หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระสารีบุตรเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระสารีบุตรเถระ
" ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ คิดชอบ
เพ่งพินิจธรรมอยู่เป็นนิตย์ ไม่ประมาท
ยินดีอยู่กับการเจริญกรรมฐานในภายในตัวเอง
มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ภิกษุ "

พระสารีบุตร (สันสกฤต: Sariputra) หรือพระสารีบุตต์ (บาลี: Sariputta) เป็นชื่อของพระภิกษุรูปหนึ่งในพุทธศาสนา มีชีวิตอยู่ในพุทธกาล โดยเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าพระสงฆ์ทั้งปวงในด้านสติปัญญา นอกจากนี้ พระสารีบุตรยังมีคุณธรรมในด้านความกตัญญู และการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนาอีกด้วย จึงมีคำยกย่องภิกษุรูปนี้ว่าเป็น "ธรรมเสนาบดี" คู่กับพระพุทธเจ้าที่เป็น "ธรรมราชา"

พระสารีบุตรเกิดเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่นิพพานเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนกฤติกา (เดือนสิบสอง) ก่อนพระพุทธเจ้า พระสารีบุตร เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา คู่กับพระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย

ประวัติ
พระสารีบุตรเมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า "อุปติสสะ" เป็นบุตรของนางพราหมณี ชื่อ "สารี" และนายพราหมณ์ ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอุปติสคามแห่งตำบลตำบลนาลกะ หรือตำบลนาลันทา ชื่อ "วังคันตะ" คำว่า "อุปติสสะ" หมายความว่า ชาวบ้านอุปติสคาม อุปติสสะนั้นมีน้องชายสามคน คือ พระจุนทะ พระอุปเสน พระเรวัตตะ และมีน้องสาวอีกสามคน คือ นางจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ในวันเดียวกับที่นางพรามหณ์สารีให้กำเนิดอุปติสสะนั้น ยังเป็นวันที่ครอบครัวข้างเคียงให้กำเนิดบุตรชื่อว่า "โกลิตะ" หรือต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ อีกด้วย

ครอบครัวของนางพราหมณีสารีนั้นมีความมั่งคั่งสมบูรณ์พร้อมมูลพอ ๆ กับครอบครัวของโกลิตะ นิสัยใจคอของทั้งอุปติสสะและโกลิตะก็คล้ายคลึงกัน ท่านทั้งสองได้คบหาและเล่าเรียนด้วยกันมาแต่เล็ก ๆ จนเติบใหญ่ นอกจากนี้ ครอบครัวของทั้งสองก็ยังคบหาสมาคมกันมาแต่ชั่วบรรพบุรุษ ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนรักกันอย่างยิ่ง

การออกจากเพศฆราวาส
วันหนึ่ง อุปติสสะและโกลิตะไปเที่ยวเล่นในงานรื่นเริงประจำปีในกรุงราชคฤห์ ขณะชมมหรสพอยู่นั้นก็เกิดความสลดใจขึ้นมาอย่างเดียวกันว่า กิจกรรมเหล่านี้ช่างไร้สาระสิ้นดี หาประโยชน์แก่นสารมิได้เลย ควรจะหาสิ่งใดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและหลุดพ้นจากบ่วงเช่นนี้ อีกสองวันจึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก ณ กรุงราชคฤห์นั้นเอง และสำเร็จการศึกษาในสำนักนั้นโดยใช้เวลาเพียงสองสามวัน เมื่อจบแล้วก็ออกจากสำนัก แต่ยังไม่พึงพอใจเพราะเห็นว่าความรู้จากสำนักนั้นหาใช่ที่ตนค้นหาไม่ จึงตกลงแยกกันไปตามหาครูผู้สามารถสอนความจริงของโลกให้ประจักษ์ได้อย่างแท้จริง และสัญญากันว่าถ้าใครเจอครูเช่นว่าแล้วก็จะมาบอกกันมิได้อำพราง

บรรลุโสดาบันและบวชในพระพุทธศาสนา
นาลันทา บ้านเกิดของพระสารีบุตร ต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ แห่งแรกของโลก พระอัสสชิอันเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ หลังจากได้ฟังธรรมจาก พระพุทธองค์ จนบรรลุอรหันต์แล้ว วันหนึ่งท่านถือบาตรและจีวร ไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตแต่เช้าตรู่ อุปติสสะได้พบพระอัสสชิเถระ ประทับใจในอิริยาบถน่าเลื่อมใส สำรวมดี ของท่านพระอัสสชิเถระ ผู้มีอินทรีย์ฝึกดีแล้ว จึงเกิดความคิดว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระอรหันต์ จึงได้ตามท่านพระอัสสชิเถระไปข้างหลัง รอคอยโอกาสอยู่ แล้วสอบถาม

พระอัสสชิเถระ ได้แสดงความลึกซึ้งในคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณฯ

“ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด (เกิดแต่เหตุ) พระตถาคตเจ้า ทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ ตรัสอย่างนี้”

อุปติสสะ เพียงได้ฟังหัวข้อธรรมนี้จากพระเถระเท่านั้นก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เกิด ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมว่า:- “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา”

หลังจากนั้น อุปติสสะกราบลาพระอัสสชิเถระ แล้วนำธรรมะที่ได้รับฟังมา ไปบอกเพื่อนสนิทคือโกลิตะ จนได้บรรลุโสดาบัน เช่นเดียวกัน ทั้งสองได้ไปชวนสัญชัยปริพาชก ให้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่สัญชัยปริพาชกปฏิเสธ ทั้งสองจึงได้พาปริพาชก 250 คน ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ หลังจากฟังธรรมครั้งนั้น ปริพาชก 250 คนบรรลุอรหัตผล แต่อุปติสสะและโกลิตะ ยังคงบรรลุเพียงโสดาบันเช่นเดิม พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านอุปติสสะมีชื่อเรียกใหม่ว่า สารีบุตร

บรรลุอรหันต์
เวลาผ่านไปครึ่งเดือน (หลังจากที่พระสารีบุตรบวชในพระพุทธศาสนา) ที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ นครราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระสารีบุตร ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน (ลุง) พระสารีบุตร เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามปัญหา พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับ ทิฏฐิและเวทนา ทีฆนขะได้บรรลุโสดาบัน ส่วนพระสารีบุตรนั้น ท่านกำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ ท่านได้ยินธรรมเหล่านั้นอยู่ด้วย ก็บรรลุอรหัตผล

วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งเหตุการณ์ถัดไป พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ให้กับพระอรหันต์ 1250 รูป (รวมพระสารีบุตร ผู้เพิ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้นด้วย)

เป็นผู้เลิศทางปัญญา
หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ จำพรรษาและแสดงอภิธรรม ณดาวดึงส์ เสด็จลงมา ณประตูเมืองสังกัสสะ พระสารีบุตรพร้อมทั้งภิกษุ ภิกษุณี และสาธุชนจำนวนมาก มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถามปัญหา ในวิสัยของปุถุชนเป็นต้น พวกปุถุชนแก้ปัญหาได้ ในวิสัยของตนเท่านั้น ไม่สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระโสดาบันได้ พระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้นก็เหมือนกัน ไม่สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระสกทาคามีเป็นต้น พระมหาสาวกที่เหลือ ไม่สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระมหาโมคคัลลานะ พระมหาโมคคัลลานะ ไม่สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระสารีบุตรเถระได้ แม้พระสารีบุตรเถระ ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน ในครั้งนั้น มหาชนจึงได้รู้จักพระสารีบุตร ว่า เป็นผู้เลิศทางปัญญา

คุณความดีของพระสารีบุตร
พระสารีบุตรท่านมีคุณความดีที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องไว้มากมาย ขอยกมาเฉพาะบางเรื่องที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
1. พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน ตัวอย่างครั้งหนึ่งที่กรุงเทวทหะ ภิกษุพากันเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตร เพื่อท่านสารีบุตร จะได้แนะนำสั่งสอน ในการไปของพวกเธอ จะได้ไม่เกิดความเสียหาย

2. ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นคู่กับพระมหาโมคคัลลานะ เช่น ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ... สารีบุตร เปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะ เปรียบเหมือนนางนม ผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณ เบื้องบนสูงกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา และพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย

3. มีคำเรียกยกย่องพระสารีบุตร อีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมเสนาบดี ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า พระธรรมราชา พระสารีบุตรเป็นผู้มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือ ชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน 4. ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที พึงเห็นตัวอย่างได้จาก เมื่อท่านได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสชิแสดง ได้ธรรมจักษุแล้วมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาท่านก็นับถือพระอัสสชิว่า เป็นอาจารย์ทำการเคารพอยู่เสมอ แม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอน ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน แล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น อีกตัวอย่างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรยังราธพราหมณ์ให้อุปสมบท เพราะระลึกถึงคุณที่ราธพราหทณ์ ได้ถวายบิณฑบาตแก่ท่านเพียงทัพพีเดียว

ปรินิพพาน
ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านพระสารีบุตรพิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนจะสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดา (คือ นางสารี) ที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เมื่อท่านไปถึงบ้านเดิมแล้ว ได้เกิดปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น ในเวลาที่พระสารีบุตรกำลังอาพาธอยู่นั้น ท่านได้เทศนาโปรดมารดา จนนางสารีได้บรรลุโสดาบัน คืนนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระสารีบุตรก็ปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด รุ่งขึ้นพระจุนทะ (ผู้เป็นน้อง) ได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถรเจ้า เสร็จแล้วเก็บอัฏฐิธาตุ นำไปถวายพระบรมศาสดา ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระพุทธองค์โปรดให้ก่อเจดีย์ บรรจุอัฏฐิธาตุของพระสารีบุตร ไว้ ณ ที่นั้น การที่บุตรได้ชักนำบุพการี ให้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จนได้มรรคผล นับเป็นการตอบแทนคุณอย่างยอดเยี่ยม

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
สารีบุตรเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวา, เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญามาก


ย้อนกลับ เนื้อหา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก