หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระอุปสีวเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระอุปสีวเถระ

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระอุปสีวเถระ เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญ อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน ไว้มากมายในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เกิดในเรือนของตระกูลหนึ่ง บรรลุนิติภาวะแล้ว ละเพศฆราวาส บวชเป็นฤาษี อยู่ในป่าหิมพานต์ ได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ลาดเครื่องปูลาด ที่ทำด้วยหญ้าแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยดอกสาละ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประทับนั่งบนเครื่องลาดอันนั้น

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระอุปสีวเถระ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิต ของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยา

ออกบวชเป็นชฏิลตามพราหมณ์พาวรี
ต่อมาพราหมณ์พาวรี มีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรต ตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะ และเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์

อุปสีวมาณพ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย และอยู่ในมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีผูกปัญหาให้ไปทูลถาม

อุปสีวมาณพ ทูลถามปัญหาเป็นคนที่หก
ท่านได้ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่หกว่า
ลำพังข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว ไม่ได้อาศัยอะไร และไม่อาจข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือ กิเลสได้ ขอพระองค์ตรัสบอกอารมณ์ที่หน่วงเหนี่ยว ซึ่งข้าพระพุทธเจ้า จะควรอาศัยข้ามห้วงนี้ แก่พระพุทธเจ้าเถิด

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์(เฉลย)ว่า ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งอากิญจัญญายตนญาณ อาศัยอารมณ์ว่าไม่มี ๆ ดังนี้ ข้ามห้วงทะเลใหญ่เถิด ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เป็นคนหมดความสงสัย เห็นความหมดไปแห่งความทะยานอยากได้ชัดเจน ทั้งกลางวันกลางคืนเถิด

อุปสีวมาณพ : ผู้ใดปราศจากความกำหนัด ในกามทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ตัดญาณอื่นได้แล้ว อาศัยอากิญจัญญายตนญาณ คือ ความเพ่งใจว่า “ไม่มีอะไร” เป็นอารมณ์ น้อมใจไปแล้ว ในอากิญจัญญายตนญาณ ซึ่งเป็นธรรมที่เปลื้องสัญญา อย่างประเสริฐสุด ผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนญาณนั้น ไม่มีเสื่อมบ้างหรือ?

พระพุทธเจ้า : ผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญยตนญาณนั้น ไม่เสื่อม

อุปสีวมาณพ : ถ้าผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนญาณนั้น ไม่มีเสื่อมสิ้นไป เขาจะเป็นคนยั่งยืนอยู่ในอากิญจัญญายตนญาณนั้น หรือ จะดับขันธปรินิพพาน วิญญาณของคนเช่นนั้น จะเป็นฉันใด?

พระพุทธเจ้า : เปลวไฟอันกำลังลมเป่าแล้ว ดับไป ไม่ถึงความนับว่า ได้ไปแล้วข้างทิศไหน ฉันใด ท่านผู้รู้พ้นไปแล้วจากกองนามรูป ย่อมดับไม่มีเหลือ (คือ ดับพร้อมทั้งกิเลส ทั้งขันธ์ คือ ร่างกาย) ไม่ต้องไปเกิดเป็นอะไรอีกฉันนั้น

อุปสีวมาณพ : ท่านผู้นั้นดับไปแล้ว หรือ เป็นเพียงแต่ไม่มีตัว หรือ จะเป็นผู้ตั้งอยู่ยั่งยืน หาอันตรายมิได้ ขอพระองค์ทรงพยากรณ์ ความข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า เพราะว่าธรรมนั้น พระองค์ได้ทรงทราบแล้ว

พระพุทธเจ้า : ผู้ที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว มิได้มีกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดในชาติต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ประมาณแห่งเบญจขันธ์ของผู้นั้น ไม่มีอีกเมื่อธรรมทั้งหลาย (มีขันธ์เป็นต้น) อันผู้นั้นขจัดได้หมดแล้ว ก็ไม่ต้องกล่าวถึงว่าผู้นั้นจะไปเกิดเป็นอะไรอีก

บรรลุอรหัตตผล และอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ครั้นพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่อุปสีวมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา อุปสีวมาณพก็ได้บรรลุพระอรหัตผล (ก่อนอุปสมบท) เมื่อการพยากรณ์ปัญหาแห่งมาณพนอกนี้ เสร็จเรียบร้อยแล้ว อุปสีวมาณพ พร้อมด้วยมาณพอีกสิบห้าคน ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก