หน้าหลัก พระพุทธเจ้า สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล พุทธคยา : สถานที่ตรัสรู้
Search:

“ ....ตถาคตมีวิชชาและ วิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่
โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้วย่อมยัง วิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์
สติปัฎฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้วยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้วยังมีสติปัฎฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์”

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

ปัจฉิมโอวาท:
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลาย ให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั่งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
อาจารย์วศิน อินทสระ

หน้าแรก : หมวดพระพุทธเจ้า
ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ | พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ | สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา | กุสินารา สถานที่ปรินิพพาน
พุทธคยา : สถานที่ตรัสรู้

พุทธคยา (บาลี: พุทฺธคยา, อังกฤษ: Bodh Gaya) คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญใน อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้ง ของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถาน ที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถาน อันเป็นที่ตั้ง ของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู

พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญ คือ องค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยา ยังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือ วัดไทยพุทธคยา

สำหรับชาวพุทธ พุทธคยา นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุด ของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก ที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก

พุทธคยา : สมัยพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาล พุทธคยา อยู่ในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ ๆ ร่มรื่นเป็นรมณียสถาน สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สภาพของพุทธคยาในสมัยพุทธกาล อาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฏก ที่ได้ทรงตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ ได้ทรงพรรณาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคมไว้ว่า

ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติ อันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น. ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจร ตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺตํ ราชวคฺค ม. ม. ๑๓/๔๔๘/๔๙๑

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ 7 สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา 7 สัปดาห์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของตปุสสะ และภัลลิกะ 2 พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์ มีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผล และสัตตุก้อน แล้วแสดงตน เป็นทวิวาจกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธ และพระธรรมเป็นสรณะคู่แรกของโลก และพระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระเกศาแก่พ่อค้าทั้งคู่ เป็นที่ระลึกในพุทธานุสสติด้วย

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล หลังจากการตรัสรู้ และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถา แต่เมื่อคราวพระอานนท์ ได้มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต่อมาต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวันจึงได้ชื่อว่าอานันทโพธิ์ และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน

พุทธคยา : หลังพุทธปรินิพพาน
บริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณียสถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช และสร้างต่อเติมเรื่อยมา โดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่ง เมื่อกองทัพมุสลิม บุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล

ต้นพระศรีมหาโพธิ์
สำหรับความเป็นไปของต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้นั้น ต้นแรกเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า (เกิดในวันเดียวกับวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) มีอายุมาได้ 352 ปี จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงถูกทำลายโดยพระชายาของพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะความอิจฉา ที่พระเจ้าอโศกรักและหวงแหนต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้จนไม่สนใจพระนาง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองนั้น ปลูกโดยพระเจ้าอโศกมหาราช จากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิม และมีอายุยืนมาประมาณ 871-891 ปี จนถูกทำลายในประมาณปี พ.ศ. 1143-1163 ด้วยน้ำมือของพระราชาฮินดู แห่งเบงกอล พระนามว่า ศศางกา ซึ่งพระองค์อิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก จึงทรงแอบนำกองทัพเข้ามาทำลายต้นโพธิ์ต้นนี้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามนั้น ปลูกโดยพระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เมารยะ และต้นที่สามนี้มีอายุยืนมากว่า 1,258-1,278 ปี จึงล้มลงในสมัยที่อินเดีย เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน ปลูกโดยนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เมื่อ พ.ศ. 2423

สำหรับความเป็นไปขององค์พระมหาโพธิเจดีย์นั้น พระเจ้าหุวิชกะ (อังกฤษ: Huvishka) มีพระราชศรัทธาสร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ในปี พ.ศ. 694 เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็นพระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงรีสวยงาม ติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ ทางทิศตะวันออก มี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นสถานที่กราบนมัสการ และชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะ และตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของมหาโพธิมณฑล มากว่าสองพันปี ในบางช่วงพระราชาแห่งแคว้นต่าง ๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษาจากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นดินอินเดียแถบนี้ ถูกคุกคามจากสงคราม และการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้าง และถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง รวมทั้ง แปลงมหาโพธิเจดีย์เป็นเทวสถาน

โดยเหตุการณ์ที่พุทธคยา ถูกชาวฮินดูครอบครองนั้น เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2133 จากการที่นักบวชฮินดูชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงพุทธคยา และได้ตั้งสำนักเล็ก ๆ ใกล้กับพระมหาโพธิเจดีย์ เมื่ออยู่ไปนาน ๆ จึงกลายเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย (มีผู้กล่าวว่า พราหมณ์มหันต์นี้ คือ นักธุรกิจการค้า ที่มาในรูปนักบวชฮินดู กล่าวกันว่าติดอันดับมหาเศรษฐี 1 ใน 5 ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์องค์ที่ 15 ในปัจจุบันก็มีการสืบทอดมาตั้งแต่โคเสณฆมัณฑิคีร์) ซึ่งการที่พราหมณ์มหันต์เข้ามาครอบครองพุทธคยานั้น ก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไร

พุทธคยา : ในปัจจุบัน
พุทธคยาในปัจจุบัน เป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติ เหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำ ได้ทับถมจนพื้นที่ ในบริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ในปัจจุบันผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ ต้องเดินลงบันได กว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดินเดิมที่เป็นฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ

ปัจจุบันพุทธคยา ได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ พระมหาโพธิเจดีย์ อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ 121.29 เมตร ภายในประดิษฐาน พระพุทธเมตตา พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลาย จากพระเจ้าศศางกา พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก พระแท่นวัชรอาสน์ แปลว่าพระแท่นมหาบุรุษใจเพชร สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง 4.10 นิ้ว 7.6 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองขึ้นทับพระแท่นเดิมเพื่อเป็นหลักฐานยืนยังว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้ ปัจจุบัน ประชาชนและรัฐบาล ประเทศศรีลังกาได้อุทิศสร้างกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำแท้ ประดิษฐานรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นวัชรอาสน์ และนอกจากนี้ บริเวณพุทธคยา และโดยรอบยังมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น กลุ่มพระเจดีย์เสวยวิมุตติสุข สระมุจลินทร์ บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกกรกิริยา) วัดพุทธนานาชาติ เป็นต้น

ต่อมา ชาวพุทธทั่วโลกจึงได้ร่วมเสนอขอให้พุทธคยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จนในที่สุด ในปี พ.ศ. 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก จึงได้พิจารณาให้พุทธคยาเป็นมรดกโลก

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก