หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระโสณกุฏิกัณณเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระโสณกุฏิกัณณเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระโสณกุฏิกัณณเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ไปวิหารกับมหาชน ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งผู้ยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีวาจาไพเราะ จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีวาจาไพเราะ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคต

จึงนิมนต์พระทศพล ถวายทาน ๗ วัน ได้กระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า พระองค์ทรงตั้งภิกษุใด ไว้ในตำแหน่งภิกษุ ผู้มีวาจาไพเราะ วันสุดท้ายในวันที่ ๗ วันนับแต่นี้ แม้ข้าพระองค์ พึงเป็นเหมือนอย่างภิกษุนั้น ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคต ด้วยผลแห่งกุศลกรรมนี้

พระศาสดาทรงเห็นว่า ไม่มีอันตราย สำหรับความปรารถานี้ จึงทรงพยากรณ์ว่า ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีวาจาไพเราะ ในศาสนาพระโคดมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล แล้วเสด็จกลับ ฝ่ายท่านก็กระทำกรรมดีจนตลอดชีวิต เวียนว่ายในเทวโลกและมนุษยโลก ตลอดแสนกัป

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่าน มาบังเกิดเป็นบุตรของอุบาสิกา ชื่อว่า กาฬี ผู้โสดาบันในกรุงราชคฤห์ เดิมชื่อว่า โสณะ เพราะเหตุว่า ท่านประดับเครื่องประดับที่หูมีค่าถึงโกฏิหนึ่ง จึงได้มีคำว่า กุฏิกัณณะ ตามหลังเป็น โสณกุฏิกัณณะ

เมื่อครั้งพระมหากัจจายนะ อาศัยอยู่ที่เขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีชนบท มารดาของโสณกุฏิกัณณะ ได้เป็นอุปัฏฐายิกาของท่าน เมื่อโสณกุฏิกัณณะ เจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่าน เกิดความเลื่อมใส ได้แสดงคนเป็นอุบาสก และเป็นผู้อุปัฏฐากทานด้วย

ขอบวชกับท่านพระมหากัจจายนะ
ครั้นต่อมา โสณกุฏิกัณณะ มีความปรารถนาจะบวช จึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะ บอกความประสงค์ของตนให้ท่านทราบ ท่านได้ชี้แจงแก่โสณอุบาสก ถึงการประพฤติพรหมจรรย์ว่า ลำบากอย่างไร แนะนำให้บำเพ็ญ ศาสนปฏิบัติในทางฆราวาส

แต่โสณอุบาสก มีศรัทธาแรงกล้า ถึงแม้จะทราบว่าลำบากอย่างไร ก็ยังปรารถนาเพื่อจะบวชอยู่ จึงได้อ้อนวอนขอให้ท่านสงเคราะห์อยู่เนือง ๆ ในที่สุดพระมหากัจจายนะ ก็ให้บวชเป็นสามเณรเท่านั้น เพราะในอวันตีชนบท มีภิกษุน้อย จะหาสงฆ์มีจำนวน ๑๐ รูป (ที่เรียกว่า ทสวรรค) ให้อุปสมบทได้ยาก

โดยล่วงไป ๓ ปี โสณกุฏิกัณณะ จึงได้อุปสมบท เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ก็ศึกษาเล่าเรียนกรรมฐาน ในสำนักอุปัชฌาย์ ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล เป็นพระอเสขบุคคล ในพระพุทธศาสนา

พระมหากัจจายนเถระฝากทูลถามสิกขาบทบางประการ
เพราะยังไม่เคยเห็นพระศาสดาเลย ท่านจึงลาพระมหากัจจายนเถระ เพื่อไปเฝ้าพระศาสดา พระมหากัจจายนเถระ ก็อนุญาต และสั่งให้ไปถวายบังคมพระศาสดาด้วยเศียรเกล้า ตามคำของท่าน และให้กราบทูลถึงการปฏิบัติพระวินัยบางอย่าง อันไม่สะดวกแก่ภิกษุผู้อยู่ในชนบทนั้น มีการอุปสมบท เป็นต้น เพื่อจะได้รับพระพุทธานุญาตจากพระบรมศาสดา

ครั้นลาพระอุปัชฌาย์แล้ว จัดแจงเก็บเสนาสนะถือ บาตรและจีวร ออกจากอวันตีชนบท ไปเฝ้าพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ครั้นถึงที่ประทับแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง พระองค์ตรัสปฏิสันถารตามสมควรแล้ว รับสั่งให้พระอานนท์จัดแจงที่พักให้ ในพระคันธกุฏีเดียวกันกับพระองค์

แสดงพระสูตรแสดงวัตถุ ๘ ประการด้วยเสียงอันไพเราะ
ในเวลาราตรีจวนจะสว่าง พระบรมศาสดา ทรงรับสั่งให้ท่านถวายพระธรรมเทศนา ท่านได้แสดงพระสูตร อันแสดงวัตถุ ๘ ประการ ด้วยเสียงอันไพเราะ พระองค์ทรงสดับแล้วตรัสสาธุการ ชมเชยว่า ดีละ ๆ “ภิกษุ ธรรม เธอเรียนไว้ดีแล้ว เทศนา ในเวลาที่เราแสดงแล้วก็ดี ในวันนี้ก็ดี เป็นอย่างเดียวกันเทียว ไม่ขาดไม่เกินเลย”

ฝ่ายพระเถระ เห็นเป็นโอกาสดี แล้วถวายบังคมพระศาสดา ตามคำขอของพระอุปัชฌาย์ ทูลขอพรทุกอย่าง ตั้งแต่การอุปสมบทด้วยคณะครบ ๕ และพระศาสดา ทรงประทานให้

ต่อมา พระเถระถวายบังคมตามคำของอุบาสิกามารดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสิกา ส่งผ้ากัมพลผืนนี้มาเพื่อปูลาดพื้น ในพระคันธกุฎี ที่ประทับของพระองค์ แล้วถวายผ้ากัมพลนั้น แล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมกลับมายังสำนักพระมหากัจจายนะตามเดิม ครั้นกลับมาแล้ว ได้แสดงพระธรรมเทศนาที่ได้ถวายแก่พระบรมศาสดา ให้มารดาของท่านฟังโดยทำนองนั้นอีก

เอตทัคคะในทางผู้มีวาจาไพเราะ
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีวาจาไพเราะ (กลฺยาณวากฺกรณานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระโสณกุฏิกัณณเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีวาจาไพเราะ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก