หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก)

พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก)

[ วัดมหาธาตุ ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๙ )
พระประวัติเบื้องต้น
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือพระองค์หนึ่ง ในยุครัตนโกสินทร์ ทรงพระคุณพิเศษในด้านวิปัสสนาธุระ จนมีพระฉายานามอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชนว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน” เพราะทรงสามารถแผ่พรหมวิหารธรรมให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ (๑) เดือนยี่ ปีฉลู จุลศักราช ๑๐๙๕ พ.ศ. ๒๒๗๖ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ, สันนิษฐานกันว่าคงเป็นชาวกรุงเก่า, ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม (ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่าคลองตะเคียน) ในแขวงรอบกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก.

ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์, เมื่อได้ทรงจัดการข้างฝ่ายอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ทรงพระราชดำริ จัดการข้างฝ่ายพุทธจักรเพื่อทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา ซึ่งเสื่อมโทรมเศร้าหมองเพราะการจลาจลวุ่นวายในบ้านเมือง จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชาคณะในตำแหน่งต่างๆตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงแสวงหาพระเถระผู้ทรงคุณพิเศษ จากที่ต่างๆ มาตั้งไว้ในตำแหน่งที่สมควร เพื่อช่วยรับภาระ ธุระทางพระพุทธศาสนาสืบไป และก็ในคราวนี้เองที่ได้ทรง “โปรดให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า มาอยู่วัดพลับ ให้เป็นพระญาณสังวรเถร” (๒) พระอาจารย์วัดท่าหอยดังกล่าวนี้ก็คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั่นเอง

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ครั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า, ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้โปรดให้นิมนต์มาอยู่ในกรุงเทพฯ และทรงตั้งเป็นราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร ดังกล่าวแล้ว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระฝ่ายอรัญวาสี นิยมความสงบวิเวก จึงได้โปรดให้มาอยู่วัดพลับ อันเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของธนบุรีครั้งนั้น คู่กับวัดรัชฎาธิษฐาน และอยู่ไม่ไกลจากพระนคร, และเพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้โปรดฯ ให้สร้างวัดพระราชทานใหม่ในที่ติดกับวัดพลับนั่นเอง, เมื่อสร้างพระอารามใหม่เสร็จแล้ว ก็ได้โปรดฯ ให้รวมวัดพลับเข้าไว้ในเขตของพระอารามใหม่นั้นด้วย แต่ยังคงใช้ชื่อว่าวัดพลับดังเดิม, ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดราชสิทธาราม ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้, บริเวณอันเป็นวัดพลับเดิมนั้นอยู่ด้านตะวันตกของวัดราชสิทธารามปัจจุบันนี้.(๓)

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นอันมาก ของพระบรมราชวงศ์มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ปรากฏนามพระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์ นับแต่คราวทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เป็นต้นมา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารดังนี้

(๑) พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) (๔) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้ว วันแรกเสด็จประทับที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการฉลองเสร็จแล้ว จึงเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน)
(๒) พ.ศ. ๒๓๓๗ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๒ แต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๑ (พระนามเดิม จุ้ย) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) (๕) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์. (๖)
(๓) พ.ศ. ๒๓๓๘ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พระนามเดิม บุญมา) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร วัดพลับ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมกิตติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์.(๗)
(๔) พ.ศ. ๒๓๔๕ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมพระราชวังหลัง ในรัชกาลที่ ๑ (เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระนามเดิม ทองอิน) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์.(๘)
(๕) พ.ศ....... พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระญาณสังวรเถร (สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์(ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์.(๙)
(๖) พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระญาณสังวร(สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์.(๑๐) แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ว่า สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธารามเป็นพระอาจารย์ (๑๑) ซึ่งกลับกันเป็นตรงกันข้าม

ในเรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง ความทรงจำ ว่า พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ น่าจะกลับกันกับที่กล่าว (ในพระราชพงศาวดาร) คือสมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์และสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอาจารย์ถวายศีล เพราะสมเด็จพระญาณสังวรเป็นผู้มีอายุพรรษามาก นั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช (มี) ทั้งเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แม้สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวรมาแต่ก่อน น่าจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์

และยังมีหลักฐานประกอบอีกอย่างหนึ่ง ด้วยถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ๒ องค์ เป็นคู่กัน อยู่ที่ลานหน้าวัดราชสิทธาราม (อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระญาณสังวร) องค์หนึ่งขนานนามว่า ‘พระศิราศนเจดีย์’ ทรงอุทิศในพระนามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกองค์หนึ่งมีนามว่า ‘พระศิรจุมภฏเจดีย์’ เป็นพระบรมราชูทิศในพระนามของพระองค์เองยังปรากฏอยู่ ตรัสว่าเพราะได้เคยเป็นศิษย์สมเด็จพระญาณสังวรมาด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์’.(๑๒)

ในรัชกาลที่ ๒ โปรดให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร มีสำเนาประกาศที่ทรงตั้ง ดังนี้
‘ศรีศยุภมัศดุ ฯ ล ฯ ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ (ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙) ให้พระญาณสังวรขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร อดิสรสังฆเถรา สัตวิสุทธิจริยาปรินายก สปิฎกธรามหาอุดมศีลอนันต์ อรัญวาสี สถิตย์ในราชสิทธาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง ให้จาฤกกฤตฤกาลอวยผลพระชนมายุศม ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล วิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเถิด’ (๑๓)

สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในปีเดียวกันกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และนั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช ‘ด้วยได้เห็นบัญชีนิมนต์พระสวดมนต์ในสวนขวา (๑๔) มีนามสมเด็จพระญาณสังวรอยู่หน้าสมเด็จพระสังฆราช เห็นจะเป็นด้วยมีพรรษาอายุมากกว่า’ (๑๕) สมเด็จพระญาณสังวรได้รับพระราชทานพัดงาสาน ซึ่งโปรดให้ทำวิจิตรกว่าพัดสำหรับพระราชาคณะสมถะสามัญ.(๑๖)

สำหรับวัดพลับ หรือวัดราชสิทธารามนั้น นับแต่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้มาอยู่ครองแต่ครั้งยังทรงเป็นที่ พระญาณสังวรเถรแล้ว ก็ได้กลายเป็นสำนักปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระที่สำคัญ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน เรื่องประวัติวัดมหาธาตุ ว่า “ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ วัดอรัญวาสีที่สำคัญ ก็คือวัดสมอราย ๑ กับวัดราชสิทธาราม ๑” (๑๗) และพระเกียรติคุณในทางวิปัสสนาธุระของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้น คงเป็นที่เคารพนับถือทั้งในฝ่ายเจ้านายในพระบรมราชวงศ์และในหมู่ประชาชนทั่วไป จึงได้ทรงเป็นพระราช อุปัธยาจารย์ และเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์ และเจ้านายชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์หลายพระองศ์ ดังได้กล่าวมาแล้ว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอใน รัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ก็ได้เสด็จมาประทับทรงบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติ และทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (สุก) แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณสังวรเถร ณ วัดราชสิทธารามนี้เป็นเวลา ๑ พรรษา โดยมีพระตำหนักสำหรับทรงบำเพ็ญสมาธิกรรมฐาน โดยเฉพาะเรียกว่า พระตำหนักจันทน์ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชนกนาถ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ทรงสร้างถวาย ยังคงมีอยู่สืบมาจนบัดนี้.(๑๘)

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า มงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในรัชกาลที่ ๒ ก็ได้เสด็จไปประทับศึกษาวิปัสสนาธุระในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (สุก) แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณสังวรเถร ณ วัดราชสิทธารามเช่นกัน ดังที่พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ใน เรื่องวัดสมอรายอันมีนามว่า ราชาธิวาส ว่า

“ได้ทรงประทับศึกษาอาจาริยสมัยในสำนักวัดราชาธิวาส ทรงทราบเสร็จสิ้นจนสุดทางที่จะศึกษาต่อไปอีกได้ จึงได้เสด็จย้ายไปประทับอยู่ ณ วัดราชสิทธาราม คือวัดพลับ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญ เชี่ยวชาญในการวิปัสสนาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวชในที่นั้น แต่หาได้ประทับประจำอยู่เสมอ ไม่เสด็จไปอยู่วัดพลับบ้าง กลับมาอยู่สมอรายบ้าง เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงทรงสร้างพระศิรจุมภฏเจดีย์ไว้เป็นคู่กันกับพระศิราศนเจดีย์ ที่ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสำคัญว่า เคยเสด็จ ประทับศึกษา ณ สำนักอาจารย์เดียวกัน.” (๑๙)

เกี่ยวกับราชประเพณีนิยมทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ของเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ที่ทรงผนวชนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายไว้ว่า

“อนุโลมตามราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังเช่น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดประดู่นั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยเป็นวัดอรัญวาสี อยู่ที่สงัดนอกพระนคร เพราะการศึกษาธุระในพระศาสนามีเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายคันถธุระต้องเล่าเรียนพระปริยัติธรรมโดยมคธภาษา อันต้องใช้เวลาช้านานหลายปี ไม่ใช่วิสัยผู้ที่บวชอยู่ชั่วพรรษาเดียวจะเรียนให้ตลอดได้ แต่วิปัสสนาธุระอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นการฝึกหัดใจในทางสมถภาวนา อาจเรียนได้ในเวลาไม่ช้านัก และถือกันอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าชำนิชำนาญในทางสมถภาวนาแล้ว อาจจะนำคุณวิเศษอันนั้นมาใช้ในการปลุกเศกเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนในวิชา พิไชยสงครามได้ในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ เจ้านายที่ทรงผนวชมาแต่ก่อน จึงมักเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดอรัญวาสี เพื่อทรงศึกษาภาวนาวิธี.” (๒๐)

นัยว่าการศึกษาวิปัสสนาธุระ ของสำนักวัดราชสิทธาราม ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงครองวัดอยู่นั้นเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะผู้ครองวัดทรงเชี่ยวชาญและมีกิตติคุณในด้านนี้เป็นที่เลื่องลือ. ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และเสด็จมาสถิต ณ วัดมหาธาตุแล้ว การศึกษาวิปัสสนาธุระแม้จะยังมีอยู่ ก็ไม่รุ่งเรืองเท่ากับสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ยังทรงครองวัดนั้นอยู่.(๒๑)

พ.ศ. ๒๓๖๒ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์, พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้วโปรดให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เดิมทรงพระราชดำริที่จะตั้งสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ถึงได้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เมื่อ ณ เดือน ๔ ปีเถาะ เอกศกนั้นแล้ว แต่เมื่อปีมะโรง โทศก ข้างต้นปี เกิดอหิวาตกโรคมาก ยังไม่ทันจะได้ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช, ถึงเดือน ๑๑ มีโจทก์ฟ้องกล่าวอธิกรณ์สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) ว่าชอบหยอกเอินศิษย์หนุ่ม ด้วยกิริยาที่ไม่สมควรแก่สมณะ ชำระได้ความเป็นสัตย์ อธิกรณ์ไม่ถึงเป็นปาราชิก จึงเป็นแต่ให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระราชาคณะ และเนรเทศไปจากพระอารามหลวง. (๒๒) ตำแหน่งพระสังฆราชนั้น ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่ และได้เป็นพระอาจารย์ เป็นที่เคารพในพระราชวงศ์ จึงโปรดให้แห่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๑๒ ขึ้น ๔ ค่ำ ครั้งถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ พ.ศ. ๒๓๖๓ จึงทรงตั้งสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช (๒๓)

มีสำเนาประกาศที่ทรงตั้ง ดังนี้

“ศริศยุภอดีตกาล พระพุทธสักราช ชไมยสหัสสสังวัจฉรไตรสตาธฤก ไตรสัตฐีสัตมาศ ปัตยุบันกาล นาคสังวัจฉรมฤคศฤระมาศ ศุกขปักขคุรุวาระนวมีดิถี ปริจเฉทกาลอุกฤษฐ สมเด็จบรมธรรมมฤกะมหาราชารามาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตคุณวิบุลยปรีชาอันมหาประเสริฐ มีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนา ให้สมเด็จพระญาณสังวร เปนสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปรินายกติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤศร วรทักษิณาสฤทธิสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี เป็นประธานถานาทุกคณาธิกร จัตุพิธบรรพสัช สถิตในพระศรีรัตนมหาธาตุบวรวิหารพระอารามหลวง (๒๔)

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระชนมายุได้ ๘๘ พรรษาแล้ว ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ไม่ถึง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์ เหตุที่ไม่ได้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน (๒๕) เพราะทรงเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ, แต่ประเพณีการเลือกสมเด็จพระสังฆราช คงถือเอาคันถธุระเป็นสำคัญ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ จึงไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน มาในครั้งนี้เห็นจะทรงพระราชดำริว่า พรรษาอายุท่านมากอยู่แล้ว มีพระราชประสงค์จะสถาปนาให้ถึงเกียรติยศที่สูงสุดให้สมกับที่ทรงเคารพนับถือ เข้าใจว่าเห็นจะถึงทรงวิงวอน ท่านจึงรับเป็นสมเด็จพระสังฆราช.(๒๖)

อนึ่ง ธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุนั้นได้มีขึ้นในรัชกาลที่ ๒ โดยได้โปรดให้แห่สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดราชบุรณะ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาสถิต ณ วัดมหาธาตุเป็นพระองค์แรก พระองค์ที่ ๒ คือสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แห่จากวัดราชสิทธารามมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ พระองค์ที่ ๓ คือสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แห่จากวัดสระเกศมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ พระองค์สุดท้ายคือ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๓), ในประกาศสถาปนาว่าสถิต ณ วัดมหาธาตุ แต่ไม่ได้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุตามประกาศ เพราะขณะนั้นวัดมหาธาตุกำลังปฏิสังขรณ์ทั่วพระอาราม สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะอันเป็นพระอารามเดิมจนสิ้นพระชนม์ แต่นั้นมาธรรมเนียมการแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุก็เป็นอันเลิกไป.

พระอวสานกาล
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ ๑ ปีกับ ๑๐ เดือน ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๕ มีพระชนม์มายุได้ ๘๙ โดยปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เมื่อตั้งที่พระเมรุท้องสนามหลวง พระโกศองค์นี้ นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเกียรติยศสูงบางพระองค์ มีปรากฏว่าได้ทรงแต่พระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้พระองค์เดียว (๒๗) นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูง ด้วยเหตุที่ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือ อย่างยิ่งนั้นเอง ส่วนการพระเมรุนั้นโปรดให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพเมื่อเดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๖๕ นั้น (๒๘) ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้โปรดให้ปั้นพระรูปบรรจุพระอัฐิ ประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาตลอดจนสานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้.

ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ช่างหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ขนาดย่อมขึ้นอีก ประดิษฐานไว้ในหอพระนาก พร้อมกันกับรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม ซึ่งเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของพระองค์ ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๘๗ ได้โปรดให้หล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) อีกองค์หนึ่งขนาดเท่าพระองค์จริง, พระราชดำริเดิม เข้าใจว่าคงจะทรงสร้างขึ้นสำหรับประดิษฐานไว้ ณ วัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตของพระองค์เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช, แต่ยังไม่ทันได้เชิญไปประดิษฐาน เพราะการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดมหาธาตุยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน, พระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) องค์ดังกล่าวนี้ จึงค้างอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้แห่ไปประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุ (๒๙) ปรากฏตามหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ ว่า โปรดให้เชิญไปเมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. ๑๒๑๔ พ.ศ. ๒๓๙๕ (๓๐) และโปรดให้สร้างแท่นจำหลักมีลวดลายเป็นรูปไก่เถื่อน เป็นที่รองรับพระรูปเพิ่มเติมขึ้น และยังคงสถิตอยู่ในพระวิหารวัดมหาธาตุมาจนบัดนี้.(๓๑)

ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวรนั้น นับว่าเป็นตำแหน่งพิเศษในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตำแหน่งที่พระราชทานสถาปนา แก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงตั้งพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณพิเศษในทางวิปัสสนาธุระเป็นที่พระราชาคณะนั้น ก็ทรงตั้งในราชทินนามว่า พระญาณสังวรเถร อันเป็นราชทินนามที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ

ครั้นมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดให้สถาปนาพระญาณสังวรเถร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ก็โปรดให้สถาปนาในราชทินนามว่า สมเด็จพระญาณสังวร ตามราชทินนามเดิมที่ได้รับพระราชทานแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ครั้นสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชในเวลาต่อมา, ราชทินนามที่ สมเด็จญาณสังวร ก็ไม่ได้โปรดพระราชทานสถาปนาพระเถระรูปใดอีกเลยนับแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา กระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดให้สถาปนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร) วัดบวรนิเวศวิหารในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ นับเป็นสมเด็จพระญาณสังวร รูปที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

นับแต่ปีที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕ ในรัชกาลที่ ๒ มาจนถึงปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดให้สถาปนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน) ขึ้นเป็น สมเด็จพระญาณสังวร เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ นั้น เป็นเวลา ๑๕๐ ปีพอดี ซึ่งเป็นเวลายาวนานถึง ๖ รัชกาลที่ว่างเว้นมิได้ทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนาพระเถระรูปใด ในราชทินนามตำแหน่งนี้ เพราะฉะนั้น ตำแหน่งที่สมเด็จพระญาณสังวรนี้ จึงกล่าวได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีความหมายสำคัญในประวัติการณ์ของ คณะสงฆ์ไทยตำแหน่งหนึ่ง.


-------------------------------------------------

เชิงอรรถ
๑. ใน เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระดำรงราชานุภาพ ว่าขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ หน้า ๘๒)
๒. พระราชพงศาวดารกุรงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๒ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ คลังวิทยา พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๓๐.
๓. ประวัติวัดราชสิทธาราม กรมศิลปากร งานกฐินพระราชทาน ณ วัดราชสิทธาราม พ.ศ. ๒๕๐๙ หน้า ๒-๕
๔. ในหนังสือบางเล่มเขียนเป็น สมเด็จพระสังฆราช (สี)
๕. ในหนังสือบางเล่มเขียนเป็น สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
๖. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว หน้า ๔๙
๗. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑-๒ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ สำนักพิมพ์คลังวิทยาจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๓๓๓, ๒๐๙-๒๑๐ ๒๑๘
๘. ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๑ เรื่องพระราชพิธีทรงผนวชกรมพระราชวังหลัง กับพระเจ้าลูกเธอฯ ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๖๔ ว่าพระพิมลธรรม ๑ พระธรรมกิจ ๑ เป็นคู่สวด (อ้างใน ประวัติวัดราชสิทธาราม กรมศิลปากร.หน้า ๖๙)
๙. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว หน้า ๕๑
๑๐. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระดำรงราชานุภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ และ ประวัติวัดราชสิทธาราม พ.ศ. ๒๕๐๙ หน้า ๔๐-๕๐
๑๑. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๒. อ้างแล้ว. หน้า ๕๕๘
๑๒. ความทรงจำ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๕๙-๖๐
๑๓. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว หน้า ๘๓
๑๔. สวนขวา คือสวนที่โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นการแต่งเติมของเดิมที่สร้างขึ้นแล้วแต่รัชกาลที่ ๑ ให้วิจิตรพิสดารขึ้น สำหรับเป็นที่เสด็จประพาสในเวลาว่างพระราชกิจบ้าง เป็นที่เสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเวลาเทศกาลนักขัตฤกษ์บ้าง ที่เรียกว่า สวนขวา เพราะอยู่ฝ่ายขวาพระราชมนเทียร ทุกวันนี้รื้อหมดแล้ว
๑๕. พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑-๒ อ้างแล้ว. หน้า ๖๐๐
๑๖. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว หน้า ๕๐
๑๗. เล่มเดียวกัน. หน้า ๓๒
๑๘. เล่มเดียวกัน. หน้า ๕-๖
๑๙. เรื่องวัดสมอราย อันมีนามว่า ราชาธิวาส. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พ.ศ. ๒๔๙๙. หน้า ๒๕
๒๐. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๓๑-๓๒
๒๑. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๔๔
๒๒. ไปอยู่วัดไทรทอง คือวัดเบญจมบพิตร ในบัดนี้
๒๓. พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑-๒ อ้างแล้ว. หน้า ๕๙๘-๕๙๙
๒๔. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว. หน้า ๘๔
๒๕. พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑ - ๒ อ้างแล้ว หน้า ๖๐๐
๒๖. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว หน้า ๔๘
๒๗. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ฯ อ้างแล้ว หน้า ๘๔
๒๘. พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑-๒ อ้างแล้ว หน้า ๖๙๐
๒๙. ตามที่กล่าวไว้ในหนังสือ เรื่องประวัติวัดราชสิทธาราม (ฉบับกรมศิลปากร) อ้างแล้ว หน้า ๕๒ ว่า “ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้แห่ไปประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ” นั้น ผิดพลาด เพราะ พ.ศ. นั้นยังเป็นรัชกาลที่ ๔ อยู่ ทั้งมีหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ ยืนยันอยู่ด้วย ดังอ้างไว้แล้วในที่นี้.
๓๐. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว. หน้า ๑๔๑
๓๑. เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๑-๕๒

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก