หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระมหาโมคคัลลานเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระมหาโมคคัลลานเถระ
" ภิกษุถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
มีจิตมั่นคง จะกำจัดเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้ คล้ายช้างทำลายเรือนไม้อ้อ "

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ กระทำอธิการความดีมาควบคู่กับพระสารีบุตร โดยในอดีตกาล ในที่สุดหนึ่งอสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัป ในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะ บังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล โดยมีชื่อว่า สิริวัฑฒนกุฎุมพี ท่านพระสารีบุตร บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล มีชื่อว่า สรทมาณพ คนทั้งสองเป็นสหาย เล่นฝุ่นด้วยกัน เมื่อสรทมาณพ ปรารถนาเป็นอัครสาวก ปฐมอัครสาวก สิริวัฑฒนกุมภี ก็ได้ตั้งความปรารถนา ตำแหน่งทุติยอัครสาวกบ้าง ทั้งสองกระทำกุศลตลอดชั่วอายุ สิริวัฑฒกุฎุมภี บังเกิดในกามาวจรเทวโลก ส่วนสรทมาณพ เจริญพรหมวิหาร ๔ แล้วบังเกิดในพรหมโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระโมคคัลลานเถระ มาบังเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ ผู้เป็นนายบ้าน ชื่อว่า โกลิตะ มารดาชื่อว่านางโมคคัลลี เดิมท่านชื่อว่า โกลิตะ ตามสกุลแห่งบิดา อีกอย่างหนึ่ง เขาเรียกตามความที่เป็นบุตรนางโมคคัลลีว่า โมคคัลลานะ ท่านเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว พวกภิกษุสงฆ์เรียกท่านว่า โมคคัลลานะทั้งนั้น

ท่านเกิดในตำบลบ้าน ไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ ได้เป็นสหายที่รักใคร่กัน กับอุปติสสมาณพ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะตระกูลทั้งสองนั้น เป็นสหายติดต่อกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ และเป็นตระกูลที่มั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารเสมอกัน

ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปะด้วยกัน แม้จะไปไหนหรือทำอะไร ก็ไปและทำด้วยกัน จนกระทั่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็บวชพร้อมกัน ต่างกันแต่ ได้ดวงตาเห็นธรรม (เป็นโสดาบัน)ครั้งแรก คนละคราว (อ่านเพิ่มเติมในในประวัติของพระสารีบุตรเถระ) ในที่นี้จะกล่าวตั้งแต่อุปสมบท

พุทธองค์แนะอุบายกำจัดความง่วง ๘ ประการ
จำเดิมแต่ท่านได้อุปสมบทในพระธรรมวินัยได้ ๗ วัน ไปทำความเพียร อยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงมคธ อ่อนใจ นั่งโงกง่วงอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั้น ทรงสั่งสอนและแสดงอุบาย สำหรับระงับความง่วง มีประการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑. โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ ท่านควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก
๒. ท่านควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ได้ฟังแล้ว และได้เรียนแล้ว ด้วยใจของท่านเอง
๓. ท่านควรสาธยายธรรมตามที่ตัวได้ฟังแล้ว และได้เรียนแล้วโดยพิสดาร
๔. ท่านควรยอนหูทั้งสองข้าง และลูบด้วยฝ่ามือ
๕. ท่านควรลุกขึ้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักขัตรฤกษ์
๖. ท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือ ความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด

๗. ท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายว่า จักเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอกฯ
๘. ท่านควรสำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันที่จะลุกขึ้นไว้ในใจ พอท่านตื่นแล้ว ควรรีบลุกขึ้น

ครั้นตรัสสอน อุบายสำหรับระงับความง่วงอย่างนี้แล้ว ทรงสั่งสอน ให้สำเหนียกในใจอีกต่อไปว่า เราจักไม่ชูงวง (คือถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล เราจักไม่พูดคำ ซึ่งเป็นเหตุให้เถียงกัน เข้าใจผิดต่อกัน และตรัสสอนให้ยินดีด้วยที่นอนที่นั่งอันเงียบสงัด และควรเป็นที่อยู่ตามสำพังสมณวิสัย

เมื่อตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า โดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วนเกษมจากโยคธรรม เป็นพรหมจารีบุคคลยิ่งกว่าผู้อื่น ที่มีสุดดีกว่าผู้อื่น ประเสริฐสุดกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

พระศาสดาตรัสตอบว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับแล้วว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น เธอทราบชัดธรรมทั้งปวง ด้วยปัญญาอันวิเศษ ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้ เธอได้ประสบเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญา เป็นเครื่องหน่าย เป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องสละคืน ในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งอะไร ๆ ในโลก ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบ ได้ด้วยตนเอง และทราบชัดว่า ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะทำอย่างนี้อีกมิได้มี ว่าโดยย่อ ข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา

ท่านพระโมคคัลลานะ ปฏิบัติตามโอวาท ที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น

เอตทัคคะในด้านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก และเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย
ครั้นพระโมคคัลลานะ ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดา ในอันยังกิจที่พระบรมศาสดาทรงดำริไว้ให้สำเร็จ เพราะท่านเป็นผู้มีฤทธานุภาพมาก จึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์ (อิทธิมนฺตานํ)

และทรงยกย่องว่าเป็นคู่กันกับพระสารีบุตร ในอันอุปการะภิกษุ ผู้เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยดังกล่าวแล้ว ในประวัติท่านพระสารีบุตรว่า สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังบุตรให้เกิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว กล่าวคือ สารีบุตรย่อมแนะนำ ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำยกย่องพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย

พระธรรมเทศนาของพระโมคคัลลานะ ไม่ค่อยจะมี ที่เป็นโอวาทให้แก่ภิกษุสงฆ์ ก็มีเพียงแต่ อนุมานสูตร ซึ่งว่าด้วยธรรมอันทำให้คน เป็นผู้ว่ายากหรือว่าง่าย

เป็นผู้ชำนาญในการก่อสร้าง
ท่านพระโมคคัลลานะนั้นชำนาญในการนวกรรม (การก่อสร้าง) ด้วย ดังจะเห็นได้จาก เมื่อนางวิสาขา มหาอุบาสิกา สร้างบุพพารามในกรุงสาวัตถี พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านเป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ควบคุมการก่อสร้าง

ดับขันธปรินิพพาน
ท่านพระโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนพระบรมศาสดา มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านพำนักอยู่ ณ ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า บรรดาลาภสักการะทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแก่พระบรมศาสดาในครั้งนั้น ด้วยอาศัยพระโมคคัลลานะ เพราะท่านสามารถไปนำข่าว ในสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ ชักนำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใส ถ้าพวกเรากำจัดพระโมคคัลลานะเสียได้แล้ว ลัทธิของพวกเราก็จะรุ่งเรืองขึ้น

เมื่อปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงจ้างโจรผู้ร้ายให้ลอบฆ่าพระโมคคัลลานะ เมื่อโจรมา ท่านพระโมคคัลลานะทราบ จึงหนีไปเสียสองครั้ง ครั้งที่สามท่านพิจารณาเห็นว่า กรรมตามทันจึงไม่หนี พวกโจรผู้ร้ายทุบตีจนร่างกายท่านแหลก ก็สำคัญว่าตายแล้ว จึงนำร่างกายของท่าน ไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วพากันหนีไป

ท่านพระโมคคัลลานะยังไม่มรณะ เยียวยาอัตภาพให้หาย ด้วยกำลังญาณ แล้วเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ทูลลากลับมาปรินิพพาน ณ ที่เดิมในวันดับเดือน ๑๒ ภายหลังพระสารีบุตรปักษ์หนึ่ง (๑๕ วัน) พระศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจ แล้วรับสั่งให้นำอัฐิธาตุมาก่อนพระเจดีย์ บรรจุไว้ ณ ที่ใกล้ประตูแห่งเวฬุวนาราม.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระมหาโมคคัลลานะเถระ อัครสาวกฝ่ายซ้าย, เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก