หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๑	สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
[ วัดราชบพิธ ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๑ ฉบับที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๐ )
พระประวัติเบื้องต้น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นหนึ่ง กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์ กับ หม่อมปุ่น ชุมพูนุท ประสูติ เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้ตามเสด็จ คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ จนถึงเมืองสิงคโปร์ แล้วโปรดให้อยู่เล่าเรียนในโรงเรียนแรฟฟัล ณ เมืองสิงคโปร์นั้น พร้อมกับหม่อมเจ้าอื่นๆ อีกราว ๒๐ องค์ ทรงเล่าเรียนอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เป็นเวลา ๙ เดือน เมื่อทางกรุงเทพฯ ได้มีการเปิดโรงเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านายขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ จึงโปรดให้กลับมาเล่าเรียนต่อที่กรุงเทพฯ

ทรงผนวช
พ.ศ. ๒๔๑๖ พระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร แต่ยังทรงเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ เป็นพระอาจารย์ เมื่อทรงผนวชแล้วเสด็จอยู่ที่วัดราชบพิธ ทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ต่อมาจนถึงพระชนมายุครบอุปสมบท จึงทรงอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อทรงอุปสมบทแล้ว ก็เสด็จประทับ ณ วัดราชบพิธตามเดิม ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม ๒ ครั้ง ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อทรงอุปสมบทได้ ๘ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสถาพรพิริยพรต

ทรงเป็นกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศ กรมหมื่น ได้ทรงพระดำริ จัดตั้งสถาบันการศึกษาแบบใหม่สำหรับภิกษุสามเณร ตลอดถึงจัดตั้งโรงเรียนสำหรับกุลบุตรขึ้น เรียกว่า มหามกุฎราชวิทยาลัย เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระนามาภิไธย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อจัดการศึกษาสำหรับภิกษุสามเณร และกุลบุตรให้ทันสมัย และเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ พระสถาพรพิริยพรต ก็ทรงเป็นกรรมการพระองค์หนึ่ง ในกรรมการชุดแรก ของมหามกุฎราชวิทยาลัย นับว่าทรงเป็นผู้ร่วมบุกเบิก กิจการของมหามกุฎราชวิทยาลัยมาแต่เริ่มต้น และได้ทรงเริ่มมีส่วนร่วม ในการบริหารกิจการของมหามกุฎราชวิทยาลัย ให้เจริญก้าวหน้ามาจนตลอดพระชนม์ชีพ ของพระองค์

พ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เสมอชั้นเทพ
พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมปาโมกข์ในราชทินนามเดิม

ทรงครองวัดราชบพิธ
พ.ศ. ๒๔๔๔ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ทรงครองวัดราชบพิธสืบต่อมา นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ ๒
พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้ารองที่ พระพรหมมุนี เจ้าคณะรองในคณะกลาง ในราชทินนามเดิมพร้อมทั้งทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
พ.ศ. ๒๔๕๓ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง

คำประกาศ
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค ๒๔๕๔ พรรษา กาลปัตยุบันจันทรโคจร โสณสัมพัตสรกาฬปักษ์ อัฐมีดิถีรวิวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ มกราคมมาศ พาวีสติมสุรทิน โดยกาลนิยม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต ได้ทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา มาล่วงแล้วได้หลายพรรษกาล ประกอบด้วยพระวิริยภาพ แลทรงสติปัญญาสามารถ ทรงชำนาญในพระปริยัติธรรม ได้ทรงเป็นอาจารย์สั่งสอนบริษัทให้รอบรู้ จนได้เป็นเปรียญแล้วเป็นอันมาก ทั้งได้ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นหลักฐานมั่นคง สมควรแก่ตำแหน่งน่าที่พระบรมวงศานุวงศ์ แลบรรพชิตผู้ใหญ่ ทำให้เปนที่น่าเสื่อมใสแห่งบรรดาพุทธศาสนิกชน ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต ทรงปกครองสมณบริษัท แลศิษย์ของพระองค์ด้วยน้ำพระทัย อันโอบอ้อมอารี มีเมตตาเผื่อแผ่ทั่วถึงกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสังเกตเห็นพระคุณสมบัติ แน่ชัดแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณายกย่องให้ได้เลื่อนอิศริยศักดิ์ขึ้นเปนลำดับ ดังปรากฏอยู่ในคำประกาศพระบรมราชโองการเมื่อทรงสถาปนาพระอิศริยยศเป็นพระองค์เจ้าพระนั้นแล้ว ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต ได้ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ แลได้ถวายโอวาท ตามตำแหน่งอาจารย์ทุกประการ ไม่เฉภาะแต่ในขณะเมื่อทรงพระผนวช ถึงต่อมาก็ยังได้ทรงตามเป็นธุระ ตามกาลอันควร ทั้งได้ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ กุลบุตรที่ได้บรรพชาอุปสมบท นับว่าพระองค์เปนสุนทรพรตอันประเสริฐ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา แลดำรงคุณธรรมสม่ำเสมอเช่นนี้ ในเวลานี้มีน้อยพระองค์ จึงนับว่าทรงเปนอัจฉริยบุรุษพระองค์หนึ่ง สมควรที่จะได้เพิ่มภูลพระอิศริยยศ ให้ปรากฏในราชตระกูลแลในสมณศักดิให้ใหญ่ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ขัติยพงศ์พรหมจารี ประสาทนียคุณากร สถาพรพิริยพรต อังคีรสศาสนธำรง ราชวงศ์วิสุต วชิราวุธมหาราชอภินิษกรมณาจารย์ สุขุมญาณวิบุล สุนทรอรรคปริยัติโกศล โศภนศีลสมาจารวัตร มัชฌิมคณิศรมหาสังฆนายก พุทธศาสนดิลกสถาวีรบพิตร สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๑๐๐๐ อย่างพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าต่างกรม ตามพระราชกำหนดกฎหมาย ทรงสมณศักดิที่สมเด็จพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะใหญ่ บัญชาการคณะกลาง พระราชทานนิตยภัตรเปนยศบูชาราคาเดือนละ ๔๐ บาท

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เปนภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์ แลอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณร ในพระอารามทั้งปวงซึ่งขึ้นในคณะโดยสมควรแก่พระกำลัง แลอิศริยยศซึ่งพระราชทานมานี้ จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ ศุข พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิพิพัฒมงคล จิรฐิติกาลในพระพุทธศาสนาเทอญ ฯ

เมื่อทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เลื่อนพระอิศริยยศดังนี้แล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงตั้ง เจ้ากรมเป็นหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ถือศักดิ์นา ๕๐๐ ปลัดกรมเปนพันพยาพัฎสรรพกิจ ถือศักดินา ๓๐๐ สมุห์บาญชีเป็นพันลิขิตพลขันธ์ ถือศักดินา ๒๐๐ ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป ให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ

ฝ่ายสมณศักดิ์นั้น ให้ทรงมีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๐ รูป คือ
พระครูปลัดสัมพิพัฒพรหมจรรยาจารย์ สรรพกิจวิธานโกศล โสภณวัตรจรรยาภิรัต มัชฌิมคณิศรสถาวีรธุรธารี มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓๒ บาท ๑
พระครูธรรมาธิการ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๖ บาท ๑
พระครูวิจารณ์ธุรกิจ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๖ บาท ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูวินัยธรรม ๑
พระครูโฆษิตสุทธสร ๑
พระครูอมรสรนาท ๑
พระครูสังฆวิธาน ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๑๐ รูป
ขอให้พระครูผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความศุขศิริสวัสดิ์สถาพร ในพระพุทธศาสนาเทอญ ฯ

ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๖๔ ครั้นถึงวันที่ ๒๐ สิหาคม ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ และทรงสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลสังฆปริณายก

ถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น กรมหลวง

ประกาศ
สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศทราบทั่วกัน

ด้วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆ์ สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระวรวงศเธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ทรงมีคุณูปการในทางพุทธสาสนกิจ สมควรจะดำรงตำแหน่งสนองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสืบไปได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนา คำนำ พระนาม แล ฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศเธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรสืบไป

พระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

คำเรียกตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมี ๓ อย่าง
เมื่อทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็น สมเด็จสกลสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร นั้น โปรดสถาปนาคำสำหรับเรียกตำแหน่งนี้ว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ซึ่งปรากฏพระนามนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในคราวนี้ ฉะนั้น จึงได้มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่ง สมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือ สมเด็จสกลมหาสังฆปริณายก เป็น ๓ อย่างเป็นธรรมเนียมสืบมา คือ

๑. เจ้านายชั้นสูงผู้ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือ สมเด็จพระสังฆราช มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า มีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า “มหาสมณุตมาภิเษก” เจ้านายผู้ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกเท่าที่ปรากฏมา เป็นชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงพระยศสูงกว่า สมเด็จพระสังฆราชทั่วไป ทรงเศวตฉัตร ๕ ชั้น เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

๒. พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงโปรดสถาปนาเป็น สมเด็จพระสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จพระสังฆราช มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ซึ่งมีอยู่ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวร สิริวัฒน์ (พระนามเดิมหม่อมเจ้าภุชงค์) และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์ ชื่น นภวงศ์) สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงพระยศสูงกว่าสมเด็จพระสังฆราชทั่วไป ทรงฉัตร ๕ ชั้น พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เท่าที่ปรากฏมา เป็นชั้นหม่อมเจ้าลงมา เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๖ เช่นกัน โดยทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ในตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นสมเด็จพระองค์แรก

๓. ท่านผู้ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จสกลสังฆปริณายก ที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ เรียกว่า “สมเด็จพระสังฆราช” ซึ่งมีมาแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน ทรงฉัตร ๓ ชั้น

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราชเจ้านั้น มีพระนามเฉพาะสำหรับแต่ละพระองค์ไป เช่น กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นต้น แต่สำรับผู้ที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราชนั้น มีพระนามสำหรับตำแหน่งเหมือนกันทุกพระองค์มาแต่โบราณ คือ “สมเด็จพระอริยวงษญาณ” ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” ดังที่ปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน

อนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช ผู้มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ แต่มีพระนามสำหรับตำแหน่งเป็นพิเศษ ไม่ใช้พระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น คือ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” พระองค์ปัจจุบัน ซึ่ง เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย
มหามกุฎราชวิทยาลัยซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เพื่อเป็นสถานศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น ได้ดำเนินการกิจการมาเป็นลำดับโดยต่อเนื่อง โดยระยะแรกพระเถรานุเถระ ในคณะธรรมยุตผู้เป็นกรรมการ ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระยะ ๑ ปี การบริหารกิจการของมหามกุฎราชวิทยาลัย ได้ดำเนินมาในลักษณะนี้จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมหามกุฎฯ การผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระหว่างการไม่เป็นการสะดวก จึงตกเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตต้องได้รับภาระเป็นนายกกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้ทรงดำรงตำแหน่งนายกกรรมการมหามกุฎฯ นั้น ได้โปรดให้จัดตั้ง “มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย” ขึ้น เพื่อนำดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินของมหามกุฎฯ มาช่วยบำรุงอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากที่ได้ตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัยมาได้ ๔๐ ปี นับเป็นพัฒนาการขั้นที่ ๒ ของมหามกุฎราชวิทยาลัย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ จึงทรงเป็นนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพระองค์แรก

งานนิพนธ์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางรจนา นับได้ว่าทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก เช่นพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก ต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ ยังได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลี และศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรและ บุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลายอยู่จนบัดนี้

พระอวสานกาล
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคลเบาพิการ ทำให้พระบังคลเบาเป็นโลหิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ สิริรวมพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ๑๖ ปี

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก