หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)

พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
[ วัดเบญจมบพิตร ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๑ ฉบับที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๐ )

ประสูติ

สมเด็จพระสังฆราช (กิตติโสภณมหาเถระ) พระนามเดิม “ปลด” นามบิดา ขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ) นามมารดา ท่านปลั่ง ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๒๕๑ เวลา ๑๐ ทุ่ม (๐๔.๐๐ น.) เศษ ที่บ้านในตรอกหลังตลาดพาหุรัด ติดกับวัดราชบุรณะ ในพระนคร

ท่านขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ) เป็นมหาดเล็กใกล้ชิดในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นเจ้ากรมคนแรกในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ในเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นทรงกรมเป็นกรมขุน ฯ และได้ลาออกเสียก่อนที่จะทรงกรมเป็นกรมหลวง ฯ เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๕๑ ปี ส่วนท่านปลั่ง มารดานั้น ได้ไปตั้งหลักฐานอยู่ในตรอกหลังพระราชวังเดิม (ร.ร. ทหารเรือปัจจุบัน) และได้มีอาชีพค้าขายอยู่ที่ตลาดท่าเตียน ภายหลังได้ติดตามมาอยู่ที่บ้านข้างวัดเบญจมบพิตร จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุได้ ๗๑ ปี

สมเด็จพระสังฆราชเคยรับสั่งว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้รับสั่งชี้แจงให้ทราบว่า มีสายตระกูลสัมพันธ์กันโดยฐานพระญาติ ในสายตระกูลเกตุทัต, หงสกุล, สกุณะสิงห์, และคชาชีวะ, โดยท่านเจ้ากรมล้ำ เป็นบุตรท่านสั้น และหลวงรักษ์ราชหิรัญ (หนูพิณ) และสมเด็จพระสังฆราชทรงใช้นามสกุลว่า “เกตุทัต” เสมอ เพราะทรงถือว่าเป็นสายใหญ่ ส่วนท่านปลั่งนั้น โดยสายตระกูลเพียงแต่แจ้งว่าเป็นญาติกับหม่อมสว่าง ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ โดยสมเด็จพระสังฆราช ทรงทั้งอยู่ในฐานะเป็นน้า ของพระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น ที่กำเนิดแต่หม่อมสว่าง

สมัยทรงพระเยาว์และเริ่มการศึกษา
ท่านปลั่งได้พาสมเด็จพระสังฆราช แต่ยังทรงพระเยาว์ ไปอยู่กับท่านตาหรั่งและท่านยายน้อย (ท่านตาและท่านยายของสมเด็จพระสังฆราช) ที่บ้านเดิมในตรอกหลังพระราชวังเดิมธนบุรี ทรงเจริญวัย ณ บ้านนี้ จนถึงเวลาไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระเชตุพน เมื่อพระชนม์ ได้ ๑๒ ปี

ได้ทรงศึกษาอักขรสมัยพออ่านออกเขียนได้แล้ว เริ่มเรียนภาษาบาลีแต่เมื่อพระชนม์ได้ ๘ ปี โดยท่านตาเป็นผู้พาไปเรียนกับอาจารย์และรับกลับบ้าน ได้เรียนมูลกัจจายน์กับอาจารย์ฟัก วัดประยูรวงศาวาส จนจบการก และเรียน ธมฺมปทฏฺฐกถากับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เปีย) แต่ยังเป็นพระเทพมุนี วัดกัลยาณมิตร วัดพระเชตุพน และพระยาธรรมปรีชา (บุญ) แต่ยังเป็นพระวิจิตรธรรมปริวัตร ซึ่งเป็นอาจารย์หลวงสอนพระปริยัติธรรม ณ วัด สุทัศนเทพวราราม

การเรียนภาษาบาลีของพระองค์ในระยะนี้ คล้ายกับนักเรียนไปโรงเรียนอย่างในปัจจุบันกล่าวคือ ยังคงอยู่ที่บ้าน แล้วมาเรียนหนังสือตามสถานที่ดังกล่าว แบบนักเรียนไปกลับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ พระชนม์ได้ ๑๒ ปี จึงทรงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดพระเชตุพน

บรรพชา
เมื่อได้ทรงศึกษาบาลีภาษา มีความรู้พอจะเข้าสอบได้แล้ว จึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระสาธุศีลสังวร (บัว) วัดพระเชตุพน เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ ปี ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ ต่อมาอีก ๓ เดือนก็ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมในปลายปีนั้น ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ ทรงเป็นอธิบดีการสอบไล่ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงฟังการแปลในวันนั้นด้วย และเมื่อสามเณรปลด (สมเด็จพระสังฆราช) จับประโยค ๑ เพื่อเข้าแปลเป็นครั้งแรกนั้น เป็นวันเดียวกับพระวัดเบญจมบพิตร เข้าแปลเป็นปีแรกเช่นเดียวกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสามเณรปลดเข้าแปลได้ประโยค ๑ ก็รับสั่งว่า “เณรเล็ก ๆ ก็แปลได้” และรับสั่งถามถึงอาจารย์ ท่านเจ้าคุณพระสาธุศีลสังวร (บัว) จึงนำถวายตัว ครั้นทรงสอบถามได้ความว่าเป็นบุตรเจ้ากรมล้ำก็ยิ่งทรงพระกรุณา จึงโปรดให้อยู่วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม ตั้งแต่วันนั้น ต่อมาได้เข้าแปลประโยค ๒ และประโยค ๓ ได้ในการสอบไล่คราวนั้น ดังปรากฏตามรายการพระราชกุศล ในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม ภาคที่สี่ ร.ศ. ๑๒๐ ว่า

“สามเณรปลด ประโยค ๑ แปลวันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ธรรมบทบั้นต้น ผูก ๑๘ หนังสือ๑๐ บรรทัด ขึ้นต้น เตปิ วาณิชกา ราชกุลํ คนฺตวา ลงท้าย สาสนํ ปหิตํ เทวีติ แปลสองพัก ๒๐ นาที ความรู้เป็นชั้นสอง ประโยค ๒ แปลวันที่ ๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ ธรรมบทบั้นต้น ผูก ๑ หนังสือ ๑๐ บรรทัด ขึ้นต้น ตตฺถ กิญฺจาปิ มโนติ ลงท้าย มโน เสฎฺโฐ แปลสองพัก ๑๕ นาที ความรู้เป็นชั้นที่สอง ประโยค ๓ แปลวันที่ ๘ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ ธรรมบทบั้นต้น ผูก ๓ หนังสือ ๔๐ บรรทัด ขึ้นต้นอสาเร สารมติโนติ อิมํ ลงท้าย ปธานํ ปทหิตฺวา แปลพักเดียว ๒๕ นาทีความรู้เป็นชั้นที่สอง” ดังนี้ชื่อว่า สามเณรปลด สอบได้เปรียญ ๓ ประโยค

เมื่อได้มาอยู่วัดเบญจมบพิตรแล้ว ก็ได้ ศึกษาพระปริยัติธรรมสูงขึ้นโดยลำดับ ประโยค ป.ธ. ๔ - ๕ - ๖ ได้ศึกษากับท่านอาจารย์ คือ สมเด็จพระวันรัต ปุณณทัตตมหาเถระ (จ่าย) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรองค์ประถม และสมเด็จพระวันรัต อุทยมหาเถระ (ฑิต) เจ้าอาวาส วัดมหาธาตุ ผู้กำกับการวัดเบญจมบพิตร และอาจารย์อื่น ๆ อีกหลายท่าน เช่นพระยาปริยัติธรรมธาดา ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น ประโยค ป.ธ. ๗-๘-๙ ได้ศึกษากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นประจำ แต่บางครั้งได้ไปศึกษากับสมเด็จพระวันรัต อุทยมหาเถระ (ฑิต) บ้าง สำหรับเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ องค์นี้ สมเด็จพระสังฆราชเคยรับสั่งว่า ท่านแม้จะเป็นเปรียญเพียง ๔ ประโยค แต่ความรู้แล้ว พระเปรียญ ๙ ประโยคทำอะไรไม่ได้

ผลของการศึกษา ปรากฏว่าทรงสอบไล่พระปริยัติธรรมประโยค ๔ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๔) ประโยค ๕ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๔ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๕) ประโยค ๖ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๕ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๖ ) ประโยค ๗ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๗) ประโยค ๘ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๐) และประโยค ๙ ได้เมื่อพระชนม์ย่างเข้าปีที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ซึ่งปรากฏตามรายการพระราชกุศลในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาคที่ ๑๗ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘ ว่า

“สามเณรปลด ประโยค ๙ แปลวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ฎีกาอภิธัมมัตถสังคห ผูก ๘ ว่าด้วยอารมณ์ของอภิญญา หนังสือ ๑๐ บรรทัด ขึ้นต้น เอตฺถหิ อิทฺธิวิธญาณสฺส ตาว ฯลฯ ลงท้าย อยเมเตสํ อารมฺมณวิภาโค แปลพักเดียว ๑๔ นาที ความรู้ชั้น ๑” ดังนี้

อุปสมบท
ทรงได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๕๒

การพระศาสนา
โดยที่ทรงมีพระอัธยาศัยน้อมไปในเนกขัมมะ ได้ศึกษาอักขรสมัยบาลีภาษา และธรรมวินัย แต่เมื่อมีพระชนม์ยังน้อย ได้บรรพชาเป็นสามเณร ในเวลามีพระชนม์เพียง ๑๒ ปี เท่านั้น และเพราะมีพระอัธยาศัยรักในทางธรรม ทรงค้นคว้าศึกษาจนแตกฉาน สามารถสอบเป็นเปรียญ ๙ ประโยคได้แต่ครั้งเป็นสามเณร และได้รับการอุปสมบทติดต่อมา ด้วยพระบรมราชูปถัมภ์เป็นพิเศษ ดังนั้นเมื่อพระองค์ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว การศึกษาพระปริยัติธรรมตามหลักสูตรการศึกษา ก็เป็นอันจบด้วยดีแล้ว นอกจากจะทรงค้นคว้าศึกษาเป็นพิเศษอื่น ๆ ตามพระอัธยาศัย

ซึ่งก็เพราะเหตุนี้เอง พระองค์จึงได้รับภารกิจพระศาสนามาเป็นอันมาก และภาระหน้าที่ที่พระองค์ได้ทรงรับแล้วนั้น ๆ ก็ทรงสามารถปฏิบัติให้สำเร็จไปด้วยดี และบางครั้งต้องประกอบด้วยอุบายวิธี เช่น การที่จะป้องกันมิให้ท่านครูบาศรีวิชัย และศิษย์อื่น ๆ ทำการบรรพชาอุปสมบทบุคคลไม่เลือก คือเมื่อมีบุคคลมาขอบวชแล้ว จะเป็นบุคคลเช่นไรไม่คำนึงถึง ให้การบรรพชาอุปสมบททันที ครั้นบุคคลเหล่านั้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย จึงก่อความลำบากแก่วงการคณะสงฆ์ในภาคพายัพ

พระองค์ในฐานะเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ ครั้นจะปฏิบัติการอะไรรุนแรงลงไปก็ไม่ได้ เพราะครูบาศรีวิชัยเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนเป็นอันมาก ซึ่งโดยความเป็นจริง ครูบาศรีวิชัยเป็นภิกษุที่ดีมาก ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือนได้ แต่บรรดาสานุศิษย์ของครูบาเอง พยายามที่จะใช้บารมีธรรมของท่านไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นในวงการคณะสงฆ์ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่

พระองค์จึงได้อาราธนาครูบาศรีวิชัยลงมาพักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อขอให้ครูบาศรีวิชัยได้ทำสัญญาว่า จะไม่บวชพระเณรก่อนได้รับอนุญาต ในขณะเดียวกันก็ได้ปรึกษาหารือ เพื่อความเรียบร้อยแห่งวงการคณะสงฆ์ด้วย ซึ่งครูบาศรีวิชัยก็ได้เห็นชอบด้วยดีและยอมทำสัญญาไว้กับสมเด็จพระสังฆราช เมื่อได้ตกลงกันแล้ว สมเด็จพระสังฆราช ก็ได้ทรงอนุญาตให้ครูบาศรีวิชัยกลับเชียงใหม่ได้ และการคณะสงฆ์ก็เรียบร้อยแต่นั้นมา

สมเด็จพระสังฆราชเคยรับสั่งว่า ครูบาศรีวิชัยเป็นภิกษุที่ดีมาก และได้รักษาสัญญานั้นเป็นอันดีมาจนตลอดชนมชีพของท่าน

นี่เป็นเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง ที่ได้ทรงปฏิบัติการไปเพื่อกิจพระศาสนา และกิจการพระศาสนา ที่ได้ทรงปฏิบัติตลอดพระชนมชีพของพระองค์นั้น พอจะสรุปลงได้ในองค์การพระศาสนาทั้ง ๔ องค์การ ดังต่อไปนี้

๑. องค์การปกครอง
พอได้รับการอุปสมบทแล้ว ในฐานะที่เป็นเปรียญเอก ๙ ประโยค ก็คงจะได้รับมอบหมายให้ช่วยการปกครองคณะเป็นการภายในบ้าง แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน ต่อล่วงมาอีก ๖ ปี พระชนมายุได้ ๒๖ ปี พรรษา ๖ ในต้นรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระศรีวิสุทธิวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ งานปกครองคณะสงฆ์ของพระองค์จึงปรากฏเป็นหลักฐานตั้งแต่นั้นมา ซึ่งมีเป็นลำดับดังนี้

๑.๑ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๑
๑.๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึงสิ้นพระชนม์
๑.๓ เป็นเจ้าคณะแขวงกลาง จังหวัดพระนคร (เทียบเท่าเจ้าคณะจังหวัด) ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕
๑.๔ เป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕
๑.๕ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕
๑.๖ เป็นเจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔
๑.๗ เป็นประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช ติสสเทวมหาเถระ วัดสุทัศนเทพวราราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔
๑.๘ เป็นสังฆนายก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓
๑.๙ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงประชวรและไม่ทรงสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว โปรดให้รักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑

๒. องค์การศึกษา
ได้ทรงรับภารกิจพระศาสนาในด้านการศึกษามาเป็นอันมาก เริ่มแต่การศึกษาในสำนักวัดเบญจมบพิตร อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่จบการศึกษาตามหลักสูตรแล้วก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนบาลีผู้หนึ่ง ดังปรากฏตามรายการพระราชกุศลในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาคที่ ๑๗ รัตนโกสินทร ๑๒๘ ว่าด้วยการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พระสงฆ์สามเณรวัดเบญจมบพิตรได้จัดการเปลี่ยนแปลงใหม่ เพราะมีพระสงฆ์สามเณรและศิษย์วัดได้เล่าเรียนทวีมากขึ้น มีระเบียบการสอนเป็นชั้น ๆ ดังนี้ ฯลฯ ชั้นเปรียญสามัญ ตั้งแต่ประโยค ๑ ถึง ประโยค ๓ เรียนธรรมบทบั้นต้นบั้นปลาย พระมหาโชติ เปรียญ ๘ ประโยคเป็นผู้สอนประจำชั้น แต่บางคราวให้พระมหาปลด เปรียญ ๙ ประโยคเป็นผู้สอนแทน” ดังนี้

ปรากฏว่าทรงเป็นครูที่ดี สามารถถ่ายเทความรู้ให้แก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดี ศิษย์ของพระองค์ได้สำเร็จการศึกษาเป็นเปรียญประโยคต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ได้เป็นกำลังพระศาสนา และที่ออกไปรับราชการและประกอบอาชีพต่าง ๆ มีเป็นอันมากทรงรักงานสอนหนังสือมาก เคยรับสั่งเสมอว่าเวลาที่สุขสบายใจ ก็คือการสอนและการแสดงธรรมโดยปฏิภาณโวหาร ทรงทำการสอนด้วยพระองค์เอง และอำนวยการให้พระภิกษุอื่น ๆ สอน ทั้งในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรและในมณฑลพายัพ โดยส่งพระเปรียญจากจังหวัดพระนครไปทำการสอนในจังหวัดต่าง ๆ เป็นอันมาก ทำให้การศึกษาภาษาบาลีใน ๗ จังหวัดมณฑลพายัพได้เจริญรุ่งเรืองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

สำหรับพระองค์เองได้สอนตั้งแต่ชั้นสามัญ คือประโยค ๓ จนถึงประโยค ๙ โดยเฉพาะประโยค ๙ ทรงสอนมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงได้ยุติการสอน เพราะมีพระเปรียญที่เป็นศิษย์สามารถสอนแทนได้แล้ว และเพราะภาวะสงคราม พระภิกษุสามเณรต่างกลับไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิมเสียเป็นส่วนมาก ครั้นเสร็จภาวะสงครามแล้ว ก็ต้องทรงรับภาระพระพุทธศาสนาในฝ่ายอื่นมาก ไม่มีเวลาที่จะทำการสอนได้ แต่ถึงอย่างนั้น ในการสอนพระภิกษุใหม่ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระองค์ ได้ทรงสอนนับแต่ได้รับมอบหมายจากสมเด็จ ฯ เจ้าอาวาสองค์ประถมเป็นต้นมา จนถึงพรรษาสุดท้าย คือพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ในฝ่ายการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น เมื่อสรุปแล้ว พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้

๒.๑ เป็นผู้อำนวยการรักษาในสำนักเรียนเบญจมบพิตร ในฐานเป็นอาจารย์ใหญ่และเจ้าสำนัก เรียน
๒.๒ เป็นผู้อำนวยการรักษาในแขวงกลางจังหวัดพระนคร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ ตลอดพระชนมายุ
๒.๓ เป็นผู้อำนวยการรักษาในมณฑลพายัพ นับแต่เป็นผู้ช่วย และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕

๒.๔ เป็นแม่กองสอบไล่นักธรรมสาขามณฑลพายัพ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒ิ ๕ จนถึงปีที่ไดรวมการสอนนักธรรมเขาเป็นองค์นักธรรมสนามหลวง และเป็นแม่กองธรรมสนามหลวงเองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖

๒.๕ เป็นกรรมการสอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามตั้งแต่พรรษาแรกที่ได้อุปสมบท และในสมัยทีสอบโดยวิธีเขียนก็ได้เป็นกรรมการตรวจข้อสอบประโยคบาลีสนามหลวง ตลอดมา ในตอนหลัง ๆ ได้เป็นกรรมการในกองที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจประโยคเปรียญเอก

๒.๖ เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นเวลาติดต่อกัน ๒๕ ปี
๒.๗ เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓ รวม ๑๘ ปี

นอกจากจะทรงสอนด้วยพระองค์, อำนวยการให้ผู้อื่นสอน และดำรงตำแหน่งในทางการศึกษาดังกล่าวมาแล้ว ในส่วนการสร้างสถานที่ศึกษา โดยเฉพาะในวัดเบญจมบพิตร ทรงอำนวยการให้จัดการสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ๒ หลัง เป็นตึกสองชั้นก่ออิฐถือปูน และให้สร้างหอสมุด ป. กิตติวัน ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ในส่วนการศึกษาวิชาสามัญทางคดีโลก พระองค์ได้ทรงอุปการะอุปถัมภ์ ในการศึกษาแผนกนี้โดยสมควรแก่ความจำเป็น และได้สร้างโรงเรียนเทศบาลขึ้น ในวัดเบญจมบพิตร หลังหนึ่ง ส่วนในมณฑลพายัพ ก็ได้ทรงอำนวยให้มีการศึกษาในวัดต่าง ๆ หลายวัด ช่วยเหลือบ้านเมืองโดยสมควรแก่ภาวะสมณะ

๓. องค์การเผยแผ่
ในการเผยแผ่ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น สมเด็จพระสังฆราช ถึงแม้จะไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ แต่ก็ได้ทรงแสดงธรรมทั้งที่ได้เรียบเรียงขึ้นแสดง และทรงแสดงโดยปฏิภาณโวหารในโอกาสต่าง ๆ และในวันธรรมสวนะเป็นประจำ ครั้งหนึ่งในรัชกาลที่ ๖ สมัยเมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีสุทธิวงศ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ถวายพระธรรมเทศนา ในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ได้มีพระราชดำรัสชมเชย พระธรรมเทศนาวิสาขบูชา ที่ถวายในคราวนั้นว่า “เป็นเทศนาที่เหมาะใจของข้าพเจ้ายิ่งนัก เพราะพระศรีวิสุทธิวงศ์ได้เก็บคดีธรรม ผสมกับคดีโลกอย่างสนิทสนมกลมกล่อม และใช้สำนวนโวหารอันเข้าใจง่าย สำหรับบุคคล ไม่เลือกว่าชั้นใด” หนังสือธรรมที่ทรงเรียบเรียงและพิมพ์ออกเผยแผ่ก็มีมาก เรื่องที่มีผู้พิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณาการมากที่สุด ที่ควรยกขึ้นกล่าวในที่นี้ก็คือ “มงคลภาษิต” มีผู้พิมพ์ออกเผยแผ่หลายหมื่นเล่ม นอกจากนี้มี “ปราภวภาษิต ศีลธรรมอันดีของประชาชน” เป็นต้น ก็มีผู้ขอพิมพ์เผยแผ่ไปแล้วหลายหมื่นเล่มเช่นเดียวกัน พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงนั้น ๆ มีสำนวนโวหารง่าย ๆเป็นที่เข้าใจทราบซึ้ง และใช้เวลาแสดงไม่นานจนเกินสมควรไป พระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นพระคณาจารย์โททางเทศนา ตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยังทรงพระชนม์อยู่ ซึ่งในสมัยนั้น นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ได้รับยกย่องเช่นนั้น และการเผยแผ่นี้ ได้ทรงกระทำทั้งในด้านเทศนา ทั้งในด้านการหนังสือ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติ อันเป็นทางให้ผู้อื่นถือเป็นทิฏฐานุคติ ซึ่งก็ได้ทรงปฏิบัติ และทรงวางพระองค์อย่างเหมาะสมตลอดมา

๔. องค์การสาธารณูปการ
ในการพระศาสนาส่วนนี้ ทรงปฏิบัติได้ดีจนเป็นตัวอย่าง และได้รับความชมเชย โดยเฉพาะวัดเบญจมบพิตร ความสะอาดสะอ้านในพระอารามนับแต่สนามหญ้า, ต้นไม้, เสนาสนะ, พระอุโบสถ, พระวิหาร, กุฏิที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงอำนวยการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุ อันวิจิตรงดงามในพระอาราม รักษาศิลปกรรมประณีตศิลป์ไว้เป็นอันดี ความเป็นระเบียบของเสนาสนะ ไม่ทำการก่อสร้างขึ้น จนเสียแบบแปลนแผนผังของวัด ไม่ให้มีบ้านคฤหัสถ์ติดกำแพงวัด และโดยเฉพาะศาสนสมบัติทั้งของวัด และศาสนสมบัติกลาง พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษ พยายามรักษามิให้รั่วไหล ด้วยการทรงสอดส่องดูแลเป็นอย่างดี

ในการพระศาสนาต่าง ๆ นี้ เมื่อทรงได้รับมอบหมายธุระหน้าที่ใด ก็ทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างยิ่ง และในการไปตรวจการคณะสงฆ์ ทั้งในหน้าที่ผู้แทนสมเด็จพระวันรัต ปุณณทัตตมหาเถระ ในฐานะเจ้าคณะมณฑลพายัพ และเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพเอง พระองค์ได้เสด็จไปเกือบทุกจังหวัด เว้นแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะการเดินทางไม่สะดวก และเพราะยังไม่มีกิจที่ควรจะไป เนื่องจากกิจการคณะสงฆ์ ในจังหวัดนั้นไม่มีอะไรแปลกขึ้น แต่ก็ได้สั่งให้ผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลพายัพขึ้นไป อยู่ประจำแทนเป็นครั้งคราว

และโดยที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์ แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช ติสสเทวมหาเถระ (แพ) พระองค์ได้ไปตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลปักษ์ใต้ เกือบจะกล่าวได้ว่าทุกจังหวัด และในหน้าที่สังฆนายกก็ได้ไปตรวจการคณะสงฆ์มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด

และถ้าหากสุขภาพของพระองค์ไม่ทรุดโทรมลง เพราะอาพาธจนถึงการผ่าตัดใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้ว เข้าใจว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ก็คงจะได้เสด็จทุกจังหวัดทีเดียว ซึ่งก็ได้ตระเตรียมการเสด็จไว้แล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓นี้เอง แต่เกิดอาพาธเป็นนิ่วเสีย จึงเสด็จไปไม่ได้

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในกิจธุระพระศาสนาสมเด็จพระสังฆราช ทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างดี ทั้งในหน้าที่และมิใช่หน้าที่โดยตรง นอกจากนี้ยังมีการคณะต่าง ๆ ที่ควรกล่าวไว้เป็นพิเศษอีกคือ

การในวัดเบญจมบพิตร
ในธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารวัดเบญจมบพิตรนั้น นับตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าอาวาสเอง เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๑ สืบต่อจากสมเด็จ ฯ เจ้าอาวาสองค์ประถมแล้ว พระองค์ได้ปฏิบัติกรณียกิจ อำนวยให้เกิดประโยชน์และความเจริญแก่วัดเบญจมบพิตรหลายสถาน

ในการปกครอง
ได้กวดขันให้ภิกษุสามเณร รักษาระเบียบแบบแผนประเพณี อันเป็นพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และเพื่อให้การปกครองเป็นไปโดยเรียบร้อย พระองค์ได้ออกระเบียบกติกาของวัดขึ้นโดยเฉพาะในวันธรรมสวนะ เวลาเช้าภิกษุสามเณรจะต้องลงทำวัตร ฟังเทศน์เสมอ เว้นแต่มีกิจนิมนต์ แต่ก็ต้องบอกลาไว้เป็นหลักฐาน สำหรับการฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนแล้ว ภิกบุปูใดจะขาดมิได้เว้นแต่อาพาธหรือมีกิจนิมนต์จำเป็นจริง ๆ โดยเฉพาะพระองค์ได้ทรงทำเป็นตัวอย่างอันดีเสมอ อันนี้เป็นที่ทราบกันดี ของบรรดาภิกษุสามเณรวัดเบญจมบพิตร

ในการศึกษา
โดยพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ ทรงต้องการให้วัดเบญจมบพิตรเป็นแหล่งกลางการศึกษาพระปริยัติธรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ทรงสนับสนุนด้วยประการต่าง ๆ เช่น ภายหลังจากการสอบไล่พระปริยัติธรรมแล้วหากภิกษุสามเณรใดสอบได้ ก็พระราชทานรางวัลเป็นพิเศษและเลี้ยงพระเป็นการฉลองสมโภชด้วย ซึ่งในการเลี้ยงพระนี้ ภิกษุสามเณรรูปใดสอบตก จะไม่ถูกนิมนต์เข้าร่วมในพิธีการนี้เลยเป็นต้น และหากภิกษุสามเณรรูปใดสอบตกติด ๆ กัน ๓ ปีแล้ว ไม่มีพระราชประสงค์จะให้อยู่ต่อไป ฯ

พระราชประสงค์ดังกล่าวนี้สมเด็จพระสังฆราชทรงทราบ ดีมาแต่ต้น พระองค์จึงทรงเอาพระทัยใส่ในเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ นับตั้งแต่เป็นครูอาจารย์สอนด้วยพระองค์เอง และอำนวยการให้ภิกษุอื่น ๆ ได้ช่วยทำการสอน ควบคุมวิธีการเรียนการสอนด้วยพระองค์เอง ทั้งในฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและในฐานะเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งผลของการศึกษานั้น นับตั้งแต่พระองค์ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นต้นมา ปรากฏมีผู้ที่เรียนพระปริยัติธรรมและสอบไล่ได้เป็นเปรียญเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสนี้ มีผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค เกินกว่า ๑๐ รูปแล้ว นับเป็นเกียรติประวัติอันดียิ่งของวัดเบญจมบพิตร ซึ่งโดยปกติในจำนวนภิกษุสามเณรอยู่ประจำพระอารามประมาณ ๗๐ - ๘๐ รูปนั้น มีที่เป็นเปรียญธรรม ตั้งแต่ ๓ ประโยค ถึง ๙ ประโยค ประมาณ ๖๐ - ๗๐ รูป

ในการเผยแผ่
นอกจากจะทรงแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท โดยปฏิภาณโวหารประจำวันธรรมสวนะแล้ว ได้ทรงอำนวยการให้มีการเผยแผ่ด้วยประการอื่น ๆ อีกหลายประการ เป็นต้นว่ากวดขันความเป็นอยู่ของภิกษุสามเณร ให้อยู่ในระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีของวัด

ในการสาธารณูปการ
สำหรับพระอาราม พระองค์เคยรับสั่งว่าสมเด็จพระพันปีหลวงเคยรับสั่งกับพระองค์ไว้ว่าการที่รัชกาลที่ ๕ ทรงยกย่องและอุปถัมภ์บำรุงพิเศษนั้น ก็ด้วยมีพระราชประสงค์ จะให้ได้รักษาพระอารามสืบพระราชกุศล ให้ถาวรมั่นคงตลอดไป ฉะนั้นในการดูแลรักษาและจัดการเกี่ยวกับการสาธารณูปการในพระอาราม เช่น ความสะอาด การปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุอันวิจิตรงดงาม และการกุฏิเสนาสนะวิหาร ภายในพระอารามโดยทั่วไป จึงทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษ ถึงแม้ในการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุต่าง ๆ เช่นพระอุโบสถ พระวิหาร และกุฎิเสนาสนะ อันต้องทำการปฦิสังขรณ์เป็นอันมากนั้น จักไม่มีทุนมาทำการปฏิสังขรณ์มาแต่เดิม พระองค์ได้ทรงขวนขวายจัดให้มีขึ้น โดยจัดการฟื้นฟูพระราชประเพณี มีการจัดงานมนัสการพระพุทธชินราชประจำปีขึ้นในพระบรมราชูปถัมภ์ และขอความอุปถัมภ์จากรัฐบาลและประชาชนมาทำการ

ซึ่งได้จัดทำการปฎิสังขรณ์สำเร็จมาแล้วเป็นอันดี และเสนาสนะอันจำเป็นแก่การศึกษาเช่นโรงเรียนพระปริยัติธรรม ก็ได้จัดการให้กอสร้างหอศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้น ๒ หลัง และหอสมุดอีกหลังหนึ่ง แม้วัตถุเครื่องประดับในพระอุโบสถ ซึ่งแต่เดิมก็ไม่มีบริบูรณ์ก็ได้จัดให้มีขึ้นหลายประการ คือ

๑. โต๊ะหมูเครื่องบูชาหมู ๙ หน้าพระพุทธชินราช
๒. โคมตราพระเกี้ยวแขวนเพดานพระอุโบสถ
๓. ภาพจอมเจดีย์ทั้ง ๘ ในช่องหน้าต่างตันในพระอุโบสถ และ
๔. กระจกภาพเทพประนมลายสี บนกรอบหน้าต่างพระอุโบสถ เป็นต้น

และกำลังดำริที่จะทำการเปลี่ยนแปลงกำแพงแก้วหน้าพระอุโบสถ ให้เป็นศิลาอ่อน ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ ด้วย

ในฝ่ายการศึกษาทางคดีโลก
สมเด็จพระสังฆราชในฐานะเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ได้เอาพระทัยใส่สนับสนุนการศึกษาฝ่ายนี้โดยสมควร คือได้ร่วมกับทางราชการ สร้างโรงเรียนชั้นประถมศึกษาเทศบาลขึ้นหลังหนึ่ง ในการอุปถัมภ์บำรุงนั้น ในวัดเบญจมบพิตร มีโรงเรียนที่สอนวิชาสามัญ ๒ โรง คือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และโรงเรียนเทศบาล ๘ ที่ได้สร้างขึ้น นั้น สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงอุปถัมภ์อุปการะตามโอกาส เช่น อบรมสั่งสอนเด็ก และให้รางวัลแก่เด็กนักเรียนที่สอบได้คะแนนเป็นเยี่ยม เป็นการสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนให้ดีขึ้น

สรุปรวมความแล้ว วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นเวลา ๓๓ ปี ๙ เดือน และ ๑ วัน ได้เจริญขึ้นโดยลำดับ ทั้งในด้านการศึกษา การเผยแผ่ และในด้านการปกครองก็พยายามกวดขันภิกษุสามเณร ให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย และระเบียบแบบแผนประเพณีอันดีของวัด ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ และพยายามทำนุบำรุงรักษาศิลปกรรมถาวรวัตถุต่าง ๆ ในพระอารามเป็นอันดี สมกับความไว้วางพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระพันปีหลวง

การต่างประเทศ
ได้เสด็จไปต่างประเทศทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และราชการรวม ๙ ครั้ง คือ.-

ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ในฐานประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์ แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช ติสสเทวมหาเถระ วัดสุทัศนเทพวราราม ไปตรวจการคณะสงฆ์ภาคใต้ ได้ไปไทรบุรี ปีนัง ในสหพันธรัฐมลายา โดยออกไปทางเบตง และกลับทางสงขลา

ครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมปฏิบัติงานฉัฎฐสังคายนาจตุตถสันนิบาต (สมัยไทย) โดยเป็นประธานกระทำพิธีเปิดประชุมสังคายนาสมัยที่สี่นั้น ณปาสาณคูหา ประเทศสหภาพพม่า และในการไปครั้งนี้ ได้เสด็จไปเมืองสำคัญ ณ ในสหภาพพม่าด้วย เช่น เมืองพะโค เมืองมัณฑเล เมืองอมรปุระ และเมเมี้ยว เป็นต้น เป็นเวลา ๑๕ วัน

ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนพฤษภาคม และ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้เป็นหัวหน้าคณะ ไปร่วมพิธีฉลองพุทธชยันตี ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศลังกาโดยผ่านไปพักที่สิงคโปร์ ๓ วัน แล้วไปร่วมพิธีที่เมืองซีลอนหรือโคลัมโบ เมืองแคนดี เมืองอนุราชปุระ เมื่อเสร็จพิธีที่ประเทศลังกาแล้ว ได้เสด็จเลยไปสังเกตการพระศาสนา ในประเทศอินเดียอีกด้วย เป็นเวลา ๓๐ วัน

ครั้งที่ ๔ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้เป็นหัวหน้าคณะ ไปร่วมงานและเป็นประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมธาตุ ณ วัดบุบผาราม เมืองปีนัง สหพันธรัฐมลายา ซึ่งในการเสด็จไปครั้งนี้ได้เสด็จไปเมืองกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงเป็นเวลา ๗ วัน

ครั้งที่ ๕ เมื่อเดือนมีนาคม และ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้เป็นหัวหน้าคณะ ไปร่วมพิธีฉลองพุทธยันตี ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะเสด็จไปตามเมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองแล้ว ยังได้เสด็จไปเยี่ยมทหารไทย ณ ประเทศเกาหลีด้วยเป็นเวลา ๓๐ วัน

ครั้งที่ ๖ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้เป็นหัวหน้าคณะ นำพระสงฆ์ไทยไปอยู่ ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และได้เสด็จไปนมัสการปูชนียสถานสำคัญ คือ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลด้วย เป็นเวลา ๑๐ วัน

ครั้งที่ ๗ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓ ในการไปประกอบพิธีเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม ณ วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ได้เลยไปเยี่ยมคณะสงฆ์และเยี่ยมวัดต่าง ๆ ในประเทศลาวด้วย

ครั้งที่ ๘ เมื่อเดือนมิถุนายน และ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้เสด็จไปสังเกตการพระศาสนาการศึกษา และเยี่ยมประชาชน ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปบางประเทศ ตามคำทูลอาราธนาของมูลนิธิเอเซีย เป็นเวลา ๔๕ วัน

ครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ก่อนหน้าสิ้นพระชนม์เดือนเศษ คือระหว่างวันที่ ๗ เมษายน ถึงวันที่ ๒๗ เมษายน ได้เสด็จไปสังเกตการพระศาสนาและเยี่ยมประชาชนอินเดีย ตามคำทูลอาราธนาของรัฐบาลอินเดีย เป็นเวลา ๒๐ วัน

กรณียะพิเศษ
กิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนา นอกจากที่กล่าวแล้ว ยังมีที่ทรงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติกรณียะเป็นพิเศษอีก คือ.-

๑. ในรัชกาลที่ ๖ สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ๔ คัมภีร์ คือ อรรถกถาอุทานอิติวุตตก มหานิเทส และจุลนิเทส (พิมพ์เป็นเล่มสมุดอักษรไทย ๔ เล่ม)
๒. ในรัชกาลที่ ๗ สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระเทพมุนี ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ๓ คัมภีร์ คือ มหานิเทส จุลนิเทส และ ชาดก ตีพิมพ์เป็นเล่มสมุดอักษรไทย ๔ เล่ม )
๓. ในรัชกาลที่ ๗ สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมโกศาจารย์ ได้รับมอบให้ชำระคัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย (พิมพ์เป็นเล่มสมุดอักษรไทย ๔ เล่ม)
๔. ในรัชกาลที่ ๘ สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะรองที่พระพรหมมุนี ได้เป็นประธานกรรมาธิการแปลพระไตรปิฎก เป็นภาษาไทยและได้ดำเนินการต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน จนสำเร็จพิมพ์เป็นเล่มเรียบร้อย จำนวน ๘๐ เล่ม
๕. ในรัชกาลปัจจุบันสมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ที่สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก ได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถา ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๐ ครั้ง
๖. ในรัชกาลปัจจุบัน ได้เป็นพระราชอนุศาสนาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวช
๗. ในรัชกาลปัจจุบัน ได้เป็นประธานสงฆ์ ในงานรัฐพิธีฉลอง ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา

๘. เป็นผู้ตรวจหลักธรรม ในการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เพื่อรับพระราชทานรางวัล และพิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขบูชาประจำปี และการอื่น เช่น เทศนาอบรมข้าราชการทหาร นักเรียนนายร้อยทหาร เป็นประธานประกอบสังฆกรรมผูกพัทธสีมา เป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ อาคารเรียน เป็นประธานประกอบพิธียกช่อฟ้า เปิดป้ายสถานที่สำคัญ เช่นโรงเรียนพระปริยัติธรรมตามจังหวัดต่าง ๆ หลายครั้ง และยังค้างอยู่ยังสร้างไม่เสร็จ ก็คือเป็นประธานเริ่มการก่อสร้างอาคารโรคมะเร็งสำหรับภิกษุสามเณรผู้อาพาธ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยเป็นประธานชักชวนหาทุนและทรงให้ออกทุนด้วยพระองค์เองจากทุนที่ได้รับในงานบำเพ็ญกุศลฉลองพระชนมายุประจำปี ซึ่งขณะนี้อาคารโรคมะเร็งดังกล่าว ได้ทำการก่อสร้างเสร็จไปแล้ว แต่ยังขาดทุนทรัพย์ที่จะให้ช่างรับเหมาก่อสร้างอีกประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท (ค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท)

สมณศักดิ์
โดยที่ได้ทรงรับภาระธุระพระศาสนามาด้วยพระอุตสาหะวิริยะ และด้วยความเอาพระทัยใส่เป็นอันดี ทางราชการและทางคณะสงฆ์ได้เห็นพระคุณธรรมนั้น ๆ ปรากฏ จึงได้ยกย่องให้มีสมณศักดิ์ประดับพระเกียรติประวัติมาโดยลำดับ คือ:-

๑. ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ พระชนม์ได้ ๒๖ พรรษา ๖ เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์
๒. ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖พระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา ๑๕ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวทีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ พระชนม์ได้ ๓๘ พรรษา ๑๘ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมุนี
๔. ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ พระชนม์ได้ ๔๒ พรรษา ฑ๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมทีพระธรรมโกศาจารย์
๕. ในรัชกาลที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ พระชนม์ได้ ๕๑ พรรษา ๓๑ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ ขึ้นเป็นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมมุนี

๖. ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ พระชนม์ได้ ๕๙ พรรษา ๓๘ ได้รับพระราชทานสถาปนา สมณศักดิ์ชั้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระวันรัต ปรากฏการตามพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๐

๗. ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อวันพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ พระชนมายุได้ ๗๑ พรรษา ๕๑ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ปรากฏการตามพระราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓

ครั้นต่อมา สมเด็จพระวันรัต ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณไม่ท้อถอย สามารถประกอบพระพุทธศาสนกิจให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับตลอดมา กล่าวโดยเฉพาะในประการที่สำคัญ คือ

ในการปริยัติศึกษา ได้เป็นแม่กองสอบบาลีสนามหลวง ติดต่อกันมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒๓ ปี เป็นประธานกรรมาธิการ แปล พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ จนถึงในปัจจุบันเป็นเวลา ๑๗ ปี ดำรงตำแหน่งสังฆนายกติดต่อกันมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ จนถึงในปัจจุบันเป็นเวลา ๘ ปี และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ จนถึงในปัจจุบันเป็นเวลา ๑ ปี ๖ เดือนเศษ

และกรณียกิจซึ่งสมเด็จพระวันรัตได้ปฏิบัติเป็นการพิเศษ คือ ได้เป็นประธานสงฆ์ในงานรัฐพิธีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐

ในการพระอารามนั้น โดยที่วัดเบญจมบพิตรเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ซึ่งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สถาปนาขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ด้วยมีพระราชศรัทธาอันยิ่งใหญ่ โปรดให้สร้างด้วยศิลปกรรมอันประณีตวิจิตรงดงามยิ่งนัก โดยเฉพาะพระอุโบสถมีความงดงามเป็นพิเศษ ซึ่งจะหาที่อื่นเสมอเหมือนมิได้ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นราชานุสรณ์ในพระองค์ นับว่าเป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญเป็นพิเศษยิ่ง ทั้งนี้ย่อมตกเป็นภาระหนักแก่เจ้าอาวาส ในการที่ต้องระวังรักษาถาวรวัตถุเหล่านั้นมิให้ชำรุดทรุดโทรมเสียหาย

สมเด็จพระวันรับได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสพระอารามนี้ในลำดับองค์ที่ ๒ และนับตั้งแต่ได้รับหน้าที่นี้มาเป็นเวลา ๓๒ ปี ก็ปรากฏว่าได้เอาใจใส่ดูแลระวังรักษาถาวรวัตถุต่าง ๆ ในพระอาราม ให้มีสภาพสะอาดเรียบร้อยงดงาม ดำรงอยู่ในสภาพที่มั่นคงถาวร ทั้งได้เอาใจใส่ให้จัดการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างเสริมสิ่งที่ชำรุดบกพร่องด้วยเหตุต่าง ๆ เช่นที่เกิดจากภัยสงครามเป็นต้น ให้กลับมีสภาพดีตามเดิม ปรากฏเป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะของประชาชนไทยและชาวต่างประเทศ บรรดาที่ได้มาพบเห็นตลอดกาลเนืองนิจ

จึงนับว่าสมเด็จพระวันรัต เป็นผู้ทรงคุณปรีชาสามารถในการปกครองพระอาราม ซึ่งมีความสำคัญยิ่งดังกล่าวสมพระราชประสงค์

ส่วนการพระศาสนาในต่างประเทศ
- สมเด็จพระวันรัตได้เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมปฏิบัติงานฉัฏฐสังคายนา จตุตถสันนิบาต (สมัยไทย) โดยเป็นประธานเปิดประชุมสมัยนั้น ณ ปาสาณคูหา ประเทศพม่า เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘
- เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมพิธีฉลองพุทธชยันตี ณ ประเทศลังกา เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช๒๔๙๙ แล้วเลยไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ ประเทศอินเดียอีกด้วย
- เป็นหัวหน้าคณะและเป็นประธาน ไปประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดบุบผาราม เมืองปีนัง แล้วเลยไปสังเกตการณ์พระศาสนาในสหพันธรัฐมลายา เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑
- เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมพิธีฉลองพุทธชยันตี ๒๕ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศญี่ปุ่นแล้วเลยไปเยี่ยมทหารไทย ณ ประเทศเกาหลีเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒
- เป็นหัวหน้าคณะนำพระสงฆ์ไทยไปอยู่ ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนพฤศจิกายนพุทธศักราช ๒๕๐๒

สรรพกรณียกิจดังกล่าวมาสมเด็จพระวันรับได้รับภาระปฏิบัติดำเนินการด้วยอุตสาหวิริยะปรีชาสามารถ ปรากฏเป็นผลดียิ่งแก่การพระศาสนาและประเทศชาติประชาชน เป็นที่ประจักษ์แก่มวลพุทธบริษัทและทางราชการ ตลอดถึงพสกนิกรทั่วราชอาณาจักร ดังปรากฏอยู่แล้ว

บัดนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระวันรัต ยิ่งเจริญด้วยคุณวุฒิวัยวุฒิรัตตัญญูมหาเถรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต ประกอบด้วยมีสมรรถภาพในการพระศาสนา เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะ และเป็นคารวสถานแห่งมวลพุทธบริษัททั่วสังฆมณฑล ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ทั่วไป และตั้งอยู่ในฐานะเป็นครุฐานียบุคคล ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระวันรัตขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายกตรีปิฎกกลากุสโลภาสภูมิพลมหาราช อนุศาสนาจารย์ กิตติโสภณาภิธานสังฆวิสุตปาวจนุตตมกิตติโศภน วิมลศีลสมาจารวัตรพุทธศาสนิกบริษัทคารวสถานวิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทรบวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราชเสด็จสถิต ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงเป็นประธานในสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในสงฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศ ซึ่งพระราชทานนี้ จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฎิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา เทอญ ฯลฯ

ให้ทรงมีพระราชาคณะ และพระครูฐานานุกรม ประดับพระอิสริยศ ๑๕ รูป คือ พระทักษิณคณาธิกร สุนทรธรรมนายก พุทธปาพจนดิลก มหาเถรกิจจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระอุดรคณาภิรักษ์อัครศาสนกิจบรรหาร มหาเถราธิการธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑ พระครูธรรมกถาสุนทร ๑ พระครูวินัยกรณ์โศภน ๑ พระครูพรหมวิหาร พระครูพระปริตร ๑ พระครูฌานวิสุทธิ์ พระครูพระปริตร ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิมลสรภาณ พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิศาลสรคุณ พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิบูลบรรณวัตร ๑ พระครูพิพัฒนบรรณกิจ ๑ พระครูสังฆบริหาร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิสถาพร ในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ กิตติโสภณมหาเถระ ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นเวลา ๒ ปี ๑ เดือน กับอีก ๑๒ วัน ทั้ง ๆ ที่มีพระอนามัยสมบูรณ์ พระสุขภาพแข็งแรง พระองค์เคยอาพาธด้วยโรคซึ่งนายแพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ต่อมปอสเตท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ และได้รับการผ่าตัดใหญ่เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งอาพาธเป็นโรคมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และนายแพทย์ได้ขบให้แตกและนำออกจนหมดแล้ว จนได้เสด็จไปประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป และประเทศอินเดียได้เป็นปกติ สำหรับความดันโลหิตก็มีไม่มาก ก่อนหน้าจะสิ้นพระชนม์ นายแพทย์ประจำพระองค์ได้ตรวจวัดความดันของพระโลหิต ก็มีเพียง ๑๔๐ เท่านั้น ส่วนพระโรคประจำพระองค์นั้นก็มีปวดพระเศียรเป็นครั้งคราวเสมอมา ซึ่งก็เยียวยาให้หายได้เพียงยาแอสไพริน หรือยา เอ.พี.ซี. ก็หาย

วันสิ้นพระชนม์
ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๕ เวลาเช้าพระอาการทั่วไปเป็นปกติ จะมีก็เพียงคงปวดพระเศียรตามธรรมดาซึ่งไม่หนักอะไร เวลาเพลได้เสด็จไปเจริญพระพุทธมนต์และเสวยภัตตาหารเพล เนื่องในงานทำบุญของท่านจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้เป็นปกติ และเสด็จกลับมาถึงวัดเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. แล้วก็ได้ทรงพักผ่อนตามที่ทรงเคยปฏิบัติมา และในเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.และได้ทรงสนทนากับบิดา มารดาของกุลบุตรผู้นำบุตรมาฝากบวชเป็นเวลานานพอสมควร จนถึงเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. เศษ พระอาการทั่วไปก็ยังปกติอยู่ ครั้นผู้ที่นำบุตรมาฝากบวชนั้นกลับแล้ว ก็เสด็จเข้าสรงน้ำตามปกติเช่นเคยมา แต่แล้วพระอาการที่ไม่มีใครคาดฝันก็ปรากฏขึ้น นั่นคือพระอาการปวดพระเศียรจนเกินกำลังความสามารถที่ทรงอดทนได้ เมื่อพระปฏิบัติรับใช้รีบเชิญนายแพทย์มาเฝ้าพระอาการ พอทรงเห็นหน้านายแพทย์และรับสั่งได้เพียงไม่กี่คำพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการอันสงบ ถึงแม้บรรดานายแพทย์จะพยายามช่วยเพื่อให้ทรงฟื้นขึ้นมาอย่างเต็มความสามารถและความรู้ อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ทรงฟื้นมาได้ไม่ คณะแพทย์ได้ลงความเห็นพร้อมกันว่าสมเด็จพระสังฆราชได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคเส้นโลหิตใหญ่ในพระสมอง แตกอย่างปัจจุบัน เมื่อเวลา ๑๖.๒๗ น. วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ กิตติโสภณมหาเถระ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๕ เวลา ๑๖.๒๗ น. สิริพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา กับอีก ๒๑ วัน


ในการแต่งตั้งท่านเป็นสังฆนายก มีเกร็ดประวัติที่ควรเล่าถึงดังนี้
(คัดลอกจาก http://www.geocities.com/Tokyo/Highrise/3418/b_war_re.htm)

เมื่อ พ.ศ.2494 ซึ่งในขณะนั้นการปกครองสงฆ์ใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2484 พระสังฆราชจะเป็นคล้ายๆ กษัตริย์ ไม่บริหาร คณะสงฆ์ โดยตรง แต่จะตั้งสังฆนายก ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร คล้าย นายกรัฐมนตรี ปกครองสงฆ์ มีวาระคราวละ 4 ปี ตั้งสังฆสภา ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และตั้งคณะ พระวินัยธร ทำหน้าที่ตุลาการศาลสงฆ์

เมื่อ พ.ศ.2494 สังฆนายกคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) มรณภาพ สมเด็จพระสังฆราช ขณะนั้นเป็นพระธรรมยุต คือ สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศฯ จึงต้องตั้งสังฆนายกใหม่ แทนที่จะตั้งสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร พระมหาเถระ ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งมีอาวุโส และความเหมาะสมสูงสุด แต่กลับไปตั้ง พระศาสนโศภณ (จวน อุฏฺฐายี) ซึ่งมีอาวุโสตํ่ากว่า เป็นเพียงรองสมเด็จ แต่เป็นพระธรรมยุต เหมือนสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นมาข้ามหัว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2494 ทันทีที่พระบัญชาตั้งสังฆนายก ถูกประกาศออกมา อย่างเป็นทางการ ทำให้พระมหาเถรานุเถระ ฝ่าย มหานิกาย ต่างตกอยู่ในภาวะตะลึงงัน คาดไม่ถึงว่า สมเด็จพระสังฆราชจะตัดสินพระทัย โดยมองได้ว่า เล่นพรรคเล่นพวกเช่นนั้น พระเถระผู้ใหญ่ของมหานิกาย 47 รูป จึงได้เคลื่อนไหว ทำหนังสือคัดค้าน การตั้งสังฆนายก มีเนื้อหาในจดหมายดังนี้

15 มิถุนายน 2494

ขอประทานกราบทูล แด่สมเด็จสกลมหาสังฆปริณายกทรงทราบ

เกล้ากระหม่อมพระเถรมหานิกาย ซึ่งมีนามข้างท้ายนี้ ขอวโรกาสกราบทูลแด่ สกลมหาสังฆปริณายกทรงทราบ ด้วยตามที่ฝ่าพระบาท ทรงกรุณาโปรดแต่งตั้งให้ พระศาสน โศภณ (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายกแทน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ไปแล้วนั้น ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นเหตุให้กระเทือนใจ คณะสงฆ์มหานิกาย อย่าง สุดวิสัย ที่จะสงบนิ่งอยู่ได้ และถ้าไม่หาทางแก้ไข ระบายความขัดแค้นเสียได้ อาจบังเกิดผลอันไม่งดงาม และไม่พึงปรารถนาขึ้น ในสังฆมณฑล ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มพระบารมี ของ ฝ่าพระบาทผู้เป็น พระสังฆบิดรของคณะสงฆ์ไทยเวลานี้ อย่างคาดไม่ถึง

ความจริง พระศาสนโศภณ (จวน อุฏฺฐายี) นั้น เมื่อว่าโดยคุณวุฒิและสมรรถภาพแล้ว ก็เป็นที่เชื่อได้ว่า จักเป็นผู้บริหารกิจการ ในตำแหน่งสังฆนายก ได้ดีองค์หนึ่ง แต่เมื่อนำเข้า เทียบกับ สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) ซึ่งเป็นพระเถระ ที่ดำรงตำแหน่ง สมณฐานันดรศักดิ์สูงกว่า และเจริญวัยวุฒิกว่า เมื่อยึดพระธรรมวินัยของ สมเด็จพระบรม ศาสดา เป็นมาตรฐานแล้ว สมเด็จพระวันรัต ควรที่จะได้ดำรงตำแหน่ง สังฆนายก ยิ่งกว่าพระศาสนโศภณ นี้ว่าด้วยส่วนที่เกี่ยวกับบุคคล

เมื่อว่าโดยเหตุแวดล้อมแล้ว พระสงฆ์ 2 คณะ ซึ่งต่างก็อยู่ภายใต้ร่มพระบารมี ของฝ่าพระบาท ขณะนี้ภาวะฉันใด ฝ่าพระบาททรง ตระหนักพระทัยอยู่แล้ว เมื่อเป็นดังนี้ การที่ ฝ่าพระบาททรง พระกรุณาโปรด พระศาสนโศภณ ซึ่งตํ่าศักดิ์กว่า เด็กกว่า แต่เป็นพระธรรมยุต เหมือนฝ่าพระบาทนั้น ย่อมเป็นชนวนชวนให้จิตใจของ พระมหานิกาย ซึ่ง เร่าร้อน อยู่แล้ว เพิ่มดีกรีมีความไวไฟขึ้นอีก อาจถึงขนาดไหม้ สังฆมณฑล ให้มอดมิดก็ได้

เมื่อว่าโดยหลักการบริหาร โดยพฤตินัยในเวลานี้แล้ว อันตำแหน่งสังฆนายกนั้น ควรที่จะเป็นของ พระมหานิกาย โดยเฉพาะด้วยแท้ ไม่ควรจะสาธารณะแก่ พระธรรมยุตเลย ด้วยเป็นตำแหน่ง หัวหน้าบริหาร โดยถ่ายเดียว ก็การบริหารคณะสงฆ์ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ในเวลานี้จำกัดอยู่เฉพาะในวง พระมหานิกายเท่านั้น ด้วย พระธรรมยุต นั้น เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้มีบัญชาให้แตกแยกจาก พระมหานิกาย ไปขึ้นอยู่เฉพาะ ธรรมยุติกนิกาย แต่เมื่อ พ.ศ.2492 แล้ว การที่ฝ่าพระบาท โปรด ให้พระเถระฝ่ายธรรมยุต มีอำนาจเหนือ พระมหานิกายนั้น คณะมหานิกาย สิ้นทั้งผอง ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต ไม่สามารถที่จะ สงบระงับกิเลสไว้ได้ ข้อนี้เป็นเหตุประการสำคัญ

ครั้นมาถึงวาระนี้ ฝ่าพระบาทมาทรงพระกรุณา โปรดแต่งตั้ง พระศาสนโศภณ ซึ่งเป็นพระธรรมยุต ให้ทับเศียร สมเด็จพระวันรัต ซึ่งเป็นพระมหาเถระ ที่คณะสงฆ์มหานิกาย ยกเป็นปูชนียะอย่างสูง ในเวลานี้ จึงเห็นเป็นการเหยียดหยาม และลดเกียรติ พระมหานิกาย อย่างมาก

เพื่อความสันติแห่งสังฆมณฑล และเพื่อขออัญเชิญให้ฝ่าพระบาท ยังทรงพระเมตตา ในอันที่จะให้คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ได้พึ่งพระบารมี ยึดถือเป็นร่มโพธิ์ทอง เสมอเหมือน และเท่าเทียม คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตแล้ว เกล้ากระหม่อมทั้งปวง ขอพระวโรกาส ขอให้ฝ่าพระบาท ได้ทรงพระกรุณาให้ สมเด็จพระวันรัต ดำรงตำแหน่ง สังฆนายก เพื่อเป็น มิ่งขวัญมงคล แก่คณะสงฆ์มหานิกาย สืบไป

จะทรงพระกรุณาโปรดได้หรือไม่ประการใด เกล้ากระหม่อมทั้งหลาย ขอพระวโรกาส ได้โปรดประทานพระเมตตา ให้ได้ทราบในเวลาอันควร

ควรมิควรประการใดสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรด

(ลงชื่อพระเถระฝ่ายมหานิกาย 47 รูป)
(จากหนังสือ "ศึกสมเด็จ" หน้า 130-133)

ในวันที่ยื่นจดหมายนั้นเอง พระศาสนโศภณก็ได้ลาออกจากตำแหน่งสังฆนายกที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง เกิดความปั่นป่วนใน สังฆมณฑลครั้งใหญ่ ด้วยมีการยื่นจดหมาย คัดค้าน พระบัญชา สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และในวันที่ 12 กรกฎาคม สมเด็จพระสังฆราช ก็ได้ให้กระทรวงศึกษาธิการ อาราธนาพระเถระผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายมหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย มาประชุมกันที่ ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ผลการประชุมกันในวันนั้น พระเถระผู้ใหญ่ทั้ง 2 นิกาย ได้ทำข้อตกลง ในด้านหลักการ ดังต่อไปนี้

- การปกครองส่วนกลาง คณะสังฆมนตรีคงบริหารร่วมกัน แต่การปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามนิกาย
- การปกครองส่วนภูมิภาคให้แยกตามนิกาย
- ส่วนระเบียบปลีกย่อยอื่นๆ จะได้ปรึกษาในภายหลัง

ข้อตกลงนี้เรียกกันว่า "ข้อตกลงตำหนักเพชร 2494" ที่พระเถระผู้ใหญ่ทั้ง 2 นิกาย ได้ทำความตกลงกันไว้ และรัฐบาลในสมัยนั้น ได้รับรองข้อตกลงนี้ อย่างเป็นทางการด้วย จากนั้น ก็ได้แต่งตั้ง สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร ขึ้นเป็นสังฆนายกแทน



เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก