หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)

พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
[ วัดสระเกศ ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๑ ฉบับที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๐ )
พระประวัติเบื้องต้น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระนามเดิมว่า อยู่ พระนามฉายาว่า ญาโณทโย ประสูติ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ที่เรือนแพหน้าวัดกัลยาณมิตร อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี โยมบิดาชื่อ ตรุษ โยมมารดา ชื่อ จันทร์

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้น ในสำนักบิดาผู้เป็นบุรพาจารย์ และต่อมาเมื่อมีพระชนมายุพอสมควร ได้มาอยู่ในสำนักของพระอาจารย์ช้าง วัดสระเกศ ได้ทรงเล่าเรียนสืบมาจนกระทั่งได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณร จึงได้ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี ทรงศึกษามูลกัจจายน์ในสำนักของพระอาจารย์ช้าง ต่อมาได้ทรงศึกษาในสำนักของพระธรรมกิติ (เม่น) บ้าง ในสำนักเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง) บ้าง และในสำนักพระยาธรรมปรีชา (ทิม) บ้าง

บรรพชาอุปสมบท
เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระอาจารย์ช้าง วัดสระเกศ พระนครได้ทรงศึกษาสามเณรสิกขารวมทั้งพระธรรมวินัย ตลอดจนตำราโหราศาสตร์

พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีศาสดาราม เป็นครั้งแรก ทรงได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้อีก ๑ ประโยค รวมเป็น ๔ ประโยค

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๗ เมื่อมีพระชนมายุครบอุปสมบท ทรงได้รับอุปสมบทที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมทานาจารย์ (จุ่น) วัดสระเกศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมกิติ (เม่น) วัดสระเกศ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากได้ทรงอุปสมบทแล้ว ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีก ทรงได้เป็นเปรียญ ๖ ประโยค เมื่อทรงสอบได้เปรียญ ๖ ประโยคแล้ว ทรงคิดว่าจะหยุดสอบไม่เข้าแปลต่อไปอีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในเวลานั้น เป็นผู้นำพระกระแสรับสั่งมาบอก ให้เข้าแปลประโยค ๗ ต่อ จึงต้องทรงรับสนองพระราชกระแสรับสั่ง เข้าแปลต่อไปและก็ทรงแปลได้อีก ๑ ประโยค ในปีนั้นเองรวมเป็น ๗ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมได้อีก ๑ ประโยค รวมเป็น ๘ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งสุดท้าย ทรงแปลได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยค เมื่อพระชนมายุ ๒๘ พรรษา

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยคองค์แรกในรัชกาลที่ ๕ จึงทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้นำรถยนต์หลวงมาส่งจนถึงพระอารามที่อยู่เป็นพิเศษและนับตั้งแต่นั้นมา ถ้าเปรียญใดสอบได้ ๙ ประโยค ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้นำรถยนต์หลวงส่งเปรียญรูปนั้นจนถึงที่ เป็นธรรมเนียมมาจนถึงปัจจุบันนี้

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช นับแต่ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ประโยคต้น จนถึงประโยคสุดท้าย คือ ประโยค ๙ ไม่เคยแปลตกเลย

หน้าที่การงาน
พ.ศ. ๒๔๔๕ เมื่อทรงได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยคแล้ว ก็ทรงดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสนามหลวง สอบไล่พระปริยัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามตลอดมา
พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระปิฎกโกศล

พ.ศ. ๒๔๕๘ เมื่อย้ายสถานที่สอบพระปริยัติธรรมจากในพระบรมมหาราชวัง มาสอบที่วัดเบญจมบพิตรและสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบจากวิธีแปลด้วยปาก มาเป็นสอบด้วยวิธีเขียนเหมือนกันทุกประโยค ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นมา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจประโยคด้วย

พ.ศ. ๔๔๖๒ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่กองธรรมสนามจังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที และในศกเดียวกันได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่กองธรรมสนามจังหวัดกาญจนบุรี
พ.ศ. ๒๔๖๕-๖๖ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลภูเก็ต รวม ๒ ปีติดต่อกัน
พ.ศ. ๒๔๖๖ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ พระอารามหลวงและในศกเดียวกัน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเหนือ จังหวัดธนบุรี
พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลนครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๗๐ ในรัชกาลที่ ๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเจดีย์ แล้วเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ตลอดจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ อันเป็นปีที่เลิกใช้ พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑

พ.ศ. ๒๔๘๘ ในรัชกาลที่ ๘ ก็ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง ที่ พระธรรมวโรดม

พ.ศ. ๒๔๙๖ ในรัชการที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดังมีสำเนาตามประกาศกำกับสุพรรณบัฏ ดังนี้ :-

(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการโปรดให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระธรรมวโรดม เป็นพระเถระผู้เจริญด้วยวิริยาธิคุณ วิบุลปฎิภาณญาณปรีชา ได้ศึกษาแตกฉานในพระปริยัติไตรปิฎกสัทธรรม รอบรู้อักขรสมัยทั้งสกพากย์ และไพรัชพากย์เป็นอย่างดี และชำนาญในคัมภีร์โหราศาสตร์พยากรณ์ ดำรงสถาพรอยู่ในสมณคุณเนกขัมมปฏิบัติ สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรรัตตัญญูมหาเถรธรรมตลอดมาช้านาน ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์ไพศาล แก่พุทธจักรและอาณาจักร ดังปรากฏความในประกาศสถาปนาเป็นที่รองสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ นั้นแล้ว

ครั้นต่อมา พระธรรมวโรดม ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณ สามารถเอาภาระธุระพระพุทธศาสนาเป็นพาหุลกิจนิตยสมาทาน มิได้ท้อถอย ในการปกครองพระอารามก็เอาภาระบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุทั่ว ๆ ไป ให้กลับมีสภาพมั่นคงขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะพระบรมบรรพตปูชนียสถาน ก็ได้จัดการบูรณะเป็นการใหญ่ อันจักหวังได้ว่าปูชนียสถานแห่งนี้ จักเป็นศรีสง่าแก่พระนครได้แห่งหนึ่ง ในหน้าที่การบริหารทางคณะสงฆ์ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นองค์ประธานสังฆสภา ได้ปฏิบัติการในหน้าที่ให้สำเร็จเรียบร้อยเป็นผลดีตลอดมา บัดนี้ พระธรรมวโรดม ก็เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาลรัตตัญญูมหาสถานวีรธรรม มั่นคงในพระพุทธศาสนาเป็นอจลพรหมจริยาภิรัต สงเคราะห์พุทธบริษัทปกครองพระสงฆ์ ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ติดต่อกันมาช้านานถึง ๔๕ พรรษา ได้เป็นครูและอุปัธยาจารย์แก่มหาชนเป็นอันมาก อุตส่าห์สั่งสอนอบรมพระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ศาสนิกบริษัทให้เจริญในธรรมปฏิปทา มีศิษยานุศิษย์ไพศาล เป็นที่เคารพนับถือสักการบูชาแห่งพุทธมามกชนทั่วไป สมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะได้

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดให้สถาปนา พระธรรมวโรดมขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปีฎกวิทยาคุณ วิบูลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี อรัญญวาสี สถิต ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๑๐ รูป คือ พระครูปลัดสัมพิพัฒนศีลาจารย์ ญาณธาดา มหาสังฆานุนายก ปิฎกธรรมรักขิต ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูเมธังกร พระครูคู่สวด ๑ พระครูวรวงศ์ พระครูคู่สวด ๑ พระครูธรรมรัต ๑ พระครูธรรมรุจิ ๑ พระครูสังฆวิจารณ์ ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณจงรับภาระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณร โดยสมควรแก่กำลัง และอิสสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญ อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฎฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ ฯ

ประกาศ ณ วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๖ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

พ.ศ. ๒๕๐๕ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร สิ้นพระชนม์และในศกเดียวกัน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ ขึ้น โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรัฐสภา และรัฐบาลได้รับสนองพระบรมราชโองการให้ประกาศพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา สมเด็จฯ ก็ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ตามผลแห่งพระราชบัญญัติฉบับนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ทรงใช้ความรู้ความสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยความเรียบร้อยดีตลอดมา

ครั้นถึงวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดลยเดช ป.ร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ว่างลง เป็นการสมควรที่จะสถาปนา สมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพื่อจักได้บริหารการพระศาสนาให้สมบูรณ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และตามระเบียบราชประเพณีสืบไป อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงในสมณคุณใหญ่ยิ่งมีอยู่ สมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราซาคณะแทนตำแหน่งที่ว่างในคราวนี้ด้วย

จึงทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นมหาเถรเจริญในสมณคุณเนกขัมมปฎิบัติ สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรรัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม มีปฏิภาณปรีชา ได้ศึกษาแตกฉานในพระไตรปิฎกสัทธรรม รอบรู้อักขรสมัยทั้งสกสมัยและไพรัชชพากย์เป็นอย่างดี ทั้งชำนาญในคัมภีรโหราศาสตร์พยากรณ์ ดำรงสถาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมา เป็นเวลาช้านานถึง ๖๙ พรรษา ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล ดังความพิสดารปรากฏในประกาศ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๖ นั้นแล้ว

ครั้นต่อมาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ก็เจริญด้วยอุตสาหะวิริยาธิคุณสามารถเอาภาระธุระทางพระพุทธศาสนา เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย ในการปกครองอาราม ก็ได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์พระอุโบสถ พระบรมบรรพต สำเร็จเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก นอกจากนั้นยังได้สร้างตึกเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง นับว่าเป็นประโยชน์แก่การพระศาสนา ดังเป็นที่ปรากฏอยู่แล้ว

บัดนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ก็เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญูมหาสถานวีรธรรม มั่นคงในพระพุทธศาสนา เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต สงเคราะห์พุทธบริษัท ปกครองสงฆ์ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ติดต่อกันมาช้านานถึง ๕๕ พรรษาได้เป็นครูและอุปัธยาจารย์แก่มหาชนเป็นอันมาก มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล เป็นที่เคารพสักการแห่งพุทธมามกชนทั่วไป ประกอบด้วยขณะนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ก็ได้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอยู่แล้ว จึงสมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญูาณ สุขุมวิธานธำรงสกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณ ญาโณทยาภิธานสังฆวิสุต พุทธบริษัทคารวสถาน ธรรมปฏิภาณญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จสถิต ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง เป็นประธานในสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในสงฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสสริยยศ ซึ่งพระราชทานนี้ จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฎฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญ

ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสสริยยศ ๑๕ รูป คือ พระมหาคณานุศิษฎ์ สังฆอิสริยาลงกรณ์ สุนทรธรรมสาธก พุทธปาพจนดิลกมหาเถรกิจจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระจุลคณานุศาสน์ วิจารโณภาสภาคยคุณ สุนทรศาสนกิจบรรหาร มหาเถราธิการธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑ พระครูธรรมกถาสุนทร ๑ พระครูวินัยกรณ์โศภน ๑ พระครูพรหมวิหาร พระครูพระปริตร ๑ พระครูฌาณวิสุทธิ พระครูพระปริตร ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิมลสรภาณ พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิศาลสรคุณ พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิบูลบรรณวัตร์ ๑ พระครูพิพัฒน์บรรณกิจ ๑ พระครูสังฆบริหาร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพร ในพระบวรพุทธศาสนาเทอญ ฯ

ประกาศ ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ เป็นปีที่ ๑๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี

พระกรณียกิจด้านต่างๆ
ในด้านการศึกษา ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าสำนักเรียนวัดสระเกศ พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์ ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลีและนักธรรมให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป มีภิกษุสามเณรทั้งในวัดและต่างวัดได้มาอาศัยศึกษาเล่าเรียน จนปรากฏว่ามีนักเรียนสอบไล่ได้นักธรรม และบาลีเป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นทุกปี

สำหรับพระภิกษุที่เป็นเปรียญและนักธรรมในสำนักวัดสระเกศ ที่ได้ออกไปเผยแผ่การศึกษาในต่างจังหวัดจนปรากฏว่าได้รับหน้าที่และดำรงสมณศักดิ์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์อุปถัมภ์กิตติมศักดิ์ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาตั้งแต่เริ่มเปิดการศึกษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ตลอดมา

ในด้านการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อทรงได้รับพระกรุณาโปรดให้ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ก็ได้ทรงเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถทั่วทั้งหลัง ได้ต่อหน้าชานพระวิหารให้กว้างใหญ่ขึ้น ซึ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่เข้าไปนมัสการพระอัฏฐารส ในพระวิหารเป็นอย่างมาก

ได้ทรงปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถนนในวัดให้มีสภาพดีขึ้นกว่าเก่ามาก
ได้ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์บรมบรรพตจนสำเร็จเรียบร้อย
ได้ทรงสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมและห้องสมุดของวัดขึ้น และได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระระเบียงรอบพระอุโบสถ และเปลี่ยนกระเบื้องเป็นกระเบื้องเคลือบทั้งหมด และได้เทคอนกรีต บริเวณรอบนอกพระอุโบสถทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการบูรณปฏิสังขรณ์ และก่อสร้าง ทั้งหมด ประมาณ ๑๑,๖๘๐,๐๐๐. (สิบเอ็ดล้านหกแสนแปดหมื่นบาท) ทั้งนี้เฉพาะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๕

นับว่าพระองค์ได้ทรงสร้างถาวรวัตถุไว้เป็นอย่างมาก และพระองค์ได้ทรงกำหนดการ บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะทั่วทั้งพระอารามไว้ ซึ่งจะให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งทรงกำหนดการประดับพระบรมบรรพตเป็นสีทองไว้ด้วย

ก่อนวันที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์เพียงวันเดียว พระองค์ได้ทรงเลือกกระเบื้องที่จะประดับพระบรมบรรพตไว้ เวลานี้กระเบื้องที่ทรงเลือกไว้ยังคงอยู่ใกล้ที่บรรทม แต่พระองค์ก็มาสิ้นพระชนม์เสียก่อน หากทรงพระชนม์อยู่อีกเพียงสามปี วัดสระเกศคงได้สมกับนามว่าอาราม ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ไว้

แม้พระองค์จะมิได้ทรงทำให้สำเร็จทุกอย่างก่อนสิ้นพระชนม์ แต่ผลงานของพระองค์ก็นับว่าเหลือล้น ถึงอย่างนั้นผู้ปรารถนาดีต่อวัดสระเกศก็ยังบ่นว่า เมื่อไรสมเด็จ ฯ จะบูรณะวัดให้หมดทั้งวัดเสียที ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ไม่ทรงคำนึงอะไรทั้งนั้น แต่พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อความเจริญแก่วัด ชาติ และพระศาสนา

ในด้านการเผยแพร่พระศาสนา พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นอย่างมาก และทรงกระทำตามกาลด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงสนับสนุนพระภิกษุผู้สามารถที่จะทำการเผยแพร่พระศาสนาทั้งในและนอกประเทศ ทรงยกย่องพระภิกษุผู้ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ ทรงสนับสนุนองค์การและสมาคมที่ทำงานพระศาสนาด้านนี้

เมื่อพระองค์ทรงได้รับสถาปนาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแล้ว พระองค์ทรงบริหารการคณะสงฆ์ โดยมิทรงคำนึงถึงความชราภาพ ทรงทำทุกอย่างเพื่อความสงบสุขของ สังฆมณฑล พระองค์รับสั่งเสมอว่า สังฆราช ไม่ใช่ สังฆราชี

ในด้านการติดต่อกับชาวต่างประเทศ พระองค์ทรงปฏิสันถารต้อนรับผู้มาถึงพอเหมาะพอดี เป็นที่สบายใจแก่อาคันตุกะนั้นๆ แม้บางครั้งผู้เข้าเฝ้าเป็นคนต่างศาสนา พระองค์ก็ทรงสามารถปฏิสันถารให้เหมาะแก่ผู้นั้น ซึ่งเรื่องนี้ มีผู้หนักใจกันมาก เพราะพระองค์ทรงชรา เกรงไปว่าจะทรงปฏิสันถารขาดตกบกพร่อง แต่กลับตรงกันข้าม และปรากฏชัดแล้ว

สิ้นพระชนม์
โดยปกติเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชมีพระพลานามัยดีตลอดมา แต่เพราะทรงชราพระองค์จึงประชวรด้วยโรคพระหทัย และได้ทรงเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ เพียง ๔ วันเท่านั้น พระองค์ก็เสด็จกลับมาประทับที่วัดพระอาการดีขึ้นโดยลำดับจนปลอดภัย จนถึงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๐๘ ได้เกิดพระโลหิตอุดตันในสมอง คณะนายแพทย์ได้นำพระองค์ไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลอีก แต่ครั้งนี้พระอาการหนักมาก คณะนายแพทย์พยายามถวายการพยาบาลทุกวิถีทาง พระอาการก็ไม่ดีขึ้น

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงทราบ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมถึง ๒ วาระ และในวาระหลัง สมเด็จเจ้าฟ้าชายได้โดยเสด็จด้วย ได้มีพระกระแสรับสั่งให้คณะนายแพทย์เอาใจใส่ให้มาก คณะองค์มนตรีก็ได้เสด็จเยี่ยมและไปเยี่ยมหลายวาระ ตลอดถึงคณะรัฐบาลข้าราชการพ่อค้า และประชาชน ได้ไปเยี่ยมและคอยสดับข่าวกันทุกระยะด้วยความห่วงใย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจรนายกรัฐมนตรี ได้ไปเยี่ยมหลายวาระเช่นกัน และได้สนใจอยู่ตลอดเวลา สั่งให้คณะนายแพทย์ถวายการรักษาให้ดีที่สุด

แต่เพราะท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชทรงชรามากแล้ว สุดที่คณะนายแพทย์ จะถวายการพยาบาล พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๘ เวลา ๐๒.๒๐ น. ซึ่งหากนับโดยสุริยคติในปัจจุบัน ตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน วันวิสาขบูรณมี สิริพระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา ๕ เดือน ๑๔ วัน

การพระศพ
เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้จัดการพระศพและการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบตาม พระเกียรติยศทุกประการ ฝ่ายคณะสงฆ์และคณะรัฐบาล ได้ช่วยการจัดพระศพทุกประการ โดยเฉพาะฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้กรุณาไปตรวจดูการจัดสถานที่ประดิษฐานพระศพด้วยตนเอง

เมื่อครบสัตตมวาร ครบปัญญาสมวารและครบสตมวาร สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทั้ง ๓ วาระ ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์ จนกระทั่งวันออกพระเมรุ คณะสงฆ์ คณะรัฐบาล ข้าราชการพ่อค้า ประชาชน ได้โดยเสด็จพระราชกุศลบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย มิได้ขาดเลยเป็นระยะเวลา ๖ เดือน ๔ วัน

การพระเมรุ
ในการออกพระเมรุ ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้กำหนด วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ เป็นวันพระราชทานเพลิง ทรงโปรดพระราชทานพระเกียรติแก่พระศพ และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบทุกประการ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก