หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ นางสุชาดา
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๑. นางสุชาดา เอตทัคคะในฝ่ายผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อน

นางสุชาดา เป็นธิดาของเสนิยกุฏุมพี (กุฏุมพี = เศรษฐี ผู้มีทรัพย์มาก) ในหมู่บ้านเสนา นิคม แห่งตำบลอุรุเวลา เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาว นางได้ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดา ที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ใกล้บ้านของนาง โดยได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ ๒ ประการ คือ:-
๑. ขอให้ข้าพเจ้าได้สามีที่มีบุญ มีทรัพย์สมบัติ และมีชาติสกุลเสมอกัน
๒. ขอให้ข้าพเจ้ามีบุตรคนแรกเป็นชาย
ถ้าความปรารถนาของข้าพเจ้า ทั้ง ๒ ประการ สำเร็จสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าจะทำพลีกรรม แก่ท่าน ด้วยของอันมีค่าหนึ่งแสนกหาปณะ

ครั้นการต่อมา ความปรารถนาของนางสำเร็จ ทั้งสองประการ โดยได้สามีเป็นเศรษฐีมี ฐานะเสมอกัน และได้บุตรคนแรกเป็นชายนามว่า “ยสะ” นางได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป จนลูก ชายแต่งงานแล้ว จึงปรารภที่จะทำพลีกรรม บวงสรวงสังเวยเทพยดา ด้วยข้าวมธุปายาส เมื่อถึงวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ นางได้ประกอบพิธีหุงข้าวมธุปายาส เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นางทาสีสาว ไปปัดกวาด ทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไทรนั้น

แก้บนด้วยข้าวมธุปายาส
ขณะนั้น พระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ หลังจากเลิกการทรมานร่างกาย หันมาเสวยพระ กระยาหาร หวังจะบำเพ็ญเพียรทางจิต ประทับนั่งพักผ่อนที่ใต้ร่มไทรนั้น ผินพระพักตร์ทอดพระ เนตรไปทางทิศปราจีน (ตะวันออก) มีพระรัศมีแผ่ซ่านออก จากพระวรกายเป็นปริมณฑล ดูงามยิ่ง นัก นางทาสีสาวใช้เห็นแล้ว ก็ตระหนักแน่ในจิตคิดว่า คงจะเป็นเทพยดาเจ้า มานั่งคอยท่ารับ เครื่องพลีกรรม จึงมิได้เข้าไปทำความสะอาด ดังที่ตั้งใจมา รีบกลับไปแจ้งแก่นางสุชาดา โดยด่วน

ฝ่ายนางสุชาดา จึงรีบแต่งกาย ด้วยเครื่องอาภรณ์อันงดงาม เป็นที่เรียบร้อย แล้วยกถาดข้าว มธุปายาสขึ้นทูนศีรษะ ออกจากบ้านพร้อมด้วยบริวาร ไปยังต้นไทรนั้น ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์ งดงามเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสยินดี สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา มานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำ เข้าไปถวาย พร้อมทั้งถาดทองคำ

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ ทรงรับและเสวยข้าวมธุปายาสแล้ว เสด็จไปประทับที่โคนต้น พระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต และได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญู พุทธเจ้า ในวันนั้น หลังจากได้ประทับเสวยวิมุติสุข คือ สุขอันเกิดจากการตรัสรู้ บริเวณใกล้ ๆ นั้น เป็นเวลา ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน แล้วได้เสด็จไปแสดงธรรม โปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

ลูกชายหาย
ในที่ไม่ไกล จากป่าอิสิปตนมฤคทายวันมากนัก ตระกูลครอบครัวของนางสุชาดา ได้ตั้ง อยู่บริเวณนั้น เพราะเป็นตระกูลเศรษฐี มีทรัพย์สมบัติมาก แต่มีบุตรชายเพียงคนเดียว จึงเอาอก เอาใจบำรุงบำเรอบุตร ด้วยกามคุณ ๕ อย่าง พร้อมสรรพ ด้วยหวังจะให้บุตรชาย เป็นทายาทสืบ สกุล ได้สร้างปราสาท ๓ หลัง สำหรับเป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู อีกทั้งมีสาวงาม คอยขับร้องประโคม ดนตรีขับกล่อมตลอดเวลา

คืนหนึ่ง ยสะนอนหลับก่อนบริวาร และสาวขับร้อง ท่ามกลางแสงประทีปส่องสว่างอยู่ บรรดาหญิงนักขับร้องประโคมดนตรีทั้งหลาย เห็นยสะนอนหลับแล้ว จึงคิดว่า บัดนี้เจ้านายก็หลับ แล้วพวกเราจะขับร้อง ประโคมดนตรีกันไปเพื่อประโยชน์อะไร จึงพากันเอนกายลงนอนหลับ ไหลไม่ได้สติ

ยสะตื่นขึ้นมายามดึก เห็นอาการอันวิปริตต่าง ๆ ของหญิงนักดนตรีเหล่านั้น นอนกันไม่ เป็นระเบียบ บ้างก็นอนบ่น ละเมอเพ้อ พึมพำ บ้างก็นอนกรน ดังดุจเสียงกา บ้างก็เลื้อยกาย ไม่มี ผ้าปิด บ้างก็อ้าปากน้ำลายไหล ฯลฯ ไม่เป็นที่เจริญจิตเจริญใจ ดังแต่ก่อน ภาพเหล่านี้ปรากฏแก่ ยสะดุจซากศพ ในป่าช้าผีดิบ เกิดความรู้สึกสลด รันทดใจ และเบื่อหน่ายรำคาญ เป็นที่สุด จึงเดิน ออกจากห้อง เดินพลางบ่นพลางว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ออกจากห้อง ลงบันได เดิน ไปอย่างไม่มีจุดหมาย บังเอิญได้เดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์ เสด็จเดินจงกรมอยู่ ได้สดับเสียงของยสะ เดินบ่นมาเช่นนั้น จึงตรัสว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัด ข้อง เธอจงเข้ามาที่นี่ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง”

ยสะจึงถอดรองเท้าแล้ว เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ จบแล้ว ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

ยสะบรรลุพระอรหัตผล
ฝ่ายทางบ้าน พอรู้ว่าลูกชายหายไป จึงรีบส่งคนออกติดตามทั่วทุกทิศ บิดาเองก็ออกติด ตามด้วย และบังเอิญเดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าลูกชาย ก็จำได้จึงเข้าไปกราบ ทูลถามพระพุทธองค์ว่า เห็นลูกชายมาทางนี้บ้างหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงดำริว่า “ถ้าพ่อลูกได้ เห็นหน้ากัน ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม” จึงทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ มิให้พ่อลูกเห็นกัน ตรัสแก่เศรษฐีว่า “ท่านจงนั่งลงก่อน แล้วท่านจะได้เห็นลูกชายของท่าน” แล้วทรงแสดง อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้ท่านเศรษฐี ฟัง

ส่วน ยสะก็ได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบลง เศรษฐีได้บรรลุพระโสดาบัน ส่วนยสะได้บรรลุพระอรหัตผล พระพุทธองค์ทรงทราบว่า ยสะได้บรรลุพระอรหัต ไม่หวนกลับไปครองเพศฆราวาสอีกต่อไปแล้ว จึงทรงคลายฤทธิ์ให้พ่อลูกได้เห็นกัน

เศรษฐีเห็น ยสะลูกชายก็ดีใจ อ้อนวอนให้กลับบ้าน ด้วยคำว่า “ยสะ มารดาของเจ้าเศร้าโศกยิ่งนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าด้วยเถิด” แต่พอทราบว่า ยสะบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็อนุโมทนา และขอแสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ตลอดชีวิต ได้ชื่อว่า “เป็น อุบาสกคนแรก ที่ถึงพระรัตนตรัย” แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดา พร้อมด้วยยสะ ให้ไป รับอาหารบิณฑบาต ที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น และเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา แล้ว จึงกราบทูลลากลับบ้าน แจ้งแก่ภรรยาและบริวารในบ้าน ให้จัดเตรียมอาหาร เพื่อถวายพระ บรมศาสดาและยสะ

ฝ่ายยสะ เมื่อบิดากลับไปแล้ว กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานด้วยพระดำรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” โดยไม่มีคำว่า “เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” เหมือนกับที่ประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ เพราะว่ายสะได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์ ตั้งแต่ก่อนบวชนั่นเอง การอุปสมบทแบบนี้เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา

เช้าวันนั้น พระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระยสะ เสด็จไปยังเรือนของเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับบนอาสนะ ที่จัดเตรียมไว้ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้ช่วยกันถวายภัตตาหาร เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้งสองฟัง เมื่อจบลงเธอทั้งสอง ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา แสดงตนเป็นอุบาสิกา ขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต เธอทั้งสองได้ชื่อว่า “เป็นอุบาสิกาคนแรก หรือรุ่นแรกที่ถึงพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา”

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องนางสุชาดา (มารดาของพระยสะ) ในตำแหน่ง เอตทัคคะ ว่าเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อนอุบาสิกาทั้งปวง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก