หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระขทิรวนิยเรวตเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระขทิรวนิยเรวตเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระขทิรวนิยเถระ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้บังเกิดในตระกูล ของนายท่าเรือ ในนครหงสวดี กระทำการงานอยู่ที่ท่าเรือชื่อว่า ปยาคติตถะ ใกล้แม่น้ำใหญ่ วันหนึ่ง ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยหมู่สาวก เสด็จเข้าไปยังฝั่งแม่น้ำ มีใจเลื่อมใส จึงประกอบเรือขนาน ส่งให้ถึงฝั่งหนึ่ง ด้วยบูชาสักการะอันยิ่งใหญ่ ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่ง ที่พระศาสดาทรงตั้งไว้ ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ป่า จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นนั้นบ้าง ได้ยังมหาทานให้เป็นไป แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วกระทำความปรารถนาไว้

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ความปรารถนานั้นของท่าน ไม่เป็นหมัน จำเดิมแต่นั้น ท่านสั่งสมบุญทั้งหลาย ท่องเที่ยวในภพภูมิ ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เสวยสมบัติทั้งสองอยู่

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระเรวัตตเถระ ท่านมาบังเกิดเป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่านาลันทะ เป็นบุตรสุดท้อง และเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร เดิมชื่อว่า เรวตมาณพ

อาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน
เมื่อบวชเข้ามาในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านได้พำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้นามของป่านั้นนำหน้าชื่อว่า “ขทิรวนิยเรวัตตะ

แต่งงานตั้งแต่อายุ ๘ ปี
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อเรวตมาณพเจริญวัยมีอายุประมาณ ๘ ปี มารดาบิดาจึงปรึกษากันว่า บุตรของเราบวชหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แต่เรวตะคนเดียว ถ้าบวชเสีย ก็จะไม่มีใครสืบวงศ์ตระกูล เราควรจะผูกพันเจ้าเรวตะบุตรของเราไว้ ด้วยอันให้มีเหย้าเรือนเสีย แต่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่ อย่าให้พระสมณศากยบุตร พาไปบวชเสียอีกเลย

ครั้นปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงพาไปขอหมั้นนางกุมาริกาผู้มีชาติตระกูลเสมอกัน และได้กำหนดวันอาวาหมงคล(ฝ่ายหญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชาย) ด้วย

ครั้นถึงวันกำหนด จึงประดับตกแต่งเรวตมาณพ พาไปสู่เรือนของนางกุมาริกาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ในขณะเมื่อทำการมงคล เรวตมาณพ ได้ยินญาติทั้งของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว อวยพรในเวลารดน้ำว่า ขอให้มีอายุยืนเหมือนยายเถิด จึงเกิดความสงสัยขอดูตัวยาย ก็พบว่ายายเป็นคนชรา มีอายุ ๑๒๐ ชราภาพมาก เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ที่จะอยู่ครองเรือน เพราะมองเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร

แอบหนีไปบวช
เมื่อเสร็จจากการมงคลแล้ว ขณะพากันจัดแจงกลับบ้าน เรวตมาณพกับนางกุมาริกา นั่งมาในรถคันเดียวกัน เมื่อมาในระหว่างทาง เรวตมาณพ หาอุบายหลีกเลี่ยงหนีไปเสีย เข้ามาหาภิกษุผู้อยู่ในป่า ประมาณ ๑๙ รูป ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น แล้วขอบรรพชา

ภิกษุเหล่านั้นทราบว่า เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ก็ให้บรรพชา โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากมารดา เพราะท่านพระสารีบุตร ได้สั่งภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ถ้าเรวตะน้องชายของผม เข้ามาขอบวชในสำนักของพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงบวชให้เธอด้วย ไม่ต้องขอรับอนุญาตจากมารดาบิดา เพราะมารดาบิดาของผม เป็นมิจฉาทิฐิ

ครั้นพวกภิกษุเหล่านั้น ให้เรวตะบวชเป็นสามเณรแล้ว ส่งข่าวไปให้พระสารีบุตรทราบ ท่านมีความประสงค์จะมาเยี่ยม จึงได้ทูลลาพระบรมศาสดาถึงสองครั้ง พระองค์ตรัสห้ามเสียทั้งสองครั้ง จึงได้รีรออยู่

บำเพ็ญเพียรในป่าไม้ตะเคียน
พระเรวตะนั้น เมื่อบวชแล้วคิดว่า ถ้าเราจักอยู่ที่นี่ พวกญาติจักติดตามมาพบเรา จึงเรียนเอากรรมฐานในสำนักของภิกษุเหล่านั้น แล้วถือเอาบาตรและจีวร เที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้ตะเคียน ระยะไกลประมาณ ๓๐ โยชน์ ได้พำนักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น อุตส่าห์เจริญสมณธรรม บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นาน ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลในภายในพรรษานั้น

เนรมิตอารามต้อนรับพระศาสดาพร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์
เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลลาพระบรมศาสดา เพื่อจะไปเยี่ยมพระเรวตะ พระบรมศาสดา รับสั่งให้รอก่อน เพราะว่าพระองค์จะเสด็จไปด้วย และรับสั่งให้บอกแก่ภิกษุ ผู้จะตามเสด็จตระเตรียมตัว ครั้งนั้น ได้เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุห้าร้อยเป็นบริวาร

พระเรวตเถระ ทำการต้อนรับเป็นอย่างดี ตามตำนาน ท่านกล่าวว่า พระเรวัตตะ นิรมิตพระคันธกุฎีเพื่อเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา และนิรมิตเรือนยอดห้าร้อย เป็นที่พักของพวกบริวาร นิรมิตที่จงกรมก็ห้าร้อย ที่พักกลางคืนและกลางวันก็ห้าร้อย พระบรมศาสดาเสด็จประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้น ถึงเดือนหนึ่ง แล้วจึงเสด็จกลับ

เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่า
ส่วนท่านพระเรวัตตะ ชอบพำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน ที่ขรุขระด้วยก้อนกวดและก้อนหิน บนที่ดอนนั้น เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ในป่า(อารญฺญกานํ)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระเรวตขทิรวนิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่า


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก