หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระนันทกเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระนันทกเถระ

ชาติภูมิ
ท่านพระนันทกเถระ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์ อยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล

ออกบวชเป็นชฏิลตามพราหมณ์พาวรี
ต่อมาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ออกไปบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์

นันทกมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่น ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย และอยู่ในมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีผูกปัญหาให้ไปทูลถาม

นันทกมาณพ ทูลถามปัญหาเป็นคนที่เจ็ด
นันทกมาณพ ได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่เจ็ดว่า ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีมีอยู่ในโลก ข้อนี้เป็นอย่างไร เขาเรียกคนถึงพร้อมด้วยญาณ หรือ ถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิตว่าเป็นมุนี

พระบรมศาสดา ทรงเฉลยว่า ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวคนว่าเป็นมุนี ด้วยได้เห็น ด้วยได้สดับ หรือด้วยได้รู้มา เรากล่าวว่า คนใดทำตนให้ปราศจากกองกิเลส เป็นคนหากิเลสมิได้ ไม่มีความกังวลทะยานอยาก คนผู้นั้นแลชื่อว่ามุนี

นันทกมาณพ : สมณพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยได้เห็น ด้วยได้ฟัง ด้วยศีล และ พรต และด้วยวิธีเป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้น ประพฤติในวิธีเหล่านั้น ตามที่ตนเห็นว่า เป็นเครื่องบริสุทธิ์ข้ามพ้นชาติชราได้ มีอยู่บ้างหรือไม่ ข้าพระพุทธเจ้าทูลถาม ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้น แก่ข้าพระองค์เถิด

พระพุทธเจ้า : สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ถึงประพฤติอย่างนั้น เรากล่าวว่าพ้นชาติชราไม่ ได้แล้ว

นันทกมาณพ : ถ้าพระองค์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น พ้นชาติชราไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลก หรือ ในมนุษยโลก จะพ้นชาติชราได้?

พระพุทธเจ้า : เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ อันชาติชราครอบงำแล้วหมดทุกคน แต่เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดในโลกนี้ ละอารมณ์ที่ตนได้เห็น ได้ฟัง ได้รู้ และศีลพรต กับวิธีอันมากเสียทั้งหมด กำหนดรู้ตัณหาว่าเป็นโทษควรละแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล ข้ามพ้นชาติชราได้

นันทกมาณพ : ข้าพระพุทธเจ้าชอบใจ พระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงแสดงธรรม อันไม่มีอุปธิ (กิเลส) ชอบแล้ว แม้ข้าพระพุทธเจ้า ก็เรียกสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า ผู้ข้ามห้วงแห่งชาติชราได้แล้วเหมือนพระองค์ตรัส

บรรลุอรหัตตผล และอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ในเมื่อจบเทศนา นันทกมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อพระบรมศาสดา ทรงอบปัญหามาณพอื่นๆ เสร็จแล้ว นันทกมาณพ พร้อมด้วยมาณพอีกสิบห้าคน ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก