หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)

พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)

[ วัดมหาธาตุ ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๙ )
พระประวัติเบื้องต้น
       สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงมีพระประวัติในเบื้องต้นเป็นมาอย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐาน เช่นเดียวกับสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระราชาคณะที่ พระญาณสมโพธิ อยู่วัดมหาธาตุ ถึง พ.ศ. ๒๓๒๓ ในสมัยกรุงธนบุรี ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์

มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้เลื่อนเป็นพระพนรัตน[๑] ซึ่งเป็นตำแหน่งรองสมเด็จพระสังฆราช ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า

“ตำแหน่งพระพนรัตนนั้น นับว่าเป็นสังฆราชองค์ ๑ รองแต่สมเด็จพระอริยวงษ์ฯ ลงมา ในทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามา มีตำแหน่งสังฆปริณายก ๒ องค์ เรียกว่า “พระสังฆราชซ้ายขวา” สมเด็จพระอริยวงษ์ เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวา ว่าคณะเหนือ พระพนรัตนเป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ว่าคณะใต้ เกียรติยศมีสุพรรณบัตร จารึกพระนามเมื่อทรงตั้งทั้ง ๒ องค์ แต่ที่พระพนรัตน โดยปรกติไม่ได้เป็นสมเด็จ ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้น เป็นสมเด็จพระอริยวงษ์ทุกองค์ จึงเรียกว่า “สมเด็จพระสังฆราช” และจึงเป็นมหาสังฆปริณายก มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้ายที่พระพนรัตน แต่ก่อนมาทรงยกเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์ พึ่งเป็นสมเด็จทุกองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา" [๒]

อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุรูปที่ ๑
       สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ รูปที่ ๑ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ครั้งยังทรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์ ซึ่งสมัยนั้นวัดมหาธาตุยังเรียกว่า “วัดสลัก” เป็นพระอารามที่อยู่ในเขตพระนคร และเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี

วัดสลักเป็นวัดที่สร้างมาแต่ครั้งกรุงเก่า ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์ วัดสลักได้เปลี่ยนชื่อถึง ๓ ครั้ง คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และทรงขนานนามเปลี่ยนเป็น วัดนิพพานาราม

ครั้น พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปรารภพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ จะทำสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงพระราชดำริเห็นว่าวัดนิพพานาราม สมควรเป็นที่ประชุมสงฆ์ทำสังคายนา จึึงโปรด ให้เปลี่ยนนามใหม่ว่า วัดพระศรีสรรเพชดาราม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ประชุมพระราชาคณะ สอบไล่พระปริยัติธรรมภิกษุสามเณร ที่วัดพระศรีสรรเพชดาราม แล้วจึงโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งหนึ่งว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แต่คนทั้งหลายเรียกว่าวัดมหาธาตุ

ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคทรัพย์เป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ให้ปฏิสังขรณ์แล้วโปรดให้เพิ่มสร้อยต่อนามพระอาราม เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระองค์นั้นว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์” ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้” [๓]

การสังคายนาพระไตรปิฎก
       ในการสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ อันเป็นการสังคายนาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้น สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ซึ่งขณะนั้นทรงสมณศักดิ์ที่ พระพนรัตน ทรงเป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญพระองค์หนึ่ง คือทรงเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก การที่ทรงได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นผู้ชำนาญพระไตรปิฎกพระองค์หนึ่ง ดังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสันนิษฐานว่า คงทรงเป็นเปรียญมาแต่ครั้งกรุงเก่า [๔]

สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
       พ.ศ. ๒๓๓๗ ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) สิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระพนรัตน (ศุข) เป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และโปรดให้สถิต ณ วัดมหาธาตุนั้นสืบไป

พระกรณียกิจพิเศษ
       สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์ และทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระราชวงศ์หลายพระองค์ คือ
       ๑. ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดให้ พระพงศ์อมรินทร์ ซึ่งเป็นราชบุตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และนักองเอง ซึ่งต่อมาทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ พระเจ้ากรุงกัมพูชา ทรงผนวชด้วย
       ๒. ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งทรงผนวชเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ ณ วัดมหาธาตุ เป็นเวลา ๗ วัน จึงทรงลาผนวช
       ๓. ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ (ไม่ทราบปีที่ทรงผนวช)

นอกจากนี้ ยังทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ ของเจ้านายที่ทรงผนวชในช่วงปลายรัชกาลที่ ๑ โดยมากด้วย ๖

พระกรณียกิจในรัชกาลที่ ๒
       สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงมีพระชนม์อายุยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ ๒ และในรัชกาลนี้ ก็ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งทรงผนวชเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากเสด็จกลับจากศึกพม่าถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๓ แล้วประชวรไข้ป่าพระอาการมาก ครั้นหายประชวรแล้วจึงเสด็จออกทรงผนวชอีกครั้งหนึ่ง ประทับอยู่วัดมหาธาตุเป็นเวลา ๗ วันจึงทรงลาผนวช [๗]

สมณทูตไทยไปลังกา
       ในยุคที่สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นมหาสังฆปรินายกนี้เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้จัดสมณทูตออกไปสืบข่าวพระศาสนา ณ ลังกาทวีป เป็นครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่ว่างเว้นการติดต่อกันมา เป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี นับแต่คณะพระสงฆ์ไทย ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่มีพระวิสุทธาจารย์เป็นประธาน ออกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๘ เป็นครั้งหลังสุด สาเหตุที่โปรดให้จัดสมณทูตออกไปลังกาครั้งนี้ ปรากฏความตามพระราชพงศาวดารว่า

"เมื่อปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑พ.ศ. ๒๓๕๒ แต่ในปลายรัชกาลที่ ๑ มีพระภิกษุชาวลังกาชื่อพระวลิตรภิกษุรูป ๑ กับสามเณร ๒ รูปเข้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราช มาถึงกรุงเทพฯ โปรดให้วลิตรภิกษุกับสามเณร ชื่อรัตนปาละ ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมหาธาตุสามเณรอีกรูป ๑ ชื่อหิธายะ ให้ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระวันรัตน์วัดพระเชตุพน

ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ สามเณรลังกาทั้ง ๒ รูป ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุสยามวงศ์ เพราะถือว่าเป็นวงศ์เดียวกับพระสงฆ์ในลังกาทวีป ซึ่งได้รับอุปสมบทแต่พระอุบาลีที่ออกไปในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงเก่า จึงโปรดให้สามเณรทั้ง ๒ นี้เป็นนาคหลวงบวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานนิตยภัตไตรปีสืบมา

ครั้นมาถึงปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ มีพระลังกาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ อีกรูป ๑ ชื่อพระศาสนวงศ์ อ้างว่าพระมหาสังฆนายกในลังกาทวีป ให้เชิญพระบรมสารีริกธาต ุเข้ามาถวายแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีสมณสาสน์ หรือสำคัญอันใดมา ครั้นไต่ถามถึงการพระศาสนาในลังกาทวีป พระศาสนวงศ์ก็ให้การเลื่อนเปื้อนไปต่าง ๆ ซ้ำมาเกิดรังเกียจไม่ปรองดองกัน กับพระลังกาที่เข้ามาอยู่แต่ก่อน วัตรปฏิบัติก็ไม่น่าเลื่อมใสด้วยกันทั้ง ๒ รูป จึงเป็นเหตุให้ทรงแคลงพระราชหฤทัยว่า จะมิใช่พระที่ได้รับอุปสมบทมาแต่ลังกาทวีป

ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์ในลังกาทวีป ก็เป็นสมณวงศ์อันเดียวกันกับพระสงฆ์ในสยามประเทศ เคยมีสมณไมตรีต่อกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่เริดร้างมาเสียเพราะเกิดเหตุศึกสงคราม ไม่ได้ไปมาหาสู่ถึงกันช้านาน บัดนี้กรุงสยาม ก็ได้ประดิษฐานพระนครรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มีอิสระมั่นคงแล้ว แลได้ข่าวว่าลังกาทวีปเสียแก่อังกฤษ การพระศาสนาแลศาสนวงศ์ ในลังกาทวีปจะเป็นอย่างไร ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้ จึงทรงเผดียงสมเด็จพระวันรัตน์ (มี) วัดราชบุรณะ กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ให้จัดหาพระภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้ แลคณะเหนือ จะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง

สมเด็จพระวันรัตน จัดได้พระวัดราชบุรณะ ๕ รูป คือ พระอาจารย์ดีรูป ๑ พระอาจารย์เทพรูป ๑ พระแก้วรูป ๑ พระคงรูป ๑ พระห่วงรูป ๑ พระพุทธโฆษาจารย์ จัดได้พระวัดมหาธาตุ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อยู่รูป ๑ พระปรางรูป ๑ พระเซ่งรูป ๑พระม่วงรูป ๑ รวมพระสงฆ์ไทย ๙ รูป ครั้งนั้นพระรัตนปาละ พระหิธายะชาวลังกา ซึ่งเข้ามาอุปสมบทในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์สมณทูตไทยจะออกไปลังกา ถวายพระพรลาจะออกไปเยี่ยมญาติโยมของตนด้วย โปรดให้ไปกับสมณทูต พระสงฆ์ที่จะไปจึงรวมเป็น ๑๐ รูปด้วยกัน “ [๘]

สมณทูตคณะนี้ ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๗ เนื่องจากเรือเกิดชำรุด ต้องติดค้างอยู่ที่นครศรีธรรมราชเป็นเวลา ๑๑ เดือน จากนครศรีธรรมราชเดินบกไปขึ้นเรือที่เมืองตรัง ออกเดินทางจากเมืองตรัง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๕๘ ถึงเกาะลังกา เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๕๙ สมณทูตไทยอยู่ในลังกา ๑๒ เดือน จึงเดินทางกลับ ออกเดินทางจากลังกา เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๖๐ มาพักอยู่ที่เกาะหมาก (ปีนัง) ๔ เดือน ถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๑ [๙]

ในการจัดสมณทูตไปลังกาครั้งนี้ แม้ว่าจะมิได้โปรดให้สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นผู้จัดการเรื่องต่าง ๆ โดยตรง เนื่องจากทรงชราภาพ แต่ก็คงเป็นที่ทรงปรึกษาในการนี้ด้วยพระองค์หนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะทรงเป็นพระมหาเถระรัตตัญญูอยู่ในเวลานั้น ทั้งทรงทันรู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามาด้วย จึงคงจะทรงทราบธรรมเนียมแบบอย่างทางคณะสงฆ์มาเป็นอันดี

พระอวสานกาล
       สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงดำรงตำแหน่งมหาสังฆปรินายกเป็นเวลา ๒๓ ปี นับว่ายาวนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ ที่เคยมีมาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๕๙ ตรงกับวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวดอัฐศก เวลา ๒ โมงเช้า [๑๐] ทรงมีพระชนมายุเท่าใด ไม่ปรากฏชัด แต่จากสถานการณ์แวดล้อม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า คงมีพระชนมายุเกิน ๘๐ พรรษา [๑๑]

-------------------------------------------------
เชิงอรรถ
๑. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หน้า ๗๓-๗๔.
๒ . เรื่องประวัติวัดมหาธาตุ. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ พิมพ์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๖๑ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หน้า ๑๑๐.
๓ เรื่องประวัติวัดมหาธาตุ อ้างแล้ว หน้า ๑-๒, ๓๖.
๔ เรื่องประวัติวัดมหาธาตุ อ้างแล้ว หน้า ๑๑๑.
๕ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัซกาลที่ ๑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ หน้า ๗๓, ๗๖.
๖ เรื่องประวัติวัดมหาธาตุ อ้างแล้ว หน้า ๑๑๑.
๗ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒. สมเด็จ ฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ พิมพ์เฉลิมพระเกียรติ์ เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลบรมราชานุสรณ์ประจำปี ๒๕๓๓ หน้า ๕๗.
๘ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ รัชกาลที่ ๒. อ้างแล้ว หน้า ๙๙-๑๐๐
๙ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ รัชกาลที่ ๒. อ้างแล้ว หน้า ๑๐๐-๑๐๓.
๑๐ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ รัชกาลที่ ๒. อ้างแล้ว หน้า ๑๑๕.
๑๑ เรื่องประวัติวัดมหาธาตุ อ้างแล้ว หน้า ๑๑๑.


เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก