติใหม่ และตั้งจิตให้มั่นคง จิตจึงได้กลับเป็นปกติ และเกิดความสงบเยือกเย็นเบิกบาน

เมื่ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์ได้เดินทางกลับไปนมัสการพระอาจารย์มั่น และได้เล่าเหตุการณ์ให้พระอาจารย์ฟัง ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า จิตท่านกับจิตเราเท่ากันแล้ว ต่อไปท่านอยากจะเทศน์ก็เทศน์

พระอาจารย์ทองรัตน์ ท่านเป็นพระที่ไม่ยึดติดในเสนาะสนะชอบสันโดษ จำพรรษาแต่ละแห่งไม่นานมักจะย้ายวัด หรือออกธุดงค์ตามป่าเขาเป็นส่วนใหญ่ ในพรรษาต่อๆ มา ท่านได้ธุดงค์ไปถึงประเทศพม่า กับพระอาจารย์มี นอกจากนี้ ก็ยังธุดงค์ไปทั่วภาคอีสานและภาคเหนือภาคกลาง

อุปนิสัย
ด้านอุปนิสัยของพระอาจารย์ทองรัตน์ เป็นผู้มีอารมณ์ขัน พูดจาโผงผาง เสียงดังกังวานลูกศิษย์ลูกหายำเกรง ท่านมีนิสัยทำอะไรแผลงๆ แปลก หลวงพ่อชา สุภทฺโท ซึ่งนับถือพระอาจารย์ทองรัตน์ เป็นพระอาจารย์ของท่านรูปหนึ่ง เคยเล่าให้ศิษย์ฟังถึงพระอาจารย์ทองรัตน์เสมอ ในความเคารพที่ท่านมีต่อพระอาจารย์ ความชื่นชอบปฏิปทาที่ห้าวหาญ อีกทั้งปัญญาบารมี และอารมณ์ขันของท่าน เป็นต้นว่า เมื่อไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ท่านไปหยุดยืนที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง เมื่อเจ้าของบ้านเหลือบมาเห็นพระ ก็ร้องว่า "ข้าวยังไม่สุก"

แทนที่พระอาจารย์ทองรัตน์ จะเดินทางจากไปท่านกลับร้องบอกว่า "บ่เป็นหยังดอกลูกพ่อสิท่า ฟ่าวๆ เร่งไฟเข้าเด้อ" (ไม่เป็นไรลูก พ่อจะคอย เร่งไฟเข้าเถอะ)

ระหว่างพำนักอยู่กับหลวงปู่มั่น และไม่ค่อยได้ฟังเทศน์ พระอาจารย์ทองรัตน์ก็มีอุบายหลายอย่าง ที่ทำให้หลวงปู่มั่นต้องแสดงธรรมให้ฟังจนได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง ไปบิณฑบาต ท่านก็เดินแซงหน้าหลวงปู่มั่น แล้วก็ควักเอาแตงกวาจากบาตรออกมากัดดังกร้วมๆ และอีกครั้งหนึ่งท่านไปส่งเสียงเหมือนกำลังชกมวย เตะถึงต้นเสาอยู่อย่างอุตลุด ใต้ถุนกุฎิหลวงปู่มั่นนั่นเอง ในขณะที่เพื่อสหธรรมิกต่างก็กลัวกันหัวหด ผลก็คือ ตกกลางคืน ลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ได้ฟังเสียงหลวงปู่มั่น อบรมด้วยเทศน์กัณฑ์ใหญ่ ทั้ง 2 ครั้ง

หลวงพ่อชา เล่าว่า พระอาจารย์ทองรัตน์ เป็นผู้อยู่อย่างผ่อนแผ่จนกระทั่ง วาระสุดท้าย เมื่อท่านมรณภาพนั้น ท่านมีสมบัติในย่ามคือ มีดโกนเพียงเล่มเดียวเท่านั้น

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย ศิษย์ต้นรูปแบบ ผู้ใกล้ชิดที่สุดได้เล่าถึงหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ว่า เป็นพระอาจารย์ผู้เฒ่า ที่มีปฏิปทาสูงยิ่ง ท่านมีความรู้ ความสามารถเก่งกาจเฉพาะตัว เป็นนายทัพธรรม ที่หลวงปู่มั่นท่านไว้วางใจที่สุด นิสัยของพระอาจารย์ทองรัตน์นี้ ท่านมีความห้าวหาญและน่าเกรงกลัวยิ่งนัก ซึ่งในบางครั้งกิริยาท่าทางออกจะดุดัน วาจาก้าวร้าว แต่ภายในจิตใจจริงๆ ของท่านนั้นไม่มีอะไร หลวงปู่กินรี กล่าวต่อไปว่า มีอยู่คราวหนึ่งในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์สานุศิษย์ของหลวงปู่มั่น ซึ่งก็มีพระอาจารย์ทองรัตน์ รวมอยู่ในที่นั้นด้วย หลวงปู่มั่นมองดูพระอาจารย์ทองรัตน์แล้วเรียกขึ้นว่า "ทองรัตน์" "โดย" พระอาจารย์ทองรัตน์ประนมมือ แล้วขานรับอย่างนอบน้อม (คำว่า "โดย" เป็นภาษาอีสาน ซึ่งแปลว่า "ขอรับกระผม" เป็นคำสุภาพอ่อนน้อมที่สุด สำหรับคฤหัสถ์และพระผู้น้อย นิยมใช้พูดกับพระภิกษุหรือพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมักจะใช้กิริยาประนมมือไหว้ระหว่างอกควบคู่ไปด้วย)

หลวงปู่มั่นท่านจึงพูดต่อไปว่า เดี๋ยวนี้พระเราไม่เหมือนกับเมื่อก่อนนะ เครื่องใช้ไม้สอยสบู่ ผงซักฟอกอะไรๆ มันหอมฟุ้งไปหมดแล้วนะ "โดย" พระอาจารย์ทองรัตน์กล่าวตอบอีก ต่อมาขณะที่พระอาจารย์ทองรัตน์นั่งอยู่ที่แห่งหนึ่ง มีกลุ่มพระภิกษุ 2-3 รูป เดินผ่านท่านไป พระอาจารย์ทองรัตน์จึงร้องขึ้นว่า"โอ๊ย...หอมผู้บ่าว" (ผู้บ่าว แปลว่า ชายหนุ่ม บ่าวเป็นคำไทยแท้ ภาษาอีสาน นิยมเรียกว่า "ผู้บ่าว") ในที่นี้เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของพระทองรัตน์ ที่ใช้สำหรับสั่งสอนสานุศิษย์ของท่าน

อยู่มาวันหนึ่ง พระอาจารย์ทองรัตน์ได้เป็นปัจฉาสมณะ (สมณะผู้ตามหลังคือพระผู้น้อย ที่ไปกับพระผู้มีอาวุโสกว่า) ท่านได้ติดตามไปกับพระมหาเถระรูปหนึ่ง ในการเที่ยวภิกขาจารบิณฑบาต จะเป็นหลวงปู่มั่น หรือท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) องค์ใดนั้น ไม่ทราบชัดพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ในเส้นทางที่เดินไปนั้น ท่านพระมหาเถระเดินหน้า พระภิกษุทั้งหลายเดินหลัง เผอิญมาถึงที่แห่งหนึ่ง ก็มีวัวตัวผู้ตัวหนึ่ง ปราดเข้ามาต่อหน้าท่านพระมหาเถระ ท่าทางของมันบอกให้รู้ว่าไม่เป็นมิตรกับใคร ท่านพระมหาเถระจึงสำรวมจิตหยุดอยู่กับที่ โดยที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน ท่านอาจารย์ทองรัตน์ก็เดินรี่เข้าหาวัวตัวนั้น พร้อมกับพูดด้วยเสียงอันดังว่า "สู้รึ" วัวตัวนั้นตกใจ ได้วิ่งหลบหนีไปในทันที อีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับปฏิปทา ในการสอนศิษย์ของพระอาจารย์ทองรัตน์ เรื่องมีอยู่ว่า เวลากลางคืน คืนหนึ่ง พระผู้ชรารูปหนึ่งกำลังนั่งทำสมาธิภาวนาอยู่นั้น "อุคหนิมิต" ได้เกิดขึ้นแก่พระชรารูปนั้น นิมิตคือ เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน

ภาพที่เห็นในใจของผู้เจริญกรรมฐาน หรือภาพที่เป็นอารมณ์กรรมฐานมี 3 อย่าง คือ
1. บริกรรมนิมิต คือ นิมิตในการกำหนด (บริกรรม) คือ การที่ภิกษุเพ่งดู วัตถุหรือกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ในการภาวนา สิ่งที่เพ่งนั้น เรียกว่า บริกรรมนิมิต
2. อุคหนิมิต แปลว่า นิมิตเจนใจ คือ ภิกษุเพ่งดูวัตถุใด หรือกสิณใดเป็นอารมณ์ดังกล่าวมาแล้ว จะสามารถทำได้จนเจนใจ แม้จะหลับตาลงก็ยังสามารถมองเห็นวัตถุหรือกสิณนั้นได้ติดตา ภาพที่ติดตาติดใจนั้นเรียกว่า อุคหนิมิต
3. ปฏิภาคนิมิต แปลว่า นิมิตเทียบเคียง คือ เมื่อภิกษุเพ่งในนิมิตที่สองคือ อุคหนิมิตดังกล่าวแล้ว สามารถปรุงแต่งดัดแปลงให้นิมิตนั้นใหญ่เล็กก็ได้ตามปรารถนานิมิตอย่างนี้เรียกว่าปฏิภาคนิมิต เมื่อเกิดอุคหนิมิตขึ้น

พระภิกษุชรารูหนั้น ก็ได้เห็นร่างของท่านในนิมิต กลายเป็นบ่างตัวขนาดเขื่องเลยทีเดียว (บ่างคือ สัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งตัวคล้ายกระรอก โตเกือบเท่าค่างอยู่ตามโพรงไม้ สีข้างทั้งสอง มีหนังเป็นพืดคล้ายๆ ปีก โผไปมาได้ไกลๆ ) บ่างนั้นได้โผบินไปมาระหว่างต้นมะพร้าว ในสวนแห่งหนึ่งอยู่ตลอดคืน พระชรารูหนั้น ทำสมาธิเกิดอุคหนิมิตอยู่จนอรุณรุ่ง อาการเหล่านั้นมันยังติดตามติดใจไม่หาย แม้จะลุกออกจากที่ไปเที่ยวบิณฑบาตแล้วก็ตาม ทำให้เกิดปิติพร้อมๆ กับความสงสัยในอาการแห่งนิมิตเหล่านั้น เดินบิณฑบาตไป ใจก็ยังครุ่นคิดถึงเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา และก็ยังไม่ได้เล่าให้ใครฟังทั้งนั้น ตั้งใจว่าวันนี้ฉันข้าวเสร็จแล้วจึงจะเข้าไปให้ท่านครูบาอาจารย์แนะนำ พอพระบิณฑบาตมาถึงวัด ก็เดินไปที่โรงฉัน อันเป็นที่ซึ่งพระเณรจะมาฉันภัตตาหารรวมกันที่นี่ทุกเช้า พอเดินมาที่โรงฉันเท่านั้น ก็พลันได้ยินท่านครูบาจารย์ทองรัตน์ร้องทันที ด้วยเสียงอันดังฟังชัดว่า "บ่างใหญ่มาแล้ว"

ยังมีเรื่องที่ค่อนข้างจะขบขันอีกหลายเรื่อง ที่เกี่ยวกับปฏิปทาของพระอาจารย์ทองรัตน์ ผู้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรี ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์ทองรัตน์ พำนักอยู่ที่ป่าช้าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านส่วนมากเป็นมิจฉาทิฐิ (มีความเห็นผิด) แต่คนที่ดีก็มีอยู่ พวกที่เห็นผิดส่วนมาก มักจะเข้าใจว่าท่านเป็นบ้า และจงเกลียจจงชังด้วย เพราะเหตุว่าวิธีการสอนธรรมะของท่าน ค่อนข้างจะดุเดือดเผ็ดร้อน ประกอบกับท่านมักจะเน้นหนักคำสอนไปในเรื่องการให้ทาน ซึ่งชาวบ้านพวกที่ชอบการกินเล่นสนุกเฮฮา และประพฤติผิดศีลธรรมทั้งหลายขัดอกขัดใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นในตอนเช้าวันหนึ่ง ขณะที่ท่านอาจารย์ทองรัตน์เที่ยวบิณฑบาต หลายคนใส่บาตร ซึ่งของที่ใส่นั้นก็มีข้าวเหนียวนึ่งเป็นหลัก ก็มีห่อหมกที่ห่อด้วยใบตองใช้ต่างๆ เมื่อมาถึงวัดเข้าสู่โรงฉันสามเณรนำบาตรมาให้ท่าน พอหยิบห่อหมกห่อหนึ่งออกมาดู ปรากฏว่ามีกบเป็นๆ ตัวใหญ่ตัวหนึ่งกระโดดจากข้างในบาตรของท่านทันที ท่านอาจารย์ทองรัตน์ถึงกับรำพึงว่า "เกือบไหมละเจ้าหนู เขาเกือบฆ่าเอ็งมาใส่บาตรเสียแล้ว" เสียงและสีหน้าของท่านปราศจากแววบึ้งตึง ท่านกลับหัวเราะชอบใจอีกเสียด้วยซ้ำ

เรื่องของพระอาจารย์ทองรัตน์ ผู้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรีนี้มีอยู่มากมาย เช่น ในคราวหนึ่ง ซึ่งเป็นขณะที่พระอาจารย์ชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพงในปัจจุบัน ท่านเดินธุดงค์รอนแรมไปตามป่าเขา ในเขตจังหวัดต่างๆ อยู่นั้น พอพระอาจารย์ชา ได้ยินกิตติศัพท์ของท่านอาจารย์ทองรัตน์ จึงตั้งใจจะไปกราบคารวะ และรับโอวาทธรรมจากท่าน ขณะอยู่ที่วัดป่าบ้านชีทวน เขื่องใน เมื่อพระอาจารย์ชา ได้เดินทางมาถึงวัดของท่านอาจารย์ทองรัตน์ จึงได้ปลดบาตร ย่ามและลดจีวรลง เดินเข้าไปในอาราม ตามธรรมเนียมในอาคันตุกวัตรทุกประการ พระอาจารย์ชาได้พบกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่พระอาจารย์ทองรัตน์บอกให้มาต้อนรับ จึงถามว่าท่านอาจารย์ทองรัตน์อยู่ไหน? พระรูปนั้น ได้ชี้นิ้วไปอีกทางหนึ่ง เป็นเครื่องหมายว่าท่านอาจารย์ทองรัตน์อยู่ที่โน่น ท่านพระอาจารย์ชาจึงวางบริบารแล้วเดินตรงไปหา ซึ่งขณะนั้น ท่านอาจารย์ทองรัตน์กำลังยืน เอามือถือไม้กวาดอยู่ พอไปถึง กำลังจะคุกเขาก้มลงกราบ ท่านอาจารย์ทองรัตน์ก็เหลียวมามองหน้า พร้อมกับชิงถามขึ้นก่อนว่า "ชามาแล้วหรือ" ทำเอาพระอาจารย์ชารู้สึกแปลกใจ ที่ท่านกล่าวเรียกชื่อได้ถูกต้อง ทั้งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน

ที่มา : http://www.fungdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก