หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระยโสชเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระยโสชเถระ
" ภิกษุอยู่ในป่าใหญ่ย่อมถูกเหลือบยุงกัด ต้องมีสติ อดทน จึงจะอยู่ได้
คล้ายช้างอาชาไนย อดทนอยู่ในสนามรบ
จะอยู่อย่างพรหม ก็ต้องอยู่รูปเดียว เพราะสงบสงัด
จะอยู่อย่างเทวดา ก็ต้องอยู่ ๒ รูป เพราะจะขัดแย้งกันเป็นครั้งคราว
จะอยู่อย่างชาวบ้าน ก็ต้องอยู่ ๓ รูป เพราะจะวุ่นวายไม่สิ้นสุด "

ชาติภูมิ
ท่านพระยโสชเถระ เกิดในตระกูลชาวประมง ในพระนครสาวัตถี บิดาของท่าน เป็นหัวหน้าของชาวประมง ๕๐๐ ตระกูล เดิมท่านชื่อว่า “ยโสชะ

เกิดพร้อมกับบุตรชาวประมง ๕๐๐ คน
เมื่อวันที่ท่านคลอดจากครรภ์มารดานั้น บรรดาภรรยาชาวประมง ๕๐๐ คน ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชายพร้อมกันในวันเดียวกัน ใช่แต่เท่านั้น ท่านกล่าวว่า เมื่อปฏิสนธิลงสู่ครรภ์มารดา ก็พร้อมกันด้วย เหตุนั้น เมื่อหัวหน้าชาวประมง ผู้เป็นบิดาของยโสชะ ทราบว่าเด็กในบ้านนั้น เกิดพร้อมกันในวันเดียวกัน กับบุตรของตน จึงให้เครื่องบำรุงเลี้ยง มีค่าน้ำนมเป็นต้น แก่เด็กเหล่านั้น ด้วยประสงค์ว่า ต่อไปจะได้เป็นสหาย แห่งลูกชายตน

เด็กเหล่านั้นทั้งหมด ได้เป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกัน ค่อยเจริญขึ้นโดยลำดับ ลูกชายหัวหน้าชาวประมง ได้เป็นผู้ใหญ่กว่าเด็กเหล่านั้น โดยยศ และโดยเดช เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เป็นสหายจับปลาด้วยกัน และมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน

จับได้ปลาทองตัวใหญ่แต่ปากเหม็น
วันหนึ่ง พวกสหายเหล่านั้น พากันถือแหไปเพื่อจะจับปลา พากันทอดแหในแม่น้ำอจิรวดี ได้ปลาทองใหญ่ตัวหนึ่ง แต่มีกลิ่นปากเหม็น เมื่อพวกชาวประมงทั้งหมด ได้เห็นแล้ว พากันส่งเสียงขึ้นด้วยความดีใจ ปรึกษากันว่า บุตรของพวกเรา จับได้ปลาทองตัวใหญ่ พระเจ้าแผ่นดิน คงจะโปรดปรานพระราชทานรางวัลให้ สหายเหล่านั้นทั้งหมด จับปลาใส่ในเรือนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้พระองค์ทรงทอดพระเนตร

พระเจ้าแผ่นดิน ทอดพระเนตรแล้ว ทรงดำริว่า พระบรมศาสดาคงจะทรงทราบ เหตุที่ปลานี้เป็นทอง จึงรับสั่งให้คนหามปลานั้น แล้วเสด็จไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า พอถึงที่เฝ้าแล้ว ปลาตัวนั้นก็อ้าปากขึ้น กลิ่นเหม็นกลบทั่วพระนครทั้งหมด

บุพกรรมของปลาทอง
พระบรมศาสดาทรงรับสั่งว่า ปลานี้ เมื่อก่อนเคยเป็นภิกษุชื่อว่า กปิละ เป็นพหุสูต มีบริวารมาก แต่ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ในพุทธศาสนากัสสปะ สัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นรับสั่งดังนั้นแล้ว จึงตรัสกปิลสูตร ในเวลาจบเทศนา บุตรชาวประมง ๕๐๐ คน มียโสชะเป็นหัวหน้า เกิดความเลื่อมใส จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ในสำนักของพระบรมศาสดา ครั้นอุปสมบทแล้ว ก็หลีกไปอยู่ที่เงียบสงัด เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม

ถูกพระบรมศาสดาขับจากสำนัก
ครั้งหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป มีท่านพระยโสชะเป็นหัวหน้า พากันมาเฝ้าพระองค์ ครั้นถึงแล้ว ได้คุยกันกับพวกภิกษุเจ้าถิ่นเสียงดังลั่น จนได้ยินถึงพระกรรณ พระองค์ทรงรับสั่งถามว่า อานนท์ ภิกษุพวกไหนนั่น มาคุยกันเสียงดังลั่น เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน

พระอานนท์กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้บอก ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาเฝ้า ตรัสถามอีก ท่านพระยโสชะกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ทรงประณามขับไล่ ไม่ให้อยู่ในสำนักของพระองค์

ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมกันทั้งหมด
พวกภิกษุเหล่านั้น พากันถวายบังคมกระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป เที่ยวจาริกโดยลำดับ บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เขตแดนเมืองเวสาลี พากันทำกุฎิ และบังด้วยใบไม้ เข้าพรรษา ณ ที่นั้น อาศัยความไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล พร้อมกันทั้งหมดภายในพรรษานั้น

นั่งเข้าอเนญชาสมาธิตามพระบรมศาสดา
ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดา เสด็จจาริกมายัง กรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้น ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงรับสั่งให้พระอานนท์มาเรียกพวกเธอมาเฝ้า

พระอานนท์ได้ไปเรียกภิกษุเหล่านั้น ให้มาเฝ้าตามรับสั่ง ครั้นถึงที่เฝ้าแล้ว ได้เห็นพระองค์ นั่งเข้าอเนญชาสมาธิอยู่ พวกท่านรู้ ก็พากันนั่งเข้าอเนญชาสมาธิตาม ส่วนพระอานนท์ เห็นพระบรมศาสดาประทับนิ่งอยู่ จึงทูลเตือนถึงสามครั้งว่า ภิกษุอาคันตุกะ มานั่งอยู่นานแล้ว จึงตรัสบอกว่า อานนท์ ฉันและภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ นั่งเข้าอเนญชาสมาธิอยู่ ท่านพระยโสชะนั้น นับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก