หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี)

พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
[ วัดมหาธาตุ ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๙ )
พระประวัติในเบื้องต้น
สมเด็จพระสังฆราช (มี) มีพระประวัติในเบื้องต้นเป็นมาอย่างไร ไม่ทราบรายละเอียด ปรากฏแต่เพียงว่า ประสูติเมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๑๒ ตรงกับวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๒๙๓

เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระเปรียญเอกอยู่วัดเลียบ (วัดราชบุรณะ)
ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นพระราชาคณะ ที่พระวินัยรักขิต[๑] แทนตำแหน่งที่ พระอุปาฬี ซึ่งเป็นตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโดยทรงพระราชดำริว่า ที่พระอุปาฬี ต้องกับนามพระอรหันต์ จึงโปรดให้แปลงนามเลยใหม่ เป็นพระวินัยรักขิต ฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราช (มี) จึงทรงเป็นพระราชาคณะในราชทินนามที่ พระวินัยรักขิต เป็นรูปแรก

พ.ศ. ๒๓๓๗ ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นที่ พระพิมลธรรม ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก) และสมเด็จพระพนรัตน วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อสมเด็จพระพนรัตน วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) ถึงมรณภาพราวต้นรัชกาล จึงทรงตั้งเป็น สมเด็จพระพนรัตน [๓]

สมณทูตไปลังกาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตน สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจที่สำคัญครั้งหนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชดำริที่จะให้พระสงฆ์ไทย ออกไปสืบข่าวพระศาสนายังลังกาทวีป แต่เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ขณะนั้นทรงชราภาพ จึงทรงมอบหมายให้สมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็นผู้จัดสมณทูต เพื่อออกไปยังลังกาทวีปครั้งนี้ ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า

"เมื่อปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑พ.ศ. ๒๓๕๒ แต่ในปลายรัชกาลที่ ๑ มีพระภิกษุชาวลังกาชื่อพระวลิตรภิกษุรูป ๑ กับสามเณร ๒ รูปเข้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราชมาถึงกรุงเทพฯ โปรดให้วลิตรภิกษุ กับสามเณรชื่อรัตนปาละ ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมหาธาตุสามเณรอีกรูป ๑ ชื่อหิธายะ ให้ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระวันรัตน์วัดพระเชตุพน

ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ สามเณรลังกาทั้ง ๒ รูป ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุสยามวงศ์ เพราะถือว่าเป็นวงศ์เดียวกับพระสงฆ์ในลังกาทวีป ซึ่งได้รับอุปสมบทแต่พระอุบาลี ที่ออกไปในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงเก่า จึงโปรดให้สามเณรทั้ง ๒ นี้เป็นนาคหลวงบวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานนิตยภัตไตรปีสืบมา

ครั้นมาถึงปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ มีพระลังกาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ อีกรูป ๑ ชื่อพระศาสนวงศ์ อ้างว่าพระมหาสังฆนายกในลังกาทวีป ให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถวาย แด่สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีสมณสาสน์หรือสำคัญอันใดมา ครั้นไต่ถามถึงการพระศาสนาในลังกาทวีป พระศาสนวงศ์ก็ให้การเลื่อนเปื้อนไปต่าง ๆ ซ้ำมาเกิดรังเกียจ ไม่ปรองดองกันกับพระลังกา ที่เข้ามาอยู่แต่ก่อน วัตรปฏิบัติก็ไม่น่าเลื่อมใสด้วยกันทั้ง ๒ รูป จึงเป็นเหตุให้ทรงแคลงพระราชหฤทัยว่า จะมิใช่พระที่ได้รับอุปสมบทมาแต่ลังกาทวีป

ทรงพระราชดำริว่าพระสงฆ์ในลังกาทวีป ก็เป็นสมณวงศ์อันเดียวกันกับพระสงฆ์ในสยามประเทศ เคยมีสมณไมตรีต่อกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่เริดร้างมาเสียเพราะเกิดเหตุศึกสงคราม ไม่ได้ไปมาหาสู่ถึงกันช้านาน บัดนี้กรุงสยาม ก็ได้ประดิษฐานพระนครรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มีอิสระมั่นคงแล้ว แลได้ข่าวว่าลังกาทวีปเสียแก่อังกฤษ การพระศาสนาแลศาสนวงศ์ ในลังกาทวีปจะเป็นอย่างไร ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้ จึงทรงเผดียงสมเด็จพระวันรัตน์ (มี) วัดราชบุรณะ กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ให้จัดหาพระภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้แลคณะเหนือ จะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง

สมเด็จพระวันรัตนจัดได้พระวัดราชบุรณะ ๕ รูป คือ พระอาจารย์ดีรูป ๑ พระอาจารย์เทพรูป ๑ พระแก้วรูป ๑ พระคงรูป ๑ พระห่วงรูป ๑ พระพุทธโฆษาจารย์จัดได้พระวัดมหาธาตุ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อยู่รูป ๑ พระปรางรูป ๑ พระเซ่งรูป ๑พระม่วงรูป ๑ รวมพระสงฆ์ไทย ๙ รูป ครั้งนั้นพระรัตนปาละ พระหิธายะชาวลังกา ซึ่งเข้ามาอุปสมบทในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์สมณทูตไทยจะออกไปลังกา ถวายพระพรลาจะออกไปเยี่ยมญาติโยมของตนด้วย โปรดให้ไปกับสมณทูต พระสงฆ์ที่จะไปจึงรวมเป็น ๑๐ รูปด้วยกัน

เมื่อจัดพระได้พร้อมแล้ว ถึงเดือน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ป็จอ ฉศก พ.ศ. ๒๓๗๕ โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์สมณทูตเข้าไปรับผ้าไตรแลเครื่องบริขารต่อพระหัตถ์ แลโปรดให้จัดต้นไม้เงินทอง ๑๖ สำรับเทียนใหญ่ธูปใหญ่ ๓๐๐ คู่ เป็นของทรงพระราชอุทิศส่งไปบูชาพระทันตธาตุ และพระเจดียฐานในลังกาทวีป แลโปรดให้จัดเครื่องสมณบริขาร ๓ สำรับ คือ บาตร ฝาแลเซิงประดับมุก ถลกบาตรสักหลาดแดง ไตรแพรปักสี ย่ามหักทองขวางเป็นของพระราชทานพระสังฆนายก พระอนุนายก แลพระเถระซึ่งรักษาพระทันตธาตุ ณ เมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี แลมีสมณสาสน์ของสมเด็จพระสังฆราช ไปถึงพระสังฆนายกด้วยฉบับหนึ่ง โปรดให้หมื่นไกร กรมการเมืองนครศรีธรรมราช เป็นไวยาวัจกรสมณทูต แลคุมต้นไม้เงินทองสิ่งของพระราชทานไปด้วย

สมณทูตลงเรือกรมอาสาจามไปจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ถูกลมว่าวพัดกล้าคลื่นใหญ่ เรือไปชำรุดเกยที่ปากน้ำเมืองชุมพร พระยาชุมพรจัดเรือส่งไปเมืองไชยา พระยาไชยาจัดเรือส่งต่อไป ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ไม่ทันฤดูลมที่จะใช้ใบไปลังกาทวีป สมณทูตจึงต้องค้างอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ๑๑ เดือน ในระหว่างนั้น พระวลิตรภิกษุ กับพระศาสนวงศ์ พระลังกาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์ไทยยังค้างอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ถวายพระพรลาว่าจะกลับไปบ้านเมืองกับสมณทูตไทย เมื่อได้พระราชทานอนุญาตแล้ว ก็ตามออกไปยังเมืองนครศรีธรรมราช แต่เมื่ออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว พระวลิตรภิกษุ กับพระรัตนปาละ พระหิธายะ ที่มาบวชในกรุงเทพฯ ไปประพฤติตัวไม่เรียบร้อยต่าง ๆ พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เห็นว่า ถ้าให้พระลังกา ๓ รูปนั้นไปกับพระสงฆ์สมณทูตไทย เกรงจะไปเกิดเหตุการณ์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ จึงจัดส่งไปเกาะหมากทั้ง ๓ รูป ให้กลับไปบ้านเมืองของตนตามอำเภอใจ คงให้ไปกับพระสงฆ์ไทย แต่พระศาสนวงศ์รูปเดียว แต่เมื่อไปขึ้นบกในอินเดียแล้วพระศาสนวงศ์ก็หลบหายไปอีก

พระสงฆ์สมณทูตไทยไปบกจากเมืองนครศรีธรรมราช ไปลงเรือที่เมืองฝรั่ง ได้ออกเรือเมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ. ๒๓๕๘ ไปกับเรือที่บรรทุกช้างไปขายในอินเดีย พระยานครศรีธรรมราชมีจดหมายไปถึงสังฆนาเกน นายห้างพราหมณ์อยู่ ณ เมืองบำบุดบำดัด ซึ่งเป็นคนชอบกับเจ้าพระยานคร ได้เคยรับซื้อช้างกันมาเสมอทุกปี

ครั้นเรือไปถึงเมืองบำบุดบำดัด สังฆนาเกนได้ทราบความในหนังสือเจ้าพระยานครแล้ว ก็ช่วยเป็นธุระรับรองพระสงฆ์สมณทูต แลให้เที่ยวหาจ้างคนนำทางที่จะไปลังกา พระสงฆ์ต้องคอยท่าอยู่อีกเดือนหนึ่ง จึงได้บลิม แขกต้นหนคน ๑ เคยมาค้าขายที่เมืองฝรั่งพูดไทยได้เป็นล่าม แลนำทางไป ต้นไม้ทองเงินธูปเทียนแลเครื่องบริขารของพระราชทานนั้น บลิมก็รับไปด้วย เรียกค่าจ้างเป็นเงิน ๑๘๐ รูเปีย

ออกเดินไปจากเมืองบำบุดบำดัด เมื่อ ณ เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ไป ๗๖ วันถึงท่าข้ามไปเกาะลังกา บลิมจ้างเรือไปส่งไปวัน ๑ ถึงเกาะลังกา ขึ้นเดินไปจากท่าเรืออีก ๓ วัน ถึงเมืองอนุราธบุรี เมื่อ ณ วันเดือน ๘ บุรพาสาธขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวด อัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙

พักอยู่ที่เมืองอนุราธบุรี ๓ วัน กุมารสิยูม ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองอนุราธบุรีนั้น จัดคนนำทางส่งต่อไปเมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี เดินไปได้ ๑๖ วัน ถึงคลองน้ำชื่อว่า วาลุกคงคา เมื่อ ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้นค่ำ ๑

ขุนนางเมืองสิงขัณฑทราบว่าพระสงฆ์ไทย ไปถึงคลองวาลุกคงคา จึงแต่งให้พันนายบ้านราษฎรออกมาปฏิบัติ ทำปะรำดาดผ้าขาวให้พักอาศัยอยู่คืนหนึ่ง รุ่งขึ้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้น ๒ ค่ำ พระสงฆ์ สามเณร ราษฎรชาวลังกาชายหญิง ออกมารับสมณทูตไทยแห่เข้าไปในเมือสิงขัณฑ ให้ไปอยู่วัดบุปผาราม

เวลานั้นอังกฤษพึ่งได้เกาะลังกาเป็นเมืองขึ้นใหม่ ๆ เจ้าเมืองอังกฤษกำลังเอาใจชาวลังกา ให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะเบียดเบียนพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ชาวลังกา เคยได้รับนิตยภัตจตุปัจจัยมา แต่เมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬปกครองอย่างไร ก็คงให้อย่างนั้น พระสงฆ์ไทยก็ได้รับความอุปการะ เหมือนกับพระสงฆ์ชาวลังกาด้วยทุกอย่าง

ฝ่ายพระสังฆนายก พระอนุนายกชาวสิงหฬ ก็ช่วยทำนุบำรุง พาสมณทูตไทยไปหาเจ้าเมืองอังกฤษ ขอลูกกุญแจมาไขเปิดพระทันตธาตุมนเทียร แลเชิญพระทันตธาตุออกให้นมัสการ แล้วพาไปนมัสการพระพุทธบาท บนยอดเขาสุมนกูฏ ได้ไปเที่ยวนมัสการพระเจดีย์ฐานที่สำคัญทุกแห่ง

สมณทูตไทยอยู่ในลังกาทวีป ๑๒ เดือนจึงลาพระสังฆนายก พระอนุนายกกลับมา พระสังฆนายก พระอนุนายก ประชุมพร้อมกันทำสมณสาสน์ตอบให้สมณทูตไทย ถือเข้ามาถึงสมเด็จพระสังฆราชฉบับ ๑ ในสมณสาสน์นั้นว่า พระสังฆนายก พระอนุนายก ได้ช่วยทำนุบำรุงพระสงฆ์ไทยตั้งแต่ไปจนกลับมา มีความผาสุกทุกองค์ จัดได้พระเจดีย์แก้วผลึกสูง ๘ นิ้วบรรจุพระบรมธาตุ ๕ พระองค์ พระพุทธรูปกาไหล่ทองคำหน้าตัก ๕ นิ้วองค์หนึ่ง ฉลองพระเนตรองค์หนึ่ง ถวายเข้ามาในสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แลจัดได้พระเจดีย์กาไหล่ทองคำองค์หนึ่งสูง ๑๒ นิ้ว บรรจุพระบรมธาตุ ๓ พระองค์ แว่นตาศิลาอันหนึ่ง ถวายสมเด็จพระสังฆราช อนึ่ง เมื่อสมณทูตไทยกลับมาคราวนั้น ได้หน่อพระมหาโพธิเมืองอนุราธบุรีเข้ามาด้วย ๖ ต้น

พระสงฆ์ไทยออกจากเมืองสิงขัณฑ ณ เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลู นพศก พ.ศ. ๒๓๖๐ ขุนนางอังกฤษที่เป็นเจ้าเมืองกลัมพู เอาเป็นธุระฝากเรือลูกค้ามาส่งที่เมืองบำบุดบำดัด แล้วสังฆนาเกนเศรษฐีเสียค่าระวาง ให้เรือกำปั่นลูกค้ามาส่งที่เมืองเกาะหมาก ขึ้นพักอยู่ที่เมืองเกาะหมาก ๔ เดือน

พระยานครศรีธรรมราชทราบว่า พระสงฆ์ซึ่งไปลังกากลับมาถึงเมืองเกาะหมากแล้ว จึงแต่งหรือไปรับ แลจัดส่งเข้ามา ถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือน ๙ แรมค่ำ ๑ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๙ พ.ศ. ๒๓๖๑

แลต้นพระมหาโพธิที่ได้มานั้น พระอาจารย์เทพ ขอเอาไปปลูกไว้ที่เมืองกลันตันต้นหนึ่ง เจ้าพระยานครขอเอาไปปลูกที่เมืองนครสองต้น ได้เข้ามาถวายสามต้น โปรดให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง วัดสระเกศต้นหนึ่ง แล้วทรงตั้งพระอาจารย์ดีเป็นที่พระคัมภีรปรีชา ตั้งพระอาจารย์เทพเป็นที่พระปัญญาวิสารเถร พระห่วงนั้นทรงเห็นว่าได้เรียนหนังสือ รู้ภาษามคธมาก ได้ช่วยเป็นล่ามโต้ตอบกับชาวลังกา ไม่เสียรัดเสียเปรียบ เป็นคนฉลาดไหวพริบดี จึงทรงตั้งให้เป็นพระวิสุทธิมุนี เป็นพระราชาคณะทั้ง ๓ รูป พระสงฆ์ที่ได้เป็นสมณทูตไปลังกานอกจากนั้น พระราชทานไตรปืแลนิตยภัตต่อมา เดือนละ ๘ บาทบ้าง ๖ บาทบ้างทุกรูป [๔]

พระกรณียกิจครั้งนี้ นับว่าเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญ เพราะเป็นการรื้อฟื้นศาสนไมตรีระหว่างไทยกับลังกา ที่เริดร้างกันมากว่าครึ่งศตวรรษ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งเป็นการปูทางให้แก่สมณทูตไทย ในรัชกาลต่อมา ซึ่งยังผลให้คณะสงฆ์ไทยและลังกา มีการติดต่อสัมพันธ์กันใกล้ชิดยิ่งขึ้น อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กันและกัน ในทางพระศาสนาในเวลาต่อมาเป็นอันมาก

สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. ๒๓๕๙ ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงตั้ง สมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามว่า “สมเด็จพระอริยวงษญาณ” เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๖๙ มีสำเนาประกาศทรงตั้ง ดังนี้

"ศิริศยุภมัศดุอดีตกาล พระพุทธศักราช ชไมยะสหัสสังวัจฉรไตรยสตาธฤกษ์เอกูณสัฏฐีเตมส ประจุบันกาล มุสิ กสังวัจฉรมาสกาลปักษ์ยครุวาร สัตตดฤษถีบริเฉทกาลอุกฤษฐ์ สมเด็จบรมธรรมฤกมหาราชารามาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรมอนันตคุณวิบุลยอันมหาประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธามีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนาให้สมเด็จพระพนรัตน เป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติยวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปรินายก ติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤกษษรทักษิณา สฤทธิสังฆคามวาสี อรัญวาสี เปนประธานถานาทุกคณะนิกรจัตุพิธบรรพสัช สถิตย์ในพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหารพระอารามหลวง ให้จฤกถฤๅตฤกาลอวยผล พระชนมายุศมศรีสวัสดิ พิพัฒนมงคลวิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเถิด" [๕]

ในพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้เองที่ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกว่า สมเด็จพระสังฆราชในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีราชทินนามว่า "สมเด็จพระอริยวงษญาณ" กระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้เป็น "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" และใช้พระนามนี้สืบมาจนปัจจุบัน

เกิดธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงเป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่ทรงตั้งในรัชกาลที่ ๒ และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก ที่เมื่อทรงตั้งแล้วโปรดให้แห่จากพระอารามเดิมมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เป็นการเริ่มต้น ธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราช จากพระอารามเดิมมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๒ เมื่อคราวทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้เป็นครั้งแรกและวัดมหาธาตุก็ได้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนตลอดรัชกาลที่ ๒

พิธีแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุนั้นทำอย่างไร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า
"ในรัชกาลที่ ๒ ต้องทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นต้นมา ล้วนอยู่พระอารามอื่นก่อน แล้วจึงมาสถิตวัดมหาธาตุทั้งนั้น เมื่อจะเป็นสมเด็จพระสังฆราช บางพระองค์แห่มาสถิตวัดมหาธาตุก่อนแล้ว จึงรับพระสุพรรณบัตร บางพระองค์รับพระสุพรรณบัตรก่อนแล้ว จึงแห่มาสถิตวัดมหาธาตุ คงจะเกี่ยวด้วยฤกษ์ทรงสถาปนา ถ้าฤกษ์อยู่ในเวลาพระศพสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน ยังอยู่ที่ตำหนัก ก็รับพระสุพรรณบัตรก่อน พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน แล้วจึงแห่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ มาสถิตวัดมหาธาตุ ถ้าฤกษ์สถาปนา เป็นเวลาพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนแล้ว ก็แห่มาสถิตวัดมหาธาตุก่อน แล้วจึงรับพระสุพรรณบัตร คราวทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้ เห็นได้ชัดโดยวันในจดหมายเหตุว่า เมี่อทรงตั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราช (สุก) สิ้นพระชนม์ยังไม่ถึง ๓ เดือน คงยังไม่ได้พระราชทานเพลิงพระศพ แต่กระบวนแห่สมเด็จพระสังฆราช มาสถิตพระอารามจะเป็นอย่างไร ยังหาพบจดหมายเหตุไม่ เข้าใจว่าจะเป็นทำนองเดียวกัน กับกระบวนแห่พระสุพรรณบัตร แลตราพระมหามณฑปไปส่งยังพระอาราม คือ ในวันทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ตอนบ่ายแห่พระสุพรรณบัตรแลตราพระมหามณฑป ไปส่งยังพระอาราม มีกระบวนเกณฑ์ แห่สวมเสื้อกางเกงหมวกตามอย่างกระบวน ถือธงมังกรไปข้างหน้า ๔๐ แล้ว ถึงคู่แห่นุ่งถมปักลาย สวมเสื้อครุยแลลอมพอกขาว ถือดอกบัวสด ๔๐ แล้วถึง กองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ แตรฝรั่ง ๔ แตรงอน ๘ สังข์ ๒ รวม ๓๒ คน สวมเสื้อหมวกแดง แล้วถึงเครื่องสูง บังแซก รวม ๑๘ คน นุ่งกางเกงยก เสื้อมัสรู่ เกี้ยวผ้าลาย แล้วถึงราชยานกงรับพระสุพรรณบัตร แลตราพระมหามณฑป มีขุนหมื่นอาลักษณ์นุ่งถมปักลาย สวมเสื้อครุยลอมพอก นั่งประคองคน ๑ กระบวนหลังมีเครื่องสูง แล้วถึงเกณฑ์แห่ มีคู่แห่ ๒๐ แลคนถือธง ๒๐ เป็นหมดกระบวน

ในค่ำวันนั้นมีจุดดอกไม้เพลิง ดอกไม้พุ่ม ๗ ชั้น ๒๐ พุ่ม ระทาสูง ๔ ศอก ๑๐ ระทา พะเนียง ๓๐ บอก จุดที่นอกพระระเบียงข้างหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่กระบวนแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิตพระอาราม คงมีเสลี่ยงกงเชิญพระพุทธรูป พระธรรม แลพระสุพรรณบัตร ทราบแต่ว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงวอช่อฟ้า” [๖] วัดมหาธาตุได้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชต่อเนื่องกันมา ๔ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระ สังฆราชมาแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงตอนต้นรัชกาลที่ ๒
๒. สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๒
๓. สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระองค์ที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๒
๔. สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งมีพระชนม์มาถึงปีที่ ๑๙ ในรัชกาลที่ ๓

มาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบุรณะ สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุกำลังอยู่ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะจนถึงสิ้นพระชนม์ ต่อแต่นั้นมา เมื่อทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ก็มิได้มีการแห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุอีก ธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุจึงเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒

เกิดอธิกรณ์ครั้งสำคัญ
ในป็แรกที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นั้นเอง ก็ได้เกิดอธิกรณ์ซึ่งนับว่าเป็นครั้งสำคัญและครั้งแรกขึ้นในรัชกาล เพราะมีพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังของคณะสงฆ์ ต้องอธิกรณ์เมถุนปาราชิกพร้อมกันถึง ๓ รูป ดังมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ว่า
“ในเดือน ๑๒ ป็ชวดอัฐศก (พ.ศ. ๒๓๕๙) นั้น มีโจทก์ฟ้องว่า พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ รูป ๑ พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลางรูป ๑ พระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่ารูป ๑ ทั้ง ๓ รูปนี้ประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติข้อสำคัญ ต้องเมถุนปาราชิกมาช้านาน จนถึงมีบุตรหลายคน โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพิจารณาได้ความเป็นสัตย์สมดังฟ้อง จึงมีรับสั่งเอาตัวผู้ผิดไปจำไว้ ณ คุก” [๗]

ตำแหน่งที่ พระพุทธโฆษาจารย์นั้น เป็นตำแหน่งสำคัญในคณะสงฆ์ รองลงมาจากตำแหน่งที่ สมเด็จพระวันรัตน หรือเป็นลำดับที่ ๓ ในสังฆมณฑลนับแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา และพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) รูปนี้ นับว่าเป็นกำลังสำคัญของคณะสงฆ์ในขณะนั้น เพราะเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้จัดสมณทูตไปลังกาเมื่อต้นรัชกาล สมเด็จพระสังฆราช (มี) ขณะยังเป็นที่ สมเด็จพระพนรัตน กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) นี้เอง ที่เป็นผู้จัดการเรื่องสมณทูตไปลังกา เป็นที่เรียบร้อย สมพระราชประสงค์ จึงนับว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อมาเกิดอธิกรณ์ขึ้นเช่นนี้ คงเป็นที่ทรงโทมนัสเป็นอย่างมาก และก็คงตกเป็นภาระของสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง ที่จะต้องสะสางและปรับปรุงการคณะสงฆ์ให้ดีขึ้น ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า

“ที่เกิดเหตุปรากฏว่าพระราชาคณะเป็นปาราชิกหลายรูปคราวนั้น เห็นจะทรงพระวิตกถึงการฝ่ายพระพุทธจักรมาก ปรากฏว่าได้ทรงเผดียงสมเด็จพระสังฆราช (มี) แลสมเด็จพระวนรัตน (อาจ)วัดสระเกษ ให้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนี แสดงข้อวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่สมณะมณฑล คัดแจกทั่วไปตามพระอาราม เป็นทำนองสังฆาณัติแลการชำระความปาราชิก ก็สืบสวนกวดขันขึ้นแต่ครั้งนั้นมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๒ แลต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ด้วย” [๘]

หนังสือโอวาทานุสาสนีดังกล่าวนี้โปรดให้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ มีสาระสำคัญว่าด้วยเรื่องให้พระอุปัชฌาย์ อาจารย์พระราชาคณะถานานุกรมเอาใจใส่สั่งสอนพระภิกษุสามเณรให้อยู่ในจตุปาริสุทธิศีล ๔ ผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ จะต้องมีความรู้เรื่องพระวินัยและสังฆกรรมเป็นอย่างดี และปฏิบัติให้ถูกต้อง

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ต่อมาอีก ๓ ปีสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) ผู้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนีเอง ก็ต้องอธิกรณ์ ด้วยประพฤติต่อศิษย์ผิดสมณสารูป พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ จึงโปรดให้ถอดจากสมณศักดิ์และไล่จากวัดมหาธาตุ จึงไปอยู่ที่วัดไทรทอง (ซึ่งภายหลังต่อมาได้สร้างเป็นวัดเบญจมบพิตร ดังปรากฏอยู่ในบัดนี้) จนถึงมรณภาพในรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) รูปนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ จะทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบต่อกันมาจากสมเด็จพระสังฆราช (มี) ถึงกับโปรดให้แห่มาอยู่วัดมหาธาตุแล้ว แต่มาเกิดอธิกรณ์เสียก่อนดังกล่าว [๙] เหตุการณ์ครั้งนี้ คงเป็นเรื่องสะเทือนใจพุทธศาสนิกชน ยิ่งกว่าเมื่อครั้งพระราชาราชคณะ ๓ รูปต้องอธิกรณ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะพระเถระที่ต้องอธิกรณ์ครั้งนี้ เป็นถึงว่าที่สมเด็จพระสังฆราช และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะที่ไม่ห่างกันนัก

พิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ให้พิเศษยิ่งกว่าที่เคยทรงปฏิบัติมา จึงทรงมีพระราชราชปุจฉาต่อสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชจึงได้ถวายพระพร ให้ทรงกระทำการสักการะบูชาพระศรีรัตนตรัยในวันวิสาขบูชา เยี่ยงสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแต่ปางก่อนเคยกระทำมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดให้กำหนดพิธีวิสาขบูชาขึ้น เป็นธรรมเนียมตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๐ นั้นเป็นต้นมา นับเป็นการทำพิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเหตุให้มีการทำพิธีวิสาขบูชากันสืบมาจนปัจจุบัน เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระสังฆราช (มี) โดยแท้ นับเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญครั้งหนึ่ง ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

พิธีวิสาขบูชาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดให้จัดขึ้นในครั้งนั้นทำอย่างไร พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ดังนี้ คือ
ทำโคมปิดกระดาษ ปักเสาไม้ไผ่ ยอดผูกฉัตรกระดาษ พระราชทานไปปักจุดเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวงวัดละสี่เสาอย่าง ๑ หมายแผ่พระราชกุศลแก่ข้าราชการ ให้ร้อยดอกไม้มาแขวนเป็นพุทธบูชา ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง ๓ วันอย่าง ๑ มีดอกไม้เพลิงของหลวงตั้งจุดเป็นพุทธบูชา ที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่าง ๑ นิมนต์พระสงฆ์ให้อุโบสถศีล และแสดงพระธรรมเทศนาแก่ราษฎร ตามพระอารามหลวงฝั่งตะวันออก ๑๐ วัด ฝั่งตะวันตก ๑๐ วัด เครื่องกัณฑ์เป็นของหลวงพระราชทาน และให้อำเภอกำนันป่าวร้องตักเตือนราษฎร ให้ไปรักษาศีลฟังธรรมและห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่าง ๑ ทำธงจรเข้ไปปักเป็นพุทธบูชา ตามพระอารามหลวงวัดละคันอย่าง ๑ เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง พระราชทานสลากภัต แล้วสดัปกรณ์พระบรมอัฐิอย่าง ๑ [๑๐]

ปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม
เหตุการณ์สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในยุคของสมเด็จพระสังฆราช (มี) คือ การปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มาแบ่งเป็น ๓ ชั้น เรียกว่า บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก หลักสูตรที่ใช้เรียนใช้สอบก็คือพระไตรปิฎกทั้ง ๓ คัมภีร์ ได้แก่ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ ในระหว่างที่สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงเป็นมหาสังฆปรินายก (พ.ศ. ๒๓๕๙ - ๒๓๖๒) จึงได้โปรดให้ปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อให้ภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้เป็นบาเรียน มีความรู้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยขยายการศึกษาออกไปเป็น ๙ ประโยค ผู้สอบไล่ได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไปจึงเรียกว่าเป็นบาเรียน (หรือเปรียญ)

ชั้นบาเรียนที่ปรับปรุงใหม่ในรัชกาลที่ ๒ ดังกล่าวนี้ ก็มีอัตราเทียบได้กับชั้นบาเรียนอย่างเก่าได้ ดังนี้
       ๓ ประโยค จัดเป็นบาเรียนตรี
       ๔, ๕, ๖ ประโยค จัดเป็นบาเรียนโท
       ๗, ๘, ๙ ประโยค จัดเป็นบาเรียนเอก [๑๑]

สำหรับหลักสูตรการสอบ ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และคงใช้เป็นแบบสืบมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น คือ
       บาเรียนตรี แปลพระสูตร
       บาเรียนโท แปลพระสูตรและพระวินัย
       บาเรียนเอก แปลพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม [๑๒]

หลักสูตรพระปริยัติธรรม ที่โปรดให้จัดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ นั้น มีดังนี้
       ประโยค ๑, ๒, ๓ แปล ธัมมปทัฏฐกถา
       ประโยค ๔ แปล มังคลัตถทีปนี บั้นต้น
       ประโยค ๕ แปล บาลีมุตตกวินัย วินิจฉัย สังคหะ / สารัตถสังคหะ
       ประโยค ๖ แปล มังคลัตถทีปนี บั้นปลาย
       ประโยค ๗ แปล ปฐมสมันตัปปาสาทิกา
       ประโยค ๘ แปลวิสุทธิมัคคปกรณ์
       ประโยค ๙ แปล สารัตถทีปนี [๑๓]

หลักสูตรพระปริยัติธรรม ที่จัดขึ้นใหม่เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ ในสมัยสมเด็จพระสังฆราช (มี) ดังกล่าวนี้ ได้ใช้เป็นแบบแผนการศึกษาพระปริยัติธรรม ของคณะสงฆ์ไทย สืบมาจนปัจจุบัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงในบางประโยคบ้าง เพียงเล็กน้อย และในการปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม ของพระภิกษุสามเณร เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ ดังกล่าวนี้ แม้จะไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ว่าสมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงเป็นผู้จัดการ แต่ก็คงจะกล่าวได้อย่างไม่ผิดจากความเป็นจริง ว่าสมเด็จพระสังฆราช (มี) คงจักมีส่วนอย่างสำคัญในการจัดการครั้งนี้ เพราะเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย และได้จัดการในเรื่องสำคัญ ๆ สนองพระราชดำริเป็นที่เรียบร้อยมาแล้วหลายอย่าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ นับเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

พระกรณียกิจพิเศษ
พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นพระอาจารย์ถวายสรณะและศีล เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จไปประทับ ณ วัดมหาธาตุเป็นเวลา ๑ พรรษา จึงทรงลาผนวช [๑๔]

พระอวสานกาล
สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงดำรงตำแหน่งมหาสังฆปรินายกอยู่เพียง ๓ ปี กับ ๑ เดือน ระยะเวลาสั้น ๆ ดังกล่าวนี้ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์อันเป็นการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่คณะสงฆ์ ซึ่งทุกเหตุการณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น ได้ทรงมีส่วนอย่างสำคัญในการจัดการให้เรื่องนั้น ๆ สำเร็จลุล่วง หรือผ่านพ้นไปด้วยดี สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำเดือน ๑๐ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๒ ในรัชกาลที่ ๒ พระชนมายุ ๗๐ พรรษา

ถึงเดือน ๑ โปรดให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง แล้วชักพระศพสมเด็จพระสังฆราช (มี) เข้าสู่เมรุ มีวารสมโภช ๓ วัน ๓ คืน พระราชทานเพลิงเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๑ ตรงกับวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๒ [๑๕]

-------------------------------------------------
เชิงอรรถ
๑. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หน้า ๘๐.
๒. ตำนานคณะสงฆ์. พระนิพนธ์ สมเด็จ ฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ ในงานพระราชทาน เพลิงศพร้อยเอกอนันต์ ชูเอม พ.ศ. ๒๕๑๓ หน้า ๔๓.
๓. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์. อ้างแล้ว หน้า ๘๐.
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒. สมเด็จ ฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ พิมพ์เฉลิมพระเกียรติ์ เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลบรมราชานุสรณ์ประจำปี ๒๕๓๓ หน้า ๙๙ - ๑๐๓.
๕. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์. อ้างแล้ว หน้า ๘๑.
๖. เรื่องประวัติวัดมหาธาตุ. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ พิมพ์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๖๑ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หน้า ๔๑-๔๕.
๗. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ รัชกาลที่ ๒. อ้างแล้ว หน้า ๑๑๖.
๘. เล่มเดียวกัน หน้าเดียวกัน.
๙. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์. อ้างแล้ว ๘๖-๘๗.
๑๐. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ รัชกาลที่ ๒. อ้างแล้ว หน้า ๑๒๐-๑๒๓.
๑๑. ตำนานคณะสงฆ์. อ้างแล้ว หน้า ๔๕-๔๖.
๑๒. เล่มเดียวกัน หน้าเดียวกัน.
๑๓. อธิบายเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม ใน ประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานทางพระพุทธศาสนา. ของ สมเด็จ ฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) พ.ศ. ๒๕๑๔ หน้า ๒๔๒-๒๔๓.
๑๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ รัชกาลที่ ๒. อ้างแล้ว หน้า ๑๒๓.
๑๕. เล่มเดียวกัน หน้า ๑๔๗ - ๑๔๘


เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก