หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๐	สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
[ วัดบวรนิเวศวิหาร ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๐ )

หลังจากสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์ สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด ในตำแหน่งที่ สมเด็จพระสังฆราช อีกจนตลอดรัชกาล ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่เป็นเวลา ๑๑ ปี ถึงรัชกาล ที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กล่าวอย่างสามัญทั่วไป ก็คือ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง

พระประวัติเบื้องต้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ และเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๗ค่ำ ปีวอก จ.ศ. ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๓ เมื่อวันประสูติ นั้นฝนตกใหญ่ พระบรมชนกนาถจึงทรงถือเป็นมงคลนิมิต พระราชทานนามว่า พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ หลังจากประสูติได้เพียงปีเดียว เจ้าจอมมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่กรรม พระองค์จึง ทรงอยู่ในความเลี้ยงดูของกรมหลวงวรเสฐสุดา (พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งเป็นพระญาติ ทรงเรียกว่าเสด็จป้ามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต่อมา ทรงย้ายมาอยู่กับท้าวทรงกันดาร (ศรี) ผู้เป็นยาย

เมื่อพระชนมายุ ๘ พรรษา ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี ทรงศึกษาอยู่จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนที่จะทรงผนวชเป็นสามเณร และทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกับครูฝรั่งเมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาโหราศาสตร์กับครูที่เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์มาแต่พระชนม์ยังน้อย

ทรงผนวช
เมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณี ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับเจ้านายอื่นอีก ๒ พระองค์ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา (พระนามเดิม ศิขเรศ) เป็นผู้ประทานสรณะและศีล เมื่อทรงผนวชแล้ว มาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๒ เดือนเศษ จึงทรงลาผนวช

ครั้นพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๒๒ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฎกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้วเสด็จมาอยู่จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ถึงหน้าเข้าพรรษาของปีนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาทรงถวายพุ่มพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหารตามราชประเพณี และในคราวนั้น ได้เสด็จ ฯ ไปถวายพุ่มพรรษา แด่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ซึ่งเพิ่งทรงผนวชใหม่ถึงกุฏิที่ประทับ พร้อมทั้งทรงกราบด้วยพระอาการเคารพ อันเป็นพระอาการที่ไม่เคยทรงปฏิบัติต่อพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่น ที่ทรงผนวช เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ทรงตัดสินพระทัยไม่ทรงลาผนวชแต่วันนั้น ดังที่พระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ในพระประวัติตรัสเล่าว่า

“เสด็จกุฎีเราทรงประเคนพุ่ม เราเห็นท่านทรงกราบด้วยเคารพอย่างเป็นพระแปลก จากพระอาการที่ทรงแสดงแก่พระองค์อื่น เพียงทรงประคอง อัญชลี เรานึกสลดใจว่า โดยฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เป็นเจ้าของเรา โดยฐานเนื่องในพระราชวงศ์เดียวกัน ท่านก็เป็นพระเชฏฐะของเรา โดยฐานเป็นผู้แนะราชการพระราชทาน ท่านก็เป็นครูของเรา เห็นท่านทรงกราบ แม้จะนึกว่าท่านทรงแสดงความเคารพ แก่ธงชัยพระอรหันต์ต่างหาก ก็ยังวางใจไม่ลง ไม่ปรารถนาจะให้เสียความวางพระราชหฤทัยของท่าน ไม่ปรารถนาจะให้ท่านทอดพระเนตรเรา ผู้ที่ท่านทรงกราบแล้ว ถือเพศเป็นคฤหัสถ์อีก ตรงคำที่เขาพูดกันว่า กลัวจัญไรกิน เราตกลงใจว่าจะไม่สึกในเวลานั้น” (๑)

ทรงทำทัฬหีกรรม อุปสมบทซ้ำ
หลังจากทรงจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ พรรษาแล้ว ได้เสด็จไปจำพรรษาที่ ๒ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม ในสำนักของพระจันทโคจรคุณ (ยิ้ม) ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ในระหว่างที่ประทับ ณ วัดมกุฎกษัตริยารามนั้นเอง ได้ทรงทำทัฬหีกรรม อุปสมบทซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ตามธรรมเนียมนิยม ของพระสงฆ์ธรรมยุตในครั้งนั้น โดยพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมไตรโลกาจารย์(เดช ฐานจาโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส แต่ครั้งยังเป็นพระเปรียญอยู่วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ โบสถ์แพ หน้าวัดราชาธิวาสเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๒๒

ทรงกรมและเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง
เมื่อทรงผนวชได้ ๓ พรรษา ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ห้องเขียว ท่ามกลางประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๑๐ รูป มีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นประธาน ทรงแปลได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค และทรงหยุดอยู่เพียงนั้น

หลังจากทรงแปลพระปริยัติธรรม ได้เป็น เปรียญ ๕ ประโยคแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงสมณศักด ิ์เป็นเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ พระองค์ทรงเป็นเจ้าคณะรองในคณะธรรมยุต เป็นพระองค์แรก และทรงเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ทรงมีพรรษายุกาลน้อยที่สุด คือ ๓ พรรษาเท่านั้น

ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๓๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็นกรมหมื่น ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ ๓

ครั้น ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนพระสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต นับเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตพระองค์ที่ ๒ ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เมื่อทรงมีพรรษายุกาล ๑๕ พรรษา (๒)

เมื่อทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ก็ได้ทรงเริ่มพัฒนากิจการพระศาสนา โดยทรงเริ่มทำขึ้นภายในวัดบวรนิเวศวิหารก่อน เป็นการทดลองเพื่อดูผลได้ผลเสีย และทรงปรับปรุงแก้ไขจนทรงเห็นว่า มีผลดีเป็นคุณประโยชน์แก่พระศาสนาเป็นส่วนรวม จึงทรงขยายออกในวงกว้าง กล่าวเฉพาะที่สำคัญ คือ

การศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย
ทรงริเริ่มให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่ เล่าเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย เพื่อให้รู้จักพระพุทธศาสนาทั้งส่วนที่เป็นธรรมและวินัย ในขั้นพื้นฐานในชั่วระยะเวลาอันสั้น โดยพระองค์ได้ทรงสอนด้วยพระองค์เอง มีการสอบความรู้ของภิกษุสามเณร ที่เรียนด้วยวิธีสอบแบบใหม่ คือ วิธีเขียน ต่อมาได้มีภิกษุสามเณร ไม่เฉพาะแต่พระใหม่เท่านั้น ที่นิยมเล่าเรียนพระธรรมวินัยแบบใหม่ที่พระองค์ทรงจัดขึ้นนี้ และนิยมแพร่หลายออกไปถึงวัดอื่น ๆ ด้วย

เมื่อทรงเห็นว่า เป็นการเล่าเรียนที่มีประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรทั่วไป จึงได้ทรงกำหนดให้เป็นหลักสูตรการศึกษา สำหรับคณะสงฆ์ในเวลาต่อมา ที่เรียกว่า “นักธรรม” ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของคณะสงฆ์สืบมาจนปัจจุบัน เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย คู่กับการศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาบาลี ที่มีมาแต่โบราณ

ทรงจัดตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย
สำหรับเป็นสถานศึกษา ของภิกษุสามเณรและกุลบุตร เป็นการทรงริเริ่มจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรแบบใหม่ คือ เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ประกอบกับวิชาการอื่นๆ ที่เอื้อต่อการสั่งสอนพระพุทธศาสนา และสอบด้วยวิธีเขียนซึ่งทรงริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรนี้ ก็ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นเปรียญ เช่นเดียวกับผู้สอบไล่ได้ในสนามหลวง ตามแบบเดิมเหมือนกัน เรียกว่า “เปรียญมหามกุฎ” แต่น่าเสียดายที่หลักสูตรพระปริยัติธรรม แบบมหามกุฎดังกล่าวนี้ ได้ดำเนินการอยู่เพียง ๘ ปีก็เลิกไป เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ไม่ทรงมีเวลาจะดูแลจัดการ เนื่องจากทรงมีพระภารกิจอื่นในคณะสงฆ์มาก

ในส่วนการศึกษาของกุลบุตรนั้น พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนภาษาไทย ของมหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นตามวัดธรรมยุต เพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนของกุลบุตร โดยใช้หลักสูตรที่ พระองค์ทรงจัดขึ้นใหม่เรียกว่า “หลักสูตรมหามกุฎ” เช่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนวัดมกุฎ เป็นต้น การจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวนี้ขึ้น ก็ด้วยทรงมีพระดำริว่า เพื่อเป็นการช่วยรัฐบาล พระองค์ทรงพยายามพัฒนาโรงเรียนภาษาไทย ของมหามกุฎให้เป็นโรงเรียน “เชลยศักดิ์” คือโรงเรียนราษฎร์ แบบอยู่ประจำ เพื่อเป็นต้นแบบให้รัฐบาล หรือ เอกชนอื่นๆ ทำตาม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะขาดเงินทุนที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามพระดำริ ในที่สุดก็ต้องทรงมอบโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฎฯ ให้กระทรวงธรรมการ คือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน เป็นผู้ดำเนินการต่อไป ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย
เนื่องจากทรงจัดการศึกษา ในมหามกุฎราชวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้ว จำเป็นต้องใช้หนังสือและตำราเรียนเป็นจำนวนมาก จึงได้ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้น เพื่อจัดพิมพ์หนังสือและตำรับตำราต่างๆ ให้เพียงพอแก่การใช้ศึกษา ของภิกษุสามเณรและกุลบุตร เรียกว่า “โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย” โดยทรงใช้ แท่นพิมพ์ที่ใช้พิมพ์พระไตรปิฎก เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ และโรงพิมพ์ก็ตั้งที่โรงพิมพ์หลังเดิม ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร (คือตรงที่สร้างตำหนักเพ็ชรในบัดนี้) แต่โรงพิมพ์ที่พระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นดังกล่าวนี้ ดำเนินกิจการอยู่เพียง ๘ ปี ก็ต้องเลิกไปเพราะค่าโสหุ้ยสูง จนไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ต้องทรงกลับไปใช้วิธีจ้างโรงพิมพ์อื่น ซึ่งเสียค่าโสหุ้ยน้อยกว่า

ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ
หลังจากทรงจัดตั้งสถานศึกษา คือมหามกุฎราชวิทยาลัยได้ ๑ ปี ก็ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ เป็นนิตยสารรายเดือน สำหรับตีพิมพ์เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นคำสั่งสอน และข่าวสารต่างๆ ออกเผยแพร่แก่ประชาชน รวมทั้งข่าวเกี่ยวกับกิจการมหามกุฎราชวิทยาลัยด้วย ที่สำคัญคือ เพื่อเป็นสนามให้ภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียน ของมหามกุฎราชวิทยาลัยได้ฝึกแปล แต่ง เขียน เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา แล้วตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาขน ธรรมจักษุจึงเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนา ฉบับแรกของไทย และมีอายุเก่าแก่ที่สุด นับถึงปัจจุบันก็กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว (๓)

ทรงอำนวยการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร
พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริจะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังประชาชนทั่วพระราชอาณาจักร เพราะทรงเห็นว่าการศึกษา เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมือง จึงทรงอาราธนาสมเด็จ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ให้ทรงอำนวยการจัดการศึกษา ในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าวัดเป็นแหล่งให้การศึกษา แก่คนไทยมาแต่โบราณกาล การใช้วัดเป็นฐานในการขยายการศึกษา เป็นทางเดียวที่จะขยายได้เร็ว และทั่วถึง เพราะวัดมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในพระราชอาณาจักร ทั้งไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ในการสร้างโรงเรียนด้วย เพราะอาศัยศาลาวัดที่มีอยู่แล้วนั่นเอง เป็นโรงเรียน

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเลือกพระเถระผู้มีความสามารถ ทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกายรวม ๑๓ รูป เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลต่างๆ แล้วส่งออกไปดำเนินการจัดการศึกษา ในหัวเมืองต่างๆ ในมณฑลนั้นๆ ทั่วพระราชอาณาจักร โดยมีฝ่ายบ้านเมือง คือ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก ในการดำเนินการ พระองค์ทรงรับหน้าที่อำนวยการ ในการจัดการศึกษาหัวเมืองอยู่ ๕ ปี ก็ทรงสามารถขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การศึกษาขั้นประถมศึกษา ออกไปได้ทั่วประเทศ เมื่อทรงวางรากฐานการศึกษา ในหัวเมืองเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว และมีความมั่งคงพอสมควรแล้ว ก็ทรงมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงธรรมการดำเนินการต่อไป

จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาในประเทศไทยโดยมีวัดเป็นโรงเรียน มีพระเป็นครูสอน มีมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นต้นแบบในด้านหลักสูตร และการฝึกหัดครูสำหรับออกไปสอนในโรงเรียนนั้นๆ

ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์
ในการจัดการศึกษา ในหัวเมืองดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงพบความไม่เรียบร้อยในการปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระดำริว่า การที่จะจัดการศึกษาให้ได้ผลดีนั้น จะต้องจัดการปกครองคณะสงฆ์ ให้เรียบร้อยไปพร้อมกันด้วย ฉะนั้นพระองค์จึงได้ทรง พระดำริจัดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเอื้อต่อการที่จะพัฒนาตัวเองและบ้านเมืองให้เจริญ ก้าวหน้ายิ่งขึ้น พระดำริดังนี้เอง ที่เป็นเหตุให้เกิดพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ขึ้น ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย

ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ นั้น จัดคณะสงฆ์เป็น ๔ คณะคือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุตติกา และคณะกลาง มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะ และมีพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง คณะละรูปพระเถระทั้ง ๘ รูปนี้ยกขึ้นเป็นมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในทางคณะสงฆ์ และเป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนา และการคณะสงฆ์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน มีเจ้าคณะปกครองลดหลั่นกันไปตามลำดับ คือ เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง (อำเภอ) เจ้าอาวาส นับเป็นครั้งแรก ที่คณะสงฆ์ไทย มีการจัดปกครองอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนที่ชัดเจน โดยมีกฎหมายทางบ้านเมืองเข้ามารองรับ การดำเนินกิจการพระศาสนาและการคณะสงฆ์

เมื่อมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้นแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งอำนวยการศึกษามณฑลต่างๆ เป็นเจ้าคณะมณฑล มีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนา และบำรุงการศึกษาตามวัดในมณฑลนั้นๆ ให้เจริญรุ่งเรืองตามพระราชประสงค์

ในเวลาตั้งพระราชบัญญัตินี้ ว่างสมเด็จพระสังฆราช เพราะนับแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ แล้ว มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชอีก จนตลอดรัชกาลที่ ๕ มีแต่เจ้าคณะใหญ่ ๔ รูป ซึ่งมิได้ขึ้นแก่กัน เมื่อมีภารกิจอันจะพึงทำร่วมกัน เจ้าคณะใหญ่รูปใดมีสมณศักดิ์สูง เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ก็รับพระบรมราชโองการสั่งไปทางเจ้าคณะรูปนั้น ขณะนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ซึ่งทรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่น ทรงสมณศักดิ์สูงกว่าเจ้าคณะทั้งปวง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นการก (คือประธาน) ในที่ประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งเท่ากับทรงปฏิบัติ หน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕

ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ นี้แสดงให้เห็นว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงปกครองคณะสงฆ์ด้วยพระองค์เอง โดยมีเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นผู้รับพระบรมราชโองการสั่ง คือ บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์พระมหากษัตริย์นั่นเอง มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดทางคณะสงฆ์ เป็นเพียง “ที่ทรงปรึกษา” คือ ทำหน้าที่ถวายคำแนะนำในเรื่องการพระศาสนา และคณะสงฆ์แด่องค์พระมหากษัตริย์ โดยผ่านไปทางเสนาบดี กระทรวงธรรมการเท่านั้น (๔) จึงกล่าวได้ว่า ตั้งแต่โบราณมา จนถึงเวลาที่ตั้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) นี้ขึ้น คฤหัสถ์ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์มาโดยตลอด

มหาสมณุตมาภิเษก
พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนพระอิสริยยศเป็น กรมหลวง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สืบพระบรมราชสันตติวงศ์เป็นรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พอเสด็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชินี พระพันปีหลวงแล้ว โปรดให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงสถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จกรมพระยา ทรงสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระมหาสมณะ (คือ สมเด็จพระสังฆราช) เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ ตรงกับ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ มีสำเนาประกาศดังนี้

ประกาศมหาสมณุตมาภิเศก
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค ๒๔๕๓ พรรษา กาลปัตยุบันจันทรโคจร โสณสัมพัตสร มฤคศิรมาส สุกกปักษ์ จตุรถีดิถี ศศิวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ธันวาคมมาส ปัญจมสุรทิน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริห์ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เป็นพระบรมวงศ์พระองค์หนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงยกย่องว่า เป็นผู้ต้องพระราชอัธยาไศรยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงปฏิบัติราชกิจใกล้ชิดพระองค์ จนกระทั่งพระชนมายุถึงกำหนดอันควร ที่จะทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนา ตั้งแต่เมื่อก่อนจะทรงพระผนวชนั้น ก็ได้ทรงมีพระกระมลสันดานเลื่อมใสในพระรัตนไตรยมั่นคง และได้เริ่มทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ก่อน ครั้นเมื่อทรงพระผนวชแล้ว ก็ได้ทรงพระอุสาหศึกษาพระปริยัติธรรมด้วยพระปรีชาญาณ ทรงรอบรู้ในอรรถธรรมทั้งปวงมากขึ้นเป็นลำดับ จนหาผู้ที่จะรู้เท่าเทียมได้โดยยากนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระอิศริยยศ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม และให้ทรงสมณศักดิ์อันสูง ก็เพราะทรงทราบชัดอยู่ว่า พระราชภาดาของพระองค์ จะสามารถเป็นผู้ดำรงพระบวรพุทธศาสนา ให้ประดิษฐานถาวรวัฒนา ในสยามราชอาณาจักรสืบไป ก็นับว่าเป็นไปได้จริงตามความทรงมุ่งหมาย ธรรมดาพระศาสนาจะมั่นคงยั่งยืนอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยความรอบรู้ แห่งพุทธศาสนิกบริสัษย์ ในพระธรรมอันถ่องแท้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเป็นประธาน ในการที่พระภิกษุสามเณรสอบไล่พระปริยัติธรรม ทรงกำกับให้การสอบไล่อันนั้น เป็นไปโดยทางที่ถูกต้องทุกประการ นับว่าได้ทรงช่วยสมเด็จพระราชาธิบดี ในการที่ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงอยู่ มิได้เสื่อมคลายไปเลย ทั้งได้ทรงพระอุสาหปกครองคณะสงฆ์ ให้มั่นคงในกิจปฏิบัติ สมควรแก่ผู้ที่ดำรงสมณเพศพิเศษยิ่งกว่าสามัญชน นับว่าได้ทรงทำคุณประโยชน์อันใหญ่ยิ่ง ให้บังเกิดมีแก่กรุงสยาม

อนึ่งได้ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสรรพอรรถธรรมทั้งปวง แล้วก็ได้ทรงเปิดเผยแผ่พระธรรมนั้น ๆ ให้ปรากฏแก่มหาชนทั่วไปโดยโวหารอันไพเราะจับใจ ซึมทราบ ทำให้ผู้ฟังแล้ว และเห็นเข้าใจข้อความแจ่มแจ้ง สิ้นความเคลือบแคลงได้ ทำให้เกิดความเลื่อมใส ในพระรัตนไตรยทวีขึ้นเป็นอันมาก ความอันใดที่เข้าใจยาก ก็ได้ทรงขยายให้และเห็นง่ายดายกระจ่าง ประหนึ่งทรงนำทางให้เดินไปสู่ที่ชอบ ทรงชำนิชำนาญทั้งในทางแสดงพระสัทธรรมเทศนา และในทางนิพนธ์รจนาหนังสือ อันเป็นเครื่องชูใจให้ผู้ฟังผู้อ่านได้รับผลอันดี ปีติปราโมทย์ เป็นที่นิยมนับถือของมหาชนทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ในสยามราชอาณาเขตร ถึงแม้ชนในไพรัชประเทศ ก็สรรเสริญยกย่องพระองค์ว่า เป็นมหาบัณฑิตย์อันประเสริฐ ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทั่วไป ได้นิยมยอมยกพระองค์เป็นมหาศาสนนายก แต่ถึงแม้ผู้ที่มีใจนับถือลัทธิศาสนาอื่น ๆ ก็มีความนับถือพระองค์เป็นปราชญ์ อันหาที่เปรียบได้โดยยาก ผู้มีชื่อเสียงสำคัญอันเป็นชาวต่างประเทศ แม้มาเยี่ยมกรุงสยาม ก็คงตั้งใจพยายามไปน้อมคำนับด้วยความนิยมนับถือ ด้วยได้ยินพระเกียรติคุณบรรฦๅไปจนถึงประเทศนั้นๆ จึงชวนกันมาเฝ้า เพื่อสำแดงความเคารพมหาบัณฑิตย์ฉนั้น

อีกประการหนึ่ง พระองค์ได้ทรงเป็นครูปัธยาจารย์ แห่งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และชนทุกชั้น ได้ทรงมีพระหฤทัยเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ในหมู่ศิษย์ทั้งหลายทั่วกัน ไม่เลือกหน้าว่าเป็นบุคคลชั้นใด ในขณะที่ยังเป็นภิกษุสามเณรอยู่ในสำนักของพระองค์ ก็ทรงอนุสาสน์ให้รอบรู้เข้าใจในอรรถธรรม ตามสมควรแก่สติปัญญาของตน ๆ ครั้นเมื่อละเพศพรหมจรรย์แล้ว ก็ยังทรงเป็นพระธุระติดตามประทานโอวาท ตามแต่จะทรงหาโอกาสได้ คอยทรงตักเตือนสติและเหนี่ยวใจไว้ให้ฝักใฝ่ ในทางธรรมอันควรแก่คิหิปฏิบัติ เป็นพระคุณอันแน่ชัดประจักษ์อยู่ในใจ แห่งศิษย์ทั้งหลายทั่วกัน

ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวชิรญาณวโรรส ได้ทรงคุ้นเคยและเป็นที่ถูกพระอัธยาไศรยกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงสั่งสอน ชักจูงพระราชหฤทัยให้น้อมไปในทางศรัทธา ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นลำดับมา ครั้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ก่อนที่จะเสด็จออกไปศึกษาวิชาการ ณ ประเทศยุโรป พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ก็ได้เป็นผู้ทรงรับคำปฏิญญาแสดงพระองค์เป็นอุบาสก จนถึงเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ ได้ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ เมื่อทรงรับอุปสมบท ได้ทรงอนุสาสน์สั่งสอน ให้ทรงทราบอรรถธรรม และความปฏิบัติอันดีอันงาม ทั้งต่อมาก็ยังได้ทรงตามอนุสาสน์ตักเตือน ทรงแนะนำทางที่จะทรงพระราชดำริในทางธรรม อันจะควรใช้ประกอบในทางโลก นับว่าทรงมีพระคุณอันใหญ่ยิ่ง หาผู้ใดจะเสมอเหมือนได้โดยยากนักในสมัยนี้

ตามข้อความที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงแลเห็นปรากฏอยู่ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นบุรุษรัตนอันล้ำเลิศประเสริฐสุด ยิ่งกว่าบรรดาพระเถรานุเถรทั้งปวง ทั้งในคามวาสีอรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ สมควรที่จะให้ดำรงพระเกียรติยศอันใหญ่ยิ่ง เช่น อย่างพระบรมวงศ์ที่ได้เคยทรงเป็นใหญ่ในคณะสงฆ์มาแต่ก่อน โดยรับมหาสมณุตมาภิเศก และเลื่อนพระอิศริยยศต่างกรม ให้สมแก่ความยินดีเลื่อมใส จะได้เป็นที่เคารพสักการบูชา เป็นที่นิยมนับถือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนถึงมหาชนนิกร ที่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาทั่วหน้า

จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการมหาสมณุตมาภิเศก และเลื่อนพระอิศริยยศพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ขึ้นเป็นสมเด็จกรมพระยา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัต รว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ศรีสุคตขัตติยพรหมจารี สรรเพชญรังศีกัลยาณวากย มนุษยนาคอเนญชาริยวงศ์ บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนารถประนับดา มหามกุฎกษัตรราชวรางกูร จุฬาลงกรณ์ปรมินทร์สูรครุฐานิยภาดา วชิราวุธมหาราชหิโตปัธยาจารย์ ศุภศีลสารมหาวิมล มงคลธรรมเจดีย์ สุตพุทธมหากวี ตรีปิฎกาทิโกศล เบญจปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิษิต วิชิตมารสราพกธรรมเสนาบดี อมรโกษินทรโมลีมหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลก โลกุตมมหาบัณฑิตย์ สิทธรรถนานานิรุกติประติภาน มโหฬารเมตตาภิธยาศรัย พุทธาทิรัตนตรัยคุณารักษ์ เอกอัครมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิปัตยพุทธบริษัทเนตร สมณคณินทราธิเบศสกลพุทธจักรกฤตโยปการ มหาปาโมกขประธานสถาวีรวโรดม บรมนารถบพิตร เสด็จสถิตย์ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวง มุสิกนาม ให้ทรงศักดินา ๓๕๐๐๐ เป็นพิเศษในตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ ดำรงพระยศฝ่ายสมณศักดิ เป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ทั้งกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขตร พระราชทานนิตยภัตรบูชาเดือนละ ๘๐ บาท ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วไป โดยสมควรแก่อิสริยยศสมณศักดิ จงทรงเจริญพระชนมายุพรรณศุขะพล ปฏิภาณคุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิพิพัฒมงคล วิบูลยศุภผลจิระถิติกาลในพระพุทธศาสนาเทอญ ฯ

ทรงปรับสถานภาพของคณะสงฆ์
ในปีรุ่งขึ้น หลังจากทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษก คือ พ.ศ. ๒๔๕๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ครั้งสำคัญ คือ ทรงชี้แจงแก่เสนาบดี กระทรวงธรรมการ ถึงผลเสียที่เกิดจากการที่คฤหัสถ์ปกครองคณะสงฆ์ ดังที่เป็นมาในอดีตและเป็นอยู่ในขณะนั้น และทรงแนะนำว่า ควรจะถวายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ แก่พระองค์ให้เป็นเด็ดขาด ฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เรียบร้อย เพราะพระด้วยกันย่อมเข้าใจเรื่องของพระด้วยกัน ดีกว่าคฤหัสถ์ซึ่งมิใช่พระ ดังความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์ ว่า

“แต่ก่อน คณะแยกกันครอง หรือบางสมัยมีสังฆราช ก็เจริญอายุพรรษา มีอยู่ก็เป็นแต่เพียงกิตติมศักดิ์ กระทรวงธรรมการจำต้องทำหน้าที่สังฆราช ฯ ผลเป็นอย่างไรบ้าง ฯ ไม่อาจว่าพระให้เรียบร้อยได้ เพราะมิได้เป็นพระด้วยกัน ไม่มีความรู้ในฝ่ายพระทั่วถึง ไม่รู้อัธยาศัยของพระแจ้งชัด ฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถเพื่อจะระงับความเสียหายอันเกิดขึ้นแล้ว และเพื่อจะบำรุงให้ดีขึ้น ได้แต่ทำ ๆ ไปเช่นนั้น อย่างเดียวกับไล่หนังสือพวกรามัญ ผลที่มีก็คือความเสื่อมทรามของพระอันค่อยเป็นไปโดยลำดับ ฯ ในเวลานี้ ได้ฉันเป็นสังฆราชขึ้น หน้าที่กระทรวงธรรมการ จะปลดเปลื้องการพระสงฆ์ ที่ตนไม่ถนัด ถวายฉันเสียให้เป็นเด็ดขาด จะเบาแรงเข้าและการจะดีขึ้น ฯ” (๕)

หลังจากที่ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ชี้แจงดังกล่าวแล้ว อีก ๖ เดือนต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ “ได้ทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนาถวาย แด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้เป็นมหาสังฆปริณายก เพื่อทรงเป็นพระธุระปกครอง” (๖) ตั้งแต่เดือนกันยายน ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) เป็นต้นมา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทย ที่ทรงปกครองคณะสงฆ์โดยตรงด้วยพระองค์เอง เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสังฆมณฑลของไทย กล่าวคือ เป็นการทำให้คณะสงฆ์หลุดพ้นจากการปกครองโดยคฤหัสถ์ มาสู่การปกครองโดยพระด้วยกันเองเป็นครั้งแรก เป็นเหตุให้สมเด็จพระสังฆราช มีพระอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์โดยตรง แต่บัดนั้นเป็นต้นมา จวบจนปัจจุบัน นับเป็นการปรับสถานภาพของคณะสงฆ์ ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย

เสด็จตรวจการคณะสงฆ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก ที่เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่างๆ เกือบทั่วพระราชอาณาจักรเท่าที่สามารถจะเสด็จไปได้ นับแต่ปีที่ ๒ แห่งการทรงดำรงตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ตามหัวเมืองต่างๆ เป็นประจำทุกปีมิได้ขาด กระทั่งถึงปีท้าย ๆ แห่งพระชนม์ชีพ ซึ่งทรงพระประชวร ไม่สามารถเสด็จตรากตรำไปตามหัวเมืองต่างๆ ที่ห่างไกลได้ จึงได้ทรงหยุดการเสด็จตรวจการคณะสงฆ์

ทรงปรับปรุงการพระศาสนาและการคณะสงฆ์ในด้านต่าง ๆ
เนื่องจากพระองค์ เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ตามหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เองอย่างถี่ถ้วนเกือบทั่วพระราชอาณาจักร สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงทราบถึงความเป็นไปของคณะสงฆ์ ตลอดถึงสภาพของประชาชน และความเป็นไปของบ้านเมืองในภูมิภาคต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้พระองค์ทรงทราบถึงปัญหา และกำหนดวิธีการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงปรับปรุงแก้ไข การพระศาสนา และการคณะสงฆ์ในทุกๆ ด้านเพื่อให้พระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์มีความเจริญมั่นคง และสามารถทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองได้ อย่างเหมาะสมแก่กาละเทศะ กล่าวคือ

ในด้านการพระศาสนา
พระองค์ได้ทรงพยายามพัฒนาภิกษุสามเณร ให้มีความรู้ความสามารถในพระธรรมวินัย เพื่อจักได้แนะนำสั่งสอนประชาชนได้ อย่างถูกต้องและเหมาะสมแก่สมัย โดยทรงพยายามจัดให้ภิกษุสามเณร ได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย ตามสมควรแก่สถานภาพของตน ทรงแนะนำสั่งประชาชน ให้รู้จักศึกษาพระพุทธศาสนา และรู้จักนำธรรมไปปฏิบัติให้ถูกต้อง เหมาะสมแก่สถานภาพของตน ทรงพยายามผลิตตำรา และหนังสือทางพระพุทธศาสนา ที่คนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย ออกเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ ทรงแนะนำภิกษุสามเณร ให้รู้จักเทศนาสั่งสอนประชาชน ให้เหมาะสมแก่กาลเทศะ และเหมาะแก่ประชาชน

ในด้านการคณะสงฆ์
พระองค์ได้ทรงออกพระมหาสมณาณัติ ประทานพระมหาสมณวินิจฉัย และทรงวางระเบียบแบบแผน เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติ ของภิกษุสามเณรในด้านต่าง ๆ ให้ถูกต้องเรียบร้อยยิ่งขึ้น เช่น ระเบียบเกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์ การบรรพชาอุปสมบท การปกครองภิกษุสามเณรและศิษย์วัด การวินิจฉัยอธิกรณ์ ระเบียบเกี่ยวกับ สมณศักดิ์พัดยศ นิตยภัต ดวงตราประจำตำแหน่ง เป็นต้น โดยทรงชี้ให้เห็นว่า ภิกษุสามเณรนั้น นอกจากจะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง และจารีตประเพณีด้วย การคณะสงฆ์จึงจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

ในด้านการศึกษา
ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ภิกษุสามเณร ประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเรียบร้อย ตลอดถึง สามารถทำประโยชน์แก่สังคม และชาติบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง ฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงพยายาม ปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันสมัย กล่าวคือ

การศึกษาพระปริยัติธรรม อันได้แก่การศึกษาภาษาบาลี เพื่อให้สามารถอ่านพระคัมภีร์ได้ อันเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ที่มีมาแต่โบราณนั้น พระองค์ก็ทรงปรับปรุงให้เหมาะสม และอำนวยประโยชน์แก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ได้ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติแบบใหม่ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า นักธรรม ซึ่งเป็นการเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย เพื่อให้ภิกษุสามเณรทั่วไป สามารถเรียนรู้พระธรรมวินัยได้ง่ายขึ้นและไม่ต้องใช้เวลาในการเรียนนาน

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงพยายามที่จะจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยการจัดตั้งโรงเรียนของมหามกุฎราชวิทยาลัย เพื่อศึกษาวิชาการสมัยใหม่ ในลักษณะที่เรียกกันในปัจจุบันว่า มหาวิทยาลัย ขึ้นโดยทรงพระดำริว่าจะใช้พื้นที่ตลาดยอด (คือบริเวณด้านตะวันตกของวัดบวรนิเวศวิหารบัดนี้) ทั้งเกาะ เป็นที่ตั้งโรงเรียน ของมหามกุฎราชวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว (๗) แต่ยังมิทันได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระดำริ เพราะไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ

แต่อีก ๓๕ ปีต่อมา พระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ดังกล่าวแล้ว ก็ได้รับการสานต่อ จนเกิดเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกกันว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ แห่งแรกของไทยขึ้น นั่นคือสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘

สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
แต่โบราณมา ตำแหน่งพระประมุขแห่งสังฆมณฑลที่เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชนั้น ไม่เคยมีเจ้านายพระองค์ใด ที่ทรงผนวชอยู่ได้รับสถาปนาในตำแหน่งนี้ กระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดถวายมหาสมณุตมาภิเษก แด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระองค์แรก

มาในรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงพระกรุณาโปรดถวายมหาสมณณุตมาภิเษก แด่กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช แต่เจ้านายที่ได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกทั้ง ๒ พระองค์ ในครั้งนั้น ไม่ได้เรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช แต่เรียกพระนามไปตามพระอิศริยยศในฝ่ายพระบรมราชวงศ์ คือสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

มาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ก็ยังคงเรียกพระนามไปตามธรรมเนียมเดิม มิได้เรียกว่าสมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน

ครั้น พ.ศ. ๒๔๖๔ อันเป็นปีที่สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา และทรงดำรงในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมาครบ ๑๐ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริว่า

“พระมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณนั้น ได้มีนามอย่างสังเขปว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นประเพณีสืบมา แต่ส่วนพระบรมบรมราชวงศ์ ผู้ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกดำรงสมณศักดิ์เช่นนี้ หาได้เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชไม่ ย่อมเรียกพระนามไปตาม พระอิศริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ปรากฏพระเกียรติยศยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (มีสร้อยพระนามคงตามเดิม) เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสืบไปชั่วกาลนาน” (๘)

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระองค์ปัจจุบันขึ้นแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกในรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกในรัชกาลที่ ๕ เป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า เช่นเดียวกันในคราวนี้ด้วย

พระนาม “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” จึงเกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๖ โดยทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระองค์แรก

ผลงานพระนิพนธ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรอบรู้ภาษาต่างๆ หลายภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นอันมาก เช่น หนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีโท เอก ทั้งหมดหลักสูตรบาลีไวยากรณ์ทั้งชุด รวมพระราชนิพนธ์ ทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษาบาลี มีจำนวนกว่า ๒๐๐ เรื่อง นอกจากนี้ ยังทรงชำระคัมภีร์บาลีไว้อีกกว่า ๒๐ คัมภีร์ บทพระนิพนธ์เรื่องต่างๆ ของพระองค์ ไม่ว่าเป็นเรื่องคดีธรรม หรือคดีโลก ล้วนเป็นเรื่องที่ทันสมัย โดยเฉพาะ บทพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของพระองค์นั้น กล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มศักราชใหม่ ของการอธิบาย หรือตีความพระพุทธศาสนาแนววิเคราะห์ เท่ากับพระองค์ทรงเป็นผู้วางแนว ในการศึกษาพระพุทธศาสนาในสมัยใหม่ แก่วงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเริ่มยุคใหม่อีกยุคหนึ่ง ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ทรงเป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของไทย
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กล่าวได้ว่า เป็นยุคที่พระสงฆ์มีบทบาททางการศึกษาของชาติมากที่สุด และผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นเป็นผู้นำทางการศึกษาอยู่ในขณะนั้น ก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เริ่มแต่ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย สำหรับเป็นสถานศึกษาวิทยาการทั้งทางคดีโลก และคดีธรรม สำหรับภิกษุสามเณรและกุลบุตร ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และจากความสำเร็จในการจัดตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัยนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตัดสินพระราชฤทัยมอบหมายให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับภาระอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองทั่วราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ซึ่งเป็นการมอบหมายภาระ ในการวางรากฐานการศึกษาขั้นประถมศึกษาของชาติ ให้พระองค์ทรงดำเนินการ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ได้ทรงจัดการศึกษาขั้นประถมศึกษา อันเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ ได้เป็นผลสำเร็จภายในเวลา ๕ ปี แม้ว่าจะเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็กล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดการศึกษาขั้นประถมศึกษาของไทย

นอกจากจะทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษา ระดับประถมศึกษาแล้ว ยังทรงพระดำริที่จะพัฒนาการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยทรงพระดำริ ที่จะพัฒนาโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศวิหารให้เป็นโรงเรียนราษฎร์ แบบอยู่ประจำ เพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นการช่วยรัฐบาล แต่พระดำรินี้ไม่สามารถดำเนินไปได้ตลอด เพราะขาดงบประมาณดำเนินการเพราะขาดงบประมาณดำเนินการ (๙)

ในด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ที่เรียกว่า การศึกษาปริยัติธรรมนั้น ก็ทรงมีแนวพระดำริว่าภิกษุสามเณร ควรจะมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะ “รู้ทางโลกก็เป็นสำคัญ อุดหนุนรู้ทางธรรมให้มั่นให้กว้าง พระศาสดาของเรา ก็ได้ความรู้ทางโลกเป็นกำลังช่วย จึงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยดี” (๑๐) การที่ทรงจัดตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นในครั้งนั้น ก็เพื่อจัดการศึกษา แก่ภิกษุสามเณรในแนวนี้ ซึ้งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การจัดการศึกษาแบบใหม่ของมหามกุฎราชวิทยาลัยนั้น “ก็เพื่อจะลองหาทางแก้ไข การเรียนพระปริยัติธรรมให้ดีขึ้น คือ ให้ผู้เรียนรู้ได้เร็วไม่เปลืองเวลา ไม่พักลำบาก รู้ได้ดี” (๑๑) กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทรงหาวิธีการ ที่จะทำให้ภิกษุสามเณรใช้เวลาเรียนแต่น้อย แต่ได้ความรู้ดี ตามต้องการ แม้ว่าการจัดการศึกษาแบบมหามกุฎราชวิทยาลัย จำต้องเลิกไปในเวลาต่อมา แต่แนวพระดำริของพระองค์ดังกล่าว ก็ได้เป็นรากฐานให้แก่การจัดตั้งสถาบัน การศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ในเวลาต่อมา

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีวิสัยทรรศน์ทางด้านการศึกษา ที่แหลมคมและกว้างไกล ทรงมีแนวพระราชดำริที่ล้ำยุค และล้ำหน้ากว่าใครๆ ในยุคเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทย

พระกรณียกิจพิเศษ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ของพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ นอกจากนี้ ก็ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ของพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ อีกหลายพระองค์

สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงประชวรวัณโรค มีพระอาการเรื้อรังมาเป็นเวลานาน กระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๔ อันเป็นปีที่ทรงเจริญมายุครบ ๖๐ พรรษา อาการประชวรกำเริบมากขึ้น จึงเสด็จโดยทางเรือไปรักษาพระองค์ทางชายทะเลจนถึงจังหวัดสงขลา พระอาการยิ่งทรุดหนักลง ประจักษ์แก่พระหฤทัยว่ากาลที่สุดใกล้จะถึง จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๖๔ ครั้งถึงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๖๔ เวลา ๔ นาฬิกา ๓๕ นาทีก่อนเที่ยง (๑๐.๓๕ น.) ก็สิ้นพระชนม์ สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ๓ เดือนเศษ ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ๓๐ ปี ทรงดำรงตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช ๑๐ ปีกับ ๗ เดือนเศษ ถึงเดือนเมษายน ๒๔๖๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายพระเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

-------------------------------------------

เชิงอรรถ
(๑) ผู้ต้องการทราบพระประวัติตอนต้นโดยละเอียด โปรดอ่าน พระประวัติตรัสเล่า พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มหามกุฎราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒
(๒) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระดำรงราชานุภาพ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หน้า ๓๐๒
(๓) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร พิมพ์โดยพระบรมราชโองการในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ที่พระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๖๕ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หน้า ๙๓-๙๕
(๔) เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว หน้า ๓๐๘-๓๑๒
(๕) พระมหาสมณศาสน เล่ม ๑ เกี่ยวกับการพระศาสนา ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จัดพิมพ์เนื่องในงานมหาสมณานุสรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ พุทธอุปถัมภ์การพิมพ์ หน้า ๕๒๒
(๖) พระมหาสมณศาสน เล่ม ๒ เกี่ยวกับการพระศาสนา ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จัดพิมพ์เนื่องในงานมหาสมณานุสรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ พุทธอุปถัมภ์การพิมพ์ หน้า ๘-๙
(๗) แถลงการณ์ กิจการของสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๔ หน้า ๑๙
(๘) เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว หน้า ๓๘๖
(๙) ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร อ้างแล้ว หน้า ๙๔
(๑๐) พระประวัติตรัสเล่า อ้างแล้ว หน้า .......
(๑๑) ประวัติมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในงานฉลองครบ ๘๔ ปี มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๑ หน้า ๔๓

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก