หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)

พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
[ วัดราชประดิษฐ์ ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๐ )
พระประวัติ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) เป็นชาวตำบลบางไผ่ (๑) จังหวัดนนทบุรีประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๗๕ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๕๖ ในรัชกาลที่ ๒ โยมบิดาชื่อ จันท์ โยมมารดาชื่อ สุข มีพี่น้องชายหญิงรวมด้วยกัน ๕ คนคือ

๑. หญิงชื่อ อวบ
๒. ชายชื่อ ช้าง ภายหลังได้รับพระทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระสุภรัตกาสายานุรักษ์
๓. ชายคือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
๔. ชายชื่อ สัง ได้อุปสมบทอยู่วัดบวรนิเวศวิหารและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระสมุทรมุนี ภายหลังลาสิกขา
๕. หญิงชื่อ อิ่ม

กล่าวกันว่าโยมบิดาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นชาวตำบลบางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี ได้เคยบวชเรียน จนเป็นผู้ชำนาญในการเทศน์มิลินท์และมาลัย แม้เมื่อลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสแล้ว ก็ยังเรียกกันติดปากว่า “จันท์มิลินท์มาลัย” ส่วนโยมมารดาเป็นชาวตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี (๒) สำหรับโยมบิดานั้น นอกจากจะได้เคยบวชเรียนเป็นนักเทศน์มีชื่อแล้ว คงจักได้เล่าเรียน มีความรู้ในทางพระปริยัติธรรมมาเป็นอย่างดีด้วย ถึงได้เป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ในพระราชวังบวรด้วยท่านหนึ่ง (๓)

เนื่องจากโยมบิดาเป็นผู้มีความรู้ดีในด้านอักษรสมัย และในทางพระปริยัติธรรม ถึงขั้นเป็นอาจารย์บอกหนังสือ (คือสอนหนังสือ) ในพระราชวังบวร การศึกษาในเบื้องต้น ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงเข้าใจว่าคงศึกษากับโยมบิดานั่นเอง และเรื่องที่ศึกษาเล่าเรียน ก็คงจะหนักไปทางด้านพระศาสนาอันเป็นวิชาที่โยมบิดาถนัด นี้ก็อาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง ที่นำให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอุปนิสัยน้อมไปในทางบรรพชา จนเป็นเหตุให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรแต่ยังเยาว์ในเวลาต่อมา

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้บรรพชาเป็นสามเณรแต่ยังเยาว์ ในรัชกาลที่ ๓ เดิมอยู่ที่วัดใหม่บางขุนเทียน ต่อมาได้ย้ายมาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ส่วนการเรียนพระปริยัติธรรมนั้น เข้าไปเรียนในพระราชวังบวรกับอาจารย์อ่อน (ฆราวาส) และกับโยมบิดาของพระองค์ท่านเอง ซึ่งเป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ในพระราชวังบวรนั้นด้วยกัน (๔)

ครั้น พ.ศ. ๒๓๖๙ พระชนมายุได้ ๑๔ ปี ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก แปลได้เพียง ๒ ประโยค จึงยังไม่ได้เป็นเปรียญ แต่เรียกกันว่า “เปรียญวังหน้า” ที่เรียกกันว่าเปรียญวังหน้านั้น ก็ด้วยเหตุที่ว่า ประเพณีการแปลพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น ผู้เข้าแปลทีแรก ต้องแปลพระธรรมบทให้ได้ครบ ๓ ประโยคในคราวเดียวจึงนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าไม่ได้ครบทั้ง ๓ ประโยค เข้ามาแปลคราวหน้าก็ต้องแปลแต่ประโยค ๑ ไปใหม่ ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ มีพระประสงค์จะทรงอุปการะแก่พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียน มิให้ท้อถอยจากความเพียรไปเสีย ถ้ารูปใดแปลได้ ๒ ประโยคก็ทรงรับอุปการะไป จนกว่าจะเข้าแปลใหม่ได้เป็นเปรียญ พระภิกษุสามเณรที่ได้รับพระราชทานอุปการะเหล่านั้น จึงพากันเรียกว่า เปรียญวังหน้า

ต่อมา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ครั้งยังเป็นสามเณร ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเมื่อทรงผนวชประทับอยู่ ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ และได้ทรงศึกษาเล่าเรียนสืบมา ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กระทั่งพระชนมายุได้ ๑๘ ปี จึงได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ทรงแปลในคราวเดียวได้หมดทั้ง ๙ ประโยค ได้เป็นเปรียญเอกแต่ยังทรงเป็นสามเณร (๕) นับเป็นสามเณรองค์แรกที่เป็นเปรียญ ๙ ประโยคในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ (๖)

เป็นที่น่าสังเกตว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ถวายตัวศึกษาพระปริยัติธรรม อยู่ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดราชาธิวาสเพียง ๔ ปีเท่านั้น ก็มีความรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรม จนสามารถแปลพระปริยัติธรรมได้ในคราวเดียวหมดทั้ง ๙ ประโยค อันแสดงให้เห็นว่า เพราะทรงได้พระอาจารย์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ในทางพระปริยัติธรรม คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับพระวิริยะอุตสาหะ และพระสติปัญญาอันเฉียบแหลมส่วนพระองค์ด้วยนั่นเอง จึงทรงมีความรู้แตกฉาน ในสิ่งที่ทรงศึกษาเล่าเรียน เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น ซึ่งน้อยคนนักที่จะทำได้

ครั้นถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ มีพระชนมายุครบ ๒๐ ปี เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็อุปสมบท ณ วัดราชาธิวาส มีพระนามฉายาว่า ปุสฺโส แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ว่าพระอุปัชฌาย ์และพระกรรมวาจาจารย์คือใคร แต่ตามทางสันนิษฐานว่า ในเวลาที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) มีพระชนมายุครบอุปสมบทนั้น เป็นเวลาที่พระสงฆ์ธรรมยุต นิยมพระอุปัชฌาย์รามัญ ซึ่งมีพระสุเมธาจารย์ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์อยู่ด้วยรูปหนึ่ง และเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์อยู่ ฉะนั้น จึงน่าเป็นไปได้ว่า พระอุปัชฌาย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในการอุปสมบทครั้งนั้น คือพระสุเมธาจารย์ (เกิด) พระกรรมวาจาจารย์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗)

พ.ศ. ๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชอยู่ ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นพระเปรียญเอกพรรษา ๔ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารด้วย

ครั้น พ.ศ. ๒๓๘๒ พรรษา ๖ ทรงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี (ไม่พบประกาศทรงแต่งตั้ง) จะเห็นได้ว่าทรงได้รับยกย่อง ให้ดำรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่ ตั้งแต่ทรงมีอายุพรรษา ๖ (คือพระชนมายุ ๒๖) เท่านั้น ทั้งนี้ก็คงเนื่องด้วยทรงมีพระปรีชาแตกฉาน ในพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยเป็นมูลนั่นเอง

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จจากวัดราชาธิวาส มาครองวัดบวรนิเวศวิหารนั้น นับเป็นครั้งแรก ที่พระสงฆ์ธรรมยุตได้มีวัดเป็นสำนักของตนเองเป็นเอกเทศ เพราะก่อนแต่นั้นพระสงฆ์ธรรมยุต ก็ยังคงอยู่รวมในวัดเดียวกันกับพระสงฆ์เดิม

เมื่อมีสำนักเป็นเอกเทศขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงปรับปรุงระเบียบปฏิบัติด้านต่าง ๆ ของพระสงฆ์ในปกครองของพระองค์ได้อย่างเต็มที่ เช่น ทรงตั้งธรรมเนียมนมัสการพระเช้าค่ำ ที่เรียกกันทั่วไปว่า ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ เป็นประจำวันขึ้น พร้อมทั้งทรงพระราชนิพนธ์คำนมัสการพระรัตนตรัยเป็นภาษามคธ (ภาษาบาลี) ขึ้นใหม่ ที่เรียกกันว่า บททำวัตรเช้าค่ำ ดังที่ใช้สวดกันทั่วไปในบัดนี้ ในวันธรรมสวนะ (วันพระ) มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธศาสนิกชนเป็นต้น ในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงส่งเสริมการเรียนพระปริยัติธรรมให้รุ่งเรือง โดยพระองค์ทรงบอกพระปริยัติธรรม (คือสอน) ด้วยพระองค์เอง มีพระภิกษุสามเณรเป็นศิษย์เข้าแปล (คือสอบในสนามหลวง) ได้เป็นเปรียญประโยคสูงถึงประโยค ๙ หลายรูป

การเรียนพระปริยัติธรรมของสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ในยุคนั้นรุ่งเรืองมาก พระเปรียญพูดภาษามคธได้คล่อง และคงเนื่องด้วยเหตุนี้เอง วัดบวรนิเวศวิหารในครั้งนั้น จึงต้องทำหน้าที่รับรองพระสงฆ์ลังกา ที่เข้ามาเจริญศาสนไมตรีกับไทย ถึงกับต้องมีเสนาสนะหมู่หนึ่ง ไว้รับรองที่วัดบวรนิเวศวิหาร เรียกว่าคณะลังกา (ปัจจุบันรื้อไปแล้ว)(๘)

ในส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ก็ทรงศึกษาภาษาละติน และภาษาอังกฤษกับชาวต่างประเทศ จนทรงสามารถตรัส เขียน อ่านได้อย่างคล่องแคล่ว(๙) แม้พระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์ในพระองค์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็เข้าใจว่าคงได้รับการส่งเสริมให้เรียนภาษาต่างประเทศ ที่นอกเหนือไปจากภาษามคธด้วยเช่นกัน ดังปรากฏในประวัติของพระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด) ซึ่งเป็นศิษย์หลวงเดิมท่านหนึ่ง และได้เป็นสมณทูตไปลังกาถึง ๒ ครั้ง ว่า สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว จนชาวลังกายกย่องเป็นอันมาก (๑๐) เป็นตัวอย่าง

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ก็คงจะเช่นเดียวกัน นอกจากจะทรงศึกษาพระปริยัติธรรมจนมีความแตกฉาน คล่องแคล่วในภาษามคธแล้ว ก็คงจักได้ศึกษาภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ด้วย ตามความนิยมของสำนักวัดบวรนิเวศวิหารในครั้งนั้น ดังปรากฏในคำประกาศทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ตอนหนึ่งว่า “มีสุตาคมปัญญารอบรู้ในอักษรแลภาษาซึ่งเปนสกะไสมยปะระไสมย คือ ขอม ไทย แลสิงหฬ รามัญ สังสกฤตพากย์ เป็นต้นโดยพิศดาร”(๑๑)

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่ ผู้เป็นต้นวงศ์แห่งคณะธรรมยุตรูปหนึ่ง ในจำนวน ๑๐ รูป ดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์สมณศาส์น ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ พระราชทานไปยังพระสงฆ์ในประเทศลังกา ว่า

ทส คณิสฺสรา เถรา ธมฺมยุตฺติกวํสิกา
ตนฺนิกายิกสงฺเฆน สพฺพกิจฺเจสุ สมฺมตา
อเนกภิกฺขุสตานํ ปิตโร ปริณายกา
ตสฺเสว ภูปตินฺทสฺส ปิโย กนิฏฺภาตุโก
เถโร วชิรญาโณ จ ปาโมกฺโข คณเชฏฺโก
เถโร พฺรหฺมสโร เจว เถโร ธมฺมสิริวฺหโย
เถโร พุทฺธสิริ เจว เถโร ปญฺญาคฺคนามโก
เถโร ธมฺมรกฺขิโต จ เถโร จ โสภิตวฺหโย
เถโร พุทฺธิสณฺหนาโม เถโร ปุสฺสาภิธานโก
เถโร สุวฑฺฒโน จาปิ สพฺเพ สมานฉนฺทกา
ฯลฯ

พระเถระเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตติกวงศ์ อันพระสงฆ์นิกายนั้นสมมติ (แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหาร) ในกิจทั้งปวง เป็นบิดา เป็นปริณายกแห่งภิกษุหลายร้อยรูป พระเถระทรงพระนามว่าวชิรญาณะ ผู้เป็นพระกนิฐภาดา ที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น เป็นผู้ใหญ่ในคณะ เป็นประธาน ๑ พระเถระนามว่า พรหมสระ ๑ พระเถระนามว่า ธัมมิสิริ ๑ พระเถระนามว่า พุทธสิริ ๑ พระเถระนามว่า ปัญญาอัคคะ ๑ พระเถระนามว่า ธัมมรักขิตะ ๑ พระเถระนามว่า โสภิตะ ๑ พระเถระนามว่า พุทธิสัณหะ ๑ พระเถระนามว่า ปุสสะ ๑ พระเถระนามว่า สุวัฑฒนะ ๑ ทุกรูปเป็นผู้มีฉันทะเสมอกัน ฯลฯ (๑๒)

พระเถระที่ปรากฏพระนาม และนามในพระราชนิพนธ์ข้างต้นนี้ พระวชิรญาณะ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงประดิษฐานคณะธรรมยุต

พระพรหมสระ คือ พระญาณรักขิต (สุข) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส รูปแรก ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่ พระธรรมการบดี
พระธัมมสิริ คือ พระเทพโมลี (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์รูปที่ ๒
พระพุทธสิริ คือ สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร รูปที่ ๑
พระปัญญาอัคคะ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เป็นพระองค์แรก
พระธัมมรักขิตะ คือ พระครูปลัด ทัด วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่ พระศรีภูริปรีชา
พระโสภิตะ คือ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก) วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระยาศรีสุนทรโวหาร
พระพุทธิสัณหะ คือ พระอมรโมลี (นบ) เจ้าอาวาส วัดบุปผาราม รูปที่.....
พระปุสสะ คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม รูปที่ ๑
พระสุวัฑฒนะ คือ พระปลัดเรือง วัดบวรนิเวศวิหาร (๑๓)
พระเถระ ๑๐ รูปนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกย่องในฐานะพระเถระผู้ใหญ่ และเป็นที่ทรงปรึกษากิจแห่งคณะ ขณะเมื่อยังทรงผนวชอยู่ (๑๔)

เมื่อสำนักวัดบวรนิเวศวิหารเจริญขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงส่งพระศิษย์หลวงเดิมออกไปตั้งสำนักสาขาขึ้นที่วัดอื่นอีกหลายวัด กล่าวคือ

โปรดให้สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทธศิริ) แต่ครั้งยังเป็นพระราชาคณะที่ พระอริยมุนี เป็นเจ้าสำนักวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย)
โปรดให้ พระญาณรักขิต (สุข พรหมสระเป็นเจ้าสำนักวัดบรมนิวาส (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัดนอก)
โปรดให้ พระเทพโมลี (เอี่ยม ธัมมสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระรัตนมุนี เป็นเจ้าสำนักวัดเครือวัลย์
โปรดให้ พระเมธาธรรมรส (ถิน) แต่ครั้งยังเป็นพระครูใบฎีกา เป็นเจ้าสำนักวัดพิชยญาติการาม
โปรดให้ พระอมรโมลี (นบ) แต่ครั้งยังเป็นพระครูวินัยธร เป็นเจ้าสำนักวัดบุปผาราม

ส่วนที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงยังคงเหลือพระศิษย์หลวงเดิมที่เป็นกำลังสำคัญ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่ครั้งยังมิได้ทรงกรม เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) แต่ครั้งยังเป็น พระอมรโมลี พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต) พระปลัดเรือง พระปลัดทัด (๑๕)

จะเห็นได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงเป็นพระเถระที่เป็นกำลังสำคัญในคณะธรรมยุต มาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มสถาปนาคณะ และตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ หลังจากที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลีแล้ว ได้ลาสิกขาออกไปครองชีวิตฆราวาสอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ทรงลาสิกขาในปีใด ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้อุปสมบทใหม่ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อเดือน ๑๐ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต ซึ่งภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระยาศรีสุนทรโวหาร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ในการอุปสมบทครั้งนี้ทรงมีพระชนมายุ ๓๘ ปี (๑๖) และทรงมีพระนามฉายาว่า ปุสฺสเทโว นัยว่าเมื่อทรงอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ก็ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง และก็ทรงแปลได้หมดทั้ง ๙ ประโยคอีก ด้วยเหตุนี้เอง จึงมักมีผู้กล่าวขวัญถึงพระองค์ด้วยสมญานาม อันแสดงถึงพระคุณลักษณะพิเศษนี้ว่า “สังฆราช ๑๘ ประโยค” ในเวลาต่อมา

ในคราวอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นพระอันดับอยู่ ๗ พรรษา ถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๑ ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ มีสำเนาประกาศทรงตั้ง ดังนี้

“ให้พระอาจารย์สา วัดบวรนิเวศ เป็นพระสาสนโสภณ ที่พระราชาคณะในวัดบวรนิเวศ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๒ บาท ขอพระคุณจงเอาธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน แลอนุเคราะห์ พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในพระอารามโดยสมควร จงมีศุขสวัสดิ์เจริญในพระพุทธศาสนาเทอญ ฯ
ตั้งแต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก พุทธศักราช ๒๔๐๑ เป็นวันที่ ๒๘๖๕ ในรัชกาลปัจจุบันนี้”

ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทาน นิตยภัตรเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ แต่ถือตาลปัตรแฉกเสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ (๑๗) สำหรับราชทินนามที่ พระสาสนโสภณ นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้กับนามเดิมของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ คือ สา

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรัสเล่าไว้ ความว่า
เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นที่พระสาสนโสภณนั้น คนทั่วไปเรียกกันว่า อาจารย์สา เมื่อถึงคราวที่จะทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประดิษฐ์ราชทินนาม โดยเอานามเดิมของพระองค์ท่านขึ้นต้น แล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลก นาม ๑ พระสาสนโสภณ นาม ๑ แล้วโปรดให้พระสารสาสตร์พลขันธ์ (สมบุญ) ไปทูลถามพระองค์ท่านว่าจะชอบนามไหน

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ว่า นาม สาสนดิลก นั้นสูงนัก ขอรับพระราชทานเพียงนาม สาสนโศภณ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งเป็นที่พระสาสนโสภณดังกล่าวมา แล้วคนทั้งหลายก็เรียกกันโดยย่อว่า “เจ้าคุณสา” สืบมา (๑๘)

ดูทีว่าเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จะทรงโปรดราชทินนามนี้มาก ภายหลังแม้จะได้รับพระราชทาน เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นถึงชั้นธรรม ชั้นเจ้าคณะรอง ก็ยังคงรับพระราชทานในราชทินนามว่า พระสาสนโสภณตลอดมา

การกลับเข้ามาอุปสมบทใหม่ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ครั้งนี้ นับว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อคณะธรรมยุต และคณะสงฆ์เป็นส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสำนักหลักในคณะธรรมยุต ดังที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงอธิบายไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า

“พระเถระที่เป็นกำลังในการวัด ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวัด ร่วงโรยไป พระปลัดเรืองถึงมรณภาพเสียแต่ในครั้งยังเสด็จอยู่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (โสภิโต ฟัก) แลพระปลัดทัด ลาสิกขาเสียในครั้งนี้ (หมายถึงครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงครองวัด) คงมีแต่พระสาสนโสภณ คือพระอมรโมลี (ปุสฺสเทโว สา) ผู้กลับเข้ามาอุปสมบทอีก ได้เป็นกำลังใหญ่ในการพระศาสนา พระผู้สามารถในการเทศนาโดยฝีปากมีน้อยลง ท่านจึงแต่งหนังสือเทศน์ขึ้นไว้ สำหรับใช้อ่านในวันธัมมัสสวนะปกติ และในวันบูชา

ได้แต่งเรื่องปฐมสมโพธิย่อ ๓ กัณฑ์จบสำหรับถวายเทศนาในวันวิสาขบูชา ๓ วัน ๆ ละกัณฑ์ และเรื่องจาตุรงคสันนิบาตกับโอวาทปาติโมกข์ สำหรับถวายในวันมาฆบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นอันได้รับพระบรมราชานุมัติ ยังได้รจนาเรื่องปฐมสมโพธิพิสดาร สำหรับใช้เทศนาในวัด ๒ คืนจบอีก”

พระนิพนธ์ต่าง ๆ ที่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงรจนาขึ้นแต่ครั้งยังเป็นที่ พระสาสนโสภณ ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ได้เป็นหนังสือสำคัญในการเทศนา และศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ครั้น พ.ศ. ๒๔๐๘ เมื่อการสร้างวัดราชประดิษฐ์เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ แต่ครั้งยังเป็นที่ พระสาสนโสภณ จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาครองวัดราชประดิษฐ์ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก พร้อมด้วยพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารอีก ๒๐ รูป

ทรงพระกรุณาโปรดให้แห่จากวัดบวรนิเวศวิหารมาวัดราชประดิษฐ์เมื่อเดือน ๘ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ตรงกับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๐๘ (๑๙) และได้รับพระราชทานเปลี่ยนตาลปัตร เป็นตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรม (๒๐)

เล่ากันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นที่ทรงเคารพและสนิทคุ้นเคย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก เป็นที่ทรงสนทนาปรึกษา ทั้งเรื่องที่เป็นกิจการบ้านเมือง และเรื่องที่เป็นกิจการพระศาสนา และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสนทนาปรึกษากับเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ณ ที่วัดราชประดิษฐ์ ฯ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพระบรมมหาราชวังเนือง ๆ

คำเล่าอ้างดังนี้น่าจะสมจริง เพราะสมกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ตรัสเล่าไว้ในพระประวัติตรัสเล่าว่า

“เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูลกระหม่อม (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไปวัดราชประดิษฐ์เนือง ๆ คราวหนึ่งได้ยินตรัสถามสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) ครั้งนั้นยังเป็นพระสาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่ สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี ทรงชี้เอาเราผู้นั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แหละคนชื่อคน แต่นั้นเราสังเกตว่า ทรงพระสรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน” (๒๑)

นอกจากนี้ ก็ยังกล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดว่าเป็นผู้แต่งเทศน์ดี แต่ครั้งยังเสด็จดำรงอยู่ในผนวช ภายหลังเมื่อได้เป็นที่ พระสาสนโสภณแล้ว ถ้าพระราชาคณะหรือพระเปรียญจะถวายเทศน์ ต้องมาให้เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ตรวจเสียก่อน ถ้าใครไม่ชำนาญในการแต่งเทศน์ก็จะทรงแต่งให้ (๒๒)

นับแต่ทรงสถาปนาวัดราชประดิษฐ์ขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่มพรรษา (พุ่มเทียน) แก่พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ ทั่วทั้งวัดเป็นประจำทุกปีจนสิ้นรัชกาล โดยเสด็จพระราชดำเนินในวันแรม ๑ ค่ำอันเป็นวันที่พระสงฆ์เข้าพรรษา ดูเป็นทำนองอย่างทรงเป็นเจ้าของวัด

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้อยู่ครองวัดราชประดิษฐ์ สนองพระเดชพระคุณเฉลิมพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ๔ ปี ก็สิ้นรัชกาล

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี ที๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ปีมะโรง อันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาของพระสงฆ์

ครั้นเวลาเย็นวันมหาปวารณาที่เสด็จสวรรคตนั้น พระอาการทรุดหนักลง พระองค์ทรงประกอบไปด้วยพระสติสัมปชัญญะ ทรงกำหนดอวสานกาลแห่งพระชนมายุของพระองค์เป็นแน่แล้ว จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องนมัสการพร้อมแล้วจึงมีพระราชโองการดำรัสให้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เข้าไปในที่พระบรรทม มีพระราชดำรัสพระราชนิพนธ์ โดยมคธภาษา ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร รับพระบรมราชโองการจดเป็นอักษร

ครั้นทรงพระบรมราชนิพนธ์เสร็จแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาศรีสุนทรโวหารเชิญไปกับทั้งเครื่องนมัสการ สู่พระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม พระสงฆ์มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน ประชุมพร้อมกันเพื่อจะทำสังฆปวารณา พระยาศรีสุนทรโวหารจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วกราบถวายบังคมมาตามทิศ อ่านพระบรมราชนิพนธ์นั้น ณ ที่สังฆสันนิบาต สงฆ์รับอัจจยเทศนาแล้วตั้งญัตติปวารณา แล้วปวารณาตามลำดับพรรษา

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งพระยาศรีสุนทรโวหารเสร็จแล้ว ก็ทรงนมัสการจิตตวิโสธโนบาย ภาวนามัยกุศลเครื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์ พอสมัยยามกับบาทหนึ่ง เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญฝ่ายอุดรทิศ พร้อมด้วยอัศจรรย์ หมอกกลุ้มทั่วนครมณฑล โดยบุญญวันตวิสัย เมื่อเสด็จสวรรคต พระชนมายุนับเรียงปีได้ ๖๕ พรรษา นับอายุโหราโดยจันทรคติได้ ๖๕ ปีถ้วน คิดเป็นวันได้ ๒๓๓๕๘ วัน กับ ๑๖ ชั่วโมงครึ่ง คิดตามสุริยคติกาลอย่างยุโรปได้ ๖๔ ปี หย่อน ๑๖ วันกับ ๒ ชั่วโมง เสด็จอยู่ในราชสมบัติ นับเรียงปีได้ ๑๘ ปี นับอายุโหราตามจันทรคติได้ ๑๗ ปี ๕ เดือนถ้วน คิดเป็นวัน ๖๓๔๘ วัน (๒๓)

พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะ ชั้นเจ้าคณะรองที่ พระธรรมวโรดม แต์ให้คงใช้ราชทินนามเดิมว่า “พระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดม”

พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ มีคณปูรกะ คือ

๑. หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดา วัดบวรนิเวศวิหาร
๒. พระองค์เจ้า พระอรุณนิภาคุณากร แต่ครั้งยังทรงเป็นหม่อมเจ้า วัดราชบพิธ
๓. สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทธสิริ) แต่ครั้งยังเป็น ที่พระพิมลธรรม วัดโสมนัสวิหาร
๔. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่ พระพรหมมุนี วัดปทุมคงคา
๕. พระพรหมเทพาจารย์ วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา
๖. พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
๗. พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) แต่ครั้งยังเป็นที่ พระอริยมุนี วัดบรมนิวาส
๘. พระเทพกวี (นิ่ม สุจิณฺโณ) แต่ครั้งยังเป็นที่ พระสุคุณคณาภรณ์ วัดเครือวัลย์ (๒๔)

เมื่อทรงผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน โดยได้เชิญเสด็จสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชอุปัธยาจารย์ และนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ต่างวัดเข้าไปอยู่ด้วย พอครบคณะสงฆ์ ทรงผนวชอยู่เป็นเวลา ๑๕ วัน ครั้นทรงลาผนวชแล้ว ทรงรับพระบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง (๒๕)

พระเถระผู้ร่วมเป็นคณะสงฆ์ ในการพระราชพิธีทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้น ล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหีกรรม (คืออุปสมบทซ้ำ) มาแล้วทั้งนั้น ยังแต่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) พระองค์เดียวเท่านั้น ที่ขณะนั้นยังไม่ได้ทำทัฬหีกรรม ทั้งจะต้องทรงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการนี้ คือ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ด้วย

ในครั้งนี้เองที่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงทำทัฬหีกรรม ซึ่งขณะนั้นทรงมีอายุพรรษา ๒๒ แล้ว (นับแต่ทรงอุปสมบทครั้งหลัง)

ในการทรงทำทัฬหีกรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น ไม่พบหลักฐานว่า ทำที่ไหน ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ พบแต่เพียงว่า พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (๒๖) แต่สันนิษฐานว่าคงจักได้ทำที่แพโบสถ์ ตรงฝั่งวัดราชาธิวาส และวิธีการต่าง ๆ นั้นก็คงจะทำนองเดียวกันกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสเล่าไว้เมื่อครั้งพระองค์เองทรงทำทัฬหีกรรม ดังนี้

“ตั้งแต่ครั้งทูลกระหม่อม (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่าบริสุทธิ์เป็นที่สิ้นสงสัย ไม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันไม่ได้มาในบาลี เป็นแต่พระอรรถกถาจารย์แนะไว้ ในอรรถกถาอนุโลมตามสีมา ครั้งยังไม่มีวัดอยู่ตามลำพัง จึงใช้สีมาน้ำเป็นที่อุปสมบท ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เป็นหลักฐานในพระศาสนา พระผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้นไปอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ เรียกว่า ทำทัฬหีกรรม

สำนักวัดบวรนิเวศวิหารหยุดมานาน พระเถระในสำนักนี้ ก็ได้ทำทัฬหีกรรมโดยมาก สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) อุปสมบทครั้งหลังกว่า ๒๐ พรรษาแล้ว จึงได้ทำทัฬหีกรรม ครั้งจะสวดกรรมวาจาอุปสมบทเมื่อล้นเกล้า ฯ (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงผนวชพระ

เสด็จพระอุปัชฌายะ (หมายถึง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) ตรัสเล่าว่า
พระเถระทั้งหลาย ผู้เข้าในการทรงผนวช ล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหีกรรมแล้ว ยังแต่ท่าน (หมายถึงเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) องค์เดียวทั้งจักเป็นผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ.. ครั้งเราบวช ความนับถือพระบวชในสีมาน้ำยังไม่วาย เราเห็นว่าเราเป็นผู้จักยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป.. เราควรเป็นผู้เข้าได้ทุกฝ่าย อันจะให้เข้าได้ ต้องไม่เป็นที่รังเกียจในการอุปสมบท เป็นมูล ทั้งเราก็อุปสมบทเร็วไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหีกรรมอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี เราจึงเรียนความปรารภนี้แก่เจ้าคุณอาจารย์ (หมายถึง พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้มจันทรํสี) ขอท่านเป็นธุระจัดให้ จึงตกลงกันว่า เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เป็นอุปัชฌายะใหม่ ในเวลาทำทัฬหีกรรม เจ้าคุณพรหมมุนีฟันหัก สวดจะเป็นเหตุรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอาเจ้าคุณธรรมไตรโลก (ฐานจาระ) วัดเทพศิรินทร์ ครั้งยังเป็นบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหารเป็นผู้สวดกรรมวาจา ท่านรับจัดการให้เสร็จ พาตัวไปทำทัฬหีกรรมที่แพโบสถ์ อันจอดอยู่ที่แม่น้ำ ตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป...แรกขอนิสสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ สวดทั้งกรรมวาจามคธ และกรรมวาจารามัญ”

พ.ศ. ๒๔๒๒ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ ตำแหน่งที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”

พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก โดยทรงมีพระราชดำริว่า

คัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งแต่เดิมมาได้คัดลอกต่อ ๆ กันมาด้วยการจารลงในใบลานด้วยอักษรขอมนั้น กว่าจะได้แต่ละคัมภีร์ก็ช้านาน เป็นเหตุให้คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา ไม่ค่อยแพร่หลาย และไม่พอใช้ในการศึกษาเล่าเรียน ทั้งไม่สะดวกในการเก็บรักษาและใช้ดูให้อ่าน อักษรขอมที่ใช้จารึกนั้นเล่าก็มีผู้อ่านกันได้น้อยลงทุกที

ฉะนั้น หากได้มีการตรวจชำระพระไตรปิฎกให้ครบถ้วนบริบูรณ์ แล้วพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือด้วยอักษรไทย ก็จะเป็นการทำให้พระคัมภีร์แพร่หลาย และเป็นการสะดวก ในการใช้ศึกษาเล่าเรียนมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น โดยโปรดให้อาราธนาพระเถรานุเถระ ประชุมร่วมกันกับราชบัณฑิตทั้งหลาย ตรวจชำระพระไตรปิฎก แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้น ให้สำเร็จเรียบร้อยทันกำหนด การบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชสิริราชสมบัติในกาลเมื่อบรรจบครบ ๒๕ ปี

ครั้นวันที่ ๗ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๔๓๑) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงผนวชได้ดำรงสมณศักดิ์ มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงดำรงพระยศกรมพระ เป็นประธาน และทรงอาราธนาพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) ขณะทรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นประธาน พร้อมทั้งพระสงฆ์เปรียญ ทั้งในกรุงและหัวเมือง ประชุมพร้อมกับในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับในพระอุโบสถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการ อาราธนาพระสงฆ์ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎก เป็นการเริ่มการทำสังคายนา

ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระเถรานุเถระได้แบ่งกันทำหน้าที่เป็นกอง ๆ ดังนี้

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงดำรงพระยศ กรมพระ ทรงเป็นประธานาธิบดีในการตรวจแบบฉบับพระไตรปิฎก
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศ กรมหมื่น และสมเด็จพระสังฆราช (สา) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นรองอธิบดีจัดการทั้งปวง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นแม่กองตรวจพระวินัยปิฎก
พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก
พระพรหมมุนี (เหมือน) วัดบรมนิวาส เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมไตรโลกย์ วัดราชบุรณะ เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก
พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) วัดเสนาสนาราม เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก
สมเด็จพระวันรัต (ฑิต) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี วัดมหาธาตุ เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก
พระพิมลธรรม (อ้น) วัดพระเชตุพน ฯ เป็นแม่กองตรวจพระอภิธรรมปิฎก
สมเด็จพระวันรัต (แดง) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม วัดสุทัศน์ เป็นแม่กองตรวจพระอภิธรรมปิฎก

พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้มีจำนวน ๑,๐๐๐ จบ ๆ ละ ๓๙ เล่ม พระราชทานพระราชทรัพย์ ในการจัดพิมพ์ประมาณ ๒,๐๐๐ ชั่ง (๒๗) นับเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือ และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจดจารึกพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยด้วย เพราะก่อนแต่นี้ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการจดจารึกพระธรรม เป็นภาษาบาลีหรือภาษาไทย ล้วนนิยมจดจารึกด้วยอักษรขอมทั้งนั้น

การจัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ทันฉลองในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชสิริราชสมบัติบรรจบครบ ๒๕ ปีตามพระราชประสงค์

พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานไปไว้ ตามพระอารามหลวงวัดละจบ นอกนั้นก็พระราชทานแก่พระสงฆ์และคฤหัสถ์ ที่มีหน้าที่ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์ ส่วนที่เหลือก็พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จำหน่ายแก่ผู้ที่ประสงค์จะสร้างถวายวัด หรือสถานศึกษา ในราคาพอสมควร ปรากฏว่าพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้ หมดฉบับสำหรับจำหน่ายภายในเวลาเพียง ๒ ปี

เมื่อข่าวการพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้แพร่หลายไป ปรากฏว่ารัฐบาลและสถานศึกษานานาประเทศ พากันตื่นเต้นสนใจ และขอพระราชทานมาเป็นจำนวนมาก ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้ตามประสงค์ เป็นเหตุให้พระไตรปิฎกชุดนี้แพร่หลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตลอดมาจนบัดนี้ (๒๘)

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเพิ่มอิสริยยศเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ให้พิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อน ๆ มา

คือทรงสถาปนาเลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีนิตยภัตรเดือนละ ๑๑ ตำลึง มีถานานุกรมได้ ๑๒ รูป มากกว่าสมเด็จพระราชาคณะตำแหน่งอื่น ๆ (ซึ่งมีนิตยภัตร ๖ ตำลึงบ้าง ๗ ตำลึงบ้าง ๑๐ ตำลึงบ้าง และมีถานานุกรมได้ ๘ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง) เพื่อเป็นการเฉลิมพระราชศรัทธาปสาทะที่ได้ทรงมีในเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ที่ทรงยกย่องเป็น “อรรคมหาคารวสถาน” โดยฐานที่ได้ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในคราวทรงผนวช และเรียบเรียงหนังสือธรรมวินัยให้ได้ทรงศึกษาเป็นอันมาก

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นับเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒ ได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ อันเป็นราชทินนาม สำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่ขณะที่ยังไม่เป็นสมเด็จพระสังฆราช นับได้ว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงเป็นกรณีพิเศษ

พ.ศ. ๒๔๓๕ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ องค์สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา พระชนมายุ ๘๓ พรรษา แต่เป็นคราวที่ไม่สะดวกในทางราชการ พระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้น ต้องประดิษฐานไว้ ณ พระตำหนักเดิมอันเป็นที่ประทับนานถึง ๘ ปีกับ ๓ เดือน จึงได้ถวายพระเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓

ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๖ ในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (๒๔๓๖) อันเป็นปีที่ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พอดี

การสถาปนาครั้งนี้เรียกว่า “สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ พระราชทานมุทธาภิเศก เลื่อนตำแหน่งสมณถานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีนามตามจารึกในสุพรรณบัตรตามเดิม” คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ฯลฯ มีสำเนาประกาศทรงสถาปนาดังนี้

คำประกาศ
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๖ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม อุรคสังวัจฉร กรรติกมาศ กาฬปักษ์ ฉัฏฐมีดิถี พุฒวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ พฤศจิกายนมาศ เอกุณติงสติม มาสาหคุณประเภท ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงสมณคุณ สมควรจะเลื่อนอิศริยยศในสมณศักดิ์มีอยู่หลายองค์ กาลบัดนี้ ก็เป็นเวลาใกล้การมหามงคลราชพิธีรัชฎาภิเศก ควรจะสถาปนาอิศริยยศพระสงฆ์ ที่ควรจะสถาปนาขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ตามตำแหน่ง เมื่อพระสงฆ์ซึ่งทรงสมณคุณ ได้รับอิศริยศักดิโดยสมควรแก่คุณานุรูป เช่นนั้นแล้ว แลมาสู่สงฆสมาคม ณ พระราชพิธีสถาน ก็จะเป็นการมงคลอันอุดมยิ่ง ทั้งจะเป็นการเพิ่มภูลพระเกียรติยศพระเกียรติคุณ ให้ไพโรจน์ชัชวาลย์ด้วย จึงทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ ประกอบด้วยคุณธรรมอนันตโกศล วิมลปฏิภาณ ญาณปรีชา รอบรู้พระปริยัติธรรม เป็นเอกอรรคบุรุษ แลดำเนินในสัมมาปฏิบัติดำรงคุณธรรม อันได้แจ้งอยู่ในประกาศเลื่อนตำแหน่งแต่ก่อนโดยพิศดาร จึงได้ทรงสถาปนาให้มีอิศริยศักดิพิเศษยิ่งกว่าสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งเป็นเจ้าคณะใหญ่โดยสามัญแล้ว บัดนี้พระมหาเถระซึ่งมีคุณ แลไวย แลอิศริยศักดิเปนชั้นเดียวกัน ก็ล่วงลับไปสิ้นแล้ว ยังเหลืออยู่แต่พระองค์เดียวเป็นที่เจริญพระราชศรัทธา แลเปนอรรคมหาคารวะสถานยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งเจริญด้วยชนมายุกาลรัตตัญญูภาวคุณเป็นพระมหาเถระในสงฆ์ สมควรที่จะดำรงสมณถานันดรศักดิ์ ที่สมเด็จพระสังฆราช ให้ปรากฏเกียรติยศ เกียรติคุณสืบไปสิ้นกาลนาน แลจะได้เป็นที่สักการบูชาแห่งพุทธสาสนิกบริสัช ทั้งคฤหัสถ์แลบรรพชิตทั้งปวงทั่วไป

จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระราชทานมุทธาภิเศก เลื่อนตำแหน่งสมณถานันดรศักดิ์ขึ้น เปนสมเด็จพระสังฆราช มีนามตามจารึกในสุพรรณบัตรตามเดิมว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง มหาสังฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตมสาสนโสภณ วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธสาสนบริสัชคารวะสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร พระอารามหลวง เป็นประธานในสมณะมณฑลทั่วพระราชอาณาเขตร แลดำรงที่เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือด้วย พระราชทานนิตยภัตรเพิ่มขึ้น เปนราคาเดือนละ ๑๒ ตำลึง มีอิศริยยศถานานุศักดิ์ ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๖ รูป คือ

พระครูปลัดสัมพิพัฒนศีลาจารย์ ญาณวิมล สกลคณิศร อุดรสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร พระอารามหลวง พระครูปลัดกลาง มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑
พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ สังฆอิศริยาลังการ วิจารณกิจโกศล วิมลสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร พระอารามหลวง พระครูปลัดขวา มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑
พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์ วิจารโณภาศภาคยคุณ สุนทรสังฆานุคุติ วิสุทธิสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร พระอารามหลวง พระครูปลัดซ้าย มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑
พระครูธรรมกถาสุนทร มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
พระครูวินัยกรณ์โสภณ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
พระครูพรหมวิหาร มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑
พระครูญาณวิสุทธิ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูวินัยธรรม ๑
พระครูเมธังกร ๑
พระครูวรวงศา ๑
พระครูธรรมราต ๑
พระครูธรรมรูจี ๑
พระครูสังฆวิจารณ์ ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑

รวม ๑๖ รูป เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาภิยโยภาพปรากฏสิ้นกาลนาน ขออาราธนาให้รับธุระพระพุทธสาสนา เปนภาระสั่งสอน แลระงับอธิกรณ์พระสงฆ์สามเณรในคณะ แลคณานุคณะในสยามรัฏฐิกสงฆมณฑลทั่วไป ให้ทวียิ่งขึ้นตามสมควรแก่กำลังแลอิศริยยศซึ่งพระราชทานนี้

ในการทรงสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้ ไม่ได้พระราชทานพระสุพรรณบัตรใหม่ เป็นแต่โปรดให้เจ้าพนักงานเชิญพระสุพรรณบัตรครั้งเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มาตั้งสมโภชที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชทานแต่ใบกำกับพระสุพรรณบัตรใหม่เท่านั้น ในคราวเดียวกันนี้ ได้พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศ กรมหมื่น เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุตติกนิกาย ด้วย

งานพระนิพนธ์ ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) ก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นงานแปลพระสูตร หนังสือเทศนา และเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ พระนิพนธ์ต่าง ๆ ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น ถือกันว่าเป็นงานชั้นครู ทั้งในด้านเนื้อหา สำนวน และแบบแผนในทางภาษา โดยเฉพาะพระนิพนธ์เทศนา มีอยู่เป็นอันมากที่ใช้เป็นแบบอย่างกันมาตั้งแต่ครั้งกระโน้นจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า
“แท้จริง บรรดาเทศนาทั้งหลายของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์นั้นพวกบัณฑิตย่อมนับถือกันว่า เป็นหนังสือแต่งดีอย่างเอกมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ถือกันว่าควรเป็นแบบอย่าง ทั้งในทางถ้อยคำและในทางปฏิภาณโวหารเป็นของที่ชอบอยู่ทั่วกัน” (๒๙)

พระนิพนธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ หากได้มีการรวบรวมไว้ให้ครบถ้วน ก็จักเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในทางพระศาสนา และสารคดีธรรมเป็นอย่างยิ่ง เท่าที่รวบรวมรายชื่อได้ในคราวนี้ มีดังนี้

ประเภทพระสูตรแปล
๑. กาลามสูตร
๒. จักกวัตติสูตร
๓. จูฬตัณหาสังขยสูตร
๔. ทาฬิททิยสูตร
๕. ทีฆชาณุโกฬิยปุตตสูตร
๖. ธนัญชานีสูตร
๗. ธัมมเจติยสูตร
๘. ปราภวสูตร
๙. ปาสาทิกสูตร
๑๐. มหาธัมมสมาทานสูตร
๑๑. โลกธัมมสูตร
๑๒. สฬายตนวิภังคสูตร
๑๓. สัมมทานิยสูตร
๑๔. สุภสูตร
๑๕. เสขปฏิปทาสูตร
๑๖. อนาถปิณฑโกวาทสูตร
๑๗. อภิณหปัจจเวกขณปาฐะ
๑๘. อภิปปฏิสาสสูตร
๑๙. อากังเขยยสูตร
๒๐. อายาจนสูตร
๒๑. มหาสติปัฏฐานสูตร

ประเภทเทศนา
๑. ปฐมสมโพธิย่อ (๓ กัณฑ์จบ)
๒. เรื่องจาตุรงคสันนิบาตและโอวาทปาติโมกข์
๓. ปฐมสมโพธิ (แบบพิสดาร ๑๐ กัณฑ์จบ) เรื่องนี้ใช้เป็นหนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี - เอก อยู่ในปัจจุบัน
๔. อนุปุพพิกถา (๕ กัณฑ์จบ)
๕. สาราทานปริยาย
๖. ธัมมฐิตัญญาณกถา
๗. ฉฟังคุเปกขากถา
๘. กัสสปสังยุตตกถา
๙. กฐินกถา
๑๐. วัสสูปนายิกกถา
๑๑. เทศนาจตุราริยสัจจกถา (๔ กัณฑ์จบ)
๑๒. ธุตังคกถา
๑๓. สัปปุริสธรรม ๗ ประการ
๑๔. อัฎฐักขณกถา
๑๕. อัฏฐมลกถา
๑๖. อัปปมัญญาวิภังคกถา
๑๗. จตุรารักขกรรมฐานกถา
๑๘. ธัมมุเทศกถา
๑๙. นมัสสนกถา
๒๐. ปวรคาถามารโอวาท
๒๑. ภัทเทกรัตตคาถา
๒๒. รัตตนัตตยปริตร (๓ กัณฑ์จบ)
๒๓. สังคหวัตถุและเทวตาพลี
๒๔. สรณคมนูปกถา
๒๕. สัตตาริยธนกถา
๒๖. สัพพสามัญญานุสาสนี
๒๗. อุกกัฎฐปฎิปทานุสาสนี
๒๘. โสกสัลลหรณปริยาย
๒๙. โสฬสปัญหา (๑๘ กัณฑ์จบ)

ต่างเรื่อง
๑. พระภิกขุปาติโมกข์แปลตรงคงตามบทพยัญชนะ โดยพระบรมราชานุมัติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒. พระภิกขุปาติโมกข์สิกขาบท
๓. วิธีบรรพชาอุปสมบทอย่างธรรมยุตติกนิกาย
๔. สวดมนต์ฉบับหลวง
๕. แปลธัมมปทัฎฐกถา ภาค ๑ (บางเรื่อง)

รวมพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ที่เป็นงานแปลพระสูตร ๒๐ สูตร เทศนา ๗๐ กัณฑ์ และพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ดต่างเรื่อง ๕ เรื่อง เท่าที่รวบรวมได้ในขณะนี้ เข้าใจว่าคงยังไม่ครบบริบูรณ์แต่ก็เป็นจำนวนเกือบ ๑๐๐ เรื่องซึ่งนับว่ามิใช่จำนวนน้อย

พระกรณียะพิเศษ
สมเด็จพระสังฆราช (สา) ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ถวายพระมงคลวิเสสกถา ซึ่งเป็นเทศนาพิเศษอย่างหนึ่ง มาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ และได้ถวายต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ท่าน

เทศนาพระมงคลวิเสสกถา เป็นเทศนาพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งพรรณนาพระราชจรรยาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเพื่อประโยชน์จะได้ทรงพระปัจจเวขณ์ (คือพิจารณา) ถึงแล้ว เกิดพระปีติปราโมทย์แล้ว ทรงบำเพ็ญราชธรรมนั้นยิ่ง ๆ เป็นการอุปถัมภ์พระราชจรรยาให้ถาวรไพบูลย์ (๓๐)

พระเถระที่จะรับหน้าที่ถวายพระมงคลวิเสสกถาในครั้งนั้น สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรด เช่นในรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงอาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เป็นผู้ถวาย และถวายต่อมาถึงในรัชกาลที่ ๕

เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศ กรมหมื่นเป็นผู้ถวาย และได้ถวายต่อมาจนถึงในรัชกาลที่ ๖

เมื่อสมเด็จพระสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ได้เป็นผู้ถวายต่อมา เป็นต้น

ในปัจจุบัน การถวายพระมงคลวิเสสกถา เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช หรือพระเถระรูปใดรูปหนึ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมอบหมาย

ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พ.ศ.๒๔๑๖

ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ในการทรงผนวชของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า ในพระบรมราชวงศ์จักรีหลายพระองค์

เกี่ยวกับพระอัธยาศัยส่วนพระองค์นั้นเล่ากันว่า ทรงปกครองบริษัทด้วยพระกรุณาอนุเคราะห์ และยกย่องสหธรรมิกด้วยธรรมและอามิสตามควรแก่คุณานุรูป มีพระอัธยาศัยค่อนไปข้างทรงถือ พระวินัยละเอียดลออมาก หากเกิดความสงสัยในอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะไม่เป็นอาบัติแท้ ก็จะทรงแสดงเสียเพื่อความบริสุทธิ์ (๓๑)

กล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงเป็นพระมหาเถระที่เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก และทรงธรรมทางวินัยอย่างแท้จริงพระองค์หนึ่ง จึงทรงเป็นที่เคารพสักการะ แห่งพุทธบริษัททุกหมู่เหล่าเป็นอย่างยิ่ง นับแต่องค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นตลอดจนคณะสงฆ์และพุทธบริษัททั่วไป

ในตอนปลายแห่งพระชนม์ชีพ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ประชวรด้วยพระโรคบิดประกอบกับพระโรคชรา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ นับพระชนมายุได้ ๘๗ โดยปี

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๗ ปี ทรงครองวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสาราม ๓๔ ปี

หลังจากที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช(สา) สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยจนตลอดรัชกาล จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่ถึง ๑๑ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๒ - ๒๔๕๓)

เช่นเดียวกับในครั้งรัชกาลที่ ๔ หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือ สิ้นพระชนม์แล้ว ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชจนตลอดรัชกาลเช่นเดียวกัน จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่ถึง ๑๕ ปี

นำให้เข้าใจว่า แต่โบราณมานั้น พระเถระที่จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น เฉพาะที่เป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นพิเศษ โดยฐานเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ หรือพระราชกรรมวาจาจารย์ หรือพระอาจารย์เท่านั้น

ดังนั้น ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงเคารพนับถือมากโดยฐานทางเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ สิ้นพระชนม์แล้ว จึงมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีก และในรัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชอุปัธยาจารย์และสมเด็จพระสังฆราช (สา) พระราชกรรมวาจาจารย์ สิ้นพระชนม์แล้ว ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเช่นกันจนตลอดรัชกาล

--------------------------------------------------------

เชิงอรรถ
(๑) ในหนังสือบางเล่มเรียกว่า “บางไผ่ใหญ่”
(๒) ทำเนียบสมณศักดิ์รองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ (ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสาสนโสภณ (เอื้อน) วัดเทพศิรินทราวาส ๒๕๒๑) หน้า ๗๕
(๓) จดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ ฯ (ในงานพระศพพระองค์เจ้าแขไขดวง ๒๔๗๒) หน้า ๒๙
(๔) เล่มเดียวกัน หน้า ๒๙
(๕) เรื่องแต่งตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์. (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖) หน้า ๑๔๐-๑
(๖) ทำเนียบสมณศักดิ์รองสมเด็จพระราชาคณะ ฯ อ้างแล้ว หน้า ๗๗
(๗) จดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบฯ อ้างแล้ว หน้า ๓๕-๓๖
(๘) ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร (พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ๒๔๖๕) หน้า ๒๐-๒๓
(๙) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม (ของนาย เอ บี กริสโวลด์. พิมพ์โดยเสด็จ พระราชกุศลในมหามงคลสมัย พระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระราชบิดา ๒๕๐๘) หน้า ๓๖-๓๗.

(๑๐) สัตตปัพพ บุพพสิกขา และบุพพสิกขาวรรณนา (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑/๒๕๑๐) หน้า ฎ
(๑๑) เรื่องแต่งตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว หน้า ๑๔๔
(๑๒) ประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๔ ภาค ๒ ( ในการพระเมรุพระศพ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฎฐายี) ๒๕๑๕ หน้า ๓๔๖ - ๓๔๙
(๑๓) ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร อ้างแล้วหน้า ๕๒-๕๓
(๑๔) เล่มเดียวกัน หน้า ๓๓
(๑๕) เล่มเดียวกัน หน้า ๒๔
(๑๖) เรื่องแต่งตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว หน้า ๑๔๑ และ จดหมายเหตุ เรื่องไต่สวนนายกุหลาบ ฯ อ้างแล้ว หน้า ๓๖
(๑๗) เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ ฯ อ้างแล้ว หน้า ๑๔๑-๑๔๒
(๑๘) สาส์นสมเด็จ (ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฯ องค์การค้าของคุรุสภา๒๗๖) เล่ม ๒๓ หน้า ๑๒๖
(๑๙) ทำเนียบสมณศักดิ์รองสมเด็จพระราชาคณะ ฯ อ้างแล้ว หน้า ๘๔
(๒๐) เรื่องแต่งตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว หน้า ๑๔๒
(๒๑) พระประวัติตรัสเล่า. (พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ฉบับพิมพ์ครั้ง ๒/๒๔๙๔ มหามกุฎราชวิทยาลัย) หน้า ๓
(๒๒) คำบอกเล่าของพระธรรมปัญญาจารย์ (ทิม อุฑาฆิโม) แต่ครั้งยังเป็นที่พระเทพเมธากร อ้างในทำเนียบสมณศักดิ์รองสมเด็จพระราชาคณะ ฯ อ้างแล้ว หน้า ๘๕
(๒๓) มหามกุฎราชานุสสณีย์ (มหามกุฎราชวิทยาลัยพิมพ์เฉลิมพระเกียรติสมัยครบ ๑๐๐ ปี จากวาระเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๑๑). หน้า (๕๒)-(๕๖)
(๒๔) ลิลิตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชใน พระนิพนธ์ต่างเรื่อง (ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มหามกุฎราชวิทยาลัย ๒๕๑๔) หน้า ๒๔๘
(๒๕) ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร อ้างแล้ว หน้า ๖๘-๖๙
(๒๖) พระประวัติตรัสเล่า อ้างแล้ว หน้า ๙๙
(๒๗) กฎหมายรัชกาลที่ ๕ (หลวงรัตนาญัปติ (เปล่ง) อธิบดีกรมอัยการ รวบรวม). หน้า ๘๓๘
(๒๘) พระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทย. (ของเสทื้อน ศุภโสภณ คลังวิทยา ๒๕๐๕). หน้า ๒๔๒-๔
(๒๙) โสฬสปัญหา (สมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงนิพนธ์ ในการปลงศพม่อมหลวงดวงเดือน ดารากร ๒๔๖๗) คำนำ หน้า ข
(๓๐) พระมงคลวิเสสกถา หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก (ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส มหามกุฏราวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ ๑๒/๒๕๐๓) คำนำ หน้า ก
(๓๑) ทำเนียบสมณศักดิ์รองสมเด็จพระราชาคณะ ฯ อ้างแล้ว หน้า ๙๐

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก